xs
xsm
sm
md
lg

ไปรอด ไปโลด : ต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการทำให้ธุรกิจของตนมีความเจริญรุ่งเรือง จะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอยู่ตลอดเวลา โดยต้องพยายามสรรค์สร้างนวัตกรรมที่มีผลในเชิงพาณิชย์ พอผมพูดแบบนี้หลายๆ ท่านอาจจะคุ้นหูกันมานานแล้ว วันนี้เรามาทำความเข้าใจความหมายที่แท้จริงของนวัตกรรมว่าคืออะไรกันดีกว่า

คำว่า "นวัตกรรม" ในภาษาไทย หมายถึง สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

"นวัตกรรม" (Innovation) มีรากศัพท์มาจากคำว่า "innovare" ในภาษาลาติน ซึ่งแปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 มีการประดิษฐ์คิดค้น (Innovation) หรือเป็นการปรุงแต่งของเก่าให้เหมาะสมกับกาลสมัย

ระยะที่ 2 พัฒนาการ (Development) มีการทดลองในแหล่งทดลองจัดทำอยู่ในลักษณะของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project)

ระยะที่ 3 การนำเอาไปปฏิบัติในสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งจัดว่าเป็นนวัตกรรมขั้นสมบูรณ์

ในส่วนของผู้ประกอบการ นวัตกรรม คือ การนำความความรู้ การจัดการความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ หรือ ผลงานวิจัยมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ หรือ บริการใหม่ที่ออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ แต่เนื่องจากนวัตกรรม ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบธุรกิจให้มีการบริหารจัดการที่ดี

โดยกำหนดนโยบาย เป้าหมาย กลยุทธ์และกิจกรรมขององค์กร ด้วยการใช้องค์ความรู้ วัตถุดิบ ทรัพยากรบุคคลในประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานอย่างมีธรรมมาภิบาล และจริยธรรมธุรกิจ ทั้งนี้วิธีในการสร้างนวัตกรรมใหม่ คือ การรู้จักนำความรู้และคิดวิธีแก้ปัญหา อีกทั้งเพิ่มประโยชน์ที่แตกต่างให้แก่สินค้าและบริการเพื่อก่อให้เกิดผลในเชิงพาณิชย์ เช่นการนำเอานาโนเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าประเภทต่างๆ เช่นเครื่องสำอาง เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยของเรา ภาครัฐบาลก็ได้ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยการสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการและเงินทุนโดยมีก่อตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นในปี 2546 ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ

* ยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยการวิเคราะห์และประเมินสถานภาพของอุตสาหกรรมและศักยภาพของนวัตกรรม ตลอดจนการแสวงหาและพัฒนานวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

* เชื่อมโยงเครือข่ายวิสาหกิจอย่างมีบูรณาการ โดยให้การสนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการและการเงิน และเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรในการดำเนินงานทั้งในระดับนโยบาย และปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การสร้างให้เกิด "ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ" ขึ้นโดยเร็ว

* สนับสนุนด้านวิชาการและการเงิน เพื่อช่วยการพัฒนาโครงการในระยะหลังการวิจัยและพัฒนา หรือการต่อยอดงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สู่เชิงพาณิชย์ ได้แก่ การสนับสนุนการจัดทำต้นแบบโรงงานนำร่อง การทดสอบในกระบวนการผลิตจริง การวิเคราะห์และประเมินทางการตลาด และการจัดทำแผนธุรกิจ เป็นต้น

* สนับสนุนการยกระดับทักษะความสามารถด้านเทคนิคและการบริหารจัดการ ได้แก่ การจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญ การจัดการประชุมและสัมมนา และการพัฒนาความใฝ่รู้

* ส่งเสริมเพื่อสร้างความตื่นตัวด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมนวัตกรรมทั้งในระดับอุตสาหกรรม ระดับองค์กร และระดับประชาชนทั่วไป

* บริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตามระเบียบกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พ.ศ. 2546

ในฐานะผู้ประกอบการ ท่านจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างจาก สนช. ปัจจุบันสนช. มีโครงการที่สนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ ดังนี้ :-

1. ด้านวิชาการในลักษณะเงินให้เปล่าไม่เกิน 5 ล้านบาทในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในขั้นตอนการพัฒนาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ การจัดทำแผนธุรกิจ การสืบค้นข้อมูลด้วยเทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญา การตลาด รวมถึงการว่าจ้างที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี

2. ด้านการเงิน มี 4 รูปแบบ ได้แก่

2.1 โครงการ "นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย" สนช.รับภาระจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้แทนผู้กู้ในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อโครงการภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีแรก ให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการซึ่งมีข้อตกลงกับสนช.

2.2 โครงการ "แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน" สนช.เป็นผู้สนับสนุนเงินให้เปล่าในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อโครงการ และไม่เกินร้อยละ 75 ของค่าใช้จ่ายโครงการที่อยู่ในขั้นตอนของการทำต้นแบบ หรือ การนำร่องซึ่งอาจต่อยอดทางงานวิจัย และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์หรือสิทธิบัตรที่มีการรับรอง และผ่านการประเมินทางเทคโนโลยี

2.3 โครงการ "ทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม" สนช.สนับสนุนเงินให้เปล่าไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อโครงการในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี แก่เครือข่ายวิสาหกิจ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม สมาคม กลุ่มจังหวัด ครอบคลุมตั้งแต่ระดับการทำต้นแบบ การทดสอบระดับนำร่องจนถึงการผลิตในเชิงพาณิชย์

2.4 โครงการ "ร่วมลงทุนธุรกิจนวัตกรรม" สนช.จะร่วมลงทุนในสัดส่วนไม่เกินการร่วมทุนของสถาบันการร่วมลงทุน รวมกันไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียนหลังการเข้าร่วมลงทุน โดยวงเงินร่วม

ทุนของ สนช.ไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อโครงการ

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจและต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสนับสนุนในด้านวิชาการและการเงินของสนช. ท่านสามารถติดต่อได้ที่

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เลขที่ 73/1 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์: 02-644 6000 โทรสาร: 02-644 8444 หรือเว็บไซต์ www.nia.or.th

สร้างสรรค์สิ่งใหม่ สร้างนวัตกรรมใหม่ สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ

*** บทความโดย พันธุ์ศักดิ์ ลีลาวรรณกุลศิริ ***
กำลังโหลดความคิดเห็น