xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทยาศาสตร์กำลังคอยสัญญาณจากยาน Parker Solar Probe เพื่อวิเคราะห์ธรรมชาติของดวงอาทิตย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มนุษย์ได้สนใจศึกษาธรรมชาติของดวงอาทิตย์มาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งๆ ที่ตระหนักดีว่า ทำได้ยาก เพราะไม่สามารถจะเข้าใกล้ได้

เทพนิยายกรีกได้กล่าวถึง Daedalus กับ Icarus ซึ่งเป็นพ่อ-ลูกที่ถูกกษัตริย์ Minos แห่งเกาะ Crete ทรงจับขังคุก จึงได้พยายามหลบหนี โดย Daedalus ได้ใช้ขนนกทำปีกสำหรับบิน เพื่อนำปีกมาติดที่แขนด้วยขี้ผึ้ง แล้วกล่าวเตือนลูกว่า อย่าบินใกล้ดวงอาทิตย์มาก เพราะขี้ผึ้งจะละลาย แล้วปีกก็จะหลุด แต่ Icarus เมื่อบินได้ รู้สึกคึกคะนอง จึงบินสูง ความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ละลายขี้ผึ้ง ทำให้ปีกหลุด Icarus จึงตกทะเลตาย และทะเลในบริเวณนั้นจึงมีชื่อเรียกว่า Icarian Sea




ปราชญ์จีนในสมัยโบราณ ซึ่งสนใจปรากฏการณ์สุริยุปราคาได้เคยศึกษาการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์มาตั้งแต่เมื่อ 2,800 ปีก่อน ในขณะที่ Aristotle (384–322 ปีก่อนคริสตกาล) กลับคิดว่า มนุษย์คงไม่มีวันรู้อะไร ๆ เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ได้ เพราะแม้แต่จะจ้องดู ก็ยังทำไม่ได้เลย ครั้นเมื่อถึงยุคของ Galileo Galilei (1564–1642) ซึ่งใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องสำรวจผิวดวงอาทิตย์ ก็ได้พบว่า ดวงอาทิตย์มีจุด sunspot จำนวนมากเป็นรอยกระดำกระด่างที่ผิว ซึ่งการพบนี้แสดงว่า ดวงอาทิตย์ที่พระเจ้าทรงสร้างนั้น เป็นดาวที่ไม่กลมสมบูรณ์แบบ การพบองค์ความรู้ใหม่นี้ ทำให้ศาลศาสนาแห่งโรมตัดสินว่า Galileo ลบหลู่พระเจ้า เขาจึงเป็นบุคคลนอกรีตที่ต้องถูกกักบริเวณไม่ให้สามารถออกไปเผยแพร่ความรู้ให้แก่สังคมได้ อีกทั้งเมื่อถึงเวลาสิ้นชีพ ก็จะไม่มีพิธีกรรมทางศาสนา


จากวันนั้น เมื่อ 410 ปีก่อนถึงวันนี้ ความรู้ดาราศาสตร์ก็ได้เพิ่มขึ้นมาก จนทำให้เราปัจจุบันรู้ว่าดวงอาทิตย์มีอายุประมาณ 5,000 ล้านปี หมุนรอบตัวเองโดยใช้เวลาประมาณ 27 วัน มีไฮโดรเจนประมาณ 71.5% เป็นองค์ประกอบหลัก นอกนั้นเป็นฮีเลียม 27.0% และมีโลหะอื่น ๆ เช่น คาร์บอน เหล็ก แมกนีเซียม ฯลฯ อีกทั้งสามารถปลดปล่อยพลังงานความร้อนและพลังงานแสงออกมาได้ โดยอาศัยปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบ fusion ซึ่งได้จากการหลอมรวมไฮโดรเจนเป็นฮีเลียม และพลังงานที่มากมหาศาลนี้ ได้ทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกสามารถดำรงชีพอยู่ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน ดวงอาทิตย์ก็สามารถ

