xs
xsm
sm
md
lg

ปริศนา 500 ปี ที่ยังเร้นลับของ “อารยธรรมมายา” (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากที่ Christopher Columbus (1451-1506) พบทวีปอเมริกาเมื่อปี 1492 แล้ว สมเด็จพระเจ้า Charles ที่ 1 แห่งสเปนได้ทรงส่งทหาร conquistador ออกไปสำรวจดินแดนใหม่ เพื่อประกาศยึดครองเป็นอาณานิคมของราชอาณาจักรสเปน



ดังนั้นในปี 1519 นายพล Hernán Cortés (1485-1547) จึงได้เดินทางไปยังดินแดนที่เป็นประเทศ Mexico ในปัจจุบัน พร้อมทหาร 600 คน ถึงเมือง Tenochtitlan แห่งอาณาจักร Aztec และสามารถยึดครองอาณาจักรได้ในอีก 2 ปีต่อมา หลังจากที่ได้สังหารจักรพรรดิ Moctezuma ที่ 2 และฆ่าชาว Aztec ตายไปหลายหมื่นคน


ลุถึงปี 1527 นายพล Francisco de Montejo y Álvarez (1479-1553) ได้ยกกองทัพบุก อาณาจักร Maya (ดินแดนที่เป็นประเทศ Mexico, Guatemala และ Honduras ในปัจจุบัน) การยึดครองต้องใช้เวลานาน เพราะอาณาจักรมายากว้างใหญ่ และผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย แต่ในที่สุดอาณาจักรก็ล่ม เมื่อประชากรจำนวนมากล้มตายด้วยไข้ทรพิษ (smallpox) ที่ทหารสเปนนำมาเผยแพร่ และบ้านเมืองแตกสามัคคี เพราะทหารสเปนได้ยุแยงให้แตกแยก สภาพภูมิอากาศในอาณาจักรมีการเปลี่ยนแปลงจนเกิดภาวะทุพภิกขภัย และขาดความมั่นคงทางอาหาร อาณาจักร Maya จึงเสื่อมลง ๆ จนเป็นรัฐที่ล้มเหลว และล่มสลายในที่สุด


ในปี 1532 นายพล Francisco Pizarro (1478–1541) ได้บุกเข้าจับจักรพรรดิ Atahualpa แห่งอาณาจักร Inca (ดินแดนที่เป็นประเทศ Columbia, Ecuador, Peru, Bolivia, Chile ในปัจจุบัน) เพื่อเรียกค่าไถ่เป็นทองคำปริมาณมหาศาล หลังจากที่ได้ค่าไถ่แล้ว Pizarro ได้ใช้เชือกรัดพระศอ Atahualpa จนสิ้นพระชนม์ แล้วประกาศให้อาณาจักร Inca เป็นอาณานิคมของสเปน

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรม Maya นั้น ประวัติศาสตร์ได้มีการบันทึกว่า นอกจากสเปนจะส่งกองทหารไปยึดครองอาณาจักรแล้ว ยังได้ส่งบาทหลวงหลายคนไปด้วย เพื่อเปลี่ยนการนับถือศาสนาของชาวพื้นเมือง ให้มานับถือคริสต์ศาสนาแทน


