xs
xsm
sm
md
lg

สถานีวิจัยลำตะคอง วว. บริการ จุดพักรถ – พักผ่อน ถ.มิตรภาพ ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ 2568

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมสนับสนุนรณรงค์การขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ และร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของไทย ให้บริการ “พักรถ…พักผ่อน...เติมพลัง ” ระหว่างวันที่ 8 - 15 เมษายน 2568 ณ สถานีวิจัยลำตะคอง ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้บริการผู้ที่สัญจรผ่านถนนมิตรภาพ มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แวะจอดพักรถ พักผ่อน ผ่อนคลายอิริยาบถจากการเดินทาง และเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาด้วยความปลอดภัย


สถานีวิจัยลำตะคอง จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2541 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับดำเนินการวิจัยทางด้านการเกษตร และเป็นพื้นที่สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนและสังคม ภารกิจและเป้าหมายของสถานี ฯ มุ่งวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึก การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านงานวิจัยเพื่อนําไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน


ภายใน สถานีวิจัยลำตะคอง มี “อาคารเฉลิมพระเกียรติ" (เรือนกระจกหลังที่ 1) และ “อาคารเฉลิมพระเกียรติ" (เรือนกระจกหลังที่ 2)

อาคารเรือนกระจกจัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติิเนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา การก่อสร้างอาคารเรือนกระจกมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์ กีฏวิทยา การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และความสัมพันธ์ของแมลงกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรและพฤกษศาสตร์แห่งใหม่ของประเทศไทย สำหรับภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ (เรือนกระจกหลังที่ 1) มีส่วนจัดแสดงพันธุ์พืชที่มีความหลากหลาย ประกอบด้วย 6 โซน ได้แก่

1. ไม้หายาก
2 ไม้อิงอาศัยและกล้วยไม้
3. ไม้เขตอบอุ่น ไม้อัลไพน์ ไม้จากยอดดอย
4. ไม้น้ำ
5. ไม้ทะเลทรายและไม้อวบน้ำ
6. พืชวิวัฒนาการต่ำ


ส่วนอาคารเฉลิมพระเกียรติ (เรือนกระจกหลังที่ 2) ประกอบด้วยการจัดแสดง 2 ส่วน คือ 

ส่วนที่ 1 จัดแสดงวิวัฒนาการของพืช ดำเนินการจัดแสดงรูปแบบวิวัฒนาการของพรรณไม้ในทางอนุกรมวิธานพืชสมัยใหม่ ให้ความรู้ความเข้าใจการใช้ประโยชน์พรรณไม้ของมนุษย์ โดยแบ่งพื้นที่การดำเนินงานตามประเภทการใช้ประโยชน์ของพืช ได้แก่ พืชวิวัฒนาการต่ำ/พืชใบเลี้ยงคู่โบราณ พืชใบเลี้ยงเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่ พืชเกียรติประวัติไทย พืชหายากและพืชเฉพาะถิ่น พืชสมุนไพรเครื่องเทศ พืชเครื่องดื่ม 

ส่วนที่ 2 คือ ศูนย์อนุรักษ์แมลงเขตร้อนเป็นพิพิธภัณฑ์ของแมลง มีลักษณะเป็นโดมจัดแสดงทั้งแมลงมีชีวิตที่ปล่อยอิสระ แมลงที่อยู่ในกรง และแมลงที่ถูกสตาฟฟ์ไว้จัดแสดงเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นที่น่าตื่นเต้นและดึงดูดใจผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก








กำลังโหลดความคิดเห็น