ย้อนอดีตไป 18 ปีก่อน อันเป็นเวลาที่โลกวิทยาศาสตร์ได้ตื่นเต้นกับข่าวว่า ทีมนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอน แห่งมหาวิทยาลัย Stamford (Stanford Synchrotron Radiation Laboratory, SSRL) ที่เมือง Menlo Park ในรัฐ California ได้ประสบความสำเร็จในการอ่านข้อความที่เขียนด้วยหมึก ในหนังสือโบราณอายุร่วม 1,000 ปี โดยสามารถอ่านตัวอักษรทุกตัวที่ถูกเขียนซ้อนทับกันออก ทั้งๆ ที่อักษรหลายตัวได้ถูกลบหายไป โดยฝีมือคนบางคนในสมัยนั้น ซึ่งต้องการจะเขียนบทสวดเป็นหนังสือใหม่ แต่ไม่สามารถจะหากระดาษมาเขียนได้ จึงใช้วิธีลบตัวหนังสือที่เขียนด้วยหมึกในตำราเก่า แล้วเขียนตัวอักษรใหม่ทับลงไป ดังนั้นตัวอักษรเก่าจึงถูกลบหายไปบ้าง และปรากฏไม่ชัดบ้าง ทำให้หนังสือ “ใหม่” มีตัวอักษรที่ไม่คมชัด และหนังสือ “เก่า” ก็ไม่มีใครอ่านออก
เอกสารที่ถูกเขียนขึ้นในลักษณะนี้ คือ มีการเขียนอักษรด้วยหมึกในลักษณะซ้อนทับกันนั้น มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า palimpsest ที่มีพบมากมายในยุคกลาง ก่อนยุค Renaissance
สำหรับประวัติความเป็นมาของเอกสารโบราณที่นักวิจัยจาก SSRL พยายามอ่านนั้น ได้เกิดขึ้นในปี 1906 เมื่อนักภาษาศาสตร์ชาวเดนมาร์กชื่อ Johan Ludvig Heiberg (1854-1928) ได้พบเอกสาร palimpsest ที่มี 174 หน้า และเห็นตัวอักษรเขียนซ้อนทับกัน จึงได้พยายามอ่าน โดยใช้แว่นขยายดูตัวอักษร แล้วใช้วิธีเดาคำ จนทำให้รู้ว่า ตำราเดิมมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับผลงานของ Archimedes (287–212 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ปราดเปรื่องที่สุดแห่งโลกโบราณ
ความอยากรู้ ทำให้เขาพยายามอ่านด้วยการถอดคำจากตัวอักษรที่ลางเลือน แต่ก็ไม่สามารถจะอ่านได้หมด จึงตั้งประเด็นสงสัยว่า ถ้าเขาสามารถอ่านผลงานของ Archimedes ได้หมด เขาก็อาจจะพบทฤษฎีใหม่ ๆ ของ Archimedes ที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อนก็ได้
แต่หลังจากที่ Heiberg ได้พยายามอ่านเป็นเวลานาน เขาก็พบว่าเอกสารอยู่ในสภาพที่โทรมมาก หลายหน้ามีราขึ้นเต็ม บางหน้ามีแผ่นทองคำเปลวติดแปะอยู่ เพราะคนที่ได้เอกสารไปครอบครองคิดว่า การติดแปะแผ่นทองคำเปลวจะทำให้เอกสารมีคุณค่ามากขึ้น และการแปะแผ่นทองคำเปลวได้ทำให้คำหลายคำถูกปิดบัง เอกสาร palimpsest จึงถูกวงการวิชาการในเวลานั้นละเลย คือ ไม่สนใจ และได้สาบสูญไปจากบรรณโลก
จนกระทั่งถึงปี 1998 เอกสาร Archimedes ก็ได้ถูกนำออกประมูลที่สถาบัน Sothy ในกรุงลอนดอน ในฐานะที่เป็นหนังสือหายาก ด้วยราคา 2 ล้านดอลลาร์ และมีนักค้าของเก่าซื้อไปเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว แต่เมื่อ William Noel ซึ่งเป็นภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ Walters Art Museum ในเมือง Baltimore รัฐ Maryland รู้ข่าว เขาก็ได้ติดต่อกับเจ้าของเอกสาร เพื่อขออนุญาตถ่ายภาพเอกสารทุกหน้า เพื่อนำไปอ่าน โดยใช้แสงที่มีความยาวคลื่นต่างๆ กัน เช่น แสงที่ตาเห็น (visible light) และแสง ultraviolet (UV) และพบว่าแสง UV นั้น สามารถเจาะทะลุหมึกชั้นบนลงไปได้บ้าง ทำให้สามารถอ่านคำบางคำที่อยู่ชั้นล่างได้ แต่ก็มีอีกหลายคำที่ยังอ่านไม่ได้
