การประกอบธุรกิจมักจะมีการติดต่อซื้อขายสินค้าหรือให้บริการ ระหว่างผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เมื่อมีการติดต่อธุรกิจกันก็มักจะมีความผิดพลาดอันเนื่องจากเข้าใจผิดในตัวบทกฎหมายไปบ้างก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่มักจะมีข้อถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ ว่า "ทำไมต้องหักภาษี" หรือ "ถ้าหักจะหักอย่างไร"
การที่ประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ถือเป็นการเสียภาษีเงินได้ล่วงหน้าของผู้รับเงิน ซึ่งภาษีเงินได้ที่ถูกหักไปนั้น มีสิทธินำมาลดยอดภาษีเงินได้ที่ต้องเสียปลายปีได้ ทำให้ภาษีที่ต้องเสียภาษีปลายปีลดลง ปัญหาของการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายมีกฎหมายเกี่ยวข้องกันหลายฉบับด้วยกัน
เช่น มาตรา 50 มาตรา 3 เตรส มาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี แต่ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ใช้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่บ่อยๆ คือ มาตรา 3 เตรส หรือคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ที่มักจะมีปัญหาถกเถียงกันอยู่เป็นประจำ และมักจะหาข้อยุติได้บ้างไม่ได้บ้าง
หลักเกณฑ์ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาตรา 3 เตรส และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ประมวลรัษฎากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ดังนี้
1.ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายก็คือผู้จ่ายเงินซึ่งจะต้องเป็น "นิติบุคคล" จึงจะมีสิทธิหักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้รับเงิน อย่างไรก็ดีมีบางกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินที่เป็น "บุคคลธรรมดา" มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย
2.ผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายก็คือ ผู้รับเงินไม่ว่าผู้รับเงินจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตามเมื่อได้รับเงินได้จากผู้จ่ายซึ่งเป็นนิติบุคคลจะถูกผู้จ่ายเงินหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 เตรส และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528
3.การจ่ายเงินตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป
การจ่ายเงินได้พึ่งประเมินที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องมีจำนวนตามสัญญารายหนึ่งๆ มีจำนวนตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่งๆ ไม่ถึง 1,000 บาท
4.การนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหัก ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่นั้นภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ไม่ว่าจะหักภาษีไว้แล้วหรือไม่
การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักต้องเป็น "ผู้จ่ายเงิน" และต้องเป็นนิติบุคคลจึงจะมีสิทธิหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากผู้รับเงิน
เมื่อผู้จ่ายเงินเป็นนิติบุคคล ได้มีการจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล หากต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจะต้องยึด "เกณฑ์เงินสด" หมายความว่า จ่ายเงินได้ให้กับผู้รับวันใด จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในวันที่จ่ายเงิน และนำส่งภาษีให้กับกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
ประเด็นที่มักจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็คือ เกณฑ์เงินสด หากการจ่ายเงินเป็น "เงินสด" จ่ายวันใดจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ณ วันนั้น
แต่ถ้าการจ่ายเงินนั้นเป็นการจ่ายด้วยเช็ค จะต้องยึดวันที่ในเช็ค เช่น จ่ายเงินวันที่ 28 มกราคม 2548 แต่กิจการเขียนเช็คสั่งจ่ายลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ผู้จ่ายเงินจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้รับเงิน ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 และนำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายภายในวันที่ 7 มีนาคม 2548
แต่หากกิจการเขียนเช็คสั่งจ่ายลงวันที่ 27 ธันวาคม 2547 ถ้าการจ่ายเงินดังกล่าวเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร จะต้องถือว่า ณ วันที่โอนเงินเข้าบัญชี เป็นวันที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
เห็นไหมครับว่าหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการหลักภาษี ณ ที่จ่ายค่อนข้างละเอียดลออ และมีหลักเกณฑ์มากพอสมควร ที่ท่านผู้อ่านจะต้องศึกษาให้ละเอียดและแม่นยำ
หากท่านผู้อ่านสนใจการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายขอแนะนำไปอ่านเพิ่มเติมได้จาก "การวางแผนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย มาตรา 3 เตรส และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528" ซึ่งผมได้เขียนแนวปฏิบัติที่สำคัญเอาไว้อย่างเป็นขั้นตอน
**** ผู้อ่านท่านใด ต้องการสอบถามปัญหาเกี่ยวกับด้านบัญชี / ภาษี ฝากคำถามเข้ามาได้ที่ SME@manager.co.th ****