xs
xsm
sm
md
lg

คำพยากรณ์ด้านดาราศาสตร์ที่เกี่ยวกับโลก ในอีก 4,000 ล้านปี (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โหราศาสตร์ เป็นศาสตร์รูปแบบหนึ่งที่หมอดู ซินแส โหร ฯลฯ เชื่อว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดบนท้องฟ้า ตั้งแต่การเคลื่อนที่และตำแหน่งของดาวเคราะห์ ดาวหาง ดวงอาทิตย์ ฯลฯ ล้วนมีอิทธิพลต่อทุกชีวิตบนโลก




ความศรัทธาทำนองนี้ได้เริ่มมีมาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 4,000 ปีก่อน ใน อาณาจักร Babylon (Iraq ปัจจุบัน) โดยโหรจะจับตาดูตำแหน่งของดาวเคราะห์ต่างๆ แล้วแปลความหมายของสิ่งที่เห็นออกเป็นคำทำนาย เช่น เวลาดาวเคราะห์อยู่เรียงกันเป็นแนวเส้นตรง โหรก็จะพยากรณ์ว่า นี่คือโองการจากสวรรค์ที่ให้โลกมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือการปรากฏตัวของดาวหางทุกครั้งก็จะเป็นลางร้าย ที่จะดลบันดาลให้เจ้าครองนครตาย เป็นต้น

อีก 2,000 ปีต่อมา Claudius Ptolemy (100–170) นักดาราศาสตร์ชาวกรีก ได้เข้ามาวางรากฐานในการทำนายทางโหราศาสตร์ โดยการนำความรู้วิทยาศาสตร์มาช่วยในการพยากรณ์ และ Ptolemy ยังได้แถลงอีกว่า โลก คือ จุดศูนย์กลางของเอกภพที่มีดาวดวงอื่นๆ โคจรไปรอบๆ และยังได้เขียนตำราชื่อ “The Almagest” (สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด) ให้นักดาราศาสตร์ทั้งหลายในเวลานั้น ได้ใช้อ้างอิงกันมาเป็นเวลานานนับพันปี


จนกระทั่งถึงยุคสมัยของศาสดาพยากรณ์แห่งเมือง Delphi (Oracle of Delphi) ซึ่งตามปกตินางจะปฏิบัติงานทำนายอยู่ที่ภูเขา Parnassus ในวิหาร Apollo โดยนางมีนามเป็นทางการว่า Pythia และเวลาจะเอื้อนเอ่ยคำทำนาย นางจะสูดดมแก๊สที่ลอยขึ้นจากซอกหิน จนมีอาการสะลึมสะลือ จากนั้นก็เอ่ยคำทำนายออกมา เพื่อให้บรรดานักบวชที่อยู่ใกล้ได้แปลความหมายให้คนที่มาน้อมรับได้ยินคำพยากรณ์ เพื่อนำไปปฏิบัติ

ตามปกติคำทำนายของ Oracle จะเป็นไปโดยการใช้ถ้อยคำและภาษาที่คลุมเครือ ดังนั้นการแปลภาษาที่ใช้ ตลอดจนความหมายของคำที่ใช้จึงอาจผิดไปได้ ซึ่งในบางครั้งก็จะทำให้เกิดความหายนะ ดังเช่น เมื่อกษัตริย์ Croesus แห่งเมือง Lydia ทรงประสงค์จะบุกทำลายอาณาจักร Persia พระองค์ได้เสด็จไปทูลถาม Oracle ว่าผลการทำสงครามที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร และ Oracle ก็ได้ทูลตอบว่า ในวันใดที่พระองค์เสด็จข้ามแม่น้ำ Nalys วันนั้นอาณาจักรหนึ่งของโลกก็จะถูกทำลายอย่างย่อยยับ กษัตริย์ Croesus ทรงเข้าพระทัยว่า พระองค์จะทรงมีชัยชนะเหนือกองทัพ Persia จึงกรีฑาทัพข้ามแม่น้ำทันที และแล้วกองทัพของพระองค์ก็ถูกกองทัพของจักรพรรดิ Cyrus มหาราชบดขยี้จนราบคาบ

