ในยามดึกของคืนวันที่ 7 มกราคม ปี 1610 เมื่อ 415 ปีก่อน Galileo Galilei(1564-1642) ซึ่งเป็น นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอิตาลี(จากการพบว่าของหนักกับของเบา เวลาถูกปล่อยจากที่สูงระดับเดียวกันในเวลาเดียวกัน จะตกถึงพื้นพร้อมกันเสมอ นี่เป็นการล้มล้างความเชื่อที่ว่า ของหนักจะตกถึงพื้นก่อนของเบา ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดตลอดมาเป็นเวลานานร่วม 2,000 ปี) ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ตนประดิษฐ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อทรงกระบอกที่มีความยาว 1.3 เมตร และมีเลนส์นูนกับเลนส์เว้าปิดอยู่ที่ปลายท่อทั้งสองข้าง ทำให้กล้องมีกำลังขยาย 20 เท่า ส่องดูดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นดาวเคราะห์หนึ่งในห้าดวงที่มนุษย์รู้จักในเวลานั้น (คือ พุธ ศุกร์ อังคาร พฤหัสบดี และเสาร์) และได้เห็นจุดสว่างขนาดเล็ก 3 จุด เรียงรายกันอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดี ภาพที่เห็นทำให้ Galileo คิดไปว่า มันคงเป็นดาวฤกษ์ดวงใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อน
แต่เมื่อได้เฝ้าดู Galileo ก็เห็นจุดสว่างเพิ่มมาอีก 1 จุด รวมเป็น 4 จุด และจุดทั้ง 4 นี้ มีการโยกย้ายข้าง คือ อยู่ทางซ้ายบ้าง และอยู่ทางขวาของดาวพฤหัสบดีบ้าง การเคลื่อนที่ของจุด ทำให้ Galileo รู้ในทันทีว่า มันมิใช่ดาวฤกษ์ เพราะดาวฤกษ์จะต้องไม่เคลื่อนที่ และการเห็นจุดเหล่านั้นอยู่ไกลจากดาวพฤหัสบดี และอยู่ใกล้บ้างในบางเวลา ทำให้ Galileo มีจินตนาการว่า จุดทั้ง 4 คือ ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีที่กำลังโคจรไปรอบ ๆ มัน
การสรุปเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับความเชื่อของคนทั้งหลายในสมัยนั้นอีก เพราะ Aristotle (384–322 ปีก่อนคริสตกาล) และ Ptolemy (100–170) ได้พร่ำสอนว่า ดาวทุกดวงที่อยู่บนท้องฟ้าล้วนโคจรไปรอบโลก ดังนั้นการเห็นดวงจันทร์ทั้ง 4 โคจรรอบดาวพฤหัสบดี แทนที่จะโคจรรอบโลก จึงขัดแย้งกับคำสอนและความเชื่อเดิม ๆ อีกคำรบหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ การที่ปราชญ์ทั้งหลายได้พบว่า ความรู้เก่า ๆ ของคนกรีกโบราณเป็นความรู้ที่ผิด และเพื่อให้ความรู้นั้น เป็นความรู้ที่ถูกต้อง สังคมจึงจำต้องมีการเรียนรู้ใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ด้วยเหตุนี้ช่วงเวลาดังกล่าวในยุคของ Galileo จึงเป็นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance)
เมื่อ Galileo ได้พบองค์ความรู้ใหม่แล้ว เขาจึงได้เรียบเรียงเรื่องราวที่เกี่ยวกับการพบใหม่นี้ลงใน หนังสือ “Sidereus Nuncius” (The Sidereal Messenger) เป็นภาษาอิตาเลียน เพื่อให้เพื่อนๆ นักดาราศาสตร์ได้รับรู้ แต่เมื่อตระหนักได้ว่าความรู้ใหม่นี้มีความสำคัญมาก เพราะจะเปลี่ยนโลกทัศน์ของคนทุกคน Galileo จึงจัดการเขียนเป็นภาษาละตินให้นักวิชาการทั่วโลกได้อ่าน หนังสือนี้ได้รับการตีพิมพ์ 500 เล่ม ซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะทุกคนที่อ่านรู้สึกตื่นเต้นกับความรู้ที่ถูกต้อง หลังจากที่ได้รู้อย่างผิดๆ มาเป็นเวลานานร่วม 2,000 ปี
ในฐานะที่เป็นผู้พบดวงจันทร์ทั้งสี่เป็นคนแรก Galileo จึงมีสิทธิ์ตั้งชื่อดวงจันทร์เหล่านั้น และได้ตัดสินใจเรียกชื่อว่า ดาว Medici (Medicean Stars) I, II, III, IV ตามชื่อของ Cosimo II de' Medici แห่งตระกูล Medici ที่มีฐานะร่ำรวยจากการทำธุรกิจธนาคาร เป็นการตอบแทนบุญคุณแก่ผู้ที่ให้ความอุปการะทางการเงิน และท่านดยุคก็ได้ตอบแทนความกตัญญู โดยได้แต่งตั้งให้ Galileo เป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Padua และได้รับเงินเดือนเพิ่มเป็นสองเท่าของเดิม
ขณะสอนที่มหาวิทยาลัย Padua Galileo เป็นอาจารย์ที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง และไม่มีความอดทนมาก เวลาโต้แย้งกับคนที่มีความรู้น้อยกว่า แต่ก็เป็นครูที่สอนหนังสือดี จึงมีศิษย์หลายคน และมีคนๆ หนึ่งชื่อ Evangelista Torricelli (1608-1647) ซึ่งได้รับแรงดลใจในการทำงานวิทยาศาสตร์จาก Galileo และในเวลาต่อมา Torricelli ได้มาทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยและเป็นเลขานุการของ Galileo
ผลงานสำคัญของ Torricelli คือ การทดลองที่ได้แสดงให้เห็นว่า เอกภพสามารถมีสุญญากาศ (vacuum) ได้ ซึ่งก็ขัดแย้งกับคำสอนของ Aristotle อีก เพราะ Aristotle คิดว่า สุญญากาศเป็นสิ่งต้องห้าม หรือความว่างเปล่าที่ไม่มีอะไรเลยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะมีได้ในเอกภพ
โดย Torricelli ได้เทปรอทลงในหลอดแก้วทดลองที่มีปลายปิดข้างหนึ่ง แล้วคว่ำปลายเปิดของหลอดแก้วลงในภาชนะบรรจุปรอท และได้พบว่า บริเวณเหนือระดับปรอทในหลอดมีที่ว่างเกิดขึ้น ที่ว่างนี้ คือ สุญญากาศ และความสูงของปรอทในหลอดแก้ว แสดงว่า อากาศภายนอกมีความดัน นั่นคือ อากาศมีน้ำหนัก ซึ่งองค์ความรู้นี้ก็ขัดแย้งกับความเชื่อของคนในเวลานั้นอีกว่า อากาศไม่มีมวลใดๆ
ในเวลาต่อมา ความรู้ที่ว่าอากาศมีความดัน ก็ได้ถูกนำไปใช้ในการประดิษฐ์อุปกรณ์วัดความดันบรรยากาศ (barometer) ให้ Blaise Pascal (1623–1662) และ Otto von Guericke (1602–1686) ได้สร้างทฤษฎีของความดันอากาศต่อไป ในบั้นปลายชีวิต เมื่อ Galileo ตาบอดทั้งสองข้างด้วยโรคต้อหิน Torricelli ได้ติดตามรับใช้ และพยาบาลอาจารย์ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ในปี 1609 (หนึ่งปีก่อนที่ Galileo จะเห็นดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี) Paolo Sarpi (1552-1623) ซึ่งเป็นเพื่อนคนหนึ่งของ Galileo ได้บอก Galileo ว่า Hans Lippershey (1570-1619) ซึ่งเป็นนักปราชญ์ชาวเนเธอร์แลนด์ ได้ประดิษฐ์กล้องส่องทางไกล ซึ่งได้ทำให้กองทัพชื่นชมมาก เพราะกล้องได้ช่วยให้ทหารเห็นข้าศึก