ตั้งแต่ไหนแต่ไร คนเรามักจะมีความเชื่อโดยตลอดมาว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เพราะมีความสามารถสูงส่งยิ่งกว่าสัตว์อื่นใดในแทบทุกด้าน เช่น มีภาษาเขียน และภาษาพูด เพื่อใช้ในการสื่อสาร ด้วยการเขียนวรรณกรรม บทเพลง และร้องเพลง เพื่อถ่ายทอดความนึกคิด จินตนาการ และอารมณ์ ฯลฯ นอกจากนี้ มนุษย์ยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการเดินทางได้เร็ว ได้ไกล และได้อย่างปลอดภัยด้วย รวมทั้งรู้จักสร้างอุปกรณ์ขึ้นมา เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต อีกทั้งสามารถเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติได้ว่า เกิดจากสาเหตุใด และเวลาเผชิญภัยพิบัติ มนุษย์ก็สามารถหาวิธีลดคงามรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ (บ้าง) ยิ่งไปกว่านั้นมนุษย์ยังสามารถพยากรณ์บางเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตได้ด้วย สำหรับประเด็นด้านสุขภาพ มนุษย์ก็รอบรู้สาเหตุที่ทำให้คนล้มป่วย และรู้วิธีรักษาตนเองด้วย
ในขณะที่สัตว์ต่างๆ ไม่มีภาษาเขียน และไม่มีอุปกรณ์ที่ซับซ้อน เพื่อใช้ในการดำรงชีพ และอุปกรณ์ที่สัตว์มีก็เป็นอุปกรณ์ง่าย ๆ แต่ในเวลาเดียวกัน มนุษย์ก็มีสติปัญญาเลิศล้ำ มนุษย์ด้วยกัน เช่น รู้จักการสร้างระเบิดปรมาณูเพื่อใช้ในสงคราม และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อีกทั้งมีวิธีโกง รู้จักทุจริตติดสินบน รวมถึงมีวิธีปล้นฆ่าชิงทรัพย์ และทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย
ครั้นเมื่อถึงยุควิทยาศาสตร์รุ่งเรือง นักวิทยาศาสตร์ก็ได้รู้ว่า สัตว์ก็มีสติปัญญาเช่นกัน คือ สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ สามารถแก้ปัญหา รู้จักใช้อุปกรณ์ในการหาอาหาร สื่อสาร และแสดงอารมร์ได้ เช่น ลิงชิมแปนซีใช้เศษไม้กระทุ้งรังปลวก ให้หนีออกจากรังมาให้มันจับกิน ฝูงปลาโลมามีการส่งเสียงร้องเป็นเพลงเวลาออกล่าเหยื่อ และเวลาเตือนภัย ผึ้งใช้วิธีเต้นรำ เพื่อให้เพื่อน ๆ รู้ตำแหน่งของอาหาร ช้างแสดงอารมณ์เศร้าหมองเวลาเพื่อนตาย เวลาสุนัขป่าออกล่าเหยื่อ มันจะไปกันเป็นฝูง ปลาหมึกรู้จักใช้กะลามะพร้าวทำรัง และเวลานกบางชนิดเดินผ่านกระจกเงา มันจะแสดงอาการที่บอกให้เรารู้ว่ามันจำตัวมันเองได้
เหล่านี้คือความสามารถทางสติปัญญาในด้านต่างๆ ของสัตว์ เช่น ด้านสังคม ด้านการรู้จักใช้อุปกรณ์ ด้านความจำ ด้านการสื่อสาร ด้านความเห็นอกเห็นใจ ด้านการเรียนรู้และปรับตัว ด้านการรับรู้ตนเอง และด้านอารมณ์ สติปัญญาเหล่านี้ ทำให้เรารู้ว่าสัตว์ที่มีสติปัญญาสูงได้แก่ สัตว์พวกลิง สัตว์ทะเล นก ปลาหมึก ช้าง ฯลฯ
ดังมีตัวอย่างมากมาย เช่น ในนิทานอีสป เมื่อ 2,600 ปีก่อน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกาที่กระหายน้ำมาก เมื่อมันเห็นคนโทใบหนึ่งมีน้ำในปริมาณน้อย น้ำที่อยู่ลึกถึงก้นคนโท ทำให้จะงอยปากของกาจ่อลงไปไม่ถึง มันจึงคาบก้อนหินเล็ก ๆ ทีละก้อนหย่อนลงไปที่ปากคนโท ปริมาตรของก้อนหินที่แทนที่น้ำทำให้ระดับน้ำในคนโทเอ่อสูงขึ้น จนกาสามารถดื่มน้ำได้
นอกจากจะมีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดแล้ว กายังเป็นสัตว์ที่คนโบราณเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วย เช่น กาที่อาศัยอยู่ที่ Tower of London ในอังกฤษ ซึ่งคนอังกฤษเชื่อว่า เป็นสัตว์ที่มีหน้าที่พิทักษ์อาณาจักร เพราะถ้าวันหนึ่งวันใดที่กาถูกขับไล่ออกจาก Tower อาณาจักรอังกฤษ ก็จะล่มสลายในทันที ดังนั้น สมเด็จพระเจ้า Charles ที่ 2 (1630-1685) เมื่อได้รับคำร้องเรียนจาก John Flamsteed (1646-1719) ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ประจำราชสำนัก กราบทูลว่าฝูงกาที่ Tower ได้รบกวนการทำงานของนักดาราศาสตร์ พระเจ้า Charles ที่ 2 จึงทรงตรัสตอบว่า Flamsteed จะต้องย้ายหอดูดาวไปติดตั้งที่ Greenwich และทรงโปรดให้กาพำนักอยู่ที่ Tower เหมือนเดิม
ด้าน G. Hunt แห่งมหาวิทยาลัย Massey ที่นิวซีแลนด์ ได้เคยรายงานในวารสาร Nature ว่า กา (Corvus moneduloides) ที่อาศัยอยู่บนเกาะ New Caledonia ในมหาสมุทรแปซิฟิก รู้จักใช้จะงอยปากของมันบิดปลายลวดตรงให้งอเป็นตะขอ เพื่อใช้เกี่ยวเศษอาหารมากิน Hunt ยังได้พบอีกว่า กาสายพันธุ์นี้ สามารถทำอุปกรณ์ตะของ่าย ๆ ได้มากถึง 305 ชิ้น โดยทุกชิ้นมีลักษณ์เหมือนกัน ข้อมูลนี้จึงแสดงว่ากาเป็นช่างทำอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน เพราะอุปกรณ์ทุกชิ้นมีรูปแบบเหมือนๆ กัน
ด้าน B. Kenward แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ในอังกฤษ ก็ได้พบว่า เวลาตนนำกา Caledonia มาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยให้กลุ่มหนึ่งมีคนฝึกวิธีหาอาหาร และอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีใครฝึกให้เลย Kenward ได้พบว่า ขณะฝึก กาอีกฝูงหนึ่งไม่ได้เห็นกลุ่มกาที่ได้รับการฝึก แต่ในที่สุดเขาก็ได้ผลว่า ไม่ว่าจะได้รับการฝึกหรือไม่ได้รับ กาก็รู้จักสร้างอุปกรณ์ตะขอได้เหมือนกัน นั่นแสดงว่า ความสามารถในการสร้างอุปกรณ์ของกาเป็นพรสวรรค์ที่กาทุกตัวได้รับมาให้อยู่ใน gene ของมัน
ในปี 1998 Redouan Bshary แห่งมหาวิทยาลัย Neuchâtel ในสวิสเซอร์แลนด์ ได้ศึกษา ปลากรูเปอร์ (grouper) ที่อาศัยอยู่ในทะเลแดง (Red Sea) กับ ปลาไหล (moray) ซึ่งเป็นนักล่าที่ดุร้าย และ Bshary ก็ได้พบว่า ปลาทั้งสองชนิดรู้จักใช้สติปัญญาในการหาเหยื่อร่วมกัน เพื่อให้สามารถหาเหยื่อได้ในปริมาณมากกว่าการหาโดยลำพัง
ปลา grouper นั้น ว่ายน้ำได้เร็ว จึงถนัดในการล่าเหยื่อในท้องทะเลกว้าง ส่วนปลาไหล moray มีลำตัวเรียวยาว จึงสามารถแทรกตัวลงในซอกหินปะการังที่แคบได้ ซึ่งซอกหินนี้เป็นแหล่งซ่อนตัวของเหยื่อของมัน ดังนั้นเมื่อปลาทั้งสองชนิดพบกัน ปลา grouper จะส่งสัญญาณให้ปลาไหล moray รู้ว่า เราจะร่วมกันหาเหยื่อ แล้วปลาไหล moray ก็จะว่ายตรงไปที่ซอกหิน ซึ่งเป็นที่อยู่ของเหยื่อ เมื่อเหยื่อเห็นปลาไหล moray ก็จะตกใจกลัว แล้วรีบว่ายหนีออกจากซอกหินทันที คือ ออกไปในทะเลกว้างอันเป็นแดนประหารของปลา grouper พฤติกรรมการหาเหยื่อในลักษณะนี้ เป็นวิธีการที่เรารู้จักในนามการอยู่ร่วมกันแบบอิงอาศัย (symbiosis) เพราะปลา grouper กับปลาไหล moray ได้ประโยชน์กันทั้งสองปลา และการสื่อสารระหว่างปลา grouper กับปลาไหล moray เป็นสัญญาณที่แสดงการมีสติปัญญาของปลา
หลังจากที่ Bshary ได้ศึกษาพฤติกรรมของปลา grouper กับปลาไหล moray แล้ว เขาก็หันมาสนใจปลา wrasse ซึ่งเป็นปลาที่มีลักษณะลำตัวแบน และสามารถเปลี่ยนสีกับลวดลายบนลำตัวได้อย่างรวดเร็ว นิสัยที่สำคัญของปลาชนิดนี้ คือ มันชอบนอนในเวลากลางคืน และจะขับเมือกออกมาตามลำตัว เพื่อปกป้องตัวมันเองให้รอดพ้นจากการถูกศัตรูโจมตี ปลา wrasse หรือปลานกขุนทอง มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปลาทำความสะอาด (cleaner fish) โดยมันจะจัดตั้งสถานีทำความสะอาดบนปะการังในทะเล เพื่อทำความสะอาดให้ปลาอื่น ๆ ให้ปลอดจากตัวปรสิตที่มาเกาะกินมันอยู่ เพราะเวลาปลาถูกปรสิตกัดกิน มันจะมีอาการคันตามตัว แต่มันไม่สามารถกำจัดปรสิตออกจากตัวมันได้ มันจึงต้องอาศัยปลา wrasse มาช่วยกำจัด
ปลา wrasse มีลำตัวแบน ฟันแหลม และว่ายน้ำได้เร็ว ตามปกติมันจะชอบว่ายน้ำตามลำพัง และเวลามันจะให้บริการปลาอื่น มันจะว่ายน้ำไป-มาอย่างคล่องแคล่ว เพื่อให้ปลาลูกค้าพอใจและประทับใจ ด้วยการเข้ามารับบริการทำความสะอาดของมัน
ผลที่เกิดขึ้น คือ ปลา wrasse ได้ปรสิตเป็นอาหาร และปลาใหญ่ได้สุขภาพที่ดี Bshary ยังได้พบอีกว่า ในบางครั้งปลา wrasse อาจจะเอาเปรียบปลาใหญ่ คือ แทนที่จะกัดกินปรสิต มันกลับกินเยื่อเมือกที่มีสารอาหารอันเป็นประโยชน์ต่อปลา wrasse ที่ปลาใหญ่ขับออกมา แต่กลับเป็นโทษต่อปลาใหญ่ เพราะปลาใหญ่จะรู้สึกเจ็บ ซึ่งจะทำให้มันไม่พอใจ มันจึงไล่กัดปลา wrasse
