ในอดีตเมื่อ 4,000 ปีก่อน โลกเคยมี อารยธรรมอียิปต์ ในลุ่มแม่น้ำ Nile อารยธรรม Mesopotamia ในลุ่มแม่น้ำ Tigris และ Euphrates อารยธรรมจีน ในลุ่มแม่น้ำเหลือง และอารยธรรม Harappa ในลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus)
โดยที่สามอารยธรรมแรกเป็นอารยธรรมที่โลกรู้จักดีเพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมาย เช่น ถาวรวัตถุ อันได้แก่ มัมมี พีระมิด อนุสาวรีย์ฟาโรห์ และอักษรรูปภาพ hieroglyph ที่ Jean-François Champollion (1790-1832) สามารถถอดความได้ จึงทำให้เราล่วงรู้และเข้าใจอารยธรรมอียิปต์ ด้านอารยธรรม Mesopotamia ก็มีตำนานน้ำท่วมโลก ที่ Henry Rawlinson (1810-1895) กับ Michael Ventris (1922-1956) สามารถรู้ได้จากการอ่านอักษรรูปลิ่ม (cuneiform) จนทราบเหตุการณ์ที่เกิดขื้นในยุคกษัตริย์ Gilgamesh อารยธรรมนี้ยังมีศิลาHammurabi ที่จารืกตัวบทกฎหมายฉบับแรกของโลกด้วย ด้านอารยธรรมจีนก็มีกำแพงเมืองจีน มีสุสานทหารดินเผา และมีภาษาจีนที่ผู้คนยังใช้พูด อ่านและเขียนมาจนทุกวันนี้ การอ่านภาษาจีนออกจึงช่วยให้เรารู้ และเข้าใจประวัติความเป็นมาของวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์จีน
แต่สำหรับอารยธรรม Harappa นั้น กลับแทบไม่มีใครรู้จัก คงเป็นเพราะอารยธรรมนี้มีช่วงเวลาของความเจริญรุ่งเรืองค่อนข้างสั้น เมื่อเปรียบเทียบกับอารยธรรมอื่น คือ มีความยาวนานเพียง 700 ปีเท่านั้นเอง นอกจากนี้ชาว Harappa ก็มิได้สร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ และไม่ได้มีอนุสาวรีย์ของกษัตริย์ และผู้ปกครองอาณาจักรให้คนรุ่นหลังได้เห็น แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดของการไม่เป็นที่รู้จักดี คือ ยังไม่มีใครสามารถอ่านจารึกที่ชาว Harappa สร้างไว้ได้ เราปัจจุบันจึงยังไม่รู้ว่า อารยธรรม Harappa ถือกำเนิดมาได้อย่างไร และล่มสลายไปด้วยเหตุผลใด
ภาษา Harappa จึงยังเป็นภาษาปริศนาลืกลับ ที่ยังไม่มีใครอ่านออก เช่นเดียวกับจารึก Linear A ของอารยธรรม Minoan บนเกาะ Crete ที่ถูกเขียนขึ้นในยุคสำริด เมื่อ 3,800 ปีก่อน และภาษา Rongorongo ของชาวเกาะ Easter ในมหาสมุทร Pacific กับจารึก Phaistos ที่พบบนเกาะ Crete ซึ่งก็ยังไม่มีใครอ่านออกเช่นกัน
สำหรับประวัติการค้นพบอารยธรรม Harappa นั้นได้มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า ชาวปากีสถานในมณฑล Punjab ได้สังเกตเห็นบนเนินดินหลายแห่งในประเทศ มีซากปรักหักพังเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีใครในเวลานั้นสนใจ จนกระทั่งเมื่อนักสำรวจชาวยุโรปเดินทางมาถึง และเห็นความเก่าแก่โบราณของซาก จึงได้เขียนข้อสังเกตต่างๆลงในสื่อ เมื่อปี 1826
