xs
xsm
sm
md
lg

NARIT นำทีมนักวิจัยและวิศวกร ร่วมประชุมทวิภาคีไทย - จีน เดินหน้ายกระดับความร่วมมือดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์อวกาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) โดย สถาบันทัศนศาสตร์ กลศาสตร์ขั้นสูงและฟิสิกส์แห่งฉางชุน (CIOMP) จัดประชุม "CAS-MHESI Symposium on Astronomy, Space Science, and Advanced Instrumentation 2025” ประเดิมงานแรกของไทยในโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน มี Prof. Wang Zhenyu รองผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เป็นประธานฝ่ายจีน และ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. เป็นประธานฝ่ายไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม 2568 ณ เมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลิน สาธารณรัฐประชาชนจีน นับเป็นหมุดหมายสำคัญของความร่วมมืออันแน่นแฟ้นที่จะช่วยยกระดับด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศของไทยผ่านการพัฒนาและสร้างความเชี่ยวชาญให้กับกำลังคนภายในประเทศ


ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า การประชุม CAS-MHESI Symposium on Astronomy, Space Science, and Advanced Instrumentation 2025 นับเป็นกิจกรรมแรกภายใต้ความร่วมมือไทย-จีนที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 50 ปีทางการทูตระหว่างสองประเทศ ในปี พ.ศ. 2568 เป็นการประชุมที่ต่อยอดจากความสำเร็จของการประชุม CAS-MHESI Bilateral Symposium" เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่หัวข้อด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศ และทำให้ได้เห็นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยและจีนในด้านดาราศาสตร์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง สดร. กับ CAS และ CIOMP ที่เข้มแข็งมาก หากต้องการจะก้าวหน้าไปในด้านใด พาร์ตเนอร์เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้และขีดความสามารถของบุคลากรได้เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดร่วมมือด้านนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง และก้าวหน้ามากขึ้นไปอีก เพื่อให้ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่งของอาเซียนในด้านเทคโนโลยีดาราศาสตร์และอวกาศ นอกจากนี้ สิ่งที่ประทับใจมากคือ บริษัทสตาร์ทอัพของจีนที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานวิจัยของรัฐ เป็นสิ่งที่เราอยากเห็นในไทย ซึ่งหลายหน่วยงานใน อว. รวมถึง สดร. มีศักยภาพที่จะทำได้ภายใน 2-3 ปี และจะต้องผลักดันให้เกิดการต่อยอดเทคโนโลยีขึ้นสูงให้เกิดเป็นอาชีพ สามารถสร้างรายได้ และเข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้น


ดร. วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยและจีนมีความสัมพันธ์อันดีกันมาอย่างยาวนาน รวมถึงความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ที่ดำเนินการโดย สดร. เช่น ร่วมกับหอดูดาวเกาเหมยกู่ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติของไทย ร่วมมือกับหอดูดาวเซี่ยงไฮ้ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอสที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาด้านยีออเดซี ร่วมมือกับสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง (IHEP) ในโครงการหอสังเกตการณ์นิวทริโนจูโนเจียงเหมินอันเดอร์กราวด์นิวทริโน (JUNO) เพื่อศึกษาอนุภาคอนุภาคนิวทริโนจากหอสังเกตการณ์ใต้ดิน เป็นต้น ทุกความร่วมมือที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่การศึกษาวิจัยเท่านั้น แต่ยังมีการถ่ายทอดเทคนิคและเทคโนโลยีระหว่างบุคลากรทั้งสองประเทศ

สำหรับการประชุมทวิภาคีไทย-จีน CAS-MHESI Bilateral Symposium ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2567 ส่งผลให้เกิดความร่วมมือและเป้าหมายใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันประสบความสำเร็จแล้วหลายโครงการ อาทิ การใช้เทคนิคแทรกสอดระยะไกล (VLBI) เชื่อมกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติของไทย กับกล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์ และกล้องวิทยุโทรทรรศน์เทียนหม่าของจีน ในเวลาเพียง 6 เดือนหลังการประชุม ในขณะเดียวกัน การพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่จะติดตั้งไปสำรวจดวงจันทร์กับยานฉางเอ๋อ 7 ก็คืบหน้าไปอย่างมาก อีกทั้งจีนยังตอบรับข้อเสนอการส่งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของไทยไปสำรวจดวงจันทร์กับยานฉางเอ๋อ 8

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่ด้านดาราศาสตร์และอวกาศ แต่ยังมีวิทยาศาสตร์ในสาขาอื่น ๆ อีกหลากหลาย ซึ่งการประชุมแต่ละครั้งไม่ได้มีเพียงการแสวงความร่วมมือที่เป็นไปได้เท่านั้น แต่เพื่อตั้งเป้าหมายและวาระร่วมกัน อันเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นจริงในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนี้ ระหว่างทางที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นนั้น ยังได้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ และอาชีพใหม่ที่จะมารองรับคนรุ่นใหม่ของประเทศ เมื่อย้อนกลับไปตลอดระยะเวลา 50 ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของไทยและจีนได้ปูทางให้เกิดสิ่งต่าง ๆ มากมายไปแล้ว เชื่อว่าในอีก 50 ปีต่อจากนี้ ลูกหลานของเราทั้งสองชาติที่เราได้ปูทางให้พวกเขาก็จะมองย้อนกลับมาในวันนี้เช่นเดียวกัน


ดร. ศุภกร รักใหม่ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า การเข้าร่วมประชุมและเยี่ยมชม ห้องปฏิบัติการของ CIOMP ในครั้งนี้เป็นโอกาสดีในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในด้าน Detector และ Optic ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังขาด และจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มเติม การร่วมมือกับฉางชุนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อสร้างนวัตกรรมและเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศ


การประชุมในครั้งนี้เน้นในเรื่อง ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์อวกาศ และอุปกรณ์เครื่องมือวิจัยขั้นสูง สำหรับปีหน้า สซ. ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย หัวข้อการประชุมอาจจะเพิ่มเติมเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องซินโครตรอน และนิวเคลียร์ฟิวชั่น พร้อมทั้งเชิญหน่วยงาน ในประเทศที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าร่วมด้วย อาทิ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นต้น รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง และสร้างกำลังคนที่มีความสามารถด้านนี้ของไทยให้เพิ่มมากขึ้น


การประชุม CAS-MHESI Symposium on Astronomy, Space Science, and Advanced Instrumentation 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม 2568 ณ เมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลิน สาธารณรัฐประชาชนจีน มีนักวิชาการ นักวิจัยระดับแนวหน้า วิศวกร และผู้ทรงคุณวุฒิจากไทย ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (SLRI) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (TINT) ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายจีนมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์และอวกาศภายใต้ CAS ที่เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ ได้แก่ หอดูดาวแห่งชาติจีน (NAOC) สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง (IHEP) สถาบันทัศนศาสตร์ กลศาสตร์ขั้นสูงและฟิสิกส์แห่งฉางชุน (CIOMP) ศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติจีน (NSSC) รวมถึง Motor and Electric Drive Development at Chaina FEW R&D Institute, Northeast Institute of Geography and Agroecology (IGA) และบริษัท Start up ได้แก่ Changchun Changguan Precision Instrument Grop Co.,Ltd


ภายในงานมีการนำเสนอผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงด้านดาราศาสตร์และอวกาศภายใต้กรอบความร่วมมือเดิม อาทิ ความร่วมมือไทย-จีนด้านเทคโนโลยีอวกาศ ความคืบหน้าของเพย์โหลดไทยที่จะติดตั้งไปกับยานฉางเอ๋อ 7 และฉางเอ๋อ 8 ความคืบหน้าการพัฒนาเพย์โหลดดาวเทียม TSC-1 โครงการวิจัยดาราศาสตร์ระดับโลกภายใต้ความร่วมมือไทยจีน รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์อวกาศขั้นสูง การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือทางทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ วิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ การขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง การสปินออฟเทคโนโลยี การก่อตั้งสตาร์ทอัพ เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น