“ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่าในปี 2565 มีพื้นที่นาข้าวประมาณ 70 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 46 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่นาข้าวมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ
ซึ่งภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว จะก่อให้เกิดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ตอซัง และฟางข้าว โดยพบว่า พื้นที่นาข้าว 1 ไร่ จะมีปริมาณตอซังและฟางข้าว โดยเฉลี่ยปีละ 650 กิโลกรัม ดังนั้นเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกในรอบถัดไป ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องจัดการวัสดุเหลือใช้โดยวิธีการ ดังนี้
1. การเผาตอซังและฟางข้าว เป็นวิธีจัดการที่สะดวกและง่าย ค่าใช้จ่ายน้อย แต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางอากาศ โดยก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพทั้งในระยะสั้น ทำให้เกิดการระคายเคือง และในระยะยาวก่อให้เกิดมะเร็งหรือโรคทางเดินหายใจ
2. การไถกลบตอซังและฟางข้าว เป็นวิธีการทางชีวภาพที่เกิดการย่อยสลายตอซังและฟางข้าวโดยจุลินทรีย์ในดิน ซึ่งเป็นการช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินให้น้ำซึมผ่านได้ในปริมาณที่เหมาะสม นำไปสู่การเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุและธาตุอาหารให้แก่พืช แต่อาจใช้ระยะเวลานานในการหมักเพื่อให้สามารถปลูกข้าวในรอบถัดไป
จากปัญหา ผลกระทบ และข้อจำกัดดังกล่าว ภาครัฐได้ส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการวัสดุเหลือใช้ เช่น การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือไถกลบเพื่อให้เกิดการย่อยสลายโดยการใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา
โดยการเผาตอซังและฟางข้าว ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน รวมถึงการทำนาข้าวในพื้นที่ จังหวัดปทุมธานี ที่มีพื้นที่นาข้าวมากกว่า 500,000 ไร่ (กรมพัฒนาที่ดิน, 2567) ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ทางการค้าสำหรับย่อยสลายตอซังข้าว โดยเบื้องต้นได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ทางการค้าเหล่านี้ เมื่อใช้แล้วหมดไปทำให้ต้องซื้อมาใช้ใหม่เมื่อจะทำการเกษตรในครั้งต่อไป นับเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่เกษตรกรประมาณ 100 บาทต่อไร่
ดังนั้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาและนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี เพื่อทำการศึกษาและพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดกิจกรรมการเผาตอซังข้าวของเกษตรกร
ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว วว. โดย ห้องปฏิบัติการทดสอบการการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ (BioD) ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ ได้ศึกษาและพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ “BioD I วว.” ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าว รวมถึงการออกแบบชุดบ่มเลี้ยงฯ ที่มีระบบให้อากาศและระบบควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ สามารถผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ฯ “BioD I วว.” ได้อย่างต่อเนื่อง
โดยกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว “BioD I วว.” จะใช้ระยะเวลาประมาณ 5-10 วัน ทำให้ตอซังข้าวนิ่ม ไถกลบได้ง่าย และไม่ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของข้าวและเป็นมิตรต่อระบบนิเวศ ในเบื้องต้นมีการนำไปใช้จริงแล้วมากกว่า 10 พื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี (ช่วงพฤษภาคมถึงกันยายน 2567)
ทั้งนี้กลุ่มจุลินทรีย์ “BioD I วว.” สามารถนำไปใช้ได้ทุกพื้นที่ ตามความสะดวกและทรัพยากรที่มีอยู่ในมือของเกษตรกร เช่น ใช้โดรนในการฉีดพ่น ใช้ถังฉีดพ่น หรือละลายน้ำและขังน้ำไว้เพียง 7 วัน สามารถทำให้ตอซังและฟางข้าวนุ่ม เปื่อยยุ่ย ไม่ติดล้อรถที่มาตีนาในขั้นตอนเตรียมดิน โดยลักษณะของน้ำในแปลงนาที่หมักด้วยจุลินทรีย์ชนิดนี้ จะมีสีฟางข้าว ไม่มีกลิ่นเหม็น โดยรวมจะใช้เวลาน้อยกว่าการขังน้ำโดยไม่มีการเติมจุลินทรีย์ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเริ่มการทำนาได้เร็วขึ้นจากเดิม
จากผลสำเร็จของการพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว “BioD I วว.” และการออกแบบชุดบ่มเลี้ยงฯ ของ วว. ได้นำไปสู่การขยายผลเป็นโครงการบริการวิจัยให้แก่บริษัท อาปิโก ฟอร์จจิ้ง จำกัด (มหาชน) ในการจัดสร้างชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าวจำนวน 15 ชุด เพื่อติดตั้งในพื้นที่ของวิสาหกิจชุมชนของจังหวัดปทุมธานีทั้ง 7 อำเภอ ได้แก่
1. ศูนย์ข้าวชุมชน หมู่ 1 ต.บึงบา อ.หนองเสือ
2. ข้าวกล้อง ต.สวนพริกไทย อ.เมือง
3. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว
4. เกษตรใบเขียว ต.บึงคอไห อ.ลำลูกกา
5. นาแปลงใหญ่ข้าวคลองสี่ อ.คลองหลวง
6. ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียงบ้านสวนพันธุ์ผัก ต.คลองควาย อ.สามโคก
7. กลุ่มนาแปลงใหญ่ ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี
โดยชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ฯ จำนวน 15 ชุดนี้ จะใช้สำหรับผลิตหัวเชื้อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรนำไปขยายต่อ เพื่อใช้จัดการตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยวทดแทนการเผา ซึ่งคาดว่าสามารถรองรับการทำนาปรังได้ไม่ต่ำกว่า 168,000 ไร่ต่อปี รวมถึงมีการจัดอบรมให้ความรู้และฝึกปฏิบัติวิธีการขยายหัวเชื้อ เพื่อให้เกษตรกรกรสามารถนำไปใช้งานได้เองในพื้นที่ โดยมีเกษตรกรที่ได้รับการฝึกอบรมฯ รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 840 คน ตลอดระยะเวลาดำเนินงานโครงการฯ 1 ปี นับเป็นการกระจายองค์ความรู้และแนวทางการใช้ประโยชน์ไปสู่ชุมชนได้ทั่วถึง ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคการเกษตรสามารถจัดการและแก้ไขปัญหาการเผาตอซังข้าวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
วว. คาดการณ์ว่า การใช้หัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว “BioD I วว.” จะทำให้เกษตรลดการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวลงได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และปรับเปลี่ยนกลุ่มเกษตรกรที่เคยเผาตอซังข้าวก่อนไถกลบให้มาทดลองใช้กลุ่มจุลินทรีย์คัดเลือกเพื่อย่อยสลายตอซังข้าวก่อนไถกลบแทนได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
ทั้งนี้ วว. ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าวเรียบร้อยแล้ว และพร้อมให้คำแนะนำปรึกษาแก่วิสาหกิจชุมชน พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย เพื่อการสนับสนุนให้ภาคการเกษตรลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ call center โทร. 0 2577 9000 หรือที่ระบบบริการลูกค้า “วว. JUMP”