สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สรุปประเด็นการถอดรหัสอนาคต AI ประเทศไทย "แผนคม คนพร้อม ทีมเวิร์กแกร่ง" ทำอย่างไรจึงจะรอดในสนามแข่งโลก ในการสัมมนา "Decoding Thailand’s AI Future Strategy for Competitive Edge " โดย สวทช. ร่วมกับ Techsauce ในการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 (NAC2025) ไม่ได้เป็นเพียงการอัปเดตเทรนด์ AI ทั่วไป แต่เปรียบเสมือนการ "เปิดอกคุย" ครั้งสำคัญของผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และภาคธุรกิจชั้นนำ ถึงทิศทางอนาคต AI ของไทย ท่ามกลางคำถามใหญ่ว่า แผน AI แห่งชาติที่วางไว้ก่อนยุค ChatGPT จะไปต่ออย่างไร และไทยจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันยุคใหม่ที่ AI เขย่าทุกวงการได้อย่างไร
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. เปิดประเด็นโดยย้ำว่า สวทช. ได้ริเริ่มขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ แผน AI แห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งวางรากฐานไว้ก่อนยุค Generative AI จะเฟื่องฟู แต่การมาถึงของเทคโนโลยีอย่าง ChatGPT ได้พลิกเกม ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ ทั้งการปรับแผน AI ชาติให้ทันโลก การรับมือภาวะขาดแคลนบุคลากรทักษะสูง การหาจุดสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมและการกำกับดูแล รวมถึงโจทย์ใหญ่เรื่องสร้างหรือซื้อเทคโนโลยี เมื่อการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบระยะยาว
ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ชี้ว่า GenAI สร้างความท้าทายใหม่ให้แผน AI ชาติ ทั้งการปรับแผนให้ทันโลก การรับมือปัญหาขาดแคลนบุคลากรทักษะสูง การสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและการกำกับดูแล ท่ามกลางความท้าทายนี้ สวทช. ไม่ได้โฟกัสในประเด็น Gen AI เท่านั้น แต่ครอบคลุมการวิจัยและประยุกต์ใช้ในหลากหลายสาขาผ่าน 5 ศูนย์วิจัยแห่งชาติ โดยมุ่งเป็นตัวกลางสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (วิจัย, ทรัพยากร, Data Bank) ส่งเสริม Open Technology ให้เกิดการต่อยอดในวงกว้าง
ในการพลิกมุมมองแผน AI: จาก "สร้าง" สู่ "แก้โจทย์จริง" ของประเทศ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน TDRI แนะแผน AI ชาติควรปรับจากการเน้นสร้างปัจจัยพื้นฐาน (Supply-side) มาเป็นการตั้งต้นจาก "โจทย์จริง" ของประเทศ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว, สังคมสูงวัย, คุณภาพการศึกษา ควรนำ AI ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพ และต่อยอดจุดแข็งของประเทศ (เช่น การแพทย์, เกษตร, ท่องเที่ยว) ควบคู่กับการวิจัยพัฒนาสิ่งที่จำเป็น เช่น LLM ภาษาไทย และคลังข้อมูลภาษาไทยคุณภาพสูง
สำหรับการประยุกต์ใช้ AI ในภาคธุรกิจ: ก้าวข้ามอุปสรรคสู่ความสำเร็จ ดร.พชร อารยะการกุล ซีอีโอ บลูบิค กรุ๊ป เผยว่าการใช้ AI ให้เกิด Business Impact ต้องแก้ 3 จุด: 1) ระบบนิเวศเทคโนโลยีต้องพร้อม (ข้อมูลมีคุณภาพ, โครงสร้างพื้นฐานรองรับ, ความปลอดภัยมั่นคง) 2) ต้องปรับกระบวนการทำงาน และออกแบบการดูแล AI 3) 'คน' ยังสำคัญในการจัดการข้อจำกัดของ AI และองค์กรต้องจัดลำดับความสำคัญเลือกลงทุน AI ใน Use Case ที่คุ้มค่า
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ Head of Nationwide Operations and Support Business Unit จาก AIS แชร์ Blueprint การทำ AI Transformation สู่ 'Cognitive Tech-co' ด้วย Autonomous Network ที่ทำอย่างเป็นระบบ วัดผลชัดเจน และให้ความสำคัญกับการทำ Talent Transformation ควบคู่กันไป จนเกิด Use Case ที่สร้างมูลค่าได้จริง
