xs
xsm
sm
md
lg

ค่ำคืนวันสงกรานต์นี้ เตรียมชม “ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผย ในวันที่ 13 เมษายน 2568 จะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี” หรือ “ไมโครฟูลมูน” (Micro Full Moon) ผู้สนใจสามารถเริ่มสังเกตดวงจันทร์ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:48 น. บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ช่วงเวลาดังกล่าวดวงจันทร์จะโคจรห่างจากโลกออกไปประมาณ 406,000 กิโลเมตร ส่งผลให้ดวงจันทร์เต็มดวงในคืนนั้นมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย ชมได้จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 เมษายน 2568


ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 27.3 วัน ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้หรือไกลโลกมีขนาดที่แตกต่างกัน นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งไกลโลกที่สุด หรือใกล้โลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้ แต่ในวันที่ 13 เมษายน 2568 เป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงอยู่ในระยะทางที่ไกลโลกมากที่สุดพอดีนั่นเอง


สำหรับปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี" หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) จะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน 2568 ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ




กำลังโหลดความคิดเห็น