xs
xsm
sm
md
lg

Habitable Zone ระยะห่างระหว่างดาวเคราะห์และดาวดาวฤกษ์ ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวการค้นพบสัญญาณการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่ชัดเจนที่สุดบนดาวเคราะห์ K2-18b ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ห่างจากโลก 124 ล้านปีแสง ทำให้เราได้รู้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้ โคจรอยู่ในเขต Habitable Zone เหมือนกับโลกของเรา โดยเป็นพื้นที่ระยะห่างระหว่างดาวเคราะห์และดาวดาวฤกษ์ที่สามารถอยู่อาศัยได้ และน้ำสามารถปรากฎอยู่บนพื้นผิวดาวเคราะห์เหมือนอย่างโลกของเราได้อีกด้วย


ในอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาลมีดาวเคราะห์มากมายที่ได้รับการค้นพบ และดาวเคราะห์เหล่านั้นก็ได้รับความสนใจในการศึกษาว่าดาวดวงนั้นมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้เช่นเดียวกับโลกหรือไม่จากข้อมูลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า ดาวเคราะห์ที่มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต จะโคจรอยู่บริเวณที่ถูกเรียกว่า Habitable Zone หรือ เขตเอื้อชีวิต


Habitable Zone เขตเอื้อชีวิต ในทางดาราศาสตร์ หมายถึง บริเวณหนึ่งในอวกาศที่ซึ่งดาวเคราะห์สามารถดำรงน้ำให้อยู่ในสถานะของเหลวได้บนพื้นผิวได้ มีชั้นบรรยากาศที่เหมาะสมและอยู่ห่างจากดาวฤกษ์ในระยะทางที่เหมาะสม ทำให้พื้นผิวดาวมีอุณหภูมิและสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมเอื้อต่อการเกิดสิ่งมีชีวิตและสามารถดำรงชีวิตบนดวงดาวได้


ตัวอย่างเช่นโลกของเรา ที่โคจรอยู่ระยะทางที่เหมาะสม โดยเป็นบริเวณ Habitable Zone ของระบบสุริยะของเรา
บริเวณนี้เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต ทำให้มนุษย์เราสามารถดำรงชีวิตมาได้จนถึงปัจจุบัน องค์ประกอบสำคัญของโลกคือ มีน้ำอยู่ในทั้ง 3 สถานะ ได้แก่ ของแข็ง ของเหลว และ แก๊ส มีชั้นบรรยากาศที่เหมาะสม และอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์แหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดในระยะทางที่เหมาะสม


หากโลกอยู่ใกลัดวงอาทิตย์จนเกินไปจะทำให้น้ำระเหยกลายเป็นไอจนหมด หรือหากอยู่ห่างมากเกินไปจะทำให้น้ำอยู่ในสถานะของแข็งซึ่งสิ่งมีชีวิตไม่สามารถเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้โลกยังมีชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มซึ่งจะช่วยรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กของโลกยังช่วยป้องกันอนุภาคพลังงานสูงและรังสีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอีกด้วย


ดังนั้น ถ้าดาวเคราะห์ดวงใดมีลักษณะวงโคจรและมีสภาวะแวดล้อมคล้ายกับที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีโอกาสเป็นได้ที่จะพบสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนั้น ในปัจจุบันเหล่านักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ซึ่งมีดาวเคราะห์หลายดวงที่มีความคล้ายโลก เช่น ดาวเคราะห์ Kepler - 22b , ดาวเคราะห์ TRAPPIST - 1 และ ดาวเคราะห์ K2 - 18b  ที่ได้มีการพบสัญญาณการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่ชัดเจนที่สุดแล้วในปัจจุบัน


ข้อมูลอ้างอิง

-สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

-หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ


กำลังโหลดความคิดเห็น