ลุถึงปี 2003 Uwe Bergmann ในสังกัด SSRL จึงได้เสนอให้ใช้แสงซินโครตรอน ที่มีความยาวคลื่นในย่านรังสีเอกซ์ ถ่ายภาพอักษรทุกตัวและทุกหน้า เพื่ออ่านคำที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องล่าง ด้วยการวิเคราะห์ธาตุต่างๆ (เช่น เหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม ฯลฯ) ที่มีในหมึกต้นฉบับกับที่มีในหมึกที่ใช้ในการเขียนใหม่ ซึ่งก็ไม่ใช่หมึกชนิดเดียวกัน เพราะเป็นหมึกที่ใช้ในยุคที่แตกต่างกัน
ความน่าสนใจของเรื่องนี้ จึงมีสองประเด็นหลัก คือ ความสำคัญของผลงานของ Archimedes ที่ยังไม่มีใครรู้มาก่อน และเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนที่ใช้ในการวิเคราะห์เอกสาร
Archimedes เกิดที่เมือง Syracuse ในกรีซ และได้ไปศึกษาที่เมือง Alexandria ในอียิปต์ จนมีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในฐานะนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ Carl Friedrich Gauss (1777-1855) นักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ได้เคยเปรียบเทียบว่า นับแต่อดีตจนถึงยุคของ Gauss จะมีก็แต่ Isaac Newton (1642–1727) เท่านั้นที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่า Archimedes ซึ่งมีผลงานมากมาย โดยเฉพาะในวิชากลศาสตร์ จนมีเรื่องเล่าว่า ถ้าเขามีคานที่ยาวเหมาะสม และมีที่ยืนในอากาศ ตลอดจนถึงมีจุดหมุน (fulcrum) ของคานให้ด้วย แรงที่น้อยนิดของเขาก็จะสามารถยกโลกทั้งใบได้ ส่วนคำอุทาน “Eureka” ของ Archimedes ก็เป็นที่รู้จักกันในวงการวิชาการ คำอุทานนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อเขาพบกฎการหาปริมาตรของวัตถุ ด้วยการจมวัตถุในน้ำ แล้ววัดปริมาตรของน้ำที่ล้นออกมา นอกจากนี้ Archimedes ก็ยังเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรก ๆ ของโลก ที่ได้นำความรู้วิทยาศาสตร์มาใช้ในการป้องกันเมือง Syracuse เมื่อเมืองถูกกองทัพโรมันพยายามบุกเพื่อยึดครอง และสามารถต่อต้านได้เป็นเวลานาน จนกระทั่งแม่ทัพโรมันล้อมปิดเมือง ทำให้ชาวเมืองขาดแคลนอาหาร จนต้องยอมจำนนในที่สุด
สำหรับผลงานคณิตศาสตร์นั้น Archimedes เป็นคนที่สนใจเรขาคณิตมาก โดยได้เสนอวิธีหาพื้นที่ของวงกลม และปริมาตรของทรงกลม ด้วยการแบ่งพื้นที่และปริมาตรทั้งหมดออกเป็นพื้นที่เล็ก ๆ และปริมาตรเล็ก ๆ ที่สามารถคำนวณได้ จากนั้นก็ใช้วิธีรวมพื้นที่เล็ก ๆ และปริมาตรเล็ก ๆ ทั้งหมด แนวคิดเรื่องจำกัด (limit) ทำนองนี้ ทำให้ Archimedes เป็นผู้วางพื้นฐานการปริพันธ์ (integrate) ในวิชา calculus ก่อนที่ Newton และ Leibniz จะสร้างแคลคูลัสขึ้นมา ประมาณ 1,800 ปี Archimedes ยังสามารถคำนวณหาค่าของ ได้ว่า มีค่าอยู่ระหว่าง 223/71 (3.1408) กับ 22/7 (3.1429) และยังได้พบอีกว่าอัตราส่วนระหว่างปริมาตรของทรงกลมกับปริมาตรของทรงกระบอก ที่มีทรงกลมบรรจุอยู่ภายใน โดยส่วนสูงของทรงกระบอกมีความยาวเท่ากับเส้นผ่านศูนย์กลางของทรงกลมนั้นว่า จะเท่ากับ 2/3 เสมอ
