สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผยภาพดาวอังคารช่วงใกล้โลกที่สุด บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา วันที่ 12 มกราคม 2568 ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 96 ล้านกิโลเมตร มองเห็นพื้นผิวของดาวอังคาร รวมถึงเมฆที่ปกคลุมภูเขาไฟอีลิเซียม (Elysium Mons) และน้ำแข็งที่ปกคลุมบริเวณขั้วเหนือได้อย่างชัดเจน
หลังจากนี้ ดาวอังคารจะโคจรไปอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ในวันที่ 16 มกราคม 2568 ช่วงนี้จึงจะยังคงเห็นดาวอังคารปรากฏสว่างเด่นเป็นประกายสีส้มแดงตลอดทั้งคืน เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงเช้าวันถัดไป นับเป็นช่วงที่เหมาะสมแก่การชมดาวอังคารเป็นอย่างยิ่ง
เนื่องจากวงโคจรของดาวอังคารค่อนข้างรี และอยู่ใกล้โลกมาก เป็นผลให้วันที่ดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์จะไม่ใช่วันที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุด ซึ่งต่างจากดาวเคราะห์วงนอกดวงอื่น ๆ อย่างดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี
ทั้งนี้ ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกในทุก ๆ 2 ปี 2 เดือน และจะโคจรเข้าใกล้โลกอีกครั้งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2570