ทำลายล้างชีวิตของเราก็ได้ ถ้ามีการระเบิดอย่างรุนแรงที่ผิว ซึ่งจะปลดปล่อย plasma ที่มีมวลมากมหาศาลให้พุ่งมาสู่โลก และมวล plasma ร้อนนี้จะแผดเผาบรรยากาศของโลก จนน้ำในมหาสมุทรเหือดแห้งและมนุษย์ก็อาจจะสูญพันธ์ได้

ดังนั้นการศึกษาธรรมชาติของดวงอาทิตย์จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ จะเกี่ยวข้องกับความเป็นและความตายของสิ่งมีชีวิตทั้งโลก

ในปี 1958 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีหลังจากที่สหภาพโซเวียตได้ประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม Sputnik 1 ขึ้นอวกาศ ข่าวนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้แก่บรรดานักวิชาการของโลกตะวันตกมาก สหรัฐฯ จึงได้จัดตั้งองค์กร NASA (National Aeronautics and Space Administration) ขึ้น เพื่อระดมความสามารถ ทวงความเป็นผู้นำทางอวกาศกลับคืนมา บรรดานักวิทยาศาสตร์ระดับท็อปของประเทศ จึงได้เสนอให้ NASA ดำเนินการอนุมัติโครงการอวกาศสามโครงการ และให้โครงการทั้งสามดำเนินการลุล่วงไปก่อนปี 2000 จะมาถึง ทั้ง ๆ ที่ในเวลานั้น สหรัฐฯ มีดาวเทียมโคจรอยู่ในอวกาศเพียง 4 ดวงเท่านั้นเอง คือ Explorer 1, 3 และ 4 กับความดาวเทียม Vanguard 1


โครงการทั้งสาม ได้แก่โครงการที่หนึ่งเป็นโครงการสร้างกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่จะถูกส่งขึ้นโคจรเหนือชั้นบรรยากาศโลกที่ระยะสูงมาก เพื่อรับรังสีทุกชนิด ตั้งแต่แสงที่ตาเห็น, infrared, x-rays, ultraviolet, gamma rays และคลื่นวิทยุ เพราะ ณ ที่สูง กล้องโทรทรรศน์จะไม่ถูกรบกวนโดยฝุ่นละออง หมอก และมลภาวะใด ๆ โครงการนี้ได้ประสบความสำเร็จดี เพราะในปี 1990 สหรัฐฯ มีกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ที่รับรังสีที่ตาเห็น, infrared และ ultraviolet และอีกหนึ่งปีต่อมา NASA ก็ได้ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Compton Gamma Ray Observatory (GRO) ขึ้นอวกาศ เพื่อรับรังสี gamma จากดาวนิวตรอน และจาก galaxy ต่างๆ ในอวกาศ เวลาเกิดปรากฏการณ์ระเบิดปล่อยรังสีแกมมา (Gamma Ray Burst; GRB)

โครงการที่สอง คือ โครงการ Apollo ที่จะนำมนุษย์อวกาศไปเยือนดวงจันทร์ แล้วนำกลับโลกได้อย่างปลอดภัย โครงการนี้ก็ประสบความสำเร็จมากเช่นกัน เพราะในปี 1969 มนุษย์อวกาศของสหรัฐฯ 3 คน ได้เดินทางไปเยือนดวงจันทร์ แล้วนำหินกับดินกลับมายังโลก เพื่อวิเคราะห์และตอบคำถามให้ได้ว่า ดวงจันทร์ของโลกมีอายุมากหรือน้อยเพียงใด ถือกำเนิดได้อย่างไร และสามารถเป็นถิ่นอาศัยของมนุษย์โลกในอนาคตได้หรือไม่ โครงการนี้ได้ยุติในปี 1972 หลังจากที่ NASA ได้ส่งมนุษย์อวกาศไปสำรวจดวงจันทร์แล้วถึง 12 คน


