xs
xsm
sm
md
lg

NARIT จัดโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ปีที่ 11 เปิดโอกาสการเรียนรู้ด้านอวกาศสู่โรงเรียนทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า โครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 60 พรรษา สดร. มอบกล้องโทรทรรศน์ และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ พร้อมฝึกอบรมการใช้งาน ให้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ต่อมาได้รับความสนใจจากโรงเรียนทั่วประเทศ จนกระทั่งปัจจุบันในปี 2568 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 11 มอบเพิ่มอีก 50 โรงเรียน รวมมอบแล้วกว่า 710 แห่ง ครบทั่วทั้ง 77 จังหวัดของไทย จำนวนของโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมในแต่ละปีนั้นมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวในการเรียนการสอนดาราศาสตร์ในประเทศไทยเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่สามารถขยายการเรียนรู้ดาราศาสตร์ไปทั่วประเทศ จากการเรียนการสอนในห้องเรียน สู่การเกิดชุมนุมดาราศาสตร์ในโรงเรียน เกิดโครงงานวิจัย ขยายไปสู่การจัดกิจกรรมในชุมชมใกล้เคียง รวมนับหมื่นกิจกรรมตลอดระยะเวลาที่ดำเนินโครงการมา โดยมีกำลังสำคัญคือ เครือข่ายครูดาราศาสตร์อันเข้มแข็งที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้นั่นเอง




นางสาวชลรวี สังข์ทอง คุณครูโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โรงเรียนของตนเป็นโรงเรียนประจำเอกชนขนาดกลางใจกลางเขตดุสิต กรุงเทพฯ สอนตั้งแต่ระดับชั้น ป.4 - ม.6 เดิมทางโรงเรียนมีกล้องโทรทรรศน์สำหรับใช้จัดกิจกรรมภายในอยู่แล้ว แต่อยากต่อยอดด้านการพัฒนาศักยภาพนักเรียน และขยายผลไปยังโรงเรียนใกล้เคียงด้วย จึงเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อนำอุปกรณ์ที่ได้รับมาจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ ด้วยลักษณะพื้นที่ของเมืองหลวง โรงเรียนส่วนใหญ่ในบริเวณนี้จะมีลักษณะเป็นตึกสูง มีแสงเมืองรบกวน มีมุมมองท้องฟ้าน้อยมาก แต่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยมีพื้นที่โล่งกว้างกว่า 99 ไร่ เหมาะสำหรับจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ และใช้เป็นศูนย์กลางเชิญชวนคุณครูและนักเรียนโรงเรียนใกล้เคียง รวมถึงชุมชนในละแวกนี้ที่สนใจมาร่วมกิจกรรมด้วย สำหรับกล้องโทรทรรศน์ที่ได้รับในครั้งนี้ โรงเรียนมีแผนวัดผลทุก ๆ 5 ปี ว่าต่อยอดอะไรได้บ้าง และไม่ได้มุ่งหวังในเรื่องวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่หวังผลถึงการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างเครือข่ายดาราศาสตร์ของนักเรียนในโรงเรียน และใกล้เคียง ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน รวมถึงในอนาคตเราหวังว่าจะขยายผลการจัดกิจกรรมไปยังกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษเหมือนกับทาง NARIT ด้วย


นางสาวลำจวน คำบรรลือ คุณครูโรงเรียนพรานกระต่ายพิทยาคม จ. กำแพงเพชร กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการเข้าร่วมโครงการนี้มาจากการขอยืมกล้องโทรทรรศน์จากโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เคยได้รับมอบกล้องฯ จาก NARIT มาใช้จัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน ซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนได้อย่างชัดเจน จึงสอบถามวิธีการและเงื่อนไขการขอรับกล้องโทรทรรศน์ รวมถึงสมัครเข้าร่วมโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นต้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ดาราศาสตร์ ตอนนั้นตนพยายามสมัครไปหลายแห่งตามที่ NARIT จัดในปีนี้ ทั้งพิษณุโลก และระยอง แต่เต็มหมด สุดท้ายก็เหลือที่ จ. กระบี่ จึงตัดสินใจเดินทางลงไปร่วมอบรมที่ภาคใต้ เมื่อถึงวันอบรม ตนก็ไม่รอช้า ถามเจ้าหน้าที่ NARIT ทันทีว่าหากต้องการกล้องโทรทรรศน์ต้องทำอย่างไร เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ทำกิจกรรมตามเงื่อนไขให้ครบถ้วน และเขียนโครงการขอรับการสนับสนุนกล้อง ซึ่งตนก็ตั้งใจทำทุกขั้นตอนอย่างเต็มที่ พอทราบว่าโรงเรียนได้รับคัดเลือกก็รู้สึกดีใจมาก เพราะสมัครเป็นครั้งแรก หลังจากได้รับกล้องมอบกล้องฯ แล้วก็พร้อมขยายผลทันที ตั้งเป้าจะสร้างเครือข่ายร่วมกับโรงเรียนประถมและมัธยมในพื้นที่ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ครูวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนใกล้เคียงที่สนใจ เข้ามาเรียนรู้การใช้งานกล้องโทรทรรศน์ร่วมกันด้วย