ซึ่งคำทำนายของ Oracle ครั้งนั้นก็นับว่าเป็นจริง ที่มีอาณาจักรหนึ่งจะถูกทำลาย แต่อาณาจักรดังกล่าวกลับเป็นอาณาจักรของกษัตริย์ Croesus เอง

ธุรกรรมทางโหราศาสตร์ได้เจริญรุ่งเรืองมากในยุคกลาง คือ นับจากปี 476 จนถึงปี 1492 ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่อาณาจักรโรมันกำลังเรืองอำนาจ เพราะเหตุว่ามันเป็นธรรมชาติของคน ที่ต้องการจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นทั้งของตนเองและของผู้อื่นในอนาคต และความต้องการจะรู้นี้ก็มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ต้องการจะรู้เวลาที่จะเกิดสงครามกลางเมือง รู้วันเวลาที่จะเกิดภัยวิบัติตามธรรมชาติ รู้เวลาที่ประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพื่อจะได้มีเวลาแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ทันการณ์


แต่คนที่พยาการณ์ในยุคโรมันนั้น มักใช้ความรู้วิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ควบคู่กัน จนกระทั่งถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (ปี 1492 เป็นต้นมา) ก็มีบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด คือ Michel de Nostredame (1503-1566) ซึ่งเป็นโหรชาวฝรั่งเศสที่โลกทุกวันนี้ รู้จักดีในนาม Nostradamus ซึ่งในวัยหนุ่ม ได้เคยทำงานเป็นแพทย์รักษาคนป่วยที่เป็นกาฬโรค

Nostradamus เอง มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง เช่น รู้ทฤษฎีดาราศาสตร์ของ Nicolaus Copernicus (1473-1543) ผู้ที่ได้แถลงว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ในที่สุด Nostradamus ก็ได้กลับไปยึดมั่นในวิชาไสยศาสตร์และเชื่อเรื่องเหนือจริง (paranormal) โดยได้เขียนคำทำนายเกี่ยวกับอนาคตของโลกไว้ในตำรา 7 เล่ม และหนึ่งในคำทำนายนั้นคือ ในปี 1999 จะมีเทพเจ้าแห่งความกลัวจุติลงมาจากฟ้า ทว่าไม่มีใครสามารถตีความได้ชัดเจนว่า เทพเจ้าดังกล่าวคือใคร ดังนั้นจึงมีนักตีความหลายคนที่คิดว่า คงเป็นเทพแห่งสงครามนิวเคลียร์ หรือเทพแห่งปรากฏการณ์โลกร้อนที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์วันสิ้นโลก

โลกมีนักพยากรณ์ร่วมสมัยกับ Nostradamus อีกคนหนึ่งชื่อ Sir Thomas More (1478-1535) ซึ่งเป็นเจ้าของบทประพันธ์เรื่อง “Utopia” ที่กล่าวถึงความเชื่อว่า โดยพื้นฐานมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตใจดีและงดงาม แต่ความขัดแย้งระหว่างบุคคลในที่สุดก็จะทำให้เกิดการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งมักจะนำไปสู่ความรุนแรง เพื่อให้ทุกคนมีความเสนอภาคทางสังคม More เอง ได้ถูกพระเจ้า Henry ที่ 8 แห่งอังกฤษทรงประหารชีวิต เพราะได้ทูลคัดค้านพระองค์ท่าน ที่ไม่ทรงยอมรับสันตะปาปาเป็นประมุขแห่งคริสตศาสนจักรในอังกฤษ


เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ด้วยการมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมาย เช่น เครื่องจักรไอน้ำ รถไฟ รถยนต์ เรือกลไฟ ฯลฯ นักอนาคตศาสตร์คนสำคัญของยุค ได้แก่ Jules Gabriel Verne (1828-1905) ซึ่งได้เขียนนวนิยายจินตนาการเชิงวิทยาศาสตร์ไว้หลายเล่ม โดยเนื้อหาในบางเรื่องได้กลายเป็นเรื่องจริงในเวลาต่อมา เช่น เขียนเรื่อง The Journey to the Center of the Earth เมื่อปี 1864 ซึ่งได้กล่าวถึงความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ในการเดินทางสู่แก่นกลางของโลก และเรื่อง Twenty Thousand Leagues Under the Sea เมื่อปี 1870 ซึ่งกล่าวถึงการมีเรือดำน้ำ Nautilus ที่สามารถดำลงไปสำรวจใต้มหาสมุทร ปัจจุบันโลกมีเรือดำน้ำ DSV Alvin (DSW มาจากคำเต็มว่า Deep Submergence Vehicle) และมี DSV Limiting Factor ซึ่งเป็นยานที่ได้ดำน้ำลงไปได้ลึกถึง 10,925 เมตร เมื่อปี 2019 Verne ยังได้เขียนนวนิยายเรื่อง “From the Earth to the Moon” เมื่อปี 1865 ซึ่งได้กล่าวถึงการเดินทางของมนุษย์อวกาศ 3 คน ไปเยือนดวงจันทร์ด้วย

เมื่อถึงยุคปัจจุบัน คำถามหนึ่งที่คนหลายคนสนใจและใคร่จะรู้คำตอบ คือ ในอนาคตโลกของเราจะเป็นอย่างไรในอีก 4,000 ล้านปี บรรดาทวีปต่างๆ ของโลกจะเคลื่อนย้ายอย่างไร หรือไม่ ทะเล บรรยากาศ และสิ่งมีชีวิตในโลกอนาคต ณ เวลานั้นจะมีรูปลักษณ์เป็นเช่นไร และรูปร่างของมนุษย์จะยังเหมือนเดิมหรือไม่


ในการตอบคำถามแรกที่เกี่ยวกับทวีปต่าง ๆ นั้น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เหตุการณ์นี้เป็นไปตามทฤษฎีการเลื่อนตัวของเปลือกทวีป (plate tectonics) ที่ Alfred Wegener (1880-1930) ซึ่งเป็นนักอุตุนิยมวิทยา ได้เคยเสนอไว้เมื่อปี 1912 ว่า ในอดีตเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน ทวีปอเมริกาใต้ได้เคยอยู่ติดกับทวีปแอฟริกา โดย Wegener ได้ข้อสรุปนี้จากการสังเกตดูรูปลักษณ์ของขอบทวีปทั้งสอง และเห็นว่าอาจจะอยู่ติดกัน จากนั้นทวีปทั้งสองก็ได้แตกแยกจากกัน นอกจากเหตุผลนี้แล้ว Wegener ก็ยังได้พบว่า fossil ของพืชและสัตว์หลายชนิดที่พบบนทวีปทั้งสองมีลักษณะที่คล้ายกันมาก


แต่ข้อสรุปนี้ ก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการ เพราะ Wegener ไม่สามารถหาเหตุผลมาใช้อธิบายได้ว่า ทวีปต่าง ๆ เคลื่อนที่ได้เพราะสาเหตุใด และเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่บรรดานักธรณีวิทยาในเวลานั้นไม่ยอมรับทฤษฎีของ Wegener ก็คือ เขาเป็นเพียงนักอุตุนิยมวิทยาคนหนึ่ง จะมารู้เรื่องธรณีวิทยาดีกว่านักธรณีวิทยาอาชีพได้อย่างไร

การถูกนักวิชาการทั้งหลายปฏิเสธการยอมรับด้วยการบูลลี่ โจมตี เยาะเย้ย และประณามว่า เขาเสียสติ ได้ทำให้ Wegener ทิ้งงานธรณีวิทยาไปอย่างถาวร แล้วเดินทางไปที่บริเวณขั้วโลกเหนือเพื่อสำรวจสภาพของน้ำแข็ง และสภาพดินฟ้าอากาศที่นั่น จนในที่สุดอากาศหนาวและการขาดแคลนอาหาร ก็ทำให้ Wegener เสียชีวิตในปี 1930

