ในช่วงเวลาที่ซีกโลกเหนือหันองศาออกห่างจากดวงอาทิตย์ นับเป็นเวลาที่เข้าสู่ฤดูหนาวของพื้นที่นี้ และในช่วงฤดูหนาวนี้ บริเวณ “เขตอาร์กติก” หรือเรารู้จักกันในชื่อเขตขั้วโลกเหนือจะเป็นช่วงเวลาที่น้ำแข็งจะเริ่มก่อตัวและปกคลุมทั้งพื้นที่ในฝั่งทวีปและพื้นน้ำของทะเลโดยรอบ แต่ด้วยสถานการณ์สภาวะโลกร้อนในปัจจุบันได้ส่งผลให้ พื้นที่น้ำแข็งที่ปกคลุมทะเลในฤดูหนาวของอาร์กติกมีปริมาณน้อยที่สุดเมื่อถึงจุดสูงสุดประจำปี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2025 ที่ผ่านมา
ข้อมูลการก่อตัวของน้ำแข็งที่น้อยลงของเขตอาร์กติกที่น่ากังวลนี้ เป็นข้อมูลของ NASA และ ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ (NSIDC) มหาวิทยาลัยโคโลราโด เมืองโบลเดอร์ สหรัฐอเมริกา โดยได้เผยว่าในปี 2025 นี้ มีผืนน้ำแข็งที่ก่อตัวขึ้นเพียง 14.33 ล้านตารางกิโลเมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 1981 - 2010 ประมาณ 1.3 ล้าน ตร.กม. ซึ่งเป็นระดับการก่อตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกเมื่อ 47 ปีที่แล้ว
ข้อมูลของ National Snow and Ice Data Center (NSIDC) ระบุว่าการสูญเสียน้ำแข็งดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพ อากาศที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในพื้นที่ตอนเหนือสุดของอาร์กติกซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1 ถึง 2 °C ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อาร์กติกร้อนเร็วขึ้นกว่าพื้นที่อื่นๆ ของโลกถึง 4 เท่า
หากสภาวะอากาศปกติ ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี จะเป็นช่วงที่ซีกโลกเหนือจะเพิ่งผ่านความมืดเนื่องจากโลกของเราหันองศาของซีกโลกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์พื้นที่นี้จะเต็มไปด้วยน้ำแข็ง แต่ด้วยวิกฤตสภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นทำให้ ขั้วโลกเหนือไม่สามารถสร้างน้ำแข็งเหมือนอย่างที่เคยมีมานานแสนนานก่อนการจดบันทึกของมนุษย์
Melinda Webster นักวิทยาศาสตร์น้ำแข็งในทะเล มหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า น้ำแข็งในทะเลทำหน้าที่เหมือนเครื่องปรับอากาศสำหรับโลกเนื่องจากในฤดูหนาวที่มหาสมุทรมักจะอุ่นกว่าอากาศโดยรอบน้ำแข็งในทะเลจะทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันความร้อนไม่ให้รั่วไหลออกสู่ชั้นบรรยากาศและเมื่อถึงฤดูร้อนที่ดวงอาทิตย์จะส่องลงมายังอาร์กติกตลอดเวลา น้ำแข็งก็จะทำหน้าที่สะท้อนแสงกลับสู่อวกาศ
แต่ถ้าหากน้ำแข็งมีปริมาณน้อยลง ก็จะทำให้แสงอาทิตย์ส่องถึงมหาสมุทรได้มากขึ้น และมหาสมุทรก็จะดูดซับความร้อนเพิ่มขึ้น ทำให้ให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น กลายเป็นวงจรย้อนกลับที่ทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม และจะกระทบเป็นวงกว้างขึ้นเป็นลูกโซ่จนส่งผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก และกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เราอย่างแน่นอน
ข้อมูลอ้างอิง
- nasa.gov/earth (NASA, NSIDC Scientists Say Arctic Winter Sea Ice at Record Low)
- theguardian.com ( Weather tracker: Arctic winter sea ice at record low in 2025, scientists say)