คำว่ากาแฟเป็นภาษาสมัยใหม่ แรกเริ่มเดิมทีคนไทยเราเรียกกันว่า “ข้าวแฝ่” ทั้งนี้เพราะการออกเสียงภาษาฝรั่งยังไม่ถนัดปากและมีเสียงใกล้ข้าวเข้าไปเราก็โมเมว่าเป็นข้าวเสียเลย คนโบราณชอบลากเอาคำฝรั่งมาเป็นคำไทยได้เก่งนัก คือจะได้ฟังกันสนิทหู อย่างชื่อ มิสเตอร์ครอเฟิต ทูตอังกฤษที่เข้ามาเมืองไทย เมื่อสมัยรัชกาลที่ 2 นั้นคนไทยเราเรียกเสียใหม่ว่า “นายการะฟัด” ซึ่งเป็นคำที่สนิทหูคนไทยมากกว่าคำว่า ครอเฟิต เป็นไหนๆ
คำว่ากาแฟนี้ เมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ก็เห็นจะเรียกกันว่า “ข้าวแฟ” เหมือนกันทั้งนี้เพราะเป็นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ สัพพะวัจนะภาษาไทยของปาเลอกัวฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2397 คือเมื่อ (149 ปี) ล่วงมาแล้วแสดงว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ยังคงเรียกกาแฟว่า “ข้าวแฟ” อยู่ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นกาแฟ เหมือนอย่างทุกวันนี้ (คำว่ากาแฟ (Coffee) นัยว่าเลือนมาจากคำว่า กาวา (kahwah) ซึ่งชาวอาหรับเรียก...และ ในชั้นเดิมว่า หมายถึงเหล้าองุ่น)
อันที่จริงนั้นกาแฟก็เป็นอาหารมาก่อน เพราะปรากฏว่า นายแพทย์ชาวอาหรับชื่อ ราเซส ( Rhazes)ได้กล่าวไว้ในเอกสารตั้งแต่ ค.ศ.900 (พ.ศ.1443) ว่า กาแฟนี้เริ่มแรกใช้เป็นอาหารก็นำเอาผลกาแฟที่ตากแห้งแล้ว แกะเอาเมล็ดออกผสมกับน้ำมัน ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ส่วนที่ทำเมรัยก็ใช้เมล็ดดิบและเปลือกแห้งชั้นคนไทยเรานั้น เห็นจะรู้จักกาแฟมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมารู้จักกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แต่เอาเข้ามาในรัชกาลไหนยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะคนไทยเราเห็นจะไม่ค่อยชอบ จึงไม่ได้บันทึกไว้ในพงศาวดาร หรือจะไม่เห็นเป็นของแปลกก็ได้ แต่มีปรากฏในจดหมายเหตุของฝรั่งที่เข้ามาในแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวว่าพวกแขกมัวร์..ชอบดื่มกาแฟมาก
นอกจากนี้ยังปรากฏอีกว่า ได้มีการปลูกกาแฟขึ้นในเมืองไทยแล้ว กาแฟในครั้งนั้นปลูกกันแถวจังหวัดสงขลา กล่าวกันว่าเป็นกาแฟรสดีพอใช้และปลูกกันมากที่เดียว
ตามที่กล่าวว่าคนไทยเรารู้จักกาแฟมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นไม่ใช่เป็นการกล่าวเกินความจริงแต่การดื่มนั้นเห็นจะไม่ค่อยนิยมเพราะรสติดจะขม อาจจะคิดว่าเป็นยาไปเสียด้วยซ้ำคนไทยจึงไม่ค่อยคุ้นกับกาแฟเพราะเหตุนี้ เข้าใจว่าคนไทยจะมารู้จักกันดีชนิดซึมทราบ ก็ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เป็นรัชกาลใดก็ยืนยันลำบาก แต่อ้างอิงได้อย่างหนึ่งว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชประสงค์ทำสวนกาแฟอยู่พักหนึ่ง... สวนกาแฟที่ว่านี้คือบริเวณวัดราชประดิษฐ์ การทำสวนกาแฟในสมัยนั้นเป็นเครื่องวัดได้อย่างหนึ่งว่า ในสมัยของ รัชกาลที่ 3 เป็นสมัยที่กาแฟแพร่หลายมากที่สุด จนถึงมีพระราชดำริทำสวนกาแฟขึ้น
ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ก็ยังปรากฏว่าสวนกาแฟของไทยก็ยังทำกันอยู่ แต่ที่มีชื่อกล่าวถึงในจดหมายเหตุของฝรั่งที่เข้ามาในสมัยนั้นก็คือสวนกาแฟของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ เซอร์ยอห์นโบว์ริง ราชทูตอังกฤษซึ่งเข้ามาทำสัญญากับประเทศสยามเมื่อ พ.ศ.2398 ในรัชกาลที่ 4 ได้เคยเขียนเล่าไว้ว่า ได้เคยไปเที่ยวสวนกาแฟของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ซึ่งปรากฏมีต้นกาแฟมากมาย และ ยังได้ให้เซอร์ยอห์นโบว์ริง ลองเก็บไปกินเป็นตัวอย่าง 3 กระสอบ จากหลักฐานเหล่านี้ก็แสดงว่า การปลูกกาแฟของไทย เคยพยายามให้เป็นล่ำเป็นสันกันมาแล้ว แต่จะเป็นด้วยคนไทยในสมัยนั้นไม่นิยมดื่มกาแฟ หรือจะเป็นด้วยกาแฟพันธุ์ไม่ดี คนจึงไม่นิยมก็ไม่ทราบ
เรื่องการทำสวนกาแฟเห็นจะหยุดชะงักมานาน จนกระทั่งเลิกกิจการไป ไม่มีใครคิดจะปลูกเป็นล่ำเป็นสันต่อมาอีก แต่การดื่มกาแฟเห็นจะมีแพร่หลายมากขึ้น ร้านกาแฟในกรุงเทพฯ จะเริ่มมีมากขึ้นในสมัยไหนก็ไม่พบหลักฐาน แต่ปรากฏว่าใน พ.ศ.2460 ซึ่งอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งแรก มีสโคล์ ชาวอเมริกัน ได้ตั้งร้านขายกาแฟอยู่แถวสี่กั๊กพระยาศรี โดยเปิดขายทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 15.00 น – 18.00 น.โดยให้ชื่อว่าร้าน “Red Cross Tea Room”หน้าร้านปักธงกาชาด ปรากฏว่ามีเจ้านาย และ ข้าราชการ ตลอดจนชาวต่างประเทศ พากันมาอุดหนุนกันมาก ผลกำไรที่ได้จากการขายกาแฟร้านนี้ มิสโคล์ ได้ส่งไปบำรุงกาชาดของ สัมพันธมิตร และเข้าใจว่าร้านกาแฟคงจะเริ่มมีมากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 6 และที่ 7 นี้เอง
กาแฟในประเทศไทย พระยาสารศาสตร์พลขันธ์ ได้บันทึกไว้ว่า กาแฟได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2447โดยชาวมุสลิมชื่อนายดีหมุน ได้เมล็ดกาแฟจากการแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย นำมาปลูกครั้งแรกที่อำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลาจากนั้นก็มีการปลูกเผยแพร่ กว้างขวางออกไป ซึ่งกาแฟชนิดนั้นเป็นกาแฟโรบัสต้า ส่วนกาแฟอราบิก้านำเข้ามาปลูกครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2516โดยนำมาปลูกทดลองที่บ้านมูเซอห้วยตาด อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หลังจากมีหน่วยงานได้นำพันธุ์กาแฟต่างๆ เข้ามาจากต่างประเทศ เพี่อให้ชาวเขาปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น จนกาแฟกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่ง บนพื้นที่สูงในภาคเหนือของประเทศไทย
ที่มา : เอกสาร ความรู้เกี่ยวกับกาแฟ ของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มช.