โครงการที่สาม เป็นโครงการสำรวจดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะ รวมทั้งดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย และดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ต่าง ๆ และ NASA ก็ได้ส่งยาน Voyager 1 และ 2 ไปโคจรผ่านดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ในปี 1977 ส่งยาน Magellan ไปโคจรผ่านดาวศุกร์ในปี 1989 ส่งยาน Messenger ไปสำรวจดาวพุธในปี 2004 ตลอดจนส่งยาน New Horizon ไปโคจรผ่านดาวเคราะห์แคระ Pluto เมื่อปี 2015 ด้วย

ในที่สุดก็มีแต่ดวงอาทิตย์เท่านั้นที่ยังไม่มียานอวกาศใดไปสำรวจ เพราะการจะไปสำรวจดวงอาทิตย์ได้ นักเทคโนโลยีจะต้องก้าวข้ามอุปสรรคมากมายอย่างที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน


อุปสรรคแรก คือ ปัญหาอุณหภูมิที่สูงมาก คือ การมีอุณหภูมิประมาณ 6,000 องศาเซลเซียสที่ผิว (photosphere) และมีอุณหภูมิที่สูงประมาณหนึ่งล้านองศาเซลเซียสในบรรยากาศเหนือดวงอาทิตย์ (corona) ดังนั้น ยานอวกาศใดที่จะเข้าโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่ระยะใกล้มาก ตัวยานจะต้องถูกสร้างด้วยวัสดุที่สามารถทนทานความร้อนได้ดีมาก โดยให้ด้านของยานที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ สามารถทนความร้อนที่อุณหภูมิ 980 องศาเซลเซียสได้ และด้านที่หันออกจากดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิห้อง (คือประมาณ 30 องศาเซลเซียส) ทั้งนี้ก็เพื่อให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในยานสามารถทำงานได้ตามปกติ ด้วยเหตุนี้ยานจึงต้องมีอุปกรณ์จะต้องมีระบบกำบังความร้อน Thermal Protection Systems (TPS) ที่ดี และมีระบบหล่อเย็นที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเวลานานหลายปีด้วย

ส่วนการที่จะให้ยานอวกาศเดินทางมุ่งตรงไปที่ดวงอาทิตย์นั้น ก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะยานจะถูกแรงโน้มถ่วงที่มากมหาศาลของดวงอาทิตย์ดึงดูดยานให้พุ่งเข้าไปชนดวงอาทิตย์ ดังนั้น NASA จึงต้องใช้เทคนิคใหม่ โดยการอาศัยแรงโน้มถ่วงของดาวศุกร์เหวี่ยงยานให้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์หลายครั้ง คือ อาจจะมากถึง 7 ครั้ง โดยในแต่ละครั้ง ยานจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น ๆ และในที่สุดก็จะไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่ระยะห่างตามที่ต้องการ

เมื่อทุกอย่างอยู่ในสภาพพร้อม NASA ได้กำหนดให้ส่งยาน Parker Solar Probe (PSP) เดินทางไปสำรวจดวงอาทิตย์ที่ระยะใกล้อย่างที่ไม่มียานใดเคยกระทำมาก่อน ในปี 2018 โดยกำหนดให้ยานโคจรที่ระยะห่าง 6.1 ล้านกิโลเมตร (คิดเป็น 1/25 ของระยะทางที่โลกอยู่ห่างจากดววงอาทิตย์) โดยยาน PSP จะมีความเร็ว 692,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือประมาณ 200 กิโลเมตร/วินาที ที่ความเร็วนี้ การเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างเป็นระยะทางในอากาศเท่ากับ 580 กิโลเมตร จะใช้เวลาเพียง 3 วินาทีเท่านั้นเอง


สำหรับชื่อ ยาน Parker Solar Probe นั้น ก็มาจากชื่อ Eugene Parker (1927–2022) ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ได้พยากรณ์ว่า ในอวกาศมีกระแสอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า (electron, proton) พุ่งออกมาจากดวงอาทิตย์ในปริมาณมากและน้อยตลอดเวลา เหมือนสายลม แต่ในบางเวลาก็อาจจะรุนแรงเหมือนพายุ ทั้ง ๆ ที่ในเวลานั้น ใครๆ ก็คิดว่าในอวกาศมีแต่ความว่างเปล่า คือ เป็นสุญญากาศ (vacuum) ที่ไม่มีอะไรเลย แต่ Parker กลับคิดว่า อวกาศอาจจะมีพายุสุริยะและลมสุริยะที่พัดตลอดเวลา

