xs
xsm
sm
md
lg

เยาวชนไทยสุดเจ๋ง! จากโรงเรียนพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา คว้าแชมป์เวทีนานาชาติ BYSCC ด้วย “นวัตกรรมโพรงเทียมแมงมุมสุนัขป่า” ช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เยาวชนไทยจากโรงเรียนพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา พาผลงาน “นวัตกรรมโพรงเทียมแมงมุมสุนัขป่า” แก้ปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลช่วยเกษตรกรอย่างยั่งยืน คว้าที่ 1 พ่วงอีก 2 รางวัลใหญ่บนเวที BYSCC การแข่งขันโครงงานด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชน ระดับนานาชาติ ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เปิดเผยว่า NSM ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งตัวแทนเยาวชนไทยจาก โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากค่าย “เวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ครั้งที่ 20”TYSF 2024 เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน The 44th Beijing Youth Science Creation Competition (BYSCC) จัดโดย Beijing Association for Science and Technology (BAST) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2568 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นเวทีของการแข่งขันโครงงานด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชน โดยมีผลงานเยาวชนจากนานาชาติเข้าร่วม ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเช็ก สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐซิมบับเว สาธารณรัฐตุรกี ประเทศมาเลเซีย และฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ซึ่งในรอบชิงชนะเลิศ มีผลงานร่วมชิงชัย 237 โครงงาน แบ่งเป็นโครงงานจากเยาวชนปักกิ่ง จำนวน 209 โครงงาน และโครงงานจากเยาวชนนานาชาติ จำนวน 28 โครงงาน

ผอ.NSM กล่าวต่อว่า ผลการแข่งขันปรากฏว่า เยาวชนไทยจากโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” สร้างชื่อเสียงให้ประเทศด้วยการคว้า 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ประเภท Youth Science and Technology Innovation Achievement, รางวัล MINDS Golden Award จาก Malaysian Invention and Design Society ประเทศมาเลเซีย และรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 ประเภท National Natural History Museum of China-Exploration Award for Nature and Life โดยมีสมาชิกในทีม คือ นายเตชินท์ ศิริบุบผา นายเอกฉัตร ตันเฮง นางสาวณฤพร สังอ่อนดี และนางสาวสโรชินี พงศ์สุปาณี ครูที่ปรึกษา นับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ เพราะการที่นักเรียนได้รับโอกาสแสดงความสามารถบนเวทีระดับนานาชาติเช่นนี้ เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ ปลูกฝังแรงบันดาลใจ และสนับสนุนให้เยาวชนกล้าคิด กล้าทำ กล้าริเริ่ม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง อว. ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยนี้ จะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ที่ยั่งยืนต่อไป

ด้าน รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ขอชื่นชมเยาวชนไทยที่ได้แสดงศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งทฤษฎี การประยุกต์ใช้งาน และการนำเสนอผลงาน ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นเยาวชนไทยแสดงความสามารถที่เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับสากล ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่สามารถสร้างโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่โดยรางวัลที่ได้รับมาแสดงให้เห็นถึงการทุ่มเทศึกษา ค้นคว้า ทดลองอย่างต่อเนื่องของนักเรียนตลอดจนครูที่ปรึกษา และเชื่อมั่นว่าผลงานจะได้รับการเผยแพร่และต่อยอดสู่การพัฒนาและใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

นางสาวณฤพร สังอ่อนดี เผยถึงเหตุผลที่เลือกทำโครงงานฯ นี้ว่า ทีมเราต้องการแก้ปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวของเกษตรกร โดยพวกเราได้ไปศึกษาพฤติกรรมการล่าเหยื่อและการสร้างโพรงของแมงมุมสุนัขป่าที่มีความน่าสนใจมาก ๆ พวกเราจึงนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นแผนการใช้งานแมงมุมสุนัขป่า ซึ่งได้ชื่อนวัตกรรมนี้ว่า “Spider Plan” ประกอบด้วยโพรงเทียมจากใบข้าวสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของแมงมุมสุนัขป่า และกลยุทธ์การวางตำแหน่งโพรงเทียมในนาข้าว ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยนอกจากจะช่วยควบคุมปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของการใช้สารเคมีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ด้าน นายเตชินท์ ศิริบุบผา แสดงความประทับใจต่อการแข่งขันฯ ว่า การแข่งขันครั้งนี้มอบประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าให้เรา ได้พบเพื่อนใหม่และเรียนรู้อย่างมากมาย ขอขอบคุณทีมงาน อพวช. สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ คุณครู รวมถึงเพื่อน ๆ พี่ น้อง ในโรงเรียนพนมสารคาม 'พนมอดุลวิทยา' ที่เป็นกำลังใจสำคัญให้เราในทุกช่วงเวลา

ขณะที่ นายเอกฉัตร ตันเฮง ได้กล่าวถึงความรู้สึกในการเข้าร่วมการแข่งขันฯ ว่า การเข้าร่วมเวที BYSCC เป็นโอกาสพิเศษที่เราได้รับประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม ทั้งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเยาวชนจากหลากหลายประเทศ และการได้เห็นความเข้มข้นของการแข่งขันในสาธารณรัฐประชาชนจีน ขอขอบคุณ อพวช. และสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ที่สนับสนุนให้เราได้เข้าร่วมในเวทีระดับสากลและคว้ารางวัลแห่งความภาคภูมิใจกลับมาได้สำเร็จ








กำลังโหลดความคิดเห็น