“แก่นโลก” หรือ “แก่นดาว” (planetary core) เป็นแกนกลางของดาวเคราะห์ มีลักษณะเป็นของเหลวหรือของแข็ง หรืออาจเป็นแบบผสม ในส่วนนี้เปรียบเสมือนหัวใจของดาวเคราะห์เพราะเป็นจุดที่สร้างสนามแม่เหล็กเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในดาวเคราะห์จากรักสังสีของดาวฤกษ์
ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้เผยข้อมูลใหม่ในการศึกษาแก่นโลก โดยได้มีการตีพิมพ์ใน วารสารวิทยาศาสตร์ Nature Geoscience เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ซึ่งข้อมูลมาจากการศึกษาคลื่นแผ่นดินไหว (shockwave) ที่เคลื่อนผ่านขอบแกนโลกชั้นในขณะเกิดแผ่นดินไหว ที่อยู่ลึกลงไปประมาณ 5,000 กิโลเมตร
ศาสตราจารย์จอห์น วิเดล (John Vidale - the leader of the study and a seismologist at the University of Southern California) ผู้นำการศึกษาแก่นโลกในครั้งนี้ เปิดเผยว่า โดยทั่วไปจากรูปภาพประกอบหลายๆ คนจะคิดว่า แก่นโลกชั้นในมีรูปร่างเหมือนกับลูกบอล แต่ในความเป็นจริงแล้วขอบของมันอาจจะมีความเบี้ยวบ้าง เช่น บางแห่งอาจสูงกว่าบางแห่ง 100 เมตรหรือมากกว่านั้นในบางจุด
การเคลื่อนที่ของคลื่นเหล่านี้ สะท้อนว่ามันผ่านวัตถุอะไรมาบ้าง รวมถึงในแก่นโลกชั้นใน ซึ่งช่วยฉายภาพได้ว่าอะไรอยู่ใต้ผืนแผ่นดินของโลกใบนี้ การวิเคราะห์ได้เริ่มสำรวจที่แบบแผนของการเคลื่อนไหวสะเทือน (seismic wave) จากแผ่นดินไหวที่เกิดซ้ำในสถานที่เดิมระหว่างปี 1991 ถึง 2023 ซึ่งทำให้เห็นว่าแก่นโลกชั้นในเปลี่ยนไปอย่างไรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และในการวิเคราะห์นี้ พบหลักฐานเพิ่มเติมที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ ว่าตลอดช่วงเวลาดังกล่าว มีจุดหนึ่งที่แก่นโลกชั้นในเคลื่อนไหวช้าลงในช่วงปี 2010
และการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของแก่นโลกชั้นใน เกิดขึ้นบริเวณขอบเขตระหว่างแก่นโลกชั้นในและแก่นโลกชั้นนอก โดยขอบของแก่นโลกชั้นในซึ่งมีลักษณะเป็นของแข็ง อาจไปสัมผัสกับโลหะเหลวร้อนของแก่นโลกชั้นนอก รวมถึงแรงดึงจากสนามโน้มถ่วงโลกที่ไม่เท่ากัน อาจทำให้แก่นเกิดการเสียรูปได้
จากการพบข้อมูลในการเปลี่ยนแปลงนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมการเปลี่ยนรูปร่างของแก่นโลก เพราะอาจมีความเป็นไปได้ที่จะกระทบสนามแม่เหล็กของโลก เนื่องจากแก่นโลกชั้นในหมุนอย่างเป็นอิสระจากแก่นโลกชั้นนอกที่มีลักษณะเป็นของเหลว และเป็นอิสระจากส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย หากปราศจากการเคลื่อนไหวนี้ โลกก็จะตายและเนื่องจากไม่มีสนามแม่เหล็กคอยปกป้องรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์ และจะกลายเป็นเหมือนกับดาวอังคารที่แห้งแล้งเพราะได้สูญเสียสนามแม่เหล็กไปหลายพันล้านปีแล้ว
: ข้อมูล - ภาพอ้างอิง :
- nature.com (Annual-scale variability in both the rotation rate and near surface of Earth’s inner core)
- livescience.com (Scientists discover Earth's inner core isn't just slowing down — it's also changing shape)
- edition.cnn.com (‘It’s almost science fiction’: Scientists say the shape of Earth’s inner core is changing)