ลุถึงปี 1856 สองพี่น้องชาวอังกฤษ คือ Robert กับ John Brandon ซึ่งเป็นวิศวกรสร้างทางรถไฟ ได้รับงานสร้างทางรถไฟที่ยาว 160กิโลเมตร จากเมือง Lahore ไปเมือง Multan ในปากีสถาน หลังจากที่ได้ให้กรรมกรขุดดินและปรับพื้นที่เป็นเวลานาน เหล่ากรรมกรได้กลับมารายงานว่า ดินในบริเวณนั้นเป็นดินตะกอนที่เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรมมากกว่าจะเป็นดินดานที่จะใช้สร้างทางรถไฟ เพราะแถบนั้นพวกเขาได้พบอิฐที่ทำด้วยดินเผามากมาย แม้จะมีข้อสังเกตนี้ แต่โครงการสร้างทางรถไฟก็ต้องดำเนินต่อไปจนลุล่วง
ในปี 1924 John Hubert Marshall (1876-1958)ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองโบราณคดีที่มีหน้าที่สำรวจประเทศอินเดีย ได้หันมาสนใจซากเมืองโบราณที่นักโบราณคดีได้ขุดพบที่หมู่บ้าน Harappa จึงได้เขียนข่าวการพบเมืองโบราณนี้ลงในหนังสือพิมพ์ The Illustrated London News ฉบับวันที่ 24 กันยายน ปี 1924
ในเวลาต่อมา Mortimer Wheeler (1890–1976) ชาวอังกฤษ กับ Rakhal Das Banerji (1885–1930) ชาวอินเดีย ได้ขุดพบซากเมืองโบราณแห่งที่สอง ณ เมือง Mohenjo-daro ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง Harappa ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 560 กิโลเมตร
เมืองทั้งสองนี้เป็นเมืองแฝดของอารยธรรม Harappa ที่มีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับเมือง Uruk และเมือง Luxor ของอารยธรรม Mesopotamia กับ Egypt ตามลำดับ การสำรวจสถานที่ต่างๆ ของอารยธรรม Harappa ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทีมนักโบราณคดีชาวปากีสถาน ทำให้ได้พบหมู่บ้านขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนกว่า 1,000 แห่ง ตั้งเรียงรายอยู่ในบริเวณที่มีพื้นที่ประมาณ 800,000 ตารางกิโลเมตรทั้งในปากีสถาน อินเดีย และอาฟกานิสถาน โดยมีอาณาเขตตั้งแต่ปากแม่น้ำ Narmada ของอินเดียไปทางเหนือจนถึงแคว้น Gujarat แล้ววกตลอดไปจนถึงแคว้น Sind อาณาจักรนี้จึงมีขนาดใหญ่ประมาณ 1/4 ของทวีปยุโรป และมีประชากรประมาณ 1 ล้านคน ดังนั้นหมู่บ้านหนึ่ง ๆ จึงมีพื้นที่ตั้งแต่10ถืง30 ไร่
นักโบราณคดียังได้พบอีกว่า มนุษย์โบราณกลุ่มแรกที่มาตั้งรกรากอยู่ในลุ่มแม่น้ำสินธุได้เดินทางมาถึงดินแดนนี้ เมื่อประมาณ 6,000 ปีก่อน และได้ร่วมกันสร้างเมืองใหม่ขึ้นสองเมือง คือ Harappa กับ Mohenjo-daro โดยให้เมืองทั้งสองมีผังเมืองแบบเดียวกัน
จุดเด่นของ Harappa คือ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเนินดิน มีป้อมปราการ ที่เชิงปราการมีโรงงานช่าง และในเมืองมีลานที่ปูด้วยอิฐเป็นพื้นที่สีขาวกว้าง 198 เมตร และยาว 596 เมตร ส่วนป้อมปราการที่ Mohenjo-daro นั้นมีสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า สถานที่อาบน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่กว้าง 7 เมตร ยาว 12 เมตร และลึก 2.47 เมตร ซึ่งใช้ในพิธีสรงน้ำชำระบาป อันเป็นต้นแบบของพิธีอาบน้ำตามคตินิยมของศาสนาพราหมณ์ในเวลาต่อมา
