ไม่มีวัตถุใดในระบบสุริยะที่มีความเคลื่อนไหวและหลากหลายเท่ากับดวงอาทิตย์ การที่ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง และในแสงนั้นยังมีรังสีที่เป็นอันตรายรวมถึงมีความร้อนที่มหาศาล ทำให้การสำรวจดวงอาทิตย์ทำได้ค่อนค้างยาก แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการสำรวจอวกาศได้ถูกพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มนุษย์เราสามารถสำรวจดวงอาทิตย์ดาวฤกษ์ศูนย์กลางของระบบสุริยะของเราได้มากขึ้น
ล่าสุด องค์การอวกาศยุโรป ESA ได้มีการเผยภาพผิวดวงอาทิตย์ที่มีความคมชัดสูงสุด จากยาน Solar Orbiter ที่ได้ทำภารกิจสำรวจดาวฤกษ์ศูนย์กลางของระบบสุริยะของเรา โดยเป็นภาพถ่ายผิวดวงอาทิตย์ในระยะห่างประมาณ 74 ล้านกิโลเมตร ที่แสดงให้เห็นรายละเอียดต่างๆ ของชั้นบรรยากาศโฟโตสเฟียร์ บริเวณที่ส่องสว่างมากที่สุดของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นแสงส่วนมากที่มนุษย์เรามองจากโลก และยังเผยให้เห็น แกรนูลและจุดมืดบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่มีความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กสูงกว่าจุดอื่น และบริเวณนี้ยังมีอุณหภูมิสูงได้ถึงหลักล้านองศาเซลเซียส
"สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์เป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจธรรมชาติของดาวฤกษ์แม่ของเราตั้งแต่ขนาดเล็กสุดไปจนถึงขนาดใหญ่สุด แผนที่ความละเอียดสูงใหม่เหล่านี้ ได้แสดงให้เห็นความงามของสนามแม่เหล็กและการไหลของพื้นผิวดวงอาทิตย์ในรายละเอียดที่คมชัด ในเวลาเดียวกันแผนที่เหล่านี้ยังมีความสำคัญต่อการอนุมานสนามแม่เหล็กในโคโรนาของดวงอาทิตย์"
.….. Daniel Muller นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการของยาน Solar Orbiter กล่าว
ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ที่มีความละเอียดนี้ ได้ถูกบันทึกผ่านอุปกรณ์ Polarimetric and Helioseismic Imager (PHI) ที่บันทึกภาพดวงอาทิตย์ในช่วงคลื่นแสงที่ตาของมนุษย์เรามองเห็น พร้อมเก็บข้อมูลความเข้มข้นและทิศทางสนามแม่เหล็กโดยละเอียด อุปกรณ์ดังกล่าวถูกติดตั้งกับยาน Solar Orbiter ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง องค์การอวกาศยุโรป ESA และ องค์การ NASA โดยยานได้ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2020 ภารกิจของยานลำนี้ก็คือการสำรวจดวงอาทิตย์ ศึกษาลมสุริยะอย่างละเอียด และถ่ายภาพบริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ของดวงอาทิตย์ เพื่อที่จะได้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ ที่สำคัญเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ดาวฤกษ์ศูนย์กลางของระบบสุริยะของเรามากยิ่งขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง : esa.int/Science_Exploration (New full Sun views show sunspots, fields and restless plasma)