บาทหลวงคนสำคัญคนหนึ่งที่มีบทบาทมากที่สุดในหน้าที่นี้ คือ Diego De Landa (1524-1579) ซึ่งได้เดินทางสำรวจอาณาจักร Maya ส่วนที่อยู่ในคาบสมุทร Yucatan อย่างละเอียด และได้บันทึกข้อมูลทางวัฒนธรรมและความเชื่อต่าง ๆ ของชาว Maya ผลงานของ Landa ที่เผยแพร่เป็นหนังสือชื่อ “Yucatan Before and After the Conquest” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1566 ได้ทำให้โลกยุโรปได้รู้จักอารยธรรม Maya เป็นครั้งแรก และรู้สึกชื่นชม Landa มากที่ได้นำโลกใหม่มาให้ทุกคนเห็น โดยไม่รู้แม้แต่น้อยว่า บาทหลวง Landa นั้นทั้งเกลียด และดูถูกชาว Maya มากว่า โง่ เพราะนับถือปีศาจและเทวดา ดังนั้นจึงสั่งให้ทหารจับชาว Maya ทุกคนที่กระด้างกระเดื่อง และขัดขืนไม่ยอมรับคริสต์ศาสนาไปทรมานด้วยการถอดเล็บ ตัดลิ้น ขังคุก เผาทั้งเป็น ข่มขืน หรือฆ่าทิ้ง อีกทั้งยังได้สั่งให้ทหารเผาจารึกทุกเล่มที่เป็นภาพวาดต่าง ๆ ซึ่งใช้แทนภาษาเขียนของชาวมายา ยกเว้นหนังสือภาพ (codex) เล่มหนึ่งที่ Landa เก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว


ข่าวการทารุณกรรมที่รุนแรงเกินเหตุนี้ได้ทำให้ Landa ถูกเรียกตัวกลับสเปนและถูกนำตัวขึ้นศาล แต่ในที่สุดก็ได้รับการปลดปล่อย เพราะหนังสือจารึกที่เขาเก็บไว้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก คือ ได้ช่วยให้นักวิชาการชาวยุโรปสามารถอ่านภาษา Maya ออก จนล่วงรู้ประวัติความเป็นมาของอารยธรรมนี้ได้ดีพอประมาณ

ในช่วงเวลานั้น จึงมีนักล่าสมบัติ และนักผจญภัยชาวยุโรปหลายคน เมื่อได้ข่าวมหาสมบัติที่มีในต่างแดนการพบพีระมิด วิหาร และโบราณวัตถุมากมายในป่า จึงเดินทางมาที่คาบสมุทร Yucatan และเมื่อเห็นความเจริญในแทบทุกมิติของชาวพื้นเมืองทุกคนก็รู้สึกแปลกใจมาก เพราะไม่คิดว่า “คนป่า” จะมีความเป็นอารยะบางคน จึงตั้งข้อสงสัยว่าชาวอียิปต์ชาวกรีก ชาวฟินิกซ์เชี่ยน (Phoenician) หรือชาวอิสราเอลคงได้อพยพจากเอเชียและแอฟริกามาสร้างพีระมิดที่ Yucatan เป็นแน่ แต่ก็มีบางคนที่คิดว่า โบราณสถานเหล่านี้เป็นฝีมือด้านสถาปัตยกรรมของมนุษย์ต่างดาว


ในปี 1786 สมเด็จพระเจ้า Charles ที่ 3 แห่งสเปน ได้ทรงส่ง Antonio del Rio (1745-1789) มาสำรวจเมือง Palenque (ชื่อนี้ในภาษามายาแปลว่าน้ำท่วมมาก) และเมือง Tikal ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในอาณาจักรอย่างเป็นทางการ ในเวลาต่อมา del Rio ก็ได้เขียนหนังสือชื่อ “Description of the Ruins of an Ancient City Discovered Near Palenque” ในปี 1787 และได้โยงความคิดของตนเองว่า ผลงานศิลปะและสถาปัตยกรรมทั้งหมดที่เห็นนี้มีความเกี่ยวโยงกับอารยธรรมอียิปต์

ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ มิได้อยู่ที่ความถูกต้องของความคิด แต่อยู่ที่ลีลาการเขียนบรรยาย ซึ่งได้สร้างความประทับใจให้แก่นักกฎหมายหนุ่มชาวอเมริกันชื่อ John Lloyd Stephens (1805–1852) มาก ซึ่งสนใจอารยธรรมโบราณของโลกเป็น sideline โดยได้เคยไปเยือนและทัศนศึกษาดินแดนต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง เช่น อียิปต์ อาระเบีย จอร์แดน และอิสราเอล