พฤติกรรมระหว่างปลา wrasse กับปลาอื่น ๆ ในรูปแบบนี้ เป็นเหมือนกับพฤติกรรมของคน ที่มีเขียนในหนังสือ หนังสือ “The Prince” และ “The Art of War” ที่ Machiavelli (1429-1527) ซึ่งเป็นนักการทูต นักประพันธ์ และนักประวัติศาสตร์ในยุค Renaissance ได้เขียนไว้ทุกประการ
สำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด การรู้วิธีหาอาหารเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นสัตว์ทุกชนิดจึงต้องใช้สติปัญญาในการหาอาหารเช่นกัน ไม่ว่าจะในทะเลหรือป่าใหญ่ เพราะถ้าหาอาหารไม่ได้มันก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ และนักชีววิทยาก็ได้พบว่า สัตว์หลายชนิดใช้วิธีหาอาหารแบบสุ่ม (random foraging) ซึ่งเป็นวิธีหาอาหารโดยมิได้วางรูปแบบของการหาล่วงหน้าก่อนออกเดินทาง วิธีนี้เป็นวิธีที่สัตว์ใช้ ถ้าอาหารในบริเวณนั้นมีมากอย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าบริเวณนั้นขาดแคลนอาหาร สัตว์ก็จะเปลี่ยนวิธีหาเหยื่อ โดยใช้วิธีอื่น
ในการหาอาหารแบบสุ่ม สัตว์จะไม่ใช้ความทรงจำ ไม่พึ่งพาประสบการณ์เดิม และไม่ได้กำหนดเส้นทางใด ๆ ก่อนออกเดินทาง การใช้วิธีนี้ในการหาเหยื่อ จึงแตกต่างจากวิธีหาเหยื่อแบบมุ่งเป้า ซึ่งเป็นวิธีที่สัตว์ใช้ ถ้ารู้ตำแหน่งที่อยู่ของเหยื่ออย่างแน่นอน
ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 10 มิถุนายน ปี 2010 David Sims แห่ง Marine Biological Association of the United Kingdom ได้รายงานพฤติกรรมการหาอาหารของปลาล่าเหยื่อ 14 ชนิด เช่น ปลาทูน่า ปลาดาบ ปลาฉลาม ฯลฯ โดยใช้วิธีติดป้าย (tag) อิเล็กทรอนิกส์ตามตัวของสัตว์ทดลองเป็นเวลา 5,700 วัน ให้มันว่ายน้ำหาเหยื่อ แล้วเก็บข้อมูลสถานที่ ๆ มันไป เวลาที่มันพักผ่อน เวลาที่มันใช้ในการเดินทางหาเหยื่อ และระยะทางต่าง ๆ ตลอดจนทิศทางการว่ายน้ำหลังจากที่มันได้เหยื่อแล้ว และเริ่มหาเหยื่อตัวใหม่ ฯลฯ ทำให้ได้ 12 ล้านข้อมูล จึงพบว่า
ในกรณีที่พื้นที่มีอาหารบริบูรณ์ คือ สามารถหาอาหารได้ง่าย และอาหารมีในปริมาณมาก ทิศทางของการว่ายน้ำหาเหยื่อที่ปลาใช้จะเป็นไปแบบสุ่ม (random) คือ มันจะว่ายไปทิศไหนก็มีค่าเท่าๆ กัน แต่ถ้าบริเวณนั้นมีอาหารของสัตว์น้ำ อันได้แก่ plankton และปลาอื่นๆ ในปริมาณน้อย การว่ายน้ำของปลาในการหาเหยื่อจะเป็นแบบ Levy เพื่อให้โอกาสการได้เหยื่อของมันเพิ่มค่ามากขึ้น
การเดินทางแบบ Levy นี้ เป็นการเดินทางช่วงสั้น ๆ บ่อย และช่วงยาวไม่บ่อย คือ นาน ๆ จะเดินทางยาวครั้งหนึ่ง ครั้นเมื่อเมื่อสิ้นสุดการเดินทางในแต่ละระยะทาง ปลาก็จะใช้เวลาพอสมควรที่ปลายทางนั้น เพื่อพักผ่อน หรือเพื่อพักฟื้นคืนกำลัง แล้วมุ่งหน้าเดินทางต่อในทิศสุ่ม คือ เป็นทิศที่มิได้มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับทิศทางเดิมที่มันมาเลย
เทคนิคการหาเหยื่อในลักษณะนี้ ทำให้เรารู้ว่า มันรู้สถิติแบบ Levy แม้ว่าในเบื้องต้น เราจะคิดว่าสัตว์ไม่มีความรู้ทางคณิตศาสตร์เลย ความจริงสัตว์หลายชนิด เช่น นก albatross และผึ้งก็บินหาอาหาร ส่วนฉลามก็ว่ายน้ำหาอาหารแบบ Levy เช่นกัน ซึ่งสถิติแบบ Levy นี้ ก็มีลักษณะคล้ายกับการแพร่ (diffusion) ของอนุภาคในสารละลาย
นักชีววิทยา ได้พบหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่า สัตว์หลายชนิดมีสติปัญญาในเชิงคณิตศาสตร์ด้วย เช่น สามารถนับเลขจำนวนน้อยได้ คือ 1, 2, 3, 4 อีกทั้งยังสามารถบอกความแตกต่างระหว่างจำนวนมากกับจำนวนน้อยก็ได้ด้วย ตลอดจนรู้ความหมายของเลข 0 หรือความว่างเปล่า ทั้ง ๆ ที่มนุษย์เราเริ่มรู้จักเลข 0 โดยชาว Babylon ในอาณาจักร Mesopotamia เมื่อ 2,300 ปีก่อน และคนอินเดียก็เพิ่งรู้จักใช้สัญลักษณ์ 0 เมื่อ 1,500 ปีก่อนนี้เอง
เรามีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับความสามารถในการรู้คณิตศาสตร์ของกาว่า มีชาวนาคนหนึ่ง ได้เดินไปที่ไร่ข้าวโพด ซึ่งมีฝูงกากำลังหาอาหารกินอยู่ และเขาได้ยิงปืนขึ้นฟ้า เสียงปืนทำให้ฝูงกาแตกตื่นบินหนี หลังจากที่กาบินไปหมดแล้ว ชาวนาได้เข้าไปหลบซ่อนอยู่ในเถียงนา แต่ฝูงกานั้นก็ไม่ได้บินกลับมา จนกว่าชาวนาได้ออกจากเถียงนาไปแล้ว
ในการทดลองครั้งต่อมา ชาวนากับเพื่อนได้ยิงปืนขึ้นฟ้าอีก แล้วเข้าไปหลบซ่อนในเถียงนาเหมือนเดิม จากนั้นชาวนาก็ได้เดินออกจากเถียงนาไป แต่ฝูงกาก็ยังไม่บินกลับมาที่ไร่ จนกระทั่งเพื่อนของชาวนาได้ออกจากที่ซ่อนไปแล้ว
คราวนี้ชาวนาได้ทดลองนำเพื่อนไปด้วย 3 คน และ 4 คน ฝูงกาก็ยังไม่บินกลับ จนกว่าเพื่อนคนสุดท้ายได้ออกจากเถียงนาไปแล้ว จนกระทั่งถึงกรณี 5 คน ฝูงกาก็เริ่มลังเล คือ บินกลับบ้าง ไม่กลับบ้าง นั่นแสดงว่า กาสามารถนับเลขได้ 1-4 แต่ไม่ถึง 5
แร้งอียิปต์ (Neophron percnopterus) เป็นนกที่มีขนตามตัวสีขาว และขนที่แก้มสีเหลือง มีขนาดตัวใหญ่เท่ากาเหว่า เวลามันจะกินไข่นกกระจอกเทศที่มีขนาดใหญ่ และมีเปลือกหนาประมาณ 1.6 มิลลิเมตร มันจะใช้ปากคาบก้อนหินที่หนักประมาณ 700 กรัม เหวี่ยงใส่ไข่นก จนกระทั่งเปลือกไข่แตก แต่ถ้าเปลือกไข่ไม่แตก มันก็จะคาบก้อนหิน แล้วบินขึ้นสูง จากนั้นก็ปล่อยให้หินตกจากที่สูงลงกระทบไข่ จนกระทั่งไข่แตกตามที่มันต้องการ โดยในบางครั้งมันอาจจะต้องบินขึ้น บินลง ถึง 12 ครั้ง การรู้จักใช้อุปกรณ์ในการหาอาหาร นับเป็นความสามารถทางสติปัญญาอีกด้านหนึ่งของสัตว์