แต่ประเด็นน่าสนใจที่สุดของเมือง Mohenjo-daro คือ มีถนนใหญ่ 12 สาย ที่กว้างตั้งแต่ 3 ถึง 9 เมตร และถนนทุกสายถูกตัดให้อยู่ในแนวเส้นตรง พื้นที่จึงถูกแบ่งออกเป็นตาราง ส่วนบ้านนั้นมักถูกสร้างด้วยอิฐ บ้านทุกหลังมีพื้นที่กว้างพอประมาณ มีบ่อน้ำ มีรางระบายน้ำ และมีห้องน้ำเป็นที่นั่ง ผนังบ้านด้านที่ติดถนนไม่มีหน้าต่าง เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงจากภายนอกเข้ามารบกวน และเพื่อให้คนในบ้านมีความเป็นส่วนตัว ทางเข้าบ้านจึงมีทางเดียว ในบ้านมีบันไดขึ้นชั้นบน ผนังบ้านไม่มีการตกแต่งหรือประดับด้วยภาพวาดใดๆ ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ เมืองนี้ไม่มีศาสนสถานขนาดใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปกครองเมืองไม่จำเป็นต้องมีพระราชวังสำหรับกษัตริย์ หรือนักบวช และผู้อาวุโส จะมีก็แต่ตุ๊กตาและรูปปั้นขนาดเล็กของเทพเจ้า การไม่พบผลงานศิลปะเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าสังคมนี้ไม่มีการอุปถัมภ์ศิลปิน ผู้คนในอาณาจักรประกอบอาชีพหลากหลาย เช่น เป็นชาวนา ชาวประมง คนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นชนชั้นล่างของสังคม และมีบางคนเป็นช่างฝีมือ ช่างไม้ ช่างโลหะ ช่างปั้น ช่างแกะสลักอัญมณี ซึ่งนับเป็นชนชั้นกลาง ที่มีฐานะทางสังคมสูงขึ้น
เครื่องใช้ในบ้านมักทำด้วยดินเหนียวและไม้ที่ถูกแกะสลักเป็นลวดลาย คนในอารยธรรม Harappa ไม่รู้จักใช้เหล็กในการทำอุปกรณ์ ในด้านธุรกิจมีพ่อค้าที่เดินทางไปค้าขาย ณ ต่างเมือง โดยนำลูกปัด งาช้าง ทองคำ โกเมน และหินโมก ฯลฯ ไปขาย แล้วซื้อผ้าและน้ำมันหอมระเหยกลับมา สำหรับวิธีการขนส่งสินค้านั้น ผู้คนนิยมใช้วัวเทียมเกวียนในการเดินทางไกล ไปจนถึงเมือง Ur ใน Mesopotamia
นักโบราณคดียังได้พบตราประทับเป็นจำนวนมาก ซึ่งตราเหล่านี้ทำจากหินสบู่ และลวดลายบนตราถูกแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เหนือสัตว์มีเครื่องหมายและสัญลักษณ์ สำหรับการใช้ประจำตัวบุคคล หรือใช้เป็นตราประทับลงบนสัมภาระบรรจุสินค้าไปขาย ตราเหล่านี้จืงอาจแสดงความเป็นเจ้าของสัมภาระ และภาพที่แกะสลักบนตรามักมีลวดลายเป็นรูปแปลก ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นความชำนาญด้านศิลปะของผู้แกะสลัก
แต่สิ่งที่ทำให้นักโบราณคดีรู้สึกประหลาดใจมากที่สุด คือ อารยธรรม Harappa นี้ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่า ผู้คนชอบทำสงคราม เพราะไม่มีใครพบอาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆ ในพื้นที่เลย