อีก 40 ปีต่อมา เมื่อเทคโนโลยีการสำรวจทางธรณีวิทยาได้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น นักสมุทรศาสตร์ก็ได้พบการเกิดรอยแยกที่ท้องมหาสมุทรต่าง ๆ จึงตระหนักรู้ว่า การขยายตัวของรอยแยกนี้เองที่ทำให้เปลือกทวีปเคลื่อนที่ นอกจากนี้นักธรณีวิทยาก็ยังได้พบอีกว่า ที่ใต้เปลือกทวีปเป็นของเหลวร้อนและหนืดที่ไหลได้ช้า และความร้อนกับความดันที่สูงมากมหาศาลนี้ ก็สามารถทำให้เปลือกทวีปเคลื่อนที่ได้ ทฤษฎีของ Wegener จึงเป็นที่ยอมรับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ถึงวันนี้ ทฤษฎีธรณีวิทยาได้พยากรณ์ว่า ในอนาคตอีกหลายร้อยล้านปี จากทวีปต่าง ๆ ของโลกที่เคยอยู่กระจายแยกจากกันนี้ มันจะเคลื่อนเข้าใกล้กัน เช่น ทวีปอเมริกาเหนือจะเลื่อนมาอยู่ติดกับทวีปเอเชีย และทวีปอเมริกาใต้กับทวีปออสเตรเลียจะเคลื่อนที่มาอยู่ติดกันเป็น supercontinent ในอีก 200 ล้านปี อนึ่งเวลาเปลือกทวีปเคลื่อนที่ปะทะกัน แรงดันที่มากมหาศาลจะทำให้เกิดเทือกเขาใหม่ ๆ มากมาย และอาจจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงด้วย ในกรณีการเลื่อนมาติดกันของทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปเอเชียนั้น ก็จะทำให้เกิดมหาทวีป Amasia และในกรณีของทวีปอเมริกาใต้กับทวีปแอฟริกา ก็จะทำให้เกิดมหาทวีป Pangaea Proxima เป็นต้น

สำหรับการตอบคำถามที่ว่า ในอนาคตที่ไกลโพ้น โลกและบรรดาดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในระบบสุริยะจะเป็นเช่นไรนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถจะพยากรณ์ได้ โดยการตั้งสมมติฐานว่า กฎต่าง ๆ ของวิชาฟิสิกส์ (ทั้งของ Newton, Einstein และกลศาสตร์ควอนตัม) จะยังคงเป็นจริงเสมอ คือ ใช้ได้ตลอดไป นับตั้งแต่เอกภพถือกำเนิด ตลอดไปจนถึงอนาคต นอกจากนี้ค่าคงตัวต่าง ๆ ในธรรมชาติก็ไม่เปลี่ยนค่าด้วย เช่น ค่าโน้มถ่วงสากล ค่าความเร็วแสง ค่าคงตัวของ Planck ก็มีค่าเท่าเดิม จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็จะต้องใช้ข้อมูลปัจจุบันที่เกี่ยวกับตำแหน่งและความเร็วของดาวทุกดวงในระบบสุริยะและในกาแล็กซีทั้งหมด เพื่อให้ supercomputer คำนวณ หาข้อมูลของดาวทุกดวงในอนาคตตามที่ต้องการ

อนึ่งในการใช้กฎต่าง ๆ กับการรู้ข้อมูลปัจจุบัน ยังสามารถทำให้เรารู้สถานการณ์ของโลกและของระบบสุริยะในอดีตด้วย เช่น รู้ว่าเอกภพได้ถือกำเนิดเมื่อ 13,800 ล้านปีก่อน ทั้งนี้จากการรู้ค่าคงตัว H0 (Hubble constant ประมาณ 74.2-78.4 กิโลเมตร/วินาที/เมกะพาร์เซก) จึงรู้ว่าเหตุการณ์ Big Bang เกิดจากการระเบิดของสภาวะเอกฐาน (singularity) และอีก 120 วินาทีต่อมาเอกภพก็เริ่มมีธาตุ hydrogen และธาตุ helium

ต่อจากนั้นอีก 4,600 ล้านปี ดวงอาทิตย์ก็ได้ถือกำเนิด แล้วอีก 40 ล้านปี ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูนก็เริ่มก่อตัว จนอีก 20 ล้านปีต่อมา โลก ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพุธ ก็ได้ถือกำเนิด จากจานแก๊สร้อนที่ห่อหุ้มดวงอาทิตย์