ในปี 2004 D. Levey แห่งมหาวิทยาลัย Florida ได้รายงานว่า นกเค้าโพรง (Athene cunicularia) ซึ่งเป็นนกตัวเล็กที่มีขายาว และชอบทำรังในโพรงใต้ดิน ในบางเวลามันจะออกมายืนนิ่ง ๆ นอกรังเป็นเวลานาน เหมือนคอยอะไรบางอย่าง นกชนิดนี้มีศัตรู คือ งู และมันชอบขนมูลม้า มูลวัว มากองที่ปากโพรง ในเบื้องต้น Levey คิดว่า มันจะใช้กลิ่นเหม็นของมูล ไล่งูไม่ให้มากินมัน แต่เขากลับพบว่า มูลวัวได้ดึงดูดด้วงขี้วัวให้มากินมูล นกเค้าโพรงจึงได้จับด้วงกินเป็นอาหาร Levey ยังได้พบอีกว่า โพรงใดที่ไม่มีมูลสัตว์ จะมีด้วงมาให้กินเป็นจำนวนน้อย แต่โพรงใดที่มีโพรงสัตว์ จะมีด้วงมาให้กินเป็นจำนวนมาก ดังนั้นนกเค้าโพรง จึงใช้มูลวัวเป็นอุปกรณ์ในการหาอาหารของมัน
ในการศึกษาขั้นต่อไป นักชีววิทยาต้องการจะรู้ว่า เวลาสัตว์ใช้อุปกรณ์ในการหาอาหาร มันมีจินตนาการเช่นไร หรือคิดถึงอะไร ก่อนที่จะนำอุปกรณ์นั้นมาใช้ มันมีการวางแผนอะไรหรือไม่ เพราะในกรณีของคน เราจะทำอะไรก็ตาม เรามักจะมีการวางแผนก่อนล่วงหน้า
เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2021 Alexandra Schnell จากมหาวิทยาลัย Cambridge ในอังกฤษ ได้รายงานใน Proceedings of the Royal Society B ว่า หมึกกระดอง (Cuttlefish) เป็นสัตว์ที่รู้จักวางแผนในอนาคต
หมึกกระดอง เป็นสัตว์ที่สามารถเรียนรู้ได้เหมือนคน และรู้จักปรับตัวเวลาอยู่ในทะเล ในการทดลองนี้ Schnell ได้ให้หมึกกระดองกินปู ภายใต้เงื่อนไขว่า ถ้าหมึกกระดองเห็นปู แล้วยังไม่กินปู ภายในเวลา 30-130 วินาที มันก็จะได้กินกุ้งเป็น ๆ ซึ่งเป็นอาหารที่มีรสชาติดีกว่า การทดลองนี้เป็นเรื่องที่นักจิตวิทยาชื่อ Walter Mischel ได้เคยทำการทดลองเรื่อง Stanford marshmallow experiment เมื่อปี 1970 โดยให้เด็กตัดสินใจเลือกว่าจะกินมาร์ชแมลโลว์ (marshmallow) หรือไม่กิน ภายในเวลา 15 นาที แต่ถ้าไม่กินเด็กก็จะได้รับมาร์ชแมลโลว์เพิ่มอีกหนึ่งชิ้น ผลการทดลองแสดงว่า เด็กไม่กิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กรู้จักอดกลั้น เพื่อจะได้สิ่งตอบแทนที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น
ผลการทดลองของ Schnell ก็ได้ผลการทดลองว่าหมึกกระดองมีวิจารณญาณในการวางแผนชีวิตเช่นเดียวกับเด็ก เพราะรู้จักอดกลั้นและอดทน เพื่อจะได้ผลตอบแทนมากกว่า
อ่านเพิ่มเติมจาก Aellen, Mélisande; Burkart, Judith M.; Bshary, Redouan (March 14, 2022). "No evidence for general intelligence in a fish". Ethology. 128 (5): 424–436. Bibcode:2022Ethol.128..424A. doi:10.1111/eth.13275. ISSN 0179-1613.
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์