เมื่อคำพยากรณ์ของ Parker ได้รับการยืนยันว่า มีจริง เขาจึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวิชา heliophysics หรือ ฟิสิกส์ดวงอาทิตย์

Eugene Parker เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ปี 1927 ที่เมือง Houghton ในรัฐ Michigan สหรัฐอเมริกา เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัย Michigan และจบปริญญาเอกจาก California Institute of Technology เมื่ออายุ 24 ปี จากนั้นก็ได้งานทำเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Chicago


ในเบื้องต้น Parker รู้สึกสนใจรังสี cosmic ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีประจุ ที่มาจากกาแล็กซีในอวกาศ แต่เมื่อเขาตระหนักว่าฝุ่นละอองที่มาจากหางของดาวหาง และสะเก็ดดาวที่เกิดจากการชนกันระหว่างอุกกาบาต ล้วนเป็นอนุภาคที่เคลื่อนที่ได้ตามหลักการกลศาสตร์ของ Newton ส่วนอนุภาคที่มีประจุ และเป็นองค์ประกอบของ plasma ที่มีในดวงอาทิตย์นั้นก็เคลื่อนที่ได้ในสนามแม่เหล็ก ตามหลักการแม่เหล็กไฟฟ้าของ Maxwell ดังนั้นในปี 1958 Parker จึงใช้หลักการทั้งสองนี้ ในการคำนวณการเคลื่อนที่ของอนุภาคจากดวงอาทิตย์ และพบว่ามีอนุภาคเคลื่อนที่เป็นกระแสไหลออกจากดวงอาทิตย์ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่ความรู้นี้ขัดแย้งกับความเชื่อส่วนใหญ่ของคนในเวลานั้น แต่ Parker ก็ยังเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง จึงส่งงานวิจัยไปลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร The Astrophysical Journal ที่มี Subrahmanyan Chandrasekhar (ผู้พิชิตครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 1983 จากการศึกษาวิวัฒนาการและโครงสร้างภายในของดาวฤกษ์) ซึ่งเป็นบรรณาธิการของวารสาร แต่บทความถูกคณะกรรมการประเมินปฏิเสธไม่รับลงพิมพ์ Parker จึงประท้วง โดยอ้างว่าคณะกรรมการมิได้ให้เหตุผลว่าเขาคิดผิดตรงไหน และการคำนวณของเขาบกพร่องในประเด็นใด Chandrasekhar จึงใช้สิทธิ์ความเป็นบรรณาธิการล้มมติของคณะกรรมการประเมินบทความ งานวิจัยของ Parker จึงได้รับการตีพิมพ์ แต่ก็ยังไม่มีใครสนใจมาก

จนอีก 4 ปีต่อมา คือในปี 1962 บทสรุปของ Parker ก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นจริง เมื่อยาน Mariner 2 ที่ NASA ส่งไปสำรวจดาวอังคาร ขณะโคจรผ่านดาวศุกร์ ยานได้รายงานการเผชิญกระแสอนุภาคจำนวนมากที่พุ่งมาจากดวงอาทิตย์ มาปะทะยานตลอดเวลา

ลมสุริยะและพายุสุริยะ จึงเป็นเรื่องจริงและไม่ได้เป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ ในจินตนาการอีกต่อไป

ครั้นเมื่อ NASA อนุมัติโครงการสำรวจดวงอาทิตย์ แต่ยังไม่มีชื่อโครงการ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins จึงได้เสนอให้ตั้งชื่อโครงการว่า Parker Solar Probe (PSP) เพื่อเป็นเกียรติแก่ Parker และทุกคนก็เห็นด้วยอย่างเป็นเอกฉันท์