ในปี 1516 Sir Thomas More (1478–1535) ซึ่งเป็นนักปรัชญา นักประพันธ์ และผู้พิพากษาชาวอังกฤษ ได้เรียบเรียงนวนิยายเรื่องหนึ่งชื่อ “Utopia” ที่มีเนื้อหาว่า นี่เป็นรัฐอุดมคติที่สมบูรณ์แบบ เพราะประชาชนทุกคนในรัฐมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน คือ ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ และให้คนทุกคนมีโอกาสกับสิทธิ์ต่าง ๆ เท่าเทียมกันในทุกด้าน นอกจากนี้สังคม Utopia ยังมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย ความปลอดภัย และการรักษาสุขภาพ เอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของรัฐ Utopia คือ การไม่ยกย่องการยุติข้อพิพาทโดยใช้การสู้รบ หรือใช้ความรุนแรง สังคมนี้จืงไม่นิยมการกดขี่ และให้โอกาสแก่ทุกคนมีเสรีภาพในการแสวงหาความสุข โดยไม่เบียดเบียนคนอื่น
หนังสือ Utopia ของ Moreได้มีอิทธิพลต่อความนึกคิดของผู้คนในเวลานั้นมาก ทั้ง ๆ ที่ชื่อหนังสือ Utopia มาจากคำในภาษากรีกโบราณ ou-tópos ที่แปลว่า ไม่มีสถานที่เช่นนี้ในโลก นั่นคือ Moreเขียนเรื่องนี้ขื้นเพราะ ต้องการให้มีรัฐต้นแบบในการปกครองประชาชน คือ เป็นรัฐในดวงใจและในอุดมคติที่ผู้คนไม่มีความโลภ การโกง การกระหายอำนาจ และปราศจากการใช้กำลังบีบบังคับด้วยการใช้อิทธิพลทางทหาร อันเป็นประเพณีปฏิบัติที่นิยมทำกันมาตั้งแต่ยุคอียิปต์ จีนโบราณ และยุค Mesopotamia ซึ่งยกย่องวีรบุรุษในสงคราม แต่ในอารยธรรม Harappa กลับไม่มีการสรรเสริญวีรชนเลย
คำถามที่ตามมา คือ Harappa เป็นรัฐ Utopiaตามความคิดของ More หรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว เหตุใดรัฐนี้จึงล่มสลาย
การค้นหาโบราณวัตถุในอาณาจักรนี้ ได้พบหลักฐานมากมายที่แสดงว่าอาณาจักร Harappa เป็นสังคมที่มีอารยธรรมค่อนข้างสูง มีการค้าขายติดต่อกับต่างชาติโดยทางเรือ นทะเลอาหรับ เพราะนักโบราณคดีได้พบสินค้าที่ผลิตโดยชาว Harappa วางขายอยู่ที่เมือง Ur และเมือง Akkad ในดินแดน Mesopotamia
สำหรับเมือง Harappa และเมือง Mohenjo-daro นั้นก็มีการวางผังเมืองในการก่อสร้าง บ้านมีห้องสุขา และเมืองมีอ่างอาบน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ จืงเป็นเมืองที่ทันสมัยมาก
นอกจากนี้ ยังได้มีการพบว่าช่างแห่งลุ่มแม่น้ำสินธุ ได้ออกแบบสร้างตุ้มมาตรฐานที่ใช้เป็นตุ้มน้ำหนัก มีชางออกแบบการแกะสลักอัญมณี และเครื่องประดับให้สตรีได้สวมใส่ มีการใช้ตราประทับให้พ่อค้าใช้ในการบอกความเป็นเจ้าของสินค้า และข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ตัวเมืองไม่มีป้อมปราการขนาดใหญ่ ไม่พบอาวุธสงคราม เช่น มีด หอก และลูกศรที่ใช้ในการฆ่าคนหรือล่าสัตว์ใหญ่ ไม่มีแม้กระทั่งม้าศึก และรถศึก