xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิทินวันสำคัญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดือนพฤษภาคม 2568

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดือนพฤษภาคม เป็นอีกหนึ่งเดือนที่มีวันสำคัญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ได้รำลึกถึงเหล่านักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งได้ฝากผลงานที่น่าจดจำและให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ และยังมีวันสำคัญสากลต่างๆ ให้ได้ระลึกถึงปณิธานและวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งวันสำคัญนั้นให้เกิดขึ้น 


1 พฤษภาคม : เป็นวันคล้ายวันเกิดของ โยฮัน ยาค็อพ บัลเมอร์ (Johann Jakob Balmer) นักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ ชาวสวิส ผู้ค้นพบหลักพื้นฐานในการพัฒนาทฤษฎีอะตอม ในฐานะนักคณิตศาสตร์เขากลายเป็นที่รู้จักจากสูตรเชิงประจักษ์ ที่อธิบายสเปกตรัมของ อะตอมไฮโดรเจน หลังจากวิเคราะห์สเปกตรัมเส้นของอะตอมไฮโดรเจนด้วยวิธีการวัดของAnders Jonas Angstrom


14 พฤษภาคม : เป็นวันคล้ายวันเกิดขอมิคาอิล ซเวต (Mikhail tsvet) บิดาแห่งโครมาโทกราฟี นักพฤกษศาสตร์ชาวรัสเซีย ผู้ค้นพบกระบวนการแยกสารที่เรียกว่า "โครมาโทกราฟี" (Chromatography) ซึ่งเป็นวิธีการแยกสารโดยอาศัยความแตกต่างจากการเคลื่อนที่ของโมเลกุลของสารต่างๆ ที่ผสมรวมกันอยู่ โดยให้สารผ่านหรือไหลซึมไปในตัวกลางที่เหมาะสมด้วยแรงโน้มถ่วงหรือความดัน และคำว่า “แคโรทีนอยด์” เป็นคำที่เขาคิดขึ้นเป็นคำแรก


15 พฤษภาคม : เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ปีแยร์ กูว์รี (Pierre Curie) นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ผู้ค้นพบ “ธาตุเรเดียม” (Radium) ธาตุโลหะแอลคาไลน์เอิร์ท ที่มีเลขอะตอม 88 เป็นหนึ่งในธาตุกัมมันตรังสีชนิดเข้มข้น และได้พบ “ธาตุพอโลเนียม” (Polonium) เป็นธาตุที่มีอยู่น้อยในธรรมชาติและเป็นธาตุกัมมันตรังสีกึ่งโลหะ และมีหมายเลขอะตอม 84 นอกจากค้นพบธาตุใหม่แล้ว เขายังได้รับ รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี 1903 ร่วมกับอ็องรี แบ็กแรล และ มารี กูว์รี ภรรยาของเขาอีกด้วย


22 พฤษภาคม : "วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ” ในวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป็น "วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ” (International Day for Biological Diversity: IDB) เมื่อปี 2543 เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CDB) ที่ได้เริ่มมีผลบังคับใช้คือ วันที่ 22 พฤษภาคม 2535 โดยมีวัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญา เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม


23 พฤษภาคม : วันอนุรักษ์เต่าโลก (World Turtle Day) เป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้มนุษย์เราได้ตระหนักถึงปัญหาการลดจำนวนลงของเต่าทุกชนิดบนโลกใบนี้ ทั้งเต่าบก เต่าน้ำจืด และเต่าทะเล เนื่องจากเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาว แต่ในปัจจุบันเต่าอายุสั้นลงเนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น การล่า สภาวะโลกร้อน พื้นที่อยู่อาศัยถูกคุกคาม จึงมีการจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกให้ร่วมกันอนุรักษ์เต่า และช่วยเหลือเต่าบกและเต่าทะเลที่ถูกทำร้าย ให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติ ก่อนปล่อยกลับสู่ธรรมชาติอย่างถูกต้อง และร่วมกันอนุรักษ์เต่าอย่างจริงจัง


24 พฤษภาคม : เป็นวันคล้ายวันเกิดของ วิลเลียม กิลเบิร์ต (William Gilbert) นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ชาวอังกฤษที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งไฟฟ้าและแม่เหล็ก” ผู้บุกเบิกงานวิจัยเกี่ยวกับอำนาจแม่เหล็ก แนวคิดแปลกใหม่ของเขาสร้างเป็นแรงบันดาลใจให้ Galileo ทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่า “โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของเอกภพ” และเป็นคนค้นคิดคำ "electricity" หรือ ไฟฟ้า นั้นเอง


ข้อมูลอ้างอิง : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สสวท.


กำลังโหลดความคิดเห็น