ดังนั้นในวันที่ 12 เดือนสิงหาคม ปี 2018 NASA จึงปล่อยจรวด Delta 4 นำ PSP มูลค่า 52,000 ล้านบาท ขึ้นจากฐานยิงที่แหลม Canaveral ในสหรัฐอเมริกา เดินทางไปดวงอาทิตย์ โดยมี Parker วัย 91 ปี ยืนส่งยาน ด้วยใบหน้าที่ภูมิใจและปลื้มใจมากจนน้ำตาไหล ขณะจรวดทยานขึ้นจากผิวโลก เพราะเขาตระหนักดีว่า เขาคงมิได้มีชีวิตอยู่ฟังรายงานผลการสำรวจ และการคาดการณ์นี้ก็เป็นจริง เพราะ Parker ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปี 2022 นี้เอง ในวัย 94 ปี


โดยได้ทิ้งผลงานฟิสิกส์ของดวงอาทิตย์ไว้มากมาย ซึ่งได้ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของเปลวไฟจ้าจากดวงอาทิตย์ (solar flare) และลมสุริยะ โดย Parker ได้คำนวณพบว่า ลมสุริยะมี 2 ความเร็ว คือ ความเร็วช้าที่ 300 กิโลเมตร/วินาที และ 500 กิโลเมตร/วินาที อีกทั้งยังได้พบว่าพายุสุริยะ มีบทบาทมากในการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศบนโลก และประเด็นที่น่าสนใจ คือ Parker ได้ศึกษาปรากฏการณ์นี้ โดยไม่ได้ใช้ทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม และทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปเลย

สำหรับปริศนาที่ PSP จะต้องพยายามตอบนั้นมีมากมาย เช่น เปลวไฟลุกจ้าบนดวงอาทิตย์เกิดขึ้นได้อย่างไร และเปลวไฟนี้ปลดปล่อยพลังงานกับสสารออกมาอย่างฉับพลันได้ด้วยวิธีใด นอกจากนี้อุณหภูมิของบรรยากาศเหนือผิวดวงอาทิตย์ที่สูงถึงล้านองศานั้น คือมีค่าประมาณ 200 เท่าของอุณหภูมิที่ผิวดวงอาทิตย์ได้อย่างไร ฯลฯ


ความจริงปรากฏการณ์เปลวไฟจากดวงอาทิตย์ ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาหลายล้านปีแล้ว แต่ได้มีคนที่สังเกตเห็นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กันยายน ปี 1859 นี้เอง เขาคนนั้นชื่อ Richard Carrington (1826-1875) ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ที่ได้เห็นแสงขาวปรากฏตัวเหนือกลุ่มจุดขนาดใหญ่บนดวงอาทิตย์ (sunspot) และได้สังเกตเห็นอีกว่า ในวันต่อมาท้องฟ้าเหนืออังกฤษ มีแสงเหนือ aurora borealis สว่างไปหมด จนทำให้คนบางคนคิดว่าถึงเวลาเช้าแล้ว ทั้งๆ ที่ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน


แสงที่ Carrington เห็นในครั้งนั้น เป็นผลกระทบที่เกิดจากพายุสุริยะ นำ plasma มวลหลายล้านตันมาสู่โลก ส่วนแสงเหนือที่เห็น เกิดจากการที่อนุภาคจากดวงอาทิตย์พุ่งชนอะตอมของไนโตรเจนและออกซิเจนในบรรยากาศ ทำให้อิเล็กตรอนในอะตอมเปลี่ยนระดับพลังงานและเปล่งแสงออกมา ส่วนอนุภาคที่มีประจุ เมื่อมีจำนวนมากก็จะเป็นกระแสไฟฟ้าที่พุ่งเข้าปะทะสนามแม่เหล็กโลก จะเบี่ยงเบนทิศไป ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรและกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถูกตัดขาด ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1959 ที่ประชากรชาวแคนาดากว่า 6 ล้านคน ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ และหลายร้อยคนต้องเสียชีวิต เพราะทนสภาพอากาศหนาวไม่ไหว