นายอานนท์ ดวงบุญมี คุณครูโรงเรียนบ้านทองสาย จ. บึงกาฬ กล่าวว่า สมัยที่เป็นนักศึกษาฝึกสอน เคยเห็นรุ่นพี่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์จาก NARIT จึงมีความตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่มว่า หากได้เป็นครู จะขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ประกอบการสอน ประกอบกับเมื่อปีที่ผ่านมา โรงเรียนจัดกิจกรรมวันวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรก พบว่าโรงเรียนมีกล้องโทรทรรศน์แต่สภาพเก่าและชำรุด ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง นักเรียนส่วนใหญ่จึงไม่มีโอกาสสัมผัสหรือเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์มาก่อน นอกจากนี้ เวลาออกไปจัดกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนอื่น ๆ บ่อยครั้งที่บุคลากรของโรงเรียนไม่มีอุปกรณ์ติดตัวไป เนื่องจากโรงเรียนมีทรัพยากรไม่เพียงพอ ขณะที่บางโรงเรียนเจ้าภาพก็ขาดแคลนอุปกรณ์เช่นกัน โดยเฉพาะกิจกรรมที่มีนักเรียนเข้าร่วมจำนวนมาก หากโรงเรียนของตนมีกล้องโทรทรรศน์ที่ได้มาตรฐาน ก็สามารถนำไปใช้สนับสนุนกิจกรรมให้กับโรงเรียนอื่นได้ด้วย และแน่นอนว่าเด็ก ๆ ในโรงเรียนของตนก็จะได้ใช้ประโยชน์เต็มที่เช่นกัน


พิธีมอบกล้องโทรทรรศน์ และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ พร้อมฝึกอบรมการใช้งาน โครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ประจำปี 2568 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2568 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และโรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท จ. เชียงใหม่ มีครูเข้าร่วมกิจกรรม จาก 50 โรงเรียน ใน 31 จังหวัด กิจกรรมประกอบด้วยพิธีมอบกล้องโทรทรรศน์ อบรมการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับสังเกตการณ์ภาคกลางวัน ฝึกปฏิบัติการใช้งานกล้องโทรทรรศน์สำหรับสังเกตการณ์ในช่วงกลางคืน อบรมการใช้งานซอฟต์แวร์ทางดาราศาสตร์ ฝึกวางแผนการจัดกิจกรรมดูดาว และเวิร์คช็อปโครงงานดาราศาสตร์เบื้องต้น


สำหรับกล้องโทรทรรศน์ที่มอบให้ในโครงการนี้ เป็นกล้องโทรทรรศน์ชนิดดอปโซเนียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว สดร. ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตคนไทย ออกแบบ สร้างและพัฒนา จนได้กล้องโทรทรรศน์ฝีมือคนไทยต้นทุนต่ำแต่คุณภาพสูง ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับการใช้งานในโรงเรียน สามารถสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ (ผ่านฟิลเตอร์ดูดวงอาทิตย์) รวมถึงวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก เช่น กาแล็กซี เนบิวลา กระจุกดาว เป็นต้น มีอุปกรณ์เสริม อาทิ ชุดเลนส์ใกล้ตา อุปกรณ์เพิ่มกำลังขยายพิเศษ และสามารถนำกล้องถ่ายภาพดิจิทัลมาเชื่อมต่อเพื่อบันทึกภาพวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ได้ ใช้เก็บข้อมูลทำโครงงาน จัดกิจกรรม และเป็นสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ได้ นอกจากนี้ หากกรณีชำรุดเสียหาย NARIT ยินดีซ่อมให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ด้วยมุ่งหวังให้ครูและนักเรียนนำไปใช้จริงให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในโรงเรียนและชุมชน


กำลังโหลดความคิดเห็น