xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก ALIGN อุปกรณ์ฝีมือนักวิจัยไทย ที่จะได้เดินทางไปกับยานฉางเอ๋อ 8 เพื่อสำรวจขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปี 2029

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากความสำเร็จของ ยานฉางเอ๋อ 5 และ ยานฉางเอ๋อ 6 ที่ได้ทำภารกิจในการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์และเก็บดินตัวอย่างกลับมายังโลก องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ได้มีการวางแผนกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งใน ภารกิจฉางเอ๋อ 7 ที่จะกลับไปในปี 2026 และ ฉางเอ๋อ 8 จะกลับไปในปี 2029 โดยสองภารกิจการสำรวจดาวบริวารถาวรเพียงหนึ่งเดียวของโลกนี้ จะมี 2 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของไทยร่วมเดินทางไปกับยานสำรวจทั้ง 2 ลำอีกด้วย


ชิ้นแรกคือ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ MATCH (Moon-Aiming Thai-Chinese Hodoscope) ที่จะติดตั้งบนยานฉางเอ๋อ 7 โดยจะไปโคจรรอบดวงจันทร์ในปี 2026 เพื่อตรวจวัดสภาพอวกาศ

และชิ้นที่สองคือ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ALIGN (Assessing Lunar Ion-Generated Neutrons) ที่จะติดตั้งบนยานฉางเอ๋อ 8 ที่จะไปลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณขั้วใต้ ในปี 2029 โดยมีหน้าที่ตรวจวัดปริมาณนิวตรอนบนดวงจันทร์


ALIGN เป็นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ตรวจจับนิวตรอนจากพื้นผิวของดวงจันทร์เพื่อนำมาวิเคราะห์หาน้ำบนพื้นผิวรวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ ภายในชั้นดิน อุปกรณ์นี้ไม่ได้ปล่อยนิวตรอนออกมาจากตัวเครื่อง แต่อาศัยนิวตรอนจากดวงอาทิตย์ที่ปลดปล่อยมาพร้อมกับลมสุริยะให้ปะทะกับพื้นผิวของดวงจันทร์และสะท้อนกลับมายังเครื่องตรวจจับของ ALIGN เราเรียกเทคนิคลักษณะนี้ว่าการตรวจจับแบบตั้งรับ (Passive Detection) ซึ่งเป็นการตั้งเครื่องมือตรวจจับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ไม่ได้ยิงหรือส่งสัญญาณใดๆ ออกไปเพื่อรอการสะท้อนกลับอย่างเรดาร์

อุปกรณ์ตรวจวัดบน ALIGN มีทั้งหมด 3 ชุด ตั้งในมุมขนานและไล่ระดับขึ้นไปจนตั้งฉากกับพื้นผิว อุปกรณ์ตรวจวัดแต่ละชุดมีมุมในการตรวจวัดมากถึง 130 องศา ทำงานภายใต้เทคโนโลยีสารเรืองแสง (Scintillator) ที่แตกต่างกันถึง 3 ชนิด ครอบคลุมตั้งแต่ช่วงนิวตรอนพลังงานต่ำ (Thermal Neutron) ไปจนถึงนิวตรอนพลังงานสูง (Fast Neutron) ด้วยความละเอียดสูง รวมแล้วมีน้ำหนักเพียง 3.5 กิโลกรัม มีอัตราการบริโภคไฟฟ้าของเครื่องตรวจวัดที่ 15 วัตต์ แต่ต้องอาศัยระบบทำความร้อนภายในตัวเองที่บริโภคพลังงานไฟฟ้าที่ 20 วัตต์เพื่อให้ระบบสามารถทำงานในสภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายบนดวงจันทร์ได้


เป้าหมายหลักของ ALIGN คือการตามหาน้ำแข็งบนพื้นผิวของดวงจันทร์และทรัพยากรมีค่าอื่น ๆ ใต้พื้นผิวของดวงจันทร์ เพราะเป้าหมายของยานฉางเอ๋อ 8 คือการไปลงจอดที่ตำแหน่งขั้วใต้ ซึ่งเป็นตำแหน่งเป้าหมายศักยภาพสูงที่จะมีการไปตั้งฐานศึกษาบนดวงจันทร์ในอนาคต จากการคาดการณ์ ALIGN จะสามารถสังเกตสัญญาณขององค์ประกอบแร่ที่มีค่าใต้เนื้อดินของดวงจันทร์ได้ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการสำรวจขุดเจาะแร่ในอนาคต


อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ทั้งสองชิ้น ที่จะได้ร่วมเดินทางไปกับงานฉางเอ๋อ 7 และ 8 เป็นผลงานของ ทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. เดวิด จอห์น รูฟโฟโล (David John Ruffolo) ร่วมกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT


ข้อมูลอ้างอิง 

- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT
- spaceth.co


กำลังโหลดความคิดเห็น