เป็นหนึ่งในธรรมเนียมของ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา NASA ที่จะมีการนำภาพวัตถุในห้วงอวกาศอันกว้างใหญ่มาเผยแพร่ในช่วงเทศกาลสำคัญ โดยในช่วงเทศกาลคริสต์มาสนี้ NASA ได้มีการเผยแพร่ภาพวัตถุอวกาศ “NGC 2264” ที่เปรียบเหมือนต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพอันงดงามให้ได้ชม
NGC 2264 - กระจุกดาวต้นคริสต์มาส นับเป็นหนึ่งในความสวยงามบนอวกาศที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เนื่องจากมีรูปลักษณ์ที่ดูคล้ายกับต้นคริสต์มาสในวัฒนธรรมของชาวคริสต์ ที่หมายถึง ต้นไม้ในสวนสวรรค์ ซึ่งอาดัมและเอวาไปหยิบผลไม้มากิน
ภาพถ่ายวัตถุอวกาศ NGC 2264 หรือที่รู้จักกันในชื่อ "กระจุกดาวต้นคริสต์มาส" ได้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา บันทึกภาพโดย Michael Clow นักดาราศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญในการจับภาพวัตถุท้องฟ้าด้วยเทคโนโลยีในช่วงคลื่นแสงธรรมดา ภาพในช่วงคลื่นนี้ช่วยให้เห็นสีสันและรายละเอียดของดาวฤกษ์และเนบิวลาที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างแสงดาวและก๊าซฝุ่น แสงสีในภาพที่ได้มานั้น มาจากการประมวลภาพ ของทีมงาน NASA และ CXC เป็นการนำข้อมูลจากช่วงคลื่นเอ็กซ์เรย์และแสงธรรมดา มาประกอบกัน เพื่อสร้างภาพที่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนของ กระจุกดาวต้นคริสต์มาส
กระจุกดาวต้นคริสต์มาส อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,600 ปีแสง ตั้งอยู่บริเวณ กลุ่มดาวยูนิคอร์น มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ “กระจุกดาวเปิด” (Open Cluster) และ “เนบิวลารูปกรวย” (Cone Nebula)
กระจุกดาวเปิดที่เป็นส่วนหนึ่งของ NGC 2264 มีลักษณะการเรียงตัวของดาวที่คล้ายกับต้นคริสต์มาส ในขณะที่เนบิวลารูปกรวยซึ่งอยู่ใกล้เคียงมีลักษณะเหมือนกรวยคว่ำ จุดเด่นนี้ทำให้กระจุกดาวได้รับชื่อเล่นว่า "ต้นคริสต์มาส" ในกระจุกดาวนี้ประกอบด้วยดาวฤกษ์อายุน้อยจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในสถานที่กำเนิดดาวใหม่ (Star-forming Region) ที่สำคัญ โดยแสงสว่างจากดาวเหล่านี้จะทำปฏิกิริยากับก๊าซและฝุ่นรอบๆ ทำให้เกิดสีสันและความสวยงามที่สามารถสังเกตได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์
กระจุกดาวอันสวยงามนี้ เป็นหนึ่งในเป้าหมายยอดนิยมของนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นและมืออาชีพ ในการสังเกตความสวยงดงามของกระจุดดาว โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ เนื่องจากสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายในบริเวณกลุ่มดาวยูนิคอร์น ที่เป็นกลุ่มดาวที่ปรากฏเด่นชัดในคืนฤดูหนาว ล้อมรอบด้วย กลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันตก กลุ่มดาวคนคู่ทางทิศเหนือ กลุ่มดาวหมาใหญ่ทางทิศใต้ และกลุ่มดาวงูไฮดราทางทิศตะวันออก
ข้อมูล - ภาพอ้างอิง
- space.com (NASA space telescopes give Christmas Tree Cluster a festive makeover (photos)
- nasa.gov (Sprightly Stars Illuminate ‘Christmas Tree Cluster’)