สำหรับแสง synchrotron ที่ใช้ในการวิจัยนั้น ตามปกติมีแหล่งกำเนิดจากเครื่องเร่งอนุภาค (accelerator) ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการเร่งอนุภาคที่มีประจุ อันได้แก่ electron, proton, muon ฯลฯ โดยอนุภาคจะถูกบังคับให้เคลื่อนที่เป็นวงกลมอยู่ภายในท่อกลวงที่ภายในเป็นสุญญากาศ โดยใช้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูง ถ้าความเข้มของสนามยิ่งสูง และวงกลมมีรัศมีคงที่ ความเร็วของอนุภาคก็ยิ่งมาก แต่การเคลื่อนที่ของอนุภาคที่มีลักษณะเป็นวงกลม จะทำให้อนุภาคนั้นมีความเร่ง ซึ่งนำไปสู่การแผ่รังสีของอนุภาคออกมาเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เช่น x-rays, UV, infrared) นี่เป็นความรู้ฟิสิกส์ที่ Alfred-Marie Liénard (1869-1958) ได้พบมาตั้งแต่ปี 1898 แต่ไม่มีใครเห็นแสงที่ออกมาจากประจุ จนกระทั่งปี 1947 คือ อีก 50 ปีต่อมา เมื่อโลกมีเครื่องเร่งอนุภาค
การเห็นแสงทำให้นักฟิสิกส์ทุกคนรู้สึกกังวล เพราะเวลาอนุภาคปล่อยแสง พลังงานของอนุภาคจะลด และถ้าอนุภาคมีความเร่งยิ่งมาก พลังงานแสงที่อนุภาคปล่อยออกมาก็จะยิ่งมากตาม ดังนั้นการเร่งอนุภาคให้มีพลังงานสูง จึงมีขีดจำกัด (ในการเร่งอนุภาคให้มีความเร็งสูงนั้น ตามปกติเขาใช้สนามไฟฟ้า ซึ่งจะมีการปรับความเข้มของสนามเป็นจังหวะ ๆ) แต่ในเวลาต่อมา นักวิจัยก็ได้พบว่า แสง synchrotron ที่ออกมาจากเครื่องเร่งอนุภาคมีประโยชน์มากมาย เช่น นักวัสดุศาสตร์สามารถใช้แสงวิเคราะห์โครงสร้างของวัสดุที่มีขนาดเล็กระดับอะตอมและโมเลกุลได้ นักชีววิทยาก็ใช้แสง synchrotron ศึกษาโครงสร้างของโปรตีน นักฟิสิกส์ใช้แสง synchrotron ศึกษาอันตรกิริยาระหว่างแสงกับสสาร และแพทย์ใช้รังสีเอกซ์ที่ออกมาจากแสง synchrotron ในการรักษาและบำบัดมะเร็ง อีกทั้งได้ใช้อนุภาคโปรตอนที่มีพลังงานสูง จากเครื่องเร่งอนุภาคในการรักษามะเร็งก็ได้ด้วย (proton therapy)
โครงการอ่านเอกสาร Archimedes ได้รับการสนับสนุนโดยเจ้าของเอกสาร ซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ ด้วยเหตุนี้ William Noel จึงต้องทำงานร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ณ เมือง Baltimore รัฐ Maryland และนักวิจัยจาก Rochester Institute of Technology (RIT) ที่ New York โดยใช้วิธีถ่ายภาพตัวอักษร ด้วยแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นระดับรังสีเอกซ์ ซึ่งเป็นแสงที่มีพลังงานสูงพอจะทำให้อิเล็กตรอนที่อยู่ในวงโคจรใน ๆ ของอะตอมกระเด็นหลุดออกจากอะตอม ทำให้เกิดที่ว่างในวงโคจร ซึ่งจะเปิดโอกาสให้อิเล็กตรอนที่โคจรอยู่ในวงโคจรนอก ๆ กระโจนลงมาแทนที่ และการเปลี่ยนแปลงนี้ จะทำให้เกิดการปล่อยรังสีเอกซ์ออกมา ซึ่งจะมีพลังงานต่าง ๆ กัน ตามชนิดของอะตอมและการเปลี่ยนวงโคจร โดยรังสีเอกซ์ที่เปล่งออกมานั้นจะถูกดักจับโดยใช้เครื่องตรวจรับ (detector) จากนั้นนักวิเคราะห์ก็จะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เปลี่ยนพลังงานของรังสีเอกซ์ไปเป็นภาพสี เพื่อใช้บอกลักษณะของตัวอักษรที่ซ่อนเร้นอยู่ในเอกสารได้
