xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ฝีมือนักวิจัยไทย! เทคนิคเลี้ยงสาหร่ายดูดซับคาร์บอน ตอบโจทย์ลดโลกร้อน ได้ประโยชน์รอบด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ในปัจจุบัน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เพิ่มมากขึ้น สร้างมลพิษต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทำให้หลายๆ หน่วยงานเริ่มมีการรณรงค์มาตรการต่างๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย (ALEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ดำเนินงานด้านสาหร่ายอย่างครบวงจร ได้แก่ วิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี และบริการด้านสาหร่ายน้ำจืดมากกว่า 30 ปี ได้มีการวิจัยการเพาะสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่สามารถตอบโจทย์ได้รอบด้าน ทั้งในเรื่องการช่วยลดโลกร้อนและการนำสาหร่ายที่ได้จากการเพาะเลี้ยงมาเพิ่มมูลค่าได้


ทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่ายได้มีการนำศักยภาพของสาหร่ายขนาดเล็กที่มีความสามารถในการสังเคราะห์แสงเช่นเดียวกับพืช มาเป็นแนวคิดในการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยี โดยใช้พลังงานจากแสงแดดและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากบรรยากาศเพื่อสร้างอาหารและสารชีวโมเลกุลต่างๆ ในเซลล์ กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ แต่ยังสร้างสารประกอบที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต น้ำมัน และสารชีวโมเลกุลอื่นๆ ซึ่งมีประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรม


การใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย

1. ถังปฏิกรณ์ชีวภาพแบบใช้แสง (Photobioreactor) ซึ่งทาง วว. เป็นผู้ออกแบบระบบและสร้างขึ้นเองใช้งานเอง จึงมีประสิทธิภาพที่จะรองรับระบบการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อมของการเพาะเลี้ยงในประเทศไทย โดยมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ 2 เท่า

2. อาหารสำหรับการเพาะเลี้ยงสาหร่าย
ที่ วว. มีการปรับปรุงให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับกับท้องตลาด แต่มีราคาที่ลดลงกว่า 10 เท่า

3. หัวเชื้อสายพันธุ์สาหร่าย เป็นสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย โดย วว. ขยายพันธุ์ได้เอง เป็นการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนั้นสายพันธุ์ดังกล่าวยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยไม่จำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิและการให้แสง เป็นการลดการใช้พลังงานสำหรับการเพาะเลี้ยง ผลผลิตชีวมวลสาหร่ายเมื่อเลี้ยงด้วย Flue gas จากโรงงานอุตสาหกรรมได้ชีวมวลสาหร่าย 2 กรัมต่อลิตรในเวลา 24 วัน ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าการเพาะเลี้ยงด้วยอากาศปกติ 2.5 เท่า โดยชีวมวลสาหร่ายแห้งสามารถขายได้ในราคา 3,000 บาทต่อกิโลกรัม หากนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้อีก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสาหร่ายขนาดเล็กสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยจากโรงงานอุสาหกรรมโดยระบบการเพาะเลี้ยงต้นทุนต่ำ และเปลี่ยนเป็นชีวมวลสาหร่ายเพื่อนำไปใช้สร้างเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงต่อไปได้




กำลังโหลดความคิดเห็น