ตั้งแต่ศัตรูยังอยู่ที่ระยะไกล ดังนั้นถ้า Galileo สามารถสร้างกล้องดังกล่าวได้ เขาก็จะขายกล้องให้กองทัพใช้ เป็นการสร้างรายได้ให้ตน เพราะ Galileo มีปัญหาเรื่องหนี้สิน จากการต้องเลี้ยงดูลูกชายชื่อ Vincenzo Galilei 1 คน กับลูกสาว 2 คน คือ Virgini และ Livia Galilei แต่เมื่อ Galileo ไม่ได้แต่งงานกับภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นลูกสาวทั้งสองจึงไม่มีสิทธิ์จะเป็นเจ้าสาวให้ใครได้ ทำให้ต้องไปบวชชี ส่วนลูกชายมีอาชีพเป็นนักดนตรี
Galileo จึงเห็นด้วยกับ Sarpi ที่จะสร้างกล้องส่องทางไกล เพื่อขายให้กองทัพ และให้พ่อค้าใช้ส่องดูเรือสินค้าที่ระยะไกล ก่อนเรือจะเข้าเทียบท่า ทำให้พ่อค้ารู้ว่าเรือนั้นกำลังนำสินค้าอะไรมา การรู้ชนิดของสินค้าล่วงหน้า ทำให้เจ้าของเรือได้เปรียบทาง
การค้า
Galileo จึงใช้ความสามารถทางด้านทัศนศาสตร์ของตน สร้างกล้องโทรทรรศน์ทันที และสามารถพัฒนากล้อง จนมีกำลังขยายจาก 2-3 เท่า เป็น 20 เท่าได้ แล้วจึงใช้กล้องส่องดูสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว และรู้สึกตื่นเต้นมากที่สามารถเห็นหอคอยของมหาวิทยาลัย Padua ที่อยู่ห่าง 50 กิโลเมตรจากหอคอย Saint Mark ที่ Venice ได้
จากนั้นก็ได้หันกล้องที่ Hans Lippershey เคยใช้ดูคนบนโลก ขึ้นสำรวจท้องฟ้าเพื่อดูดวงจันทร์ และได้เห็นผิวดวงจันทร์กระดำกระด่าง นี่ก็เป็นความรู้ที่ขัดแย้งกับคำสอนที่เขียนไว้ในคัมภีร์ไบเบิลอีกว่า พระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่งอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้นเมื่อผิวดวงจันทร์มิได้กลมเกลี้ยงดังผิวลูกบิลเลียด Galileo ก็ได้ใช้ความรู้ด้านทัศนมิติ (perspective) เห็นภาพเป็นเทือกเขา หุบเหว และแอ่งหลุม เหมือนสภาพทางภูมิศาสตร์ของโลก ด้วยเหตุนี้ดวงจันทร์จึงเปรียบเสมือนโลกใบที่สองของ Galileo
Galileo ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่ Padua ได้ไม่นาน ก็ตัดสินใจย้ายไปทำงานต่อที่เมือง Florence ซึ่งในเวลานั้นเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงแห่งยุค Renaissance ที่ชาวเมืองมีทัศนคติเปิดกว้าง คือ เปิดรับความคิดใหม่ ๆ มากยิ่งกว่าชาวเมือง Padua และมีบุคคลสำคัญ เช่น Leonardo da Vinci (1452-1519), Michelangelo Buonarroti (1475-1564) และ Niccolò Machiavelli (1469-1527) ก็เคยทำงานอยู่ที่นั่น
แม้ Galileo จะเป็นผู้พบดวงจันทร์ใหม่ทั้ง 4 ดวง และได้ตั้งชื่อดวงจันทร์เหล่านั้นว่า Medici Star I, II, III, IV แต่ชื่อดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะสังคมในสมัยนั้นคิดว่า ดาวทุกดวงในท้องฟ้าล้วนมีชื่อเรียกเป็นเทพเจ้า เช่น ดาวพุธ (เทพ Mercury) ดาวศุกร์ (เทพ Venus) ดาวอังคาร (เทพ Mars) ดาวพฤหัสบดี (เทพ Jupiter) และดาวเสาร์ (เทพ Saturn) แต่ Medici เป็นมนุษย์ธรรมดา จึงมิสมควรจะมีชื่อไปเทียบเคียงเทพเจ้า