ในการพยากรณ์เหตุการณ์ทั้งในอดีตและในอนาคต นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลสถานภาพของดาวต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น โลก ซึ่งได้ระบุว่า โลกหมุนรอบตัวเองโดยใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง เพราะถ้าวัดในแนวเส้นศูนย์สูตร รัศมีของโลก = 6,378 กิโลเมตร และถ้าวัดในแนวขั้วโลก รัศมีของโลก = 6,357 กิโลเมตร ดังนั้นความเร็วของคนที่ยืนอยู่ที่เส้นศูนย์สูตรของโลก = 1,670 กิโลเมตร/ชั่วโมง และความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่เส้นศูนย์สูตร = 9.83 เมตร/วินาที^2 ส่วนความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่ขั้วโลก = 9.78 เมตร/วินาที^2

เพราะโลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ เป็นระยะทางโดยประมาณ = 149.6 ล้านกิโลเมตร ดังนั้นความเร็วของโลกในการโคจรรอบดวงอาทิตย์จึงมีค่าประมาณ 29.78 กิโลเมตร/วินาที แต่โลกหมุนช้าลงตลอดเวลา เพราะแรงโน้มถ่วงที่ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์กระทำต่อน้ำทะเลและบรรยากาศของโลก ได้ทำให้โลกหมุนช้าลง 14x10^(-9) วินาที/ปี นั่นแสดงว่า ในอดีตเมื่อ 4,000 ล้านปีก่อน วันหนึ่ง ๆ ของโลกจะนานเพียง 6-8 ชั่วโมงเท่านั้นเอง คือ มิใช่ 24 ชั่วโมงดังในปัจจุบัน

ในความเป็นจริง โลกมิได้โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงกลม แต่เป็นวงรี ดังนั้นในบางเวลาโลกจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์และมีความเร็วมาก = 30.29 กิโลเมตร/วินาที และในบางเวลาจะอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ และมีความเร็ว 29.29 กิโลเมตร/วินาที

สำหรับดาวอื่น ๆ เช่น ดาวพุธ ซึ่งโคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จะมีความเร็วสูงสุด 17 กิโลเมตร/วินาที ส่วนดาวเนปจูนที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุด ก็จะเป็นดาวที่มีความเร็วต่ำสุด = 5.4 กิโลเมตร/วินาที


แต่ดวงอาทิตย์ของเราก็มิได้เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่กับที่ โดยกำลังโคจรรอบจุดศูนย์กลางของกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) และอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของกาแล็กซีเป็นระยะทางประมาณ 27,000 ปีแสง ที่ระยะทางไกลเช่นนี้ ดวงอาทิตย์ต้องใช้เวลานานตั้งแต่ 220-250 ล้านปี จึงจะโคจรไปได้ครบรอบ ด้วยความเร็วประมาณ 220 กิโลเมตร/วินาที

แต่ตัวเลขระยะทางและความเร็วดังที่กล่าวมานี้ จะต้องมีค่าความไม่แน่นอนควบคู่ไปด้วยทุกครั้งไป เพราะเทคนิคการวัดระยะทางกับตำแหน่งและเวลา มีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ โดยมีสาเหตุมาจากความเร็วของโลก ดวงอาทิตย์ และกาแล็กซี มิได้อยู่ในทิศทางเดียวกัน คือ ระนาบการโคจรของสุริยะจักรวาลจะเอียงค่ามุม 60 ° กับระนาบของกาแล็กซีทางช้างเผือก ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 100,000 ปีแสง และมีความหนาประมาณ 2,000 ปีแสง ดังนั้น ความเร็วของโลกในอวกาศจึงต้องรวมความเร็วของโลกรอบดวงอาทิตย์ และความเร็วของดวงอาทิตย์รอบกาแล็กซี ทำให้มีค่าได้ตั้งแต่ 208 กิโลเมตร/วินาที ถึง 237 กิโลเมตร/วินาที


แต่ทางช้างเผือกก็มิได้เป็นเพียงกาแล็กซีหนึ่งเดียวที่เอกภพมี เพราะนอกจาก Milky Way แล้ว เอกภพยังมีกาแล็กซีอื่นๆ อีก ประมาณ 80 กาแล็กซีที่อยู่ใกล้กันเป็นกลุ่ม โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางของกลุ่มยาวประมาณ 80 ล้านปีแสง จึงมีชื่อเรียกว่า Local Group อันประกอบด้วย Milky Way , Andromeda Galaxy (M31) กาแล็กซีสามเหลี่ยม (Triangulum Galaxy (M33)) และ กาแล็กซีแคระ (dwarf galaxy) อีกมากมาย