นอกจากนี้พายุสุริยะ ก็ยังมีผลกระทบต่อการคมนาคมสัญจรในอากาศด้วย เพราะเวลาพายุกระทบชั้นบรรยากาศเหนือโลก อุณหภูมิของบรรยากาศจะสูงขึ้น ความหนาแน่นของอากาศก็จะน้อยลง ทำให้ดาวเทียมที่โคจรอยู่ในชั้นบรรยากาศนั้นลดระดับการโคจรลงมาเสียดสีกับบรรยากาศมากขึ้น อายุขัยในการทำงานของดาวเทียมจึงลดลงด้วย และขณะพายุสุริยะพัด มนุษย์อวกาศในสถานีอวกาศเบื้องบนก็จะต้องระมัดระวังตัวมาก รวมทั้งนักบินบนเครื่องบินที่สัญจรไปมาก็จะต้องรับรู้เรื่องสภาพการเปลี่ยนแปลงของอากาศด้วย


หลังจากที่ได้เดินทางออกจากโลกเมื่อปี 2018 แล้ว ยาน PSP ก็ได้รายงานเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ปี 2024 ว่ายานได้โคจรผ่านไปทางด้านหลังของดวงอาทิตย์ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม และได้หยุดส่งสัญญาณตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม เพื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ให้มากที่สุด จึงได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ทั้งหมด 21 รอบ เพราะในการโคจรในแต่ละรอบ ยานได้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ยิ่งขึ้นทุกครั้ง และในการโคจรรอบที่ 22 นี้ ยานจะส่งข้อมูลทั้งหมดกลับมายังโลกในปลายเดือนมกราคมปี 2025 นี้ โดยได้สร้างสถิติความเร็วสูงสุดของยาน คือ 692,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง และอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดที่ระยะทาง 6,115,500 กิโลเมตร ครั้งเมื่อเชื้อเพลิงบนยานหมดในปลายปี 2025 นี้ หลังจากที่ได้โคจรครบ 24 รอบ ยานก็จะหมดสภาพ และซากยานก็จะโคจรรอบดวงอาทิตย์อีกเป็นเวลานานหลายล้านปี ส่วนข้อมูลที่ได้มา ก็จะถูกนำมาวิเคราะห์ต่อไป

ยาน PSP มิได้เป็นยานเดียวที่ NASA ส่งไปสำรวจดวงอาทิตย์ ในปลายปี 2025 Chinese Academy of Sciencs ของจีน จะร่วมมือกับองค์กรอวกาศของยุโรป (ESA) ก็จะร่วมมือกันส่งยาน Solar wind Magnetosphere Ionosphere Link Explorer (SMILE) ไปศึกษาลมสุริยะ ว่ามีอิทธิพลเพียงใดต่อสภาพความเป็นไปในอวกาศด้วย

และในปี 2027 สหรัฐฯ ก็จะส่งยานสำรวจ Multi-slit Solar Explorer (MUSE) เพื่อไปศึกษากลไกที่ทำให้บรรยากาศเหนือดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิสูง ศึกษาการระเบิดที่ผิวดวงอาทิตย์ ตลอดจนจะพยายามถ่ายภาพการปลดปล่อยลมสุริยะในบรรยากาศเหนือดวงอาทิตย์ด้วย


เมื่อถึงปี 2028 องค์การสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) กับองค์การสำรวจอวกาศของนานาชาติก็จะส่งยานไปสำรวจบรรยากาศเหนือดวงอาทิตย์ด้วย เพื่อดูอันตรกิริยาระหว่างสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์กับพายุสุริยะที่มีอิทธิพลต่อวัฏจักรการเกิดและการสลายตัวของจุดบนดวงอาทิตย์


อ่านเพิ่มเติมจาก
Interrante, Abbey (January 2, 2025). "NASA's Parker Solar Probe Reports Healthy Status After Solar Encounter". NASA. Retrieved January 2, 2025.


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น