ดังนั้นในปี 1614 นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อ Johannes Kepler (1576-1630) จึงเสนอให้ตั้งชื่อดวงจันทร์ทั้ง 4 ว่า Io, Europa, Ganymede และ Callisto ตามชื่อของเทพธิดาที่ถวายงานรับใช้เทพ Zeus แต่ชื่อเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ จนอีก 20 ปีต่อมา
หลังจากที่ได้พบดวงจันทร์ทั้ง 4 แล้ว ก็ไม่มีใครได้พบดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีเพิ่มเติม จนกระทั่งปี 1892 เมื่อ Edward Emerson Barnard (1857-1923) ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน (ผู้พบดาวหาง 16 ดวง และพบดาวฤกษ์ Barnard) ได้พบดวงจันทร์ดวงที่ 5 ของดาวพฤหัสบดี ชื่อ Amalthea ดวงจันทร์ดวงนี้นับเป็นดวงจันทร์ดวงสุดท้ายที่มนุษย์สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ปัจจุบันดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์เป็นบริวารทั้งสิ้น 95 ดวง
ช่วงเวลา 30 ปีสุดท้ายในชีวิตของ Galileo เป็นเวลาแห่งการต่อสู้ทางความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ของตนกับความเชื่อทางศาสนาของสังคม เพราะในปี 1616 Galileo ถูกศาลศาสนากล่าวตักเตือนไม่ให้เผยแพร่ความเชื่อของ Nicolaus Copernicus (1473–1543) ที่ว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ และโลกเคลื่อนที่ได้
ในปี 1623 สันตะปาปา Urban ที่ 8 ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของ Galileo ได้รับเลือกเป็นสันตะปาปาองค์ใหม่ และพระองค์ได้ทรงขอให้ Galileo ยอมรับว่า ตนรู้ผิดที่เชื่อ Copernicus และไม่เชื่อคำสอนที่มีในไบเบิล
ในปี 1631 Galileo ได้อพยพไปอยู่ที่ Villa II Gioiello ในเมือง Arcetri ซึ่งอยู่ใกล้เมือง Florence เพื่อจะได้อยู่ใกล้ลูกสาวคนโต Virgini Galilei ที่บวชชีอยู่ เพราะต้องการกำลังใจจากเธอ เวลาถูกฝูงชนตะโกนไล่ด่าเวลาไปไหนมาไหน
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1632 Galileo ถูกนำตัวไปไต่สวนที่ Rome อีก 4 เดือนต่อมาก็ถูกตัดสินว่า เป็นผู้คิดผิดและรู้ผิด จึงต้องถอนคำพูดและคำสอนของตนเองทั้งหมด
ในปี 1634 Maria Celeste (ซึ่งเป็นชื่อลูกสาวคนโตของ Galileo ในขณะบวชชี) ได้เสียชีวิตลง Galileo จึงรู้สึกโดดเดี่ยวมาก เพราะไม่มีใครจะคุยปรับทุกข์ด้วย สุขภาพจิตจึงทรุดลงมากจากการถูกสังคมรอบข้างกดดัน และตนกำลังป่วยเป็นโรคไส้เลื่อน จึงขออนุญาตศาลไปรักษาตัวที่เมือง Florence ณ เวลานั้น ตาทั้งสองข้างของ Galileo บอดสนิทแล้ว และจะขอไปที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะจะถูกจำคุก
หลังการรักษาตัว Galileo ได้เดินทางกลับเมือง Arcetri ณ ที่นั่น กวีชาวอังกฤษชื่อ John Milton (1608–1674) วัย 30 ปี ได้แวะไปเยี่ยม Galileo แล้วได้เขียนรายงานว่า สถานที่พำนักของ Galileo ค่อนข้างมืด และบ้านทั้งหลังดูเสมือนมีอันตรายอยู่รอบข้าง
