เพื่อให้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชซี่ หรือแฟรนไชซอร์ ได้เรียนรู้เรื่องของธุรกิจแฟรนไชส์ภายใต้มาตรฐานเดียวกันก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหรือขายแฟรนไชส์ ความหมายของธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ผู้ประกอบการควรทราบไพศาล เตี๋ยวงษ์สุวรรณ์ ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อธุรกิจรายย่อย ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) แนะไว้ 4 ข้อคือ
ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ต้องประกอบไปด้วยบุคคลหรือนิติบุคคล โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยกันอยู่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิ หรือผู้ให้สิทธิ (Franchisor)และผู้ซื้อสิทธิ (Franchisee) ซึ่งผู้ซื้อสิทธิจะอยู่ในรูปแบบของนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาก็ได้ ส่วนผู้ขายสิทธิควรจะอยู่ในรูปแบบของนิติบุคคลเพื่อให้งานต่อการทำธุรกรรม
ผู้ซื้อสิทธิกับผู้ขายสิทธิทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการตกลงทำสัญญาร่วมกันว่าผู้ซื้อสิทธิจะดำเนินการขายสินค้าหรือบริการ ภายใต้สัญลักษณ์เครื่องหมายการค้า การซื้อสินค้าเพื่อมาจำหน่าย เทคโนโลยีในการผลิตรวมทั้งระบบการดำเนินงานทุกอย่างของผู้ให้สิทธิในพื้นที่และระยะเวลาที่ได้ทำการตกลงกันไว้ในสัญญา ซึ่งข้อกำหนด
ดังกล่าวจะแตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจขึ้นอยู่กับว่าผู้ให้สิทธิจะกำหนดสิทธิเป็นแบบใด
ผู้ให้สิทธิจะเป็นผู้กำหนดมาตรการดำเนินงานของธุรกิจทุกอย่างเพื่อให้ผู้ซื้อสิทธิดำเนินการภายใต้เงื่อนไขมาตรฐานเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริการหรือมาตรฐานสินค้า เนื่องจากระบบแฟรนไชส์หากมีการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือสิ่งที่กำหนดก็จะทำให้เกิดการไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความสูญเสียในเรื่องเกี่ยวกับแบรนด์ที่ผู้ขายสิทธิสร้างเอาไว้
สำหรับมาตรฐานที่ทางผู้ซื้อสิทธิจะได้รับจากผู้ขายสิทธิ คือการฝึกอบรมเกี่ยวกับธุรกิจ กระบวนการฝึกปฏิบัติงาน การได้ทดลอง และการได้รับความช่วยเหลือสิทธิทั้งหมดนี้จะต้องได้รับการควบคุมและการตรวจสอบโดยผู้ขายสิทธิ ซึ่งผู้ขายสิทธิจะต้องมีการตรวจสอบการทำงานของผู้ซื้อสิทธิอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันได้
ผู้ซื้อจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับเจ้าของสิทธิเพื่อเป็นค่าลิขสิทธิ์ ค่าโนว์ฮาว ค่าแบรนด์ ที่ผู้เป็นเจ้าของสิทธิสะสมมาซึ่งจะอยู่ในรูปแบบของแฟรนไชส์ฟี โดยค่าแฟรนไชส์ฟีจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจ นอกจากนี้ผู้ซื้อสิทธิยังจะต้องเสียส่วนแบ่งรายได้ต่อเดือนหรือค่ารอยัลตี้ฟี ค่าการตลาด ค่าโฆษณา หรือมาร์เก็ตติ้งฟี แอดเวอร์ไทซิ่งฟี ให้กับผู้ขายสิทธิด้วย แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการกำหนดของผู้ขายสิทธิว่าจะคิดค่าเหล่านี้หรือเปล่า ซึ่งผู้ซื้อสิทธิจะต้องดูว่าสิ่งที่ต้องเสียกับสิ่งที่ได้รับคุ้มค่ากันหรือเปล่า
อย่างไรก็ตามไพศาลยังได้ให้หลักสำคัญของการทำธุรกิจแฟรนไชส์ที่ต้องคำนึงกับผู้ซื้อสิทธิดังนี้คือแฟรนไชส์แต่ละแบรนด์ไม่ได้เหมาะกับผู้ซื้อสิทธิทุกคนและไม่ได้เหมาะกับทุกพื้นที่ จะเห็นว่าแฟรนไชส์บางแบ รนด์บางคนไปทำแล้วรุ่งได้รับผลตอบรับที่ดี
ขณะที่บางคนซื้อไปแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือแฟรนไชส์บางแบรนด์เปิดในทำเลแห่งหนึ่งมีการเจริญเติบโตมีความก้าวหน้า แต่เมื่อมาเปิดอีกทำเลแห่งหนึ่งอาจจะต้องประสบกับความล้มเหลว ตรงนี้จะเห็นได้แม้ว่าแฟรนไชส์ที่ซื้อมาจะเป็นแบรนด์ที่ดีแต่หลักสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือกลุ่มเป้าหมายและการแข่งขันในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีกลุ่มเป้าหมายและการแข่งขันที่แตกต่างกันซึ่งตรงนี้ผู้ซื้อสิทธิจะต้องคำนึงถึง
ฉะนั้นก่อนที่จะดำเนินการเพื่อซื้อแฟรนไชส์ ผู้ซื้อสิทธิจะต้องคำนึงว่าแฟรนไชส์แบรนด์ที่กำลังจะซื้อเหมาะกับตัวเองหรือเปล่า ทั้งเรื่องของสินค้า บริการการดำเนินการ และแฟรนไชส์แบรนด์ดังกล่าวเหมาะกับทำเลที่ตัวเองมีอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่เหมาะต้องทำอย่างไรจะหาพื้นที่ใหม่หรือว่าจะเปลี่ยนแฟรนไชส์อันนี้ต้องดูต่อไป