ไม่มีพระราชวังหรือวิหารขนาดใหญ่ไม่มีผลงานที่แสดงความแตกต่างระหว่างบ้านของคนที่มีฐานะดีกับบ้านของคนที่ยากจน และไม่มีความแตกต่างระหว่างหลุมฝังศพของชนชั้นกลางกับชนชั้นปกครอง นี่จึงเป็นอีกประเด็นที่ไม่เหมือนกับอารยธรรม Mesopotamia และ Egypt ที่มีสิ่งปลูกสร้างซิกกุรัต (ziggurat) กับพีระมิด อันเป็นที่ฝังศพกษัตริย์และฟาโรห์ และใช้ทะเลทรายเป็นที่ฝังศพของคนธรรมดา
แต่นักโบราณคดีบางคนก็อ้างว่า การไม่พบอาวุธสังหารในอารยธรรม Harappa มิได้หมายความว่า ชุมชนนี้เป็นสังคมที่รักสันติ เพราะในดินแดนของอารยธรรม Maya ก็ไม่มีการพบอาวุธสงครามเช่นกัน เหตุการณ์นี้ได้ทำให้นักประวัติศาสตร์หลายคนคิดว่าชาว Maya เป็นคนรักสันติภาพ จนกระทั่งมีคนอ่านภาษา Maya ออก ทุกคนจึงรู้ว่าอารยธรรมนี้ เป็นอารยธรรมเลือด ที่มีการทำสงครามกับชนเผ่าอื่นบ่อย มีการฆ่าคนเพื่อบูชายัญ และการทรมานศัตรู ดังนั้นการไม่พบอาวุธในอารยธรรม Indus ก็มิได้หมายความว่า ชาว Indus จะเป็นชนที่รักสันติ จนกว่ามีคนอ่านจารึก Indus ออก แล้วความจริงก็จะได้ประจักษ์
ตามปกติอารยธรรมโบราณมักจะมีภาพวาด และมีรูปปั้นของกษัตริย์ แต่อารยธรรม Harappa กลับมีรูปปั้นของชนชั้นปกครองค่อนข้างน้อย จะมีก็แต่รูปปั้นชื่อ Priest-King (นักบวช-กษัตริย์) ขนาดเล็กที่มีผ้าคลุมไหล่พาดเหนือพระอังสา (บ่า) ซ้าย เหมือนเป็นนักบวชในคริสต์ศาสนา
แม้ว่าในเมืองจะไม่พบอาคารขนาดใหญ่ แต่ก็มีอาคารที่ยกสูงจากพื้นดิน เพื่อป้องกันภัยน้ำท่วม ที่เมือง Mohenjo-daro อาคารที่นั่นมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ยาว 400 เมตร กว้าง 200 เมตร และสูง 5 เมตร มีคนสันนิษฐานว่าสถานที่แห่งนี้ ต้องใช้คนสร้างถึง 10,000 คน และต้องใช้เวลานานประมาณหนึ่งปีในการสร้าง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า การก่อสร้างต้องมีหัวหน้าคุมงานที่จะทำให้งานเดิน
เครือข่ายการค้าขายที่แผ่ขยายอย่างกว้างขวางของอาณาจักรยังแสดงให้เห็นอีกว่า ระบบการปกครองของอาณาจักรเป็นแบบรวมศูนย์ การพานิชเป็นการค้าอัญมณีที่ส่งไปไกลถึงประเทศ Afghanistan และอียิปต์ ข้อมูลนี้จึงแสดงว่า พ่อค้าชาว Harappa มีการบรรทุกสินค้าไปขาย โดยอาศัยเรือล่องไปตามลำแม่น้ำสินธุ แต่ก็มีการใช้เส้นทางการค้าขายทางบกด้วย มีการใช้ตุ้มน้ำหนักมาตรฐานในการชั่งสินค้า ซึ่งแสดงว่าช่าง Harappa มีฝีมือประดิษฐ์ลูกตุ้มที่เป็นมาตรฐานได้แล้วเหตุใดอารยธรรมที่รุ่งเรืองเช่นนี้จึงต้องล่มสลาย
คำตอบสำหรับเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องทางภูมิศาสตร์ เพราะอาณาจักรนี้ครอบคลุมดินแดนที่มีขนาดกว้างใหญ่ มีทั้งบริเวณที่ราบ แม่น้ำ ชายทะเล และภูเขา มีความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร ดังนั้นชาว Harappa จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องไปบุกยึดครองดินแดนอื่น และไม่จำเป็นต้องมีกองทัพที่ยิ่งใหญ่ ด้านชนชาติที่เป็นศัตรูของอารยธรรมนี้ ก็อาจจะเป็นชาว Baluchistan ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศตะวันตก ชาว Afghanistan ที่มาจากทางเหนือ และทางตะวันออกนั้น ก็มีอาณาจักร Rajasthan ทางด้านใต้มีทะเลอาหรับ และนี่เป็นเพียงบริเวณเดียวที่มีการพบป้อมปราการ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการโจมตีจากข้าศึก อาณาจักร Harappa จึงมีเทือกเขาสูงและทะเลทรายที่คั่นโดยรอบ ทำให้ปลอดภัยจากการถูกข้าศึกโจมตี
ในปลายทศวรรษของปี 1920 ได้มีการขุดพบโครงกระดูก 14 โครง ที่เมือง Mohenjo-daro ซึ่งแสดงอากัปกริยาว่า คนทั้ง 14 คนกำลังหนีออกจากเมือง การพบนี้ได้ทำให้มีการสันนิษฐานว่า มีข้าศึกจากดินแดนเอเชียกลางมาโจมตี แต่การวิเคราะห์โครงกระดูกที่พบ กลับแสดงว่าคนเหล่านี้ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมาลาเรีย หาใช่เพราะถูกฆ่าตายไม่ ในเวลาเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรล่มสลายก็ได้ เพราะเมื่อ 4,000 ปีก่อน ลมมรสุมได้อ่อนกำลังลงมาก และแม่น้ำสินธุได้เปลี่ยนทิศทางการไหล เหตุการณ์น้ำท่วมเมืองจึงเกิดขึ้นบ่อย ทำให้ผู้คนต้องอพยพทิ้งเมือง และเหตุผลอีกประการหนึ่ง ก็คือ อาจจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย จนทำให้บ้านเรือนถล่มทะลายไปอย่างสมบูรณ์
ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า การล่มสลายของอารยธรรมมีสาเหตุจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสุดขั้ว และการไม่มีความขัดแย้งในสังคมติดต่อกันเป็นเวลานาน ได้ทำให้สังคม Harappaที่งอาณาจักร ขาดความยืดหยุ่น คือ ผู้คนไม่รู้จักปรับตัว เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป
การอ่านจารึก Harappa ออก จึงเป็นหนทางหนึ่ง ที่จะช่วยให้เราสามารถไขปริศนาการล่มสลายของอาณาจักรได้ และนี่ก็เป็นความลึกลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอารยธรรมนี้เพราะตลอดเวลากว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา นักภาษาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ และนักโบราณคดี ได้พยายามถอดข้อความในจารึก โดยคิดว่าภาษา Harappa มีความเกี่ยวข้องกับอักษรพราหมณ์ ตลอดจนภาษา Dravidian ภาษา Indo-Aryan และภาษา Sumerian แต่คนบางคนก็คิดว่า ตัวอักษรที่พบเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการศาสนาของสังคมเท่านั้น หาใช่เป็นภาษาดังที่เราทั่วไปเข้าใจกันไม่