ผลงานเขียนของ Stephens เกี่ยวกับประสบการณ์ในตะวันออกกลางเรื่อง “Incidents of travel in Egypt, Arabia Petraea, and the Holy Land” ที่ตีพิมพ์ในปี 1837 ได้เป็นหนังสือขายดี (best seller) จึงมีผลทำให้สถานภาพทางการเงินของ Stephens ดีขึ้น และเมื่อตะวันออกกลางเป็นดินแดนที่อยู่ไกลจากอเมริกามาก ดังนั้น Stephens จึงได้หันมาสนใจอาณาจักรโบราณที่พบใหม่ในอเมริกากลางแทน หลังจากที่ได้อ่านหนังสือที่ del Rio เขียน


ขณะเดินทางกลับจากอียิปต์ Stephens ได้หยุดพักกลางทางที่ London และได้พบ Frederick Catherwood (1799–1854) ซึ่งเป็นสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการวาดรูปเหมือนจริงของอาคารและโบราณสถาน เมื่อคนทั้งสองได้พบกัน และรู้จักกันที่งานแสดงภาพวาด “Description of a View of the City of Jerusalem” ที่ลอนดอน จึงตัดสินใจทำงานร่วมกัน โดย Catherwood จะวาดภาพของซากปรักหักพังในเมือง Palenque, Uxmal และ Copan ส่วน Stephens ก็จะเขียนหนังสือเรื่อง “Incidents of travel in Central America, Chiapas, and Yucatan” ซึ่งมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ในปี 1841

ผลงานเขียนที่มีภาพวาดประกอบนี้ได้ทำให้วิทยาการด้านโบราณคดีของอารยธรรมมายายุคใหม่ถือกำเนิด เพราะหนังสือได้เผยโฉมของอารยธรรมที่ได้ “สาบสูญ” ไปให้คนยุคใหม่ได้เห็น อ่าน และรู้เป็นครั้งแรกว่า ชาวมายามิได้เป็นคนป่าเถื่อน เพราะรู้จักสร้างวิหาร เสาหินจารึก (stele) สนามเล่นบอล สร้างรูปปั้น พีระมิดที่มีขั้นบันได 63 ขั้นจนถึงยอด และรู้จักประดิษฐ์ตัวอักษรโบราณ (glyph) กว่า 2,000 ตัว เพื่อใช้ในการสื่อสาร


ครั้นเมื่อ Stephens ถามชนพื้นเมืองว่า “ใครสร้าง” ของเหล่านี้ คำตอบก็คือ “Quién Sabe?” ซึ่งแปลว่า “ไม่มีใครรู้” ทุกอย่างที่โลกเห็น ในเวลานั้นจึงเป็นเรื่องลึกลับ

ในเดือนพฤษภาคม ปี 1840 คนทั้งสองได้เดินทางถึงเมือง Palenque และได้เข้าพักที่ “พระราชวัง (Palacio)” ของกษัตริย์นิรนาม ซึ่งเป็นอาคารร้างที่มีสัตว์ราตรี เช่น ค้างคาว ยุง และหิ่งห้อยพำนักอาศัยอยู่เต็ม ตามปกติเวลาวาดภาพอาคาร Catherwood จะใช้กล้องรูเข็มช่วย เพื่อให้สามารถวาดภาพของโบราณสถานได้อย่างถูกสัดส่วนตามความเป็นจริง

โดยสรุปผลงานที่สำคัญของ Stephens กับ Catherwood คือ เป็นสองบุคคลแรกที่กล่าวสรุปได้อย่างถูกต้องว่า ชาวพื้นเมืองเผ่ามายา เป็นผู้ที่สร้างอารยธรรมมายาโบราณ หาใช่ชาวยิว ชาวอียิปต์ ชาวอาหรับ หรือมนุษย์ต่างดาวไม่ จากนั้น Stephens ก็ได้ไปทำงานเป็นวิศวกรสร้างทางรถไฟที่ Panama แล้วได้กลับ New York เพราะได้ล้มป่วยด้วยโรคตับอักเสบ และเสียชีวิต ในปี 1852 ส่วน Catherwood ได้เสียชีวิตลงในปี 1854 เมื่อเรือโดยสารที่เขาเดินทางจาก Liverpool ในอังกฤษ ไป New York ได้อับปางกลางมหาสมุทร Atlantic


บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทมากในการศึกษาอารยธรรมมายา คือ Alfred Percival Maudslay (1850–1931) ซึ่งเป็นนักโบราณคดีชาวอังกฤษที่ได้ทิ้งอาชีพนักรัฐศาสตร์การทูต มาหลงมนต์เสน่ห์ของอารยธรรมมายาที่เมือง Copan, Tikal และ Quirigua Maudslay ได้ใช้แม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ของวัตถุโบราณสร้างรูปปั้น 3 มิติ เพื่อให้นักโบราณคดีได้ศึกษา ณ ที่ทำงานในประเทศของตน แทนที่จะต้องเดินทางมาศึกษาวัตถุจริงในอาณาจักรมายา และรูปปูนพลาสเตอร์นั้นก็สามารถใช้แทนวัตถุจริงได้ หรือเป็นวัตถุในพิพิธภัณฑ์ก็ได้ การได้ศึกษาอักษรจารึกของชาวมายาที่ Maudslay ทำขึ้น ได้ช่วยให้เราปัจจุบันเข้าใจวิธีทำปฏิทิน และวิธีคณิตศาสตร์ในการนับและคำนวณเลขของชาวมายา ตลอดจนรู้วิธีบันทึกลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของชาวมายาด้วย

ชุดหนังสือ Biologial Centrali-Americana จำนวน 5 เล่ม ที่ Maudslay ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1889-1902 ได้ช่วยให้นักชีววิทยาได้ศึกษาธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในอเมริกากลางดีขึ้น ดังนั้นเมื่อ Maudslay เสียชีวิตในปี 1931 การศึกษาทางโบราณคดีในดินแดนอเมริกากลางก็มีความเป็นระเบียบและเป็นระบบที่เรียบร้อยแล้ว


ในปี 1945 นักโบราณคดีชื่อ Giles Greville Healey (1901–1980) ซึ่งเป็นชาวอเมริกันได้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเกี่ยวกับอารยธรรมมายาว่า ชาวมายามิได้เป็นชนที่รักสันติภาพเลย แต่เป็นชนที่กระหายเลือดและชอบมีพิธีกรรมฆ่าคน เพื่อบูชายัญ การพบเช่นนี้เป็นเรื่องที่ตรงข้ามกับความเชื่อเดิม ๆ อย่างสิ้นเชิง ครั้นเมื่อ Healey ได้เดินทางเข้าไปป่าลึกที่ชนเผ่า Lacandon อาศัยในอาณาจักรมายา ซึ่งอยู่ติดพรมแดน Guatemala เขาได้เห็นห้องเล็ก ๆ 3 ห้องในวิหารที่ตั้งอยู่ใกล้เนินเขาว่า ที่ผนังและเพดานมีภาพวาดของชาวมายาที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน

ภาพวาดเหล่านี้ได้ถูกวาดขึ้นประมาณค.ศ. 800 เป็นภาพที่แสดงสงครามระหว่างชนเผ่าต่าง ๆ บางภาพแสดงรูปนักดนตรีกำลังใช้เขากวางตีกระดองเต่าในงานพิธีทางศาสนา ภาพเชลยกำลังร้องขอชีวิตจากนักรบชาว Maya มีภาพกะโหลกศีรษะคนที่ถูกตัดหัว แล้วศีรษะกำลังกระดอนตกลงตามขั้นบันไดของพีระมิด และมีภาพผู้หญิงที่สวมชุดเสื้อผ้าสีขาว ซึ่งกำลังทรมานตนเอง โดยใช้มีดปลายแหลมแทงลิ้น


