เทคโนโลยีฟิล์ม DLC (Diamond-Like Carbon) หนึ่งในผลงานวิจัยของ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นวัสดุเคลือบที่มีคุณสมบัติโดดเด่นด้านความแข็งแรง ทนทานต่อการสึกหรอและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้มีการพัฒนา “เครื่องต้นแบบการเคลือบฟิล์ม DLC” โดยทางทีมนักวิจัยได้อธิบายว่า สิ่งปนเปื้อนในน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติก่อให้เกิดการกัดกร่อนของชิ้นส่วนทางวิศวกรรมในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ส่งผลให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในกระบวนการบำรุงรักษาทั้งการซ่อมและเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ และยังส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศด้วย โดยเทคโนโลยีการเคลือบฟิล์มคาร์บอนคล้ายเพชร หรือ ฟิล์ม DLC ช่วยเพิ่มสมบัติความแข็ง ต้านการสึกกร่อนและการกัดกร่อน และลดแรงเสียดทานให้กับชิ้นส่วนอุตสาหกรรมได้
สถาบันฯ จึงได้ร่วมกับ บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) พัฒนาเครื่องต้นแบบการเคลือบฟิล์ม DLC สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศ และยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เครื่องต้นแบบเครื่องเคลือบฟิล์ม DLC นี้ ใช้เทคโนโลยีพลาสมาและการเคลือบฟิล์มด้วยเทคนิคการใช้พลาสมาเพิ่มการตกสะสมของไอเชิงเคมี (RF-PECVD) เพื่อสังเคราะห์ฟิล์มดีแอลซี และใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนขั้นสูง Near Edge X-ray Absorption Fine Structure (NEXAFS) เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างฟิล์มดีแอลซี และศึกษาการกระจายตัวของพันธะคาร์บอน ซึ่งฟิล์มดีแอลซีที่พัฒนาขึ้นนี้มีคุณสมบัติต้านการสึกกร่อนและการกัดกร่อนสูง เหมาะสมกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ช่วยลดต้นทุนการซ่อมบำรุง และสามารถทดแทนวัสดุนำเข้าราคาแพงได้ ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นด้านความแข็งแรง ทนทานต่อการสึกหรอและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม