ทีมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ คว้าแชมป์โครงงานวิทยาศาสตร์ธรรมชาติระดับประเทศ ประจำปี 2568 เวทีการแข่งขันของ อพวช. จากผลงาน "การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของปลาเศรษฐกิจในพื้นที่แม่น้ำมูล อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ในฤดูหนาว"
เยาวชนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ คว้าแชมป์โครงงานวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ระดับประเทศ ประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิด "Discovering local biodiversity" จากโครงงาน "การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของปลาเศรษฐกิจในพื้นที่แม่น้ำมูล อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ในฤดูหนาว" รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา 10,000 บาท จาก ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ณ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า จ.ปทุมธานี
ดร.กรรณิการ์ เฉิน กล่าวว่า การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยา ระดับประเทศ ประจำปี 2568 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Discovering local biodiversity” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ผ่านโครงงานธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงชีวิต สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนสนใจวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ โดยปีนี้มีโครงงานจากเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทั่วประเทศส่งเข้าประกวด 379 ทีม คัดเลือกสู่รอบชิงชนะเลิศ 39 ทีม โดยแต่ละทีมนำเสนอมุมมองธรรมชาติที่หลากหลายและเข้าใจง่าย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ผลปรากฏว่าทีมจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ ชนะเลิศด้วยโครงงาน "การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของปลาเศรษฐกิจในพื้นที่แม่น้ำมูล อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ในฤดูหนาว" สมาชิกในทีมประกอบด้วย ด.ญ.ณัฐธยา จิระจิตต์มีชัย ด.ช.ญาณกร ทองเต็ม ด.ช.วงศกร ยะปะตัง และน.ส.วัชราภรณ์ แสนนา เป็นครูที่ปรึกษา ได้รับทุนการศึกษา 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัล
ดร.กรรณิการ์ กล่าวชื่นชมเยาวชนทุกทีมที่เข้าร่วมโครงการฯ ว่า ทุกทีมมีศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน และตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่น หวังว่ากิจกรรมนี้จะกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่สนใจวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจในงานด้านธรรมชาติวิทยา”
ด้าน ด.ญ.ณัฐธยา จิระจิตต์มีชัย หนึ่งในตัวแทนทีมชนะเลิศเผยถึงโครงงานนี้ว่า “การลงพื้นที่ชุมชนเผยให้เห็นถึงข้อมูลจากกลุ่มชาวประมงในลุ่มแม่น้ำมูลว่า ความหลากหลายของปลาเศรษฐกิจในพื้นที่แม่น้ำมูลลดลงอย่างน่าเป็นห่วง หากไม่มีการอนุรักษ์ อาจเกิดการสูญพันธุ์ของปลาบางชนิด ทีมจึงจัดทำโครงงานเพื่อศึกษาวิธีอนุรักษ์ ผ่านการเก็บข้อมูลและจำแนกพันธุ์ปลา พร้อมจัดทำคู่มือการอนุรักษ์และฟื้นฟูที่เผยแพร่ความรู้ให้กับชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและความสมดุลของระบบนิเวศ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของแม่น้ำมูลต่อไป”
สำหรับผลรางวัลอื่นๆ มีดังนี้
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีมโรงเรียนสิรินธรวิทยานุสรณ์ จ.อุบลราชธานี กับ โครงงาน “การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของมันป่าบริเวณหมู่บ้านห้วยเหว่อ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี” สมาชิกในทีม ได้แก่ ด.ช.บวรเดชณ์ ฝางคำ ด.ญ.จิรัชญา สมโคตร ด.ญ.ภคมน ผาสิน และ นายสุรชัย วงศ์ถา ครูที่ปรึกษา พร้อมรับโล่และได้รับทุนการศึกษา 7,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีมโรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคม จ.พัทลุง กับ โครงงาน “สำรวจความหลากหลายของแมงและแมลงบริเวณคอกวัวชน อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง” สมาชิกในทีม ได้แก่ ด.ช.ธนวัตร พงศ์จันทรเสียร ด.ญ.กัญญาณัฐ ฉิมฉิน ด.ญ.ณัทธมนต์กานต์ ชุมขำ และนายอภิสิทธิ์ นุ้ยคง ครูที่ปรึกษา พร้อมรับโล่และได้รับทุนการศึกษา 5,000 บาท
รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้รับทุนการศึกษา 2,000 บาท ได้แก่ ทีมโรงเรียนสระแก้ว จ.สระแก้ว กับ โครงงาน “การสำรวจความหลากหลายของแมลงน้ำ เพื่อใช้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำในน้ำตกปางสีดา อุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว” สมาชิกในทีม ได้แก่ น.ส.มุกดา ไซเอ็ด น.ส.กานต์พิชชา เบ้านอก น.ส.พัชชานันท์ อินเนตรวงษ์ และน.ส.ปรียาภรณ์ แสงสว่าง ครูที่ปรึกษา
ทีมโรงเรียนสตรีพัทลุง จ.พัทลุง กับ โครงงาน “การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชในระบบนิเวศป่าสาคู ชุมชนบ้านปาบ อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง” สมาชิกในทีม ได้แก่ ด.ญ.กัลย์กมล ชูทอง ด.ญ.สิรัญญา เนียมรัตน์ ด.ญ.ภรณ์พัณณิน สุมงคล และน.ส.วรรณธิรา คงพลับ ครูที่ปรึกษา
ทีมโรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม จ.เชียงใหม่ กับ โครงงาน “การสำรวจความหลากหลายและการใช้ประโยชน์ของพืชอาหารป่าในหมู่บ้านแม่เตียน ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่” สมาชิกในทีม ได้แก่ ด.ญ.พรณิชชา ไศลพนา ด.ญ.นัชธ์ชนันท์ กันทาเขียว ด.ญ.ธนพร เสมือแม่ และน.ส.เจนใจ สุธีพรวิโรจน์ ครูที่ปรึกษา