ภาพที่แสดงด้านมืดของอารยธรรมมายานี้ จึงทำให้นักประวัติศาสตร์จำเป็นต้องเขียนเรื่องอารยธรรมมายาใหม่อีกหลายส่วน ต่อจากนั้นโลกของอารยธรรมมายาก็ได้เผยโฉมให้ทุกคนเห็นและเข้าใจมากขึ้นๆ เช่น ในปี 1951 ได้มีการพบพีระมิด Temple of the Inscriptions ที่ Palenque ซึ่งภายในมีหลุมพระศพของกษัตริย์ Pakal มหาราช


ในปี 2018 Luke Auld-Thomas ซึ่งเป็นนิสิตปริญญาเอก แห่งมหาวิทยาลัย Tulane ในสหรัฐอเมริกา ได้พบเมืองมายาขนาดใหญ่แฝงอยู่ในป่าทึบของ Mexico เมืองนี้มีพีระมิด สนามกีฬา โรงละคร ตัวเมืองตั้งอยู่ในรัฐ Campeche และได้ชื่อว่า Valeriana ตามชื่อของทะเลสาบที่อยู่ในบริเวณนั้น

โดย Auld-Thomas ได้พบเมืองใหม่นี้ ด้วยการใช้เทคโนโลยี LiDAR (Light Detection and Ranging) ซึ่งเป็นวิธีสำรวจโดยการยิงห้วงแสง (pulse) เลเซอร์จากโดรน แล้ววัดเวลาที่แสงสะท้อนกลับ การแปรสัญญาณด้านระยะทางเป็นภาพทำให้ได้เห็นเมืองมายาโบราณที่มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 30,000-50,000 คน ในพื้นที่ประมาณ 16.6 ตารางกิโลเมตร ว่ามีอาคารใหญ่สองหลังที่ตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร และมีพีระมิดให้ชาวมายาได้มาประกอบพิธีทางศาสนา อีกทั้งมีหน้ากากหยก ซึ่งใช้สวมที่ใบหน้าศพด้วย

ผลงานนี้ ได้ชักนำให้ Auld-Thomas และนักโบราณคดีอีกหลายคนได้ความคิดว่า ดินแดนมายายังมีเมืองอีกหลายเมืองที่นักโบราณคดียังไม่พบ และทุกคนสามารถจะหาสถานที่เหล่านั้นได้โดยใช้เทคโนโลยี LiDAR


ในวารสาร Antiquity ฉบับเดือนเมษายน ปี 2025 นี้ Stephen Houston แห่งมหาวิทยาลัย Brown ในสหรัฐอเมริกาได้รายงานการพบแท่นบูชาอายุ 1600 ปีของชาวมายา ซึ่งมีโครงกระดูกของเด็ก ๆ วางอยู่รายรอบ การค้นพบนี้จึงแสดงให้เห็นว่าเมือง Maya ที่ชื่อ Takal (ใน Guatemala) ได้เคยถูกชาวเมือง Teotihuacan (ใน Mexico) ที่อยู่ห่างออกไป 1,000 กิโลเมตร เข้ามารุกรานและปกครอง จึงต้องมอบเด็กๆ ให้ผู้รุกรานฆ่า เป็นการแสดงความจงรักภักดีของชาว Tikal ที่มีต่อผู้รุกรานอย่างปราศจากเงื่อนไขหรือข้อต่อรองใดๆ


แท่นบูชาที่พบใหม่นี้ เป็นแท่นที่ใช้ในพิธีบูชายัญ ภาพวาดที่ปรากฏบนแท่นมีการลงสีและรูปลักษณ์ของแท่นเป็นไปตามประเพณีการสร้างแท่นของชาว Teotihuacan ดังนั้นการพบประเพณีบูชายัญด้วยเด็ก ๆ จึงส่อแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเมือง Tikal กับชาว Teotihuacan มิได้เป็นไปอย่างราบรื่นดังที่นักประวัติศาสตร์ทุกคนเคยคิด แต่มีความรุนแรงเกิดขึ้นด้วย นี่เป็นผลที่เกิดจากการรุกรานของชาว Teotihuacan ที่มีต่อชาว Tikal

เพราะเมือง Tikal มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เช่น มีขนนกสวย ๆ มีอาหาร ข้าวโพด และช็อกโกแลตอย่างอุดมสมบูรณ์ ชาว Teotihuacan จากแดนไกลจึงเข้ามาติดต่อ และได้สืบรู้ความลับทางทหารของชาว Tikal จนในที่สุดก็สามารถบุกเข้ายึดเมืองได้ การอ่านสัญลักษณ์ที่เป็นอักษรโบราณ (glyph) ก็ได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อประมาณค.ศ.378 ชาว Tikal ได้จดบันทึกว่า ชาติได้ถูกชาวต่างชาติ Siyaj K'ak รุกราน โดยกล่าวว่า ไฟนรกได้เข้ามารุกรานจากทิศตะวันออก และกษัตริย์ของเมือง Tikal ก็ได้สิ้นพระชนม์ในวันที่ศัตรูเดินทางมาถึง


การวัดอายุของกระดูกและอุปกรณ์ที่ใช้ในการบูชายัญก็ให้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าแท่นบูชายัญได้ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ชาว Teotihuacan เข้ามายึดครองพอดี จากซากศพ 6 ศพที่พบ มี 4 ซากที่เป็นของเด็ก ๆ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 2-4 ขวบ โดยศพอยู่ในท่าคุกเข่าทั้งสองข้าง ให้ขดขึ้นมาจนถึงคาง และประเพณีบูชายัญด้วยเด็กๆ นี้ เป็นที่นิยมกระทำกันในสังคมเมือง Teotihuacan

ส่วนหลุมศพอื่นที่พบอยู่ใกล้เคียง ก็มีศพของผู้ใหญ่ และภายในหลุมมีหัวลูกศรที่ทำด้วยหิน obsidian ซึ่งถูกแกะสลักในสไตล์ของชาว Teotihuacan

ด้านแท่นบูชาเองมีขนาด 2x1.5 เมตร และสูง 1 เมตร ตัวแท่นทำจากหินปูน
พลาสเตอร์ ด้านข้างของแท่นถูกระบายด้วยสีแดง ส้ม ดำ และเหลือง เป็นรูปของเทพเจ้าแห่งพายุ และเทพแห่งสงครามที่ชาว Teotihuacan นับถือ สไตล์และลวดลายการวาดภาพ และการลงสี แสดงให้เห็นว่าจิตรกรที่สร้างแท่น เป็นคนมีฝีมือที่ถูกฝึกฝนโดยชาว Teotihuacan ซึ่งได้เดินทางมาปฏิบัติงานที่ Tikal

อารยธรรมมายาที่เมือง Tikal และเมืองอื่น ๆ ได้เจริญรุ่งเรือง จนกระทั่งปีค.ศ.900 แล้วได้เสื่อมลงๆ จนล่มสลายไปในที่สุด

การอ่านภาษา Maya ออก ได้ทำให้เราปัจจุบันล่วงรู้ประวัติศาสตร์ของชาว Teotihuacan ด้วย เพราะที่นั่น ไม่มีภาษาเขียน และได้เป็นเมืองที่รุ่งเรืองก่อนที่อารยธรรม Aztec จะถือกำเนิด

แม้อารยธรรมมายาจะได้รุ่งเรืองมาตั้งแต่เมื่อ 2000 ปีก่อนคริสตกาล จนกระทั่งปี 1500 และชาวมายาได้สร้างวัฒนธรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ไว้มากมาย แต่ชาวมายาก็ยังได้ทิ้งปริศนาไว้ให้โลกปัจจุบันได้รับรู้อีกหลายเรื่องที่ยังไม่มีใครรู้คำตอบ เช่น

สาเหตุการล่มสลายของอาณาจักร ที่ได้ทำให้เมืองต่าง ๆ ถูกทิ้งร้าง ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้ให้ข้อสันนิษฐานไว้มากมาย เช่น ได้เกิดภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว จนทำให้เกิดภาวะทุพภิกขภัย หรือเพราะเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การขุดหาซากศพชาวมายา และซากอาคารโบราณเพิ่มเติม จะทำให้เราสามารถตอบคำถามนี้ได้