การอ่าน palimpsest ครั้งนั้น ได้ทำให้โลกรู้ข้อความมากมายที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน (สามารถอ่านรายละเอียดได้จาก https://www.archimedespalimpsest.org) เช่น มีตอนหนึ่งที่ Archimedes ได้พยายามหาปริมาตรของวัตถุที่มิได้มีรูปทรงเรขาคณิต โดยใช้ผลรวมจำนวนมากถึงอนันต์ (infinite)
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยบุกเบิก ที่ได้เปิดเผยเนื้อหาในตำราของ Archimedes ให้โลกได้รู้ จากการอ่านคัมภีร์สวดมนต์ในยุคกลาง และนักโบราณคดีกับนักประวัติศาสตร์ ก็ได้ใช้เทคโนโลยีนี้อ่านเอกสาร palimpsest จำนวนมากที่เขียนขึ้นในยุค Byzantine
แต่แสง synchrotron ที่ให้รังสีเอกซ์ ตามปกติจะมีความเข้มสูงยิ่งกว่าแหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ทั่วไป อีกทั้งเป็นแสงที่มีความยาวคลื่นค่อนข้างเอกรงค์ (ไม่กระจัดกระจายมาก) ทำให้สามารถโฟกัสได้ง่าย และสามารถปรับความยาวคลื่นของแสงได้ตามพลังงานของอิเล็กตรอนด้วย
แต่เทคโนโลยีนี้ก็มีข้อเสียเช่นกัน คือ รังสีเอกซ์พลังงานสูงที่ใช้ สามารถทำลายเอกสารได้
นอกจากจะช่วยอ่านอักษรที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้อักษรอื่นแล้ว เทคโนโลยีรังสีก็ยังช่วยพิพิธภัณฑ์ในการวิเคราะห์ภาพแท้หรือภาพเทียมที่มิได้วาดโดยจิตรกรผู้มีชื่อเสียงด้วย และสามารถวิเคราะห์วัตถุโบราณแท้หรือเทียมได้ด้วย ตลอดจนถึงสามารถหาตัวศิลปินแท้จริงผู้สร้างวัตถุศิลปะก็ได้ด้วย โดยรังสีที่ใช้อาจจะเป็นได้ตั้งแต่รังสี infrared, ultra violet และรังสีเอกซ์ก็ได้ และผลปรากฏว่า แทบทุกพิพิธภัณฑ์ในโลกจะมีวัตถุปลอมอยู่อย่างน้อย 1 ชิ้น เหตุการณ์นี้เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ซื้อ หรือเกิดจากความสามารถระดับสุดยอดของบรรดามิจฉาชีพที่จงใจหลอกลวง ด้วยการสร้างศิลปะเทียมให้เจ้าหน้าที่ทางพิพิธภัณฑ์หลงเชื่อ
แต่ก็มีบางครั้งที่การตรวจสอบวัตถุปลอม ได้ทำให้เรารู้ความจริงที่ไม่มีใครคาดถึง เช่นในกรณีภาพวาด “The Roman Campagna, with the Claudian Aqueduct” ที่ Jean-Baptiste-Camille Corot (1796–1875) วาดในปี 1826 ซึ่งใคร ๆ ในเวลานั้นก็สงสัยการใช้สีที่ Corot ใช้ในการวาด เป็นสีที่นิยมใช้ตั้งแต่ปี 1830 เป็นต้นไป แต่เหตุใด Corot จึงใช้สีมาตั้งแต่ปี 1826
คำตอบสำหรับเรื่องนี้คือ Corot ได้ไปติดต่อซื้อสีใหม่ ๆ มาใช้ในการระบายภาพ จากช่างผลิตสีที่ตนสนิท และช่างผลิตสีก็ได้จัดหาสีใหม่ๆ มาให้ Corot ได้ใช้ ผลงานนี้จึงเกิดขึ้นจากการชอบพอกันส่วนตัว