ในปี 1637 Galileo ได้รายงานผลงานทางดาราศาสตร์ชิ้นสุดท้ายของเขาว่า ดวงจันทร์มีการหมุนแบบ libration ที่ทำให้ชาวโลกได้เห็นพื้นที่ผิวของดวงจันทร์มากกว่า 50% ในบางเวลา
เมื่อถึงวันที่ 8 มกราคม ปี 1642 Galileo ได้เสียชีวิตลงในวัย 77 ปี ศพถูกนำไปฝังที่สุสานในโบสถ์เล็ก ๆ ซึ่งไม่ใช้สุสานใหญ่ประจำเมือง Florence ตามบัญชาของสันตะปาปา Urban ที่ 8 จนกระทั่งถึงปี 1737 ศพจึงถูกนำไปฝังที่วิหาร Basilica di Santa Croce ในหลุมที่อยู่ตรงข้ามกับหลุมฝังศพของ Michelangelo
ด้านสันตะปาปา Urban ที่ 8 ซึ่งเป็นมิตรในตอนต้น แล้วกลายเป็นศัตรูของ Galileo ในเวลาต่อมา แม้กระทั่ง Galileo ตายไปแล้ว ก็ยังเป็นศัตรู ได้ถูกประชาชนโค่นล้มอนุสาวรีย์ เพราะไม่พึงพอใจที่ได้เก็บเงินภาษีของประชาชนไปถลุง
การลงโทษ Galileo ที่รุนแรงมากเช่นนี้ มิได้เป็นครั้งแรก เพราะในอดีต เมื่อวันที่ 17 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1600 นักปรัชญาชาวอิตาเลียน ชื่อ Giordano Bruno (1548-1600) ก็ได้ถูกนำตัวไปเผาทั้งเป็นที่จัตุรัส Campo de Fiori ในกรุงโรม ด้วยข้อหาเผยแพร่ความเชื่อที่ว่า มนุษย์ต่างดาวมีจริง
โดยสรุป ผลงานที่สำคัญทางดาราศาสตร์ของ Galileo มีมากมาย โดยเฉพาะการพบดวงจันทร์ทั้ง 4 ของดาวพฤหัสบดี การเห็นดาวฤกษ์เป็นจำนวนมากกว่าเก่า (ที่เห็นด้วยตาเปล่า) ถึง 10 เท่า การพบดวงจันทร์ของระบบสุริยะเป็นจำนวนมากกว่าเก่าจาก 1 เป็น 5 การพบว่าทางช้างเผือกประกอบด้วยดาวฤกษ์จำนวนนับหมื่นดวง การเห็นภูเขาและหุบเหวบนดวงจันทร์ ซึ่งทำให้เรารู้ว่าดวงจันทร์ก็มีผิวขรุขระเหมือนโลก การค้นพบองค์ความรู้ใหม่หลายเรื่องนี้ ได้ทำให้นักดาราศาสตร์หลายคนตั้งชื่อ Galileo ว่า เป็น Columbus แห่งโลกดาราศาสตร์ ในขณะที่ Christopher Columbus (1451–1506) สำรวจโลก แต่ Galileo สำรวจสวรรค์
onal Edition, January 1, 1989 by Pietro Redondi
แม้ดวงจันทร์ทั้งสี่ จะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนดาวดวงอื่นใดในระบบสุริยะ เช่น ดวงจันทร์ Io เป็นดาวภูเขาไฟ เพราะมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ร่วมร้อยลูก และที่ผิวมีสารประกอบของกำมะถันจากลาวาภูเขาไฟที่ปกคลุมผิว ดวงจันทร์ Callisto ก็มีผิวที่เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตอยู่กันอย่างหนาแน่น ดวงจันทร์ Ganymede ซึ่งเป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ก็มีสนามแม่เหล็กในตัวของมัน (ส่วนดวงจันทร์ของโลกไม่มีสนามแม่เหล็ก จะมีก็แต่ก้อนหินที่แสดงสมบัติแม่เหล็กเท่านั้น) แต่ดวงจันทร์ดวงที่นักวิทยาศาสตร์สนใจมากที่สุด คือ ดวงจันทร์ Europa