ทั้งนี้ เพราะตัวอักษรในภาษา Harappa มีทั้งสัญลักษณ์และเครื่องหมายปรากฏอยู่บนตราประทับที่ทำด้วยหิน เพื่อใช้ตรานั้นในการทำธุรกิจ ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาแต่อย่างใด นอกจากประเด็นนี้แล้ว ตราประทับที่พบก็มีเพียง 4,000 ตราประทับเท่านั้นเอง และอักษรที่ใช้บนตราประทับก็มีสัญลักษณ์ไม่เกิน 5 ตัว นั่นคือ ชาว Harappa ไม่นิยมใช้คำยาว ๆ ในการสื่อสาร
ดังตัวอย่างอักษรที่ปรากฏอยู่บนตราประทับรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส จะเห็นว่ามีสัญลักษณ์ปรากฏอยู่ที่ด้านบนของตรา ตรงกลางเป็นสัตว์แปลกๆ เช่น ตัว unicorn และมักจะมีวัตถุวางอยู่เบื้องหน้าตัวสัตว์ ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่าวัตถุนั้นเป็นอะไร เพราะตราประทับก็ไม่มีภาษาอื่นที่สามารถใช้เทียบเคียงเหมือนกรณีศิลา Rosetta ดังนั้นจนถึงวันนี้และในอนาคต นักถอดรหัสภาษาจึงคิดจะใช้วิทยาการคอมพิวเตอร์ และ Machine Learning เพื่อช่วยในการวิเคราะห์อักษร เพื่อหารูปแบบ โครงสร้าง และความหมายต่าง ๆ ของสัญลักษณ์ เพื่อจะได้เข้าใจภาษา Harappa และก็ได้พบว่า เครื่องหมายทั้งหมดที่ชาว Harappa ใช้ มี 67 เครื่องหมาย โดยเครื่องหมายรูปขวดที่มีหูหิ้วสองหู เป็นเครื่องหมายที่ใช้บ่อยที่สุด
เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2024 ที่ผ่านมานี้ M. K. Stalin ซึ่งเป็นรัฐมนตรีแห่งแคว้น Tamil Nadu ได้เสนอจะมอบรางวัล 1 ล้านดอลลาร์ ให้แก่คนที่สามารถถอดรหัสภาษาที่ใช้ในอารยธรรม Harappa ได้ เพราะเขาเชื่อว่าอารยธรรมนี้ มีความเกี่ยวข้องคือเป็นต้นแบบของภาษา Dravidian และภาษา Tamil (ภาษา Dravidian เป็นภาษาที่ใช้พูดในอินเดียตอนกลาง อินเดียตอนใต้ ศรีลังกา ปากีสถาน เนปาล และบังกลาเทศ) เพราะได้มีการพบว่าบนภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่พบใน 140 บริเวณของแคว้น Tamil Nadu มีภาพเขียน (graffiti) ที่เป็นเครื่องหมายกว่า 2,000 เครื่องหมาย ซึ่งเครื่องหมายเหล่านี้มีลักษณะคล้ายตัวอักษรในภาษา Harappa มากถึง 60% นั่นแสดงว่า อารยธรรม Harappa กับอารยธรรม Tamil อาจจะมีความสัมพันธ์กันการประกาศให้รางวัลของ Stalin จึงเป็นการตอกย้ำว่า เขากำลังสนับสนุนความคิดที่ว่า อารยธรรม Tamil มีต้นกำเนิดมาจากอารยธรรม Harappa โลกจึงต้องคอยคำยืนยันว่า ความคิดของ Stalin ว่าถูกต้องหรือผิด และก็ไม่มีใครรู้ว่าจะต้องคอยอีกนานเพียงใด โลกจึงจะเข้าใจภาษาของคนในอารยธรรม Harappa
อ่านเพิ่มเติมจาก Joshi, J.P.; Bala, M. (1982). "Manda: A Harappan site in Jammu and Kashmir". In Possehl, Gregory L. (ed.). Harappan Civilization: A recent perspective. New Delhi: Oxford University Press. pp. 185–195. ISBN 9788120407794. Archived from the original on 21 October 2023. Retrieved 23 May 2023.
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์