xs
xsm
sm
md
lg

TAX KNOWLEDGE : ค่าลดหย่อนภาษีลูกกตัญญู (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การที่รัฐบาลและกรมสรรพากรมองเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว ตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงดูบิดามารดาที่เป็นหน้าที่ของบุตรที่จะต้องอุปการะบิดามารดาของตน

ความเป็นครอบครัวความรักความอบอุ่นจะทำให้การดำรงชีวิตมีความรัก ความห่วงใย ความเข้าใจในครอบครัวมากยิ่งขึ้น เมื่อสถาบันครอบครัวมีความรักความเข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว ก็จะมีผลทำให้สถาบันของประเทศมีนิติสัมพันธ์ที่ดีขึ้น

ในฉบับก่อนเราได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการหักค่าลดหย่อนภาษีลูกกตัญญู หรือ "ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา" เราจะมาดูหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

(5) กรณีสามีหรือภริยาเป็นผู้มีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท

(6) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนอยู่แล้ว ต่อมาได้สมรสกันให้ยังคงหักลดหย่อนได้ดังนี้

(ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนคนละ 30,000 บาท

(ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน และภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของภริยาของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท

(ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน และภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนคนละ 30,000 บาท

(7) กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้เฉพาะบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทย

2. การหักลดหย่อนนี้ผู้มีเงินได้ต้องระบุเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของบิดามารดาที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

3. การหักลดหย่อนนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานรับรองการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู

หลักฐานการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ตามมาตรา 47(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร มีดังต่อไปนี้

3.1 หลักฐานที่ผู้มีเงินได้ต้องใช้ในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ตามมาตรา 47(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องมีข้อความอย่างน้อยตาม แบบ ล.ย.03 หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา

3.2 หนังสือรับรองตามข้อ 1 ต้องจัดทำเป็นภาษาไทย หรือถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับด้วย

3.3 ผู้เป็นบิดามารดาที่ประสงค์จะทำหนังสือรับรองเป็นอย่างอื่นนอกจากที่กล่าวไว้ในข้อ 1 และข้อ 2 ต้องยื่นคำขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน และเมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงจะปฏิบัติตามนั้นได้

*** บทความ โดย สมเดช โรจน์คุรีเสถียร * * *
กำลังโหลดความคิดเห็น