จิตรกรอีกคนหนึ่งที่มีปัญหาทำให้ผู้คนจำนวนมากสงสัยว่า เขาเป็นคนวาดจริงหรือไม่ได้วาด ตามปกติแล้ว คนที่เชี่ยวชาญการดูภาพสามารถจะรู้ได้ในทันทีว่า ภาพที่เห็นเป็นภาพที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 14,16 หรือ 19 แต่ถ้าจะถามชื่อผู้วาด คนตอบนั้นก็จะต้องใช้เวลานานหน่อย เช่น ภาพ “Winter Landscape” ที่ Caspar David Friedrich (1774–1840) วาด ณ ขณะนี้ภาพได้ถูกนำไปติดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Museum of Art and Cultural History ณ เมือง Dortmund ในประเทศเยอรมนี แต่ในปี 1987 ภาพทิวทัศน์ในฤดูหนาวของ Friedrich ก็ได้ติดแสดงอยู่ที่ National Gallery ในกรุงลอนดอน
ปัญหาจึงมีว่า ภาพใดจริงและภาพใดปลอม
ในการตอบคำถามนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้รังสี infrared ส่องกราดไปทั่วภาพทั้งสอง ให้แสงเจาะลึกลงไปใต้ผิวสี แล้ววิเคราะห์แสงสะท้อน เพื่อให้เห็นรายละเอียดในการสเก็ตช์ภาพและเทคนิคการระบายสี เพราะตระหนักดีว่า Friedrich นั้น ตามปกติแไม่ชอบวาดภาพแบบรวดเดียวเสร็จ แต่จะตกแต่งและเสริมต่อรายละเอียดไปเรื่อย ๆ การวิเคราะห์ภาพ แสดงให้เห็นว่า ภาพที่ National Gallery ของอังกฤษ แสดงรายละเอียดที่มีการแก้ไขลักษณะนี้มาก แต่ภาพที่พิพิธภัณฑ์ Dortmund ของเยอรมนี ไม่มีการตกแต่งเลย
ดังนั้น ภาพวาดที่พิพิธภัณฑ์ในอังกฤษ จึงเป็นภาพจริง
ปี 2024 นี้ เป็นวาระครบ 250 ปี ที่ Friedrich เกิด ทางประเทศเยอรมนี จึงได้จัดงานเฉลิมฉลองในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วประเทศ
Friedrich เกิดที่เมือง Greifswald ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ทะเล Baltic อันเป็นสถานที่ ๆ เขาโปรดปรานการไปเดินเล่น และได้วาดภาพภูมิทัศน์รอบทะเลไปด้วย เพราะเขาเชื่อว่า ธรรมชาติ คือ ผลงานของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นการศึกษาธรรมชาติ จึงเป็นความพยายามจะเข้าใจพระทัยในพระองค์ อนึ่งเวลาวาดภาพคน Friedrich มักไม่นิยมวาดภาพใบหน้า แต่จะวาดจากข้างหลังของคนนั้น โดยให้เขาจ้องดูธรรมชาติที่อยู่เบื้องหน้า ใบหน้าคนจึงมิใช่จุดหมายที่ Friedrich ต้องการจะให้คนดูภาพสนใจ แต่ให้สนใจธรรมชาติที่คนในภาพเห็นมากกว่า
ภาพวาดอีกภาพหนึ่งที่วิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทในการวิเคราะห์ความจริง นั่นคือภาพ “The Madonna of the Pinks” ที่ National Gallery ของอังกฤษ ได้ซื้อไว้เมื่อปี 2004 ในราคา 40 ล้านดอลลาร์ การเห็นภาพและสังเกตดูสไตล์การวาดภาพของศิลปิน ได้ทำให้ทุกคนสงสัยว่า นี่คือ ภาพวาดโดย Raffaello Sanzio da Urbino (Raphael) (1483–1520) ตัวจริงหรือไม่ ความสงสัยนี้ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1835
เทคโนโลยีรังสีอินฟราเรดได้แสดงให้เห็นว่า ศิลปินผู้วาดได้ดัดแปลง ปรับแต่งภาพ โดยได้เพิ่มรายละเอียดของภาพในหลายตำแหน่งและหลายครั้ง อย่างที่คนปลอมภาพไม่พยายามทำ และสีที่ใช้ในการวาดก็เป็นสีที่ใช้กันในยุค Raphael ดังนั้นภาพ “The Madonna of the Pinks” จึงเป็นภาพที่ Raphael วาดจริง