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Vialink ให้ความเห็นในด้าน Future of Work: เมื่อ AI เขย่าตลาดงาน สกิลไหนคือทางรอด โดยได้คาดการณ์ว่า AGI หรือยุคที่ AI เก่งเท่ามนุษย์อาจมาเร็วกว่าคิดและปฏิวัติโลกการทำงาน ทางรอดคือการพัฒนา 'Y-Shaped Skills' ซึ่งผสมผสานเรื่อง AI Literacy กับทักษะที่ AI ทำแทนไม่ได้ เช่น คิดวิเคราะห์, สร้างสรรค์, จัดการคน, อารมณ์สังคม โดยประเทศจำเป็นต้องลงทุนในมนุษย์แบบองค์รวม และสร้างตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น
ด้าน ดร.ศวิต กาสุริยะ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ดร.พิณนรี ธีร์มกรสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นางสาวภาพเพรง เลี้ยงสุขจากเทคซอส มีเดีย ย้ำว่าต้องพัฒนาทักษะ AI ที่เชื่อมโยงธุรกิจได้จริง โดยต้องอาศัยความร่วมมือรัฐ-เอกชน และมีแรงจูงใจสนับสนุนการเรียนรู้ เช่น ลดหย่อนภาษี และมีกฎระเบียบกำกับที่เหมาะสมเน้นการกำกับการนำไปใช้ไม่ใช่ตัวเทคโนโลยี
พลังแห่งความร่วมมือ: เมื่อ AI ซับซ้อนเกินทำคนเดียว ลุยเดี่ยวไม่ใช่คำตอบ
ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล - KBTG ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ - AI9 และ นายณัฐพล ไกรสิงขร - Amity Solutions เห็นตรงกันว่าความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงเร็วของ AI การมีพันธมิตรตลอด Supply Chain เป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่การวิจัย พัฒนา ไปจนถึงการนำไปใช้จริงในธุรกิจ กุญแจสู่ความสำเร็จ คือ การตั้งเป้าหมายร่วมกัน ความเข้าใจในบทบาทของแต่ละฝ่าย โดยภาคเอกชนพร้อมร่วมมือกับภาครัฐเพื่อนำโจทย์จากอุตสาหกรรมมาพัฒนาร่วมกัน
งานสัมมนาครั้งนี้ยังได้นำเสนอตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI ที่เป็นรูปธรรมจากผลงานวิจัยของศูนย์แห่งชาติภายใต้ สวทช. ไม่ว่าจะเป็น “Traffy Fondue” แพลตฟอร์มรับแจ้งปัญหาเมืองผ่าน LINE ที่มี AI เป็นแกนหลักในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อความ ภาพจากประชาชนนับล้านเรื่อง ด้าน เอ็มเทค สวทช. ผสาน AI กับวัสดุศาสตร์สร้างนวัตกรรมตอบโจทย์สังคมสูงวัย เช่น วัสดุทดแทนกระดูก, 'Gunther IMU' ตรวจจับการล้ม เป็นต้น สำหรับไบโอเทค สวทช. ฉายภาพใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมภายใต้โครงการ Genomics Thailand เพื่อการแพทย์แม่นยำ วินิจฉัยโรคหายาก ส่วนนาโนเทค สวทช. ใช้ AI พัฒนาเครื่องตรวจวัดไมโครพลาสติกอัจฉริยะด้วยนาโนเซ็นเซอร์ ท้ายสุดเอ็นเทค สวทช. ใช้ AI รับมือความท้าทายด้านพลังงาน โดยใช้ AI พยากรณ์การผลิตพลังงานหมุนเวียนให้แม่นยำขึ้น
นายสุปิติ บูรณวัฒนาโชค ประธานกรรมการบริหาร EOS Orbit และ Looloo Technology ฉายภาพอนาคต AI ไทยที่ก้าวไกลสู่อวกาศ ผ่านดาวเทียมขนาดเล็ก "LOGSATS" ที่พัฒนาโดยคนไทย โดย AI เข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งการช่วยดูแลสถานีภาคพื้นดินอัจฉริยะ และการเป็น Edge Computing ช่วยประมวลผลข้อมูล ณ วงโคจร ลดภาระการส่งข้อมูลมหาศาลกลับโลก
การถอดรหัสอนาคต AI ไทย ในสัมมนา Decoding Thailand’s AI Future: Strategy for Competitive Edge เวที NAC2025 ชี้ชัดว่า สูตรสำเร็จของ AI ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่อยู่ที่ "แผน" ยุทธศาสตร์ซึ่งต้องคมชัด มุ่งแก้ปัญหาจริงของประเทศ, "คน" ที่ต้องมีทักษะพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง และ "ทีมเวิร์ก" ที่แข็งแกร่งไร้รอยต่อระหว่างภาครัฐ เอกชน เมื่อรหัสสู่ความสำเร็จถูกถอดแล้ว ขั้นต่อไปที่สำคัญยิ่งกว่าคือการ "ลงมือทำ" อย่างจริงจังและผนึกกำลังกัน เพื่อให้ AI กลายเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวทันและแข่งขันได้บนเวทีโลก สวทช. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภารกิจนี้