สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สสวท. เผย ปฏิทินวันสำคัญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำเดือน มกราคม 2568 เพื่อให้ได้ติดตามประวัติความสำคัญและระลึกถึงบุคคลสำคัญในแวดวงวิทยาศาสตร์ของโลก อาทิ
4มกราคม : เซอร์ ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1642 นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ค้นพบกฎของแรงโน้มถ่วง และกฎการเคลื่อนที่ 3 ข้อ ที่เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น แนวคิดเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงและกฎการเคลื่อนที่ของนิวตันสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ การโคจรของดวงจันทร์ เป็นผู้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงเป็นคนแรก ซึ่งได้เป็นต้นแบบให้กับกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่รุ่นใหม่ๆ ในสถาบันวิจัยด้านดาราศาสตร์หลักของโลกในในปัจจุบัน และนิวตันยังเป็นผู้คิดค้น “แคลคูลัส” ซึ่งเป็นสาขาทางคณิตศาสตร์สาขาหนึ่ง ที่เป็นพื้นฐานทางสถิติและวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่าง ๆ มาจนกระทั่งปัจจุบัน
5 มกราคม : “วันนกแห่งชาติ” (National Bird Day) เป็นวันสำคัญที่กำหนดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1894 ที่คุณ Charles Almanzo Babcock ผู้อำนวยการโรงเรียนในเมือง Oil City มลรัฐเพนซิลเวเนีย ประกาศให้เป็นวันหยุดเพื่อ “นก” โดยเฉพาะ ซึ่งวัตถุประสงค์ของเขาเพื่อต้องการให้เกิดการตระหนักในคุณค่าและอนุรักษ์นกที่ได้รับผลกระทบต่างๆจนมีปริมาณลดลง
ในแต่ละปีมีนกจากธรรมชาตินับล้านตัวที่ถูกจับหรือนำมาสร้างกำไรทางการค้า หรือความสนุกสนานของมนุษย์ นกแห่งชาติจึงเป็นวันที่ให้มนุษย์ร่วมกันตระหนักถึงปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อประชากรนกในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายแหล่งอาศัย การกระทำต่างๆอันเป็นภัยคุกคามต่อนกในธรรมชาติ รวมถึงการค้าขายซื้อนกที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นหากส่งต่อความรู้และค่านิยมที่ถูกต้องต่อๆกันไป ก็นับเป็นการฉลองวันนกที่ดีที่สุดแล้ว
7 มกราคม : วันโปรแกรมเมอร์สากล (International Programmers’ Day) ถูกกำหนดให้มี 2 ครั้ง ในหนึ่งปี คือ วันที่ 7 มกราคม แต่ที่นิยมกัน คือวันที่ 13 กันยายน ถ้าเป็นปีอธิกสุรทิน (กุมภาพันธ์ มี 29 วัน) จะเป็นวันที่ 12 กันยายน ของทุกปี แทน
เมื่อปี พ.ศ. 2550 ได้มีการกำหนดให้วันที่ 7 มกราคม ของทุกปี เป็นวันโปรแกรมเมอร์ เพื่อเป็นเกียรติกับเหล่าโปรแกรมเมอร์ทั้งหลาย นอกจากนี้ยังจัดให้มีการเฉลิมฉลองกันในแต่ละประเทศโดยเฉพาะรัสเซีย ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 นายดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ได้ลงนามประกาศให้มี วันโปรแกรมเมอร์ ในวันที่ 256 ของปี ซึ่งหมายถึงวันที่ 13 กันยายน หรือวันที่ 12 กันยายน ของทุกปี ถ้าเป็นปีอธิกสุรทิน
ทำไมวันโปรแกรมเมอร์ ถึงเป็นวันที่ 256 ของทุกปี ก็เพราะว่า 256 เป็นกำลังสูงสุดของสอง ที่มีค่าน้อยกว่า 365 หรือ 366 ซึ่งเป็นจำนวนวันในแต่ละปี หรือก็คือ 2 ยกกำลัง 8 (2^8) นั่นเอง ส่วนประเทศจีนจะเลือกวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปี เพราะ 2 ยกกำลัง 10 เท่ากับ 1024 (เดือน 10 วันที่ 24) ซึ่งแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปีอธิกสุรทิน
17 มกราคม : เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) หนึ่งในรัฐบุรุษผู้สร้างชาติอเมริกา เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 1707 หลายคนอาจไม่รู้ว่าเขายังมีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เป็นเลิศ จนได้รับฉายา “นิวตันแห่งวงการไฟฟ้า”
แฟรงคลินได้ศึกษากระแสไฟฟ้าในชั้นบรรยากาศจาก “การทดลองว่าว (Kite Experiment)” กลางสายฝนอันเลื่องชื่อ ทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า และยังเป็นคนแรกที่ประดิษฐ์สายล่อฟ้า ช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยในวันฝนฟ้าคะนอง
สายล่อฟ้า (lightning rod) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ติดตั้งอยู่บริเวณยอดตึก โดยจะมีสายไฟโยงจากสายล่อฟ้าไปยังพื้นดิน เมื่อมีประจุไฟฟ้าจำนวนมากในก้อนเมฆ จะเกิดการถ่ายโอนประจุจากก้อนเมฆมายังพื้นดินผ่านสายล่อฟ้า ทำให้ไม่เกิดฟ้าผ่าอาคารเสียหาย
ผู้ที่สนใจ ปฏิทินวันสำคัญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2568 สามารถดาวน์โหลดทาง www.ipst.ac.th/ipst-calendar-2025