หลังจากขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ จากฐานปล่อย LC-39 รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา โดยมีภารกิจเดินทางไปยังดาวพฤหัสบดี และมีกำหนดเดินทางถึงในอีก 6 ปี ข้างหน้า คือ ค.ศ. 2030 เพื่อสำรวจดวงจันทร์ยูโรปา
องค์การนาซา (NASA) ได้เผยข้อมูลว่า ยาน Europa Clipper ได้บินเฉียดเข้าใกล้ดาวอังคารมากที่สุดที่ระยะ 884 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวดาว เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเข้าสู่กระบวนการ “Gravity assist” ครั้งแรก เป็นการใช้แรงโน้มถ่วงของดาวอังคารในการปรับทิศทางและวิถีการโคจร ซึ่งขณะนี้เป็นวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ จากนั้นยานจะโคจรเข้ามาเฉียดโลก ในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2026 เพื่อเข้าสู่กระบวนการ gravity assist ครั้งที่สอง โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกในการปรับวิถีการโคจรครั้งสุดท้าย ก่อนมุ่งหน้าเข้าสู่วงโคจรของดาวพฤหัสบดีในช่วงเดือนเมษายน ค.ศ. 2030
ภารกิจสำคัญของ ยาน Europa Clipper คือการสำรวจ ดวงจันทร์ยูโรปา ดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่อันดับ 3 ของดาวพฤหัสบดี และเป็น 1 ใน 4 ดวงจันทร์ที่ถูกค้นพบโดยงกาลิเลโอ นักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง โดยดวงจันทร์ยูโรปาเป็นดวงจันทร์บริวารกลุ่ม Galilian Moon ที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง ซึ่งลักษณะดวงจันทร์ที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งนั้น เป็นสถานที่นอกโลกที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ที่มีความคล้ายคลึงกับดวงจันทร์เอนเซลาดัส ดาวบริวารของดาวเสาร์
สำหรับ “Gravity assist” หรือการโฉบเข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์ เป็นเทคนิคที่นักดาราศาสตร์และทีมวิศวกร ใช้ในการปรับทิศทางและเพิ่มความเร็วของยานอวกาศโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ ซึ่งช่วยประหยัดเชื้อเพลิงและลดระยะเวลาในการเดินทาง เทคนิคนี้ถูกนำมาใช้กับยานสำรวจทั้งในระบบสุริยะชั้นในและชั้นนอก เช่น Voyager 1 และ Voyager 2 อย่างไรก็ตาม การใช้ gravity assist ต้องอาศัยการคำนวณและกำหนดเส้นทางโคจรของยานอย่างแม่นยำ เพื่อให้สัมพันธ์กับตำแหน่งของดาวเคราะห์ที่เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ทีมควบคุมต้องใช้เครื่องยนต์ของยานเพื่อปรับวิถีการโคจร (Trajectory Correction Maneuvers) ให้ยานอยู่ในเส้นทางที่กำหนดและเข้าใกล้ดาวเคราะห์ได้มากที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง
- europa.nasa.gov
- NASA’s Europa Clipper Uses Mars to Go the Distance – NASA
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT