xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ! Fram 2 ภารกิจการสำรวจขั้วโลกเหนือ - ใต้ ครั้งแรก จากอวกาศโดยมนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภารกิจ Fram 2 ของ SpaceX ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศ พร้อมกับ 4 ลูกเรือ เพื่อทำการบินสำรวจโคจรรอบโลกที่มุมเอียง 90 องศาจากเส้นศูนย์สูตรตัดขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ นับเป็นภารกิจการสำรวจขั้วโลกทั้งสองของโลกครั้งแรกจากอวกาศโดยมนุษย์


ภารกิจ Fram 2 ได้ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศที่ฐานปล่อยยาน LC-39A NASA Kennedy Space Center รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 1 เมษายน 2025 เวลาประมาณ 08 .46 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) ด้วยจรวด Falcon 9 และยาน Crew Dragon (Resilience) ที่ได้รับการปรับแต่งให้เหมาะกับภารกิจ มีเส้นทางโคจรรอบโลกที่มุมเอียง 90 องศาจากเส้นศูนย์สูตร ในระดับความสูงประมาณ 425 – 450 กิโลเมตร


โดยภารกิจนี้ เป็นภารกิจอวกาศเชิงพาณิชย์ที่ดำเนินการโดย บริษัท SpaceX ในเส้นทางใหม่สำหรับการสำรวจขั้วโลกจากอวกาศโดยมนุษย์ในวงโคจรบินตัดขั้วโลก หรือ Polar Orbit เป็นครั้งแรก เนื่องจากการสำรวจโลกผ่านมุมมองอวกาศก่อนหน้านี้ ไม่มีภารกิจอวกาศที่มีมนุษย์บนยานที่เข้าสู่วงโคจรขั้วโลกแบบบินตัดขั้วโลก ภารกิจ Fram 2 จึงเป็นภารกิจการสำรวจขั้วโลกทั้งสองของโลกครั้งแรกจากอวกาศโดยมนุษย์ ที่ทำให้เห็นมุมมองใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจากอวกาศ โดยเฉพาะบริเวณขั้วโลกที่นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติไม่สามารถมองเห็นได้

ในการบินสำรวจขั้วโลกจากอวกาศโดยมนุษย์ ในครั้งนี้ประกอบด้วยลูกเรือ 4 คน ได้แก่ Chun Wang ผู้นำภารกิจและผู้สนับสนุนด้านการเงินหลักของโครงการ , Jannicke Mikkelsen ผู้บัญชาการยาน , Eric Philips ผู้เชี่ยวชาญภารกิจสำรวจขั้วโลก , Rabea Rogge ตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญภารกิจอีกคน


วงโคจรขั้วโลกเป็นวงโคจรสำหรับดาวเทียมที่ต้องการสำรวจแบบครอบคลุมโลก เป็นหนึ่งในเส้นทางสำคัญในการการศึกษาและสังเกตการณ์สภาพอากาศ สภาพแวดล้อม โดยในภารกิจ Fram 2 มีจุดประสงค์ในการศึกษาสภาพแวดล้อมของขั้วโลกจากอวกาศ ทดลองด้านสุขภาพของมนุษย์ พร้อมกับการศึกษาปรากฎการณ์ที่เรียกว่า STEVE


“ขั้วโลกเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากสถานีอวกาศนานาชาติ นี่คือโอกาสสำคัญในการเปิดประตูสู่การสำรวจและค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ” ...... Jannicke  บัญชาการยานกล่าว


สำหรับปรากฏารณ์ STEVE (Strong Thermal Emission Velocity Enhancement) เป็นปรากฏการณ์ทางแสงในชั้นบรรยากาศโลกที่ปรากฏเป็นแถบแสงสีม่วงอมชมพูที่ทอดยาวไปตามแนวเหนือ - ใต้ บางครั้งมีแถบสีเขียวเป็นลายเส้นขนานอยู่ด้านข้าง ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นที่ละติจูดต่ำกว่าที่แสงออโรราเกิดขึ้น แม้จะมีลักษณะคล้ายแสงออโรราแต่มีคุณสมบัติแตกต่างออกไป


ข้อมูล – ภาพอ้างอิง 

- SpaceX.com
- Spaceth.co


กำลังโหลดความคิดเห็น