xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิทินวันสำคัญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดือนเมษายน 2568

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดือนเมษายน เป็นอีกหนึ่งเดือนที่มีวันสำคัญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ได้รำลึกถึงเหล่านักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งได้ฝากผลงานที่น่าจดจำและให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ อาทิ


14 เมษายน : เป็นวันคล้ายวันเกิดของ คริสตีอาน ฮอยเคินส์ (Christiaan Huygens) : เป็นนักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ ชาวดัตช์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะและเป็นนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่รองก็แต่ Isaac Newton และเป็นนักดาราศาสตร์คนแรกที่พบดวงจันทร์ไททัน ดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดในดาวเสาร์ และยังพบว่า ดาวเสาร์ที่ Galileo เคยเห็นว่ามีลักษณะไม่กลมเหมือนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ แท้จริงแล้ว ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนล้อมรอบ


15 เมษายน : เป็นวันคล้ายวันเกิดของ เลอ็อนฮาร์ท อ็อยเลอร์ (Leonhard Euler) เป็นนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ชาวสวิส ได้ชื่อว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก อ็อยเลอร์ยังเป็นบุคคลแรกที่เริ่มใช้คำว่า "ฟังก์ชัน" ในแวดวงคณิตศาสตร์ ในการบรรยายถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับตัวแปร เช่น y = f(x)


17 เมษายน : เป็นวันคล้ายวันเกิดของ วินเซนต์ วิกเกิลส์เวิร์ธ (Vincent Wigglesworth) นักกีฏวิทยาชาวอังกฤษที่มีบทบาทสำคัญในด้านสรีรวิทยาของแมลง จากการศึกษาแมลงต่างๆ ทำให้สามารถพัฒนาทฤษฎีที่สอดคล้องกันว่าจีโนมของแมลงสามารถกระตุ้นฮอร์โมนที่กำหนดการพัฒนา และสัณฐานวิทยาของแมลงได้อย่างเลือกสรรอย่างไร


19 เมษายน : เป็นวันคล้ายวันเกิดของ เกลนน์ ที. ซีบอร์ก (Glenn T. Seaborg) ผู้ที่ได้รับฉายา “บิดาของวิทยาการเคมีนิวเคลียร์” นักเคมีชาวอเมริกันที่มีส่วนร่วมในการสังเคราะห์ธาตหลังยูเรเนียม 10 ธาตุ ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน ค.ศ. 1951 งานของเขาในเคมีนิวเคลียร์นี้ยังนำไปสู่การพัฒนาแนวคิดแถบแอกทิไนด์ และการจัดเรียงแถบแอกทิไนด์ในตารางธาตุ


22 เมษายน : วันคุ้มครองโลก (Earth Day) เป็นวันสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติทั่วโลก วันคุ้มครองโลกถือกำเนิดในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2513 นักอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มหนึ่งได้จัดให้มีการแสดงพลังครั้งใหญ่ เพื่อปลุกเร้าจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันยิ่งถูกมนุษย์ทำลาย ในการแสดงพลังครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่า 20 ล้านคนและปรากฏขึ้นตามเมืองใหญ่ๆ เกือบทั้งสหรัฐ หลังจากนั้นความห่วงใยปัญหาสภาพแวดล้อมของสหรัฐก็เพิ่มพูนขึ้น มีการออกกฎหมายควบคุมการกระทำที่สร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติ

สำหรับประเทศไทยเริ่มพูดถึงวันคุ้มครองโลกครั้งแรก เมื่อปี 2533 ถือเป็นการเริ่มต้นของสังคมไทยยุคเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหลังจากสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกระทำอัตวินิบาตกรรม และเมื่ออาจารย์และนักศึกษาร่วมกัน 16 สถาบันได้จัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของป่าอนุรักษ์ และตระหนักถึงวิกฤตการทำลายสัตว์ป่าและป่าไม้ประเทศไทย ยังมีการจัดงานเพื่อหาทุนเข้ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อใช้ในการปกป้องรักษาผืนป่า ที่เป็นมรดกของโลกอีกด้วย


ข้อมูล - รูปอ้างอิง : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สสวท.


กำลังโหลดความคิดเห็น