ในทศวรรษของปี 1970 NASA ได้ส่ง ยาน Pioneer 10 และ 11 กับ Voyager 1 และ 2 ไปโคจรผ่านดาวพฤหัสบดี และยานเหล่านี้ได้ถ่ายภาพดวงจันทร์ Europa ด้วย ภาพได้แสดงให้เห็นว่า ผิวดาว Europa เป็นผิวที่ราบเรียบที่สุดในบรรดาดาวทั้งหมดของระบบสุริยะ เพราะมีน้ำแข็งปกคลุมเป็นแผ่นที่หนามาก และผิวดาวสามารถสะท้อนแสงได้ดี นอกจากนี้ที่ใต้แผ่นน้ำแข็งก็มีทะเลหรือมหาสมุทรที่อาจจะมีน้ำเหลวในปริมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทรบนโลกก็ได้ การบีบอัดแผ่นน้ำแข็งโดยแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์และดาวพฤหัสบดี ได้ทำให้แผ่นน้ำแข็งบนดวงจันทร์ Europa ละลาย แต่ความเย็นที่มาก ก็ได้ทำให้น้ำเหลวนั้น แข็งตัวกลับมาอีก
ในช่วงปี 1995-2003 NASA ได้ส่งยาน Galileo ไปโคจรผ่าน Europa ที่ระยะใกล้และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่บนผิวดาวว่า มีสารประกอบสีน้ำตาลปรากฏขึ้นตามรอยแยกที่ผิว ทำให้เกิดริ้วรอยเป็นทางยาวพาดตัดกันไปมา ริ้วนี้มีสารประกอบของกำมะถันที่ได้ไหลทะลักขึ้นจากน้ำทะเลที่อยู่ใต้ผิว
นอกจากนี้ในปี 2014 กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ก็ยังได้เห็นน้ำพุจำนวนมากพุ่งขึ้นจากบ่อที่ผิวของดาวด้วย โดยเฉพาะบ่อที่อยู่บริเวณขั้วใต้ของดาว มีแหล่งน้ำพุมากมาย หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า Europa มีโอกาสจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวได้
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ปี 2024 NASA ได้ส่ง ยาน Europa Clipper ไปสำรวจ Europa ยานได้นำอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ไปด้วย 9 ชิ้น เป็นเรดาร์ กล้องถ่ายภาพ อุปกรณ์ spectrometer เพื่อวัดความยาวคลื่นของแสง อุปกรณ์ magnetometer เพื่อวัดความเข้มของสนามแม่เหล็ก และอุปกรณ์ thermometer เพื่อวัดอุณหภูมิ ฯลฯ
โครงการ Europa Clipper นี้ จะทำงานเสริมและตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากโครงการ JUICE (Jupiter Icy Moons Explorer) ขององค์กรอวกาศแห่ง Europe (European Space Agency; ESA) ที่ได้ออกเดินทางไปก่อนตั้งแต่ปี 2023 และมีกำหนดจะเดินทางถึง Ganymede ในปี 2034 ส่วนโครงการ Europa Clipper จะเดินทางถึง Europa ในเดือนเมษายน ปี 2030 เพื่อตอบคำถามเรื่องสิ่งมีชีวิตบนดาวว่า มีจริงหรือไม่มีเลย และถ้าพบโมเลกุลของชีวิตก็จะพิสูจน์ให้เห็นว่า มันมี DNA เหมือน DNA ของสิ่งมีชีวิตบนโลกหรือไม่ และถ้าพบสิ่งมีชีวิตจริง เราก็จะรู้ว่าดวงจันทร์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะก็มีสิทธิ์จะมีสิ่งมีชีวิตได้เช่นกัน
ในอดีตเมื่อ 415 ปีก่อน Galileo ได้เคยเห็นดวงจันทร์เหล่านี้เป็นเพียงจุดสว่างเล็ก ๆ ถ้าสันตะปาปา Urban ที่ 8 ยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็คงต้องขออภัย Galileo อย่างใหญ่หลวง และนี่ก็คือเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในปี 1992 เมื่อสันตะปาปา John Paul ที่ 2 แห่งวาติกัน ได้ทรงยอมรับว่า คริสตจักรเข้าใจความคิดของ Galileo ผิด
อ่านเพิ่มเติมจาก Galileo: Heretic Paperback – Internati
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์