โดยมี Andromeda เป็นกาแล็กซีที่ขนาดใหญ่ที่สุด มีมวลมากที่สุด และอยู่ห่างจากโลกประมาณ 2.5 ล้านปีแสง อีกทั้งมีมวลมากประมาณ 2 เท่าของกาแล็กซีทางช้างเผือก และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 300 กิโลเมตร/วินาที

การวิเคราะห์ทิศทางและความเร็วต่างๆ ทั้งของโลก ของกาแล็กซีทางช้างเผือก กับของ Andromeda ทำให้เรารู้ว่า Andromeda กับ Milky Way กำลังเคลื่อนที่เข้าหากันด้วยความเร็ว 109 กิโลเมตร/วินาที ดังนั้นมันจะชนกันในอีก 4,000 ล้านปี


เพราะเหตุว่า ความหนาแน่นของสสารในเอกภพจะต้องสม่ำเสมอ ดังนั้นเมื่อมี Local Group ที่เป็นกลุ่มของ Galaxy ที่ทำให้มีความหนาแน่นสูง เอกภพก็จะต้องมีบริเวณที่มีความหนาแน่นน้อยซึ่งเรียกว่า void (ความว่างเปล่า) ด้วย โดย void จะออกแรงผลักกาแล็กซีต่างๆ ที่ทำให้ Local Group ของกาแล็กซีมีความเร็วลัพธ์ประมาณ 600 กิโลเมตร/วินาที

เมื่อพิจารณาความเร็วทั้งหมด ดวงอาทิตย์ของเราก็จะมีความเร็ว 368 ± 2 กิโลเมตร/วินาที ในทิศที่มุ่งสู่กลุ่มดาว Leo (สิงโต) ในขณะที่ Local Group มีความเร็ว 627 ± 22 กิโลเมตร/วินาที


ด้วยค่าเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถจะทำนายได้ว่า ในอีก 4,000 ล้านปี เมื่อดวงอาทิตย์สูญเสียมวลจากการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่มีในตัวมันไปจนหมดแล้ว ดวงอาทิตย์ก็จะกลายสภาพเป็นดาวยักษ์แดง (red giant) ที่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ปัจจุบัน 100 เท่า โดยมีอุณหภูมิที่ผิวประมาณ 3,000-5,000 องศาเคลวิน และขณะนั้นแก่นกลางของดวงอาทิตย์ จะมีธาตุที่หนักกว่า hydrogen คือ helium, carbon, oxygen ฯลฯ เกิดขึ้น จากนั้นดวงอาทิตย์ก็จะกลายสภาพจากดาวยักษ์แดง เป็นดาวแคระขาว (white dwarf) ที่มีขนาดเล็กเท่าโลก เพราะได้สลัดเนื้อดาวส่วนใหญ่ออกไปเป็น nebula แล้ว และอุณหภูมิของดวงอาทิตย์ก็จะลดลงๆ จนกลายเป็นดาวแคระดำ (black dwarf) แล้วดับหายไปในที่สุด


ดังนั้นในขณะที่ดวงอาทิตย์ลดบทบาทและอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงที่มีในตัวมัน ดาวพฤหัสบดีก็จะกลายสภาพเป็นดาวเคราะห์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในระบบสุริยะ ซึ่งจะมีผลทำให้ดาวพุธและดาวศุกร์โคจรมาชนกันได้ ส่วนดาวอังคารกับโลกนั้นก็อาจจะพุ่งชนกันได้ในที่สุด


พวกเราคงไม่ต้องกังวลครับ เพราะในเวลานั้นสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกได้ตายไปอย่างสมบูรณ์แล้ว


อ่านเพิ่มเติมจาก Richmond, M. "The Future of the Universe". Physics 240. Rochester Institute of Technology. Retrieved 19 February 2023.


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์
ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน,ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น