ปริศนาที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ การมีความรู้ดาราศาสตร์ที่ใช้ในการทำปฏิทิน ทั้ง ๆ ที่ชาวมายาไม่มีกล้องโทรทรรศน์ใช้ แต่สามารถพยากรณ์เหตุการณ์อุปราคาได้ ติดตามการโคจรของดาวศุกร์ได้ว่า จะขึ้นก่อนดวงอาทิตย์ 236 วัน ใน 1 ปี และตกหลังดวงอาทิตย์ 250 วัน เป็นต้น อีกทั้งยังได้พยากรณ์วันสิ้นโลกด้วยว่าจะเกิดในปี 2012

โลกยังมีคำถามเรื่องบรรพบุรุษของชาวมายาด้วยว่า มาจากชนเผ่าใด และเรื่องนี้กำลังเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจทางโบราณคดีเชิงชีววิทยาโมเลกุลว่า ชาวมายามี DNA ของชนเผ่าใดในอเมริกาเหนือหรือใต้

นอกจากจะไม่มีกล้องโทรทรรศน์ใช้แล้ว ชาวมายายังไม่มีอุปกรณ์พวกล้อ และเครื่องผ่อนแรงต่างๆ ที่ใช้ในการสร้างพีระมิดด้วย ดังนั้นการมีพีระมิดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก จึงนำมาซึ่งความสงสัยในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ยิ่งเมื่อมีการค้นพบเมืองต่างๆ ที่ถูกป่าปกคลุมอีกเป็นจำนวนมาก โดยใช้เทคโนโลยี LiDAR ก็ยิ่งทำให้ทุกคนที่สนใจอารยธรรมมายาตระหนักว่า โลกยังมีข้อมูลทั้งภาษาและภาพวาดเกี่ยวกับอารยธรรมมายาให้รู้อีกมากกว่าที่เราคิด


ปริศนา “สุดท้าย” ของอารยธรรมมายาที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์งุนงงในความสามารถ คือ การสร้างสารสีฟ้ามายา (Maya Blue) อันเป็นสิ่งที่ชาวมายานิยมใช้ในงานสร้างสรรค์งานศิลป์ เช่น ภาพวาดตามผนัง ทาบนเครื่องปั้นดินเผา และระบายบนรูปปั้นในช่วงปี 300-1500 แม้สีบนวัตถุเหล่านี้จะตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง และมีความชื้นสูง แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาร่วมพันปี สีฟ้ามายาก็ยังมีความสดสะพรั่งได้ อย่างไม่ตกซีด

การวิเคราะห์โดยเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ในโลกปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า สีฟ้ามายาเกิดขึ้นจากการนำโมเลกุลสีครามมาใส่ในโครงสร้างรูปท่อของดินเหนียว palygoeshite และเมื่อเอาใบของต้น Indigofera มาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับดินเหนียว palygoeshite จากนั้นนำไปเผาที่อุณหภูมิ 120-150 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง พันธะ hydrogen และอันตรกิริยา van der Waals จะทำให้อะตอม (Si,O,H) ในกลุ่ม silanol เข้าไปเรียงในท่อของดินเหนียว ทำให้เกิดสีฟ้ามายาที่สามารถทนกรด ทนแดด ทนสารเคมีต่าง ๆ และทนการกัดกร่อน โดยแบคทีเรียได้

ปริศนา คือ ชาวมายาคิดสร้างเทคโนโลยีนี้ได้อย่างไร และสีฟ้ามายาสามารถทนฝนกรด รังสี UV และรังสีแกมมาได้หรือไม่


อ่านเพิ่มเติมจาก “Ancient genomes reveal demographic trajectories during the Classic Maya period” โดย Madeleine Murray et.al. ในวารสาร Current Biology DOI: 10.1016/j.cub.2025.05.002


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์
ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน,ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์




กำลังโหลดความคิดเห็น