ทีมเยาวชนไทยจากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย กระหึ่มโลกคว้ารางวัลเหรียญทองพร้อม Second prize Award สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากผลงาน “วิธีการกำจัดผักตบชวาทางชีวภาพแบบใหม่” ในเวทีการแข่งขัน I-FEST² 2025 ประเทศตูนีเชีย ที่มีกว่า 400 โครงงานจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกเข้าชิงชัย ขณะที่ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยและร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์คว้า 2 เหรียญเงิน “ผศ.ดร.รวิน” ชื่นชมเยาวชนไทยทั้ง 3 ทีมสร้างชื่อให้ประเทศไทย
เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ทีมเยาวชนไทยจากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย คว้ารางวัลเหรียญทอง (Gold Medals) และ Second prize Award (Top 3) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพในการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ The International Festival of Engineering Science and Technology (I-FEST²) 2025 จัดโดย TUNISIAN ASSOCIATION FOR THE FUTURE OF SCIENCES AND TECHNOLOGY ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยี กระทรวงเยาวชน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยว MILSET AFRICA และ BRISEC ระหว่างวันที่ 21-27 มี.ค.2568 ณ สาธารณรัฐตูนิเซีย ซึ่งมีผลงานร่วมชิงชัยกว่า 400 โครงงานจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก จากผลงาน “โครงงานวิธีการกำจัดผักตบชวาทางชีวภาพแบบใหม่ที่ผสานประสิทธิภาพของด้วงผักตบชวาและเชื้อราก่อโรคอย่างเหมาะสม” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เยาวชนไทยคิดค้นขึ้น โดยใช้ระบบอัตโนมัติล่อด้วงผักตบชวาให้ติดเชื้อรา Alternaria sp. เมื่อด้วงกินผักตบชวา เชื้อราจะแพร่กระจายและกำจัดผักตบชวาอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นวิธีที่คุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยรักษาระบบนิเวศแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน โดยมีสมาชิกในทีม คือนายพิธิวัฒน์ ฉิมพลี ชั้น ม.6.1 นายธนภัทร สมญาพรเจริญชัย ชั้น ม.6.1 น.ส.ณัฎฐ์ชฎา คำดี ชัิน ม.5.2 และนายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร ครูที่ปรึกษา
นอกจากนี้ ยังมีผลงานของทีมเยาวชนไทยที่คว้าอีก 2 เหรียญเงิน จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากผลงาน “โครงงานการตรวจหาภาวะตาขี้เกียจในเด็กโดยเทคนิคการวัดความหนาแน่นของเส้นเลือดจอประสาทตาด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับการบำบัดการทำงานร่วมกันของดวงตาผ่านเครื่องจำลองภาพเสมือนจริง” โดยมีสมาชิกในทีม คือ นายธรรมนิตย์ ไชยภัทรสุทธิกุล นายวิชญ์อภิรักษ์คุณวงศ์ นายศิรพัฒน์ จิตสำราญ และนางสาวสุวรรณา อัมพรดนัย ครูที่ปรึกษา และจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากผลงาน “โครงงานนวัตกรรมสารเคลือบหลุมร่องฟันที่ซ่อมแซมเนื้อฟันและลดโอกาสการผุซ้ำ” สมาชิกในทีม คือ นางสาวนิชาภา จัมปากะนันท์ นางสาวพัชร์พิชา เลิศวิสิฐพล นายยศวีร์ วรภาสไพบูลย์ และนางสุภานันท์ สุจริต ครูที่ปรึกษา
ทั้งนี้ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ได้กล่าวแสดงความยินดีกับเยาวชนที่ได้รับรางวัล ว่า ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยทั้ง 3 ทีมที่ได้รับรางวัลถือเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่หาไม่ได้ง่าย ๆ การสนับสนุนและผลักดันเยาวชนไทยให้มีส่วนร่วมในเวทีระดับนานาชาติ ถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายของกระทรวง อว.และ NSM ที่มุ่งสร้างศักยภาพของเยาวชนให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย เพื่อก้าวสู่บทบาทพลเมืองของโลกได้อย่างมีคุณภาพ นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต
ด้าน ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ NSM ซึ่งได้ร่วมเดินทางไปกำลังใจทีมเยาวชนภายในการแข่งขันฯ กล่าวว่า กระทรวง อว.โดย NSM ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ส่งทีมเยาวชนไทยเข้าร่วมทั้งหมด 3 ทีม ได้แก่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เพื่อสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ และส่งเสริมเยาวชนในการพัฒนากระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ รวมถึงพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์
ขณะที่ รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ทีมเยาวชนที่เข้าร่วมในครั้งนี้ คัดเลือกผลงานมาจากเวทีการประกวดระดับประเทศ ได้แก่ ค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 20 Thailand Young Scientist Festival (TYSF) และการประกวดนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24 (Thailand Innovation Award)” ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีและชื่นชมเยาวชนทุกคนที่ได้มุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่จนได้คว้ารางวัลมาได้สำเร็จ ในปีนี้ผลงานของทีมเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลมาครองได้สำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย หวังว่าจะสามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคมวิทยาศาสตร์ให้ยั่งยืนต่อไป
น.ส.ณัฎฐ์ชฎา คำดี หนึ่งในตัวแทนทีมเยาวชน รร.ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ กล่าวว่า สำหรับแรงบันดาลใจของการพัฒนาโครงงานฯ นี้มาจากการได้สังเกตเห็นผักตบชวาที่กระจายตัวอยู่ในแหล่งน้ำใกล้บ้าน จึงเกิดความคิดในการหาวิธีการกำจัดผักตบชวาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายความสมดุลของธรรมชาติ และพวกเราทุกคนรู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจและมีคุณค่าอย่างมาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ นอกจากความสุขจากการได้รับรางวัล สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการที่เราได้สร้างมิตรภาพกับเพื่อนต่างชาติ และได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายจากหลายประเทศทั่วโลก การได้รับรางวัลในครั้งนี้ยังช่วยให้โครงงานของเราได้รับความสนใจและเป็นที่รู้จักมากขึ้น พวกเราขอขอบคุณทาง NSM สมาคมวิทยาศาสตร์ รวมถึงคุณครูและเพื่อน ๆ ทุกคนที่คอยให้การสนับสนุนและช่วยเหลือจนเรามาถึงจุดนี้ได้สำเร็จ