ภาพวัตถุในอวกาศที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนี้ ได้ถูกถ่ายด้วย กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ที่เผยแพร่โดย องค์การอวกาศยุโรป - ESA ซึ่งเป็นภาพของ จานดาวเคราะห์ก่อนเกิด ใน Herbig - Haro 30 (HH30) ภายในเนบิวลามืด LDN 1551 ในกลุ่มก้อนเมฆโมเลกุลภายในกลุ่มดาววัว ที่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 450 ปีแสง
ภาพถ่ายการกำเนิดดาวเคราะห์นี้ เป็นความร่วมมือของทีมงาน กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope - JWST) ร่วมกับ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) และ กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ALMA ( Atacama Large Millimeter/submillimeter Array) เปิดเผยให้เห็นถึงรายละเอียดต่างๆ ใน HH 30 ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อาทิ จานพอกพูนมวล , ดาวฤกษ์อายุน้อยในจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด , แถบฝุ่นที่อาจรวมตัวกันกลายเป็นดาวเคราะห์ในอนาคต ซึ่งภาพนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญในศึกษาการกำเนิดดาวเคราะห์ในห้วงอวกาศอันกว้างใหญ่
ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์จะถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กัน จากการรวมตัวของแก๊สในอวกาศภายใต้แรงโน้มถ่วง และค่อยๆ วนกันเป็นจาน (disk) ก่อนที่จะก่อตัวไปเป็นดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ต่อไป
Herbig-Haro 30 (HH 30) ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1990 ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล นักดาราศาสตร์ยกให้จานดาวเคราะห์ก่อนเกิด HH 30 เป็นต้นแบบของ Edge-on Disk หรือ จานฝุ่นและก๊าซที่ล้อมรอบดาวฤกษ์อายุน้อยที่สามารถสังเกตการณ์ได้อย่างชัดเจน และเนื่องจากสามารถสังเกตเห็นแนวด้านข้างของจานดาวเคราะห์ก่อนเกิดได้จากโลกพอดี ทำให้วัตถุอวกาศนี้ เป็นตัวอย่างสำคัญให้ศึกษาการเคลื่อนตัวของฝุ่นก๊าซ ลำเจ็ตที่พุ่งออกมา เช่นเดียวกับลักษณะโดยรวมจากแนวข้างของจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด
จานดาวเคราะห์ก่อนเกิด (protoplanetary disk) ปกติจะถูกซ่อนอยู่ภายใต้เมฆอันหนาทึบทำให้สามารถสังเกตได้ยาก แต่ด้วยประสิทธิภาพของกล้องเจมส์ เว็บบ์ ที่ถ่ายรูปในคลื่นอินฟราเรดทำให้สามารถทะลุเมฆโมเลกุลและแสดงภาพที่ชัดเจนได้ ทำให้สามารถเผยให้เห็นเป็นรายละเอียดที่หาดูได้ยาก
ข้อมูล – รูปอ้างอิง
- science.nasa.gov (James Webb Space Telescope)
- esawebb.org (Webb spies a multifaceted disc)