แต่คำถามที่ยังค้างคาใจของคนหลายคน คือ ถ้าภาพนี้สวยระดับที่ Raphael วาด คนวาดจะเป็น Raphael ตัวจริง หรือตัวปลอม จะยังคงเป็นประเด็นอีกหรือไม่ ในการตอบคำถามนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ได้ชี้แจงว่า พิพิธภัณฑ์ก็ยังต้องการให้ผู้ชมภาพทุกคนรู้ความจริง และไม่สนับสนุนให้รู้อะไรผิด ๆ
เทคโนโลยีรังสีอินฟราเรดยังสามารถช่วยให้เรารู้จิตวิญญาณในการทำงานของศิลปินได้ด้วย ดังในกรณีของ Albrecht Dürer (1471–1528) ซึ่งเป็นทั้งจิตรกร นักพิมพ์ภาพ และนักคณิตศาสตร์ ฯลฯ ที่มีชีวิตอยู่ในยุค Renaissance เขาถือกำเนิดที่เมือง Nuremberg ในเยอรมนี เมื่อมีอายุเพียง 20 ปี ชื่อเสียงของ Dürer ก็โด่งดังทั่วยุโรป จากการสร้างผลงานคณิตศาสตร์ โดยได้พบวิธีสร้างรูปหลายเหลี่ยมด้านเท่าที่มี 3, 7, 9, 11 และ 13 ด้าน ด้วยการใช้วงเวียนกับไม้บรรทัดตรงเท่านั้น และได้พยายามสร้างวงกลมให้มีพื้นที่เท่ากับสี่เหลี่ยมจัตุรัส (แต่เขาทำไม่ได้ เพราะแม้แต่เทวดาก็ทำไม่ได้)
ในปี 2012 พิพิธภัณฑ์ที่ Nuremberg ได้อนุมัติให้ใช้เทคโนโลยีรังสีอินฟราเรดศึกษาภาพต่างๆ ที่ Dürer วาด และได้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ในการวาดที่มีอยู่ในภาพเดียวกัน และในต่างภาพกัน จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศิลปะลงความเห็นว่า ความมุ่งมั่นของศิลปินอัจฉริยะท่านนี้ คือ ต้องการจะเป็นนักทฤษฎีงานศิลปะ
ปัญหานี้น่าสนใจ เพราะ Dürer เกิดในเมืองที่อยู่ห่างจาก Florence ในอิตาลี และอยู่ห่างจาก Amsterdam ในเนเธอแลนด์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางศิลปะในยุคนั้น แต่ก็ยังสามารถพัฒนาความเป็นศิลปินได้ด้วยตนเอง คำถามที่ทุกคนอย่างรู้คำตอบมากก็คือ Dürer ทำงานศิลปะเพื่อเงิน หรือเพื่อศิลปะ
ในปี 2009 การวิเคราะห์ภาพเหมือนตนเอง (self-portrait) ของ Dürer จำนวน 45 ภาพ ที่แสดงอยู่ใน 20 พิพิธภัณฑ์ทั่วโลก โดยได้วิเคราะห์ลักษณะการแก้ไขรายละเอียดของภาพ และไม่พบพัฒนาการความสามารถด้านการวาดภาพของ Dürer แต่อย่างใด แต่กลับพบความพยายามของ Dürer ในการสร้างงานศิลปะที่เขาไม่ต้องการจะขาย เพื่อทำเงิน เพราะภาพ self-portrait จำนวนมาก แสดงหลักฐานว่า Dürer พยายามจะขยายขอบเขตการใช้เทคนิคทางศิลปะทุกครั้ง เพื่อให้ภาพดูสมบูรณ์แบบ ดังนั้นเมื่อ Giovanni Bellini (1435-1516) สอบถาม Dürer ว่า ได้ใช้แปรงระบายสีใดในการวาดภาพเคราที่ดูเหมือนจริงมาก Dürer ได้ยื่นแปรงธรรมดาให้ดู Bellini ดู เหมือนจะบอกคนทั้งโลกว่า อุปกรณ์ที่เขาใช้นั้นเป็นอุปกรณ์ธรรมดา แต่ความสามารถในการวาดนั้นเป็นระดับ “เทพ” เพราะภาพวาดได้แสดงฝีมือ และความสามารถต่าง ๆ กันของคนวาดที่ต้องการจะให้ทุกคนเห็นว่า เขาเป็นศิลปินผู้รู้ทฤษฎีศิลปะดีและมากที่สุด
อ่านเพิ่มเติมจาก “Close Examination: Fakes, Mistakes and Discoveries” ที่จัดพิมพ์โดย National Gallery London เมื่อปี 2016
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์