xs
xsm
sm
md
lg

บนเส้นทาง "อารยธรรมไหมของจีน" กับการค้นหาหอคอยหิน ที่ Ptolemy กล่าวถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อ 53 ปีก่อนคริสตกาล ขณะกองทัพโรมันภายใต้การนำของนายพล Marcus Licinius Crassus (115-53 ปีก่อนคริสตกาล) กำลังสู้รบกับกองทหารแห่งอาณาจักร Parthian อย่างดุเดือด ที่บริเวณใกล้เมือง Carrhae (ในตุรกีปัจจุบัน) ทหาร Parthian ได้ยกธงรบขนาดใหญ่หลายธง ซึ่งทอด้วยผ้าไหมและมีสีสันต่างๆ กัน ธงที่โบกสะพัดอย่างโชติช่วงชัชวาล เป็นภาพที่ทหารโรมันไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในชีวิต จึงพากันแตกตื่น และหนีตายด้วยความตกใจกลัว ทำให้กองทัพโรมันต้องพ่ายแพ้ในที่สุด การปราชัยที่ Carrhae ในครั้งนั้น ได้รับการจารึกว่าเป็นความอัปยศอดสูมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของกองทัพโรมัน




เรื่องเล่าและตำนานที่เกี่ยวกับไหมจากเมืองจีนมีมากมาย เพราะคนจีนรู้จักเลี้ยงหนอนไหม และสร้างผ้าไหมมานานร่วม 5,000 ปีแล้ว (คนจีนเรียกไหมว่า si) และรู้ว่าการทำผ้าไหมเริ่มต้นด้วยการปลูกต้นหม่อนไหม การเลี้ยงหนอนไหม และการแพร่พันธุ์ ซึ่งทำให้เกิดรังไหม ซึ่งจะให้ใยไหมที่ใช้ทอ

ในสมัยนั้น เส้นทางน้ำที่ใช้ขนสินค้าไหมระหว่าง Beijing กับ Hangzhou ในมณฑล Zhejiang จะคราคร่ำด้วยเรือไหมจำนวน “นับไม่ถ้วน” ทำหน้าที่ขนใยไหมไปจนถึงปักกิ่ง เรือที่ใช้เวลานาน 2 เดือน จึงจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อนำใยไหมไปทอเป็นผ้า เป็นเสื้อคลุมที่บางเบา ให้บรรดาราชวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการจีนใช้สวมใส่ แสดงการมีอำนาจ บารมี และเกียรติยศ


ในความเป็นจริง ไหมได้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การติดต่อระหว่างจีนกับต่างชาติมาเป็นเวลานานแล้ว โดยใช้เส้นทางที่เรียกว่า เส้นทางสายไหม (Silk Road) แต่คำ 2 คำนี้ เพิ่งถือกำเนิดในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี้เอง โดยนักธรณีวิทยาที่เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียศึกษาที่เป็นชาวเยอรมันชื่อ Ferdinand von Richthofen (1833-1905) ซึ่งได้สำรวจพื้นที่จริงเมื่อปี 1863-1872 และพบว่าเส้นทางสายไหม มีสภาพเป็นเครือข่ายของถนนการค้าที่เชื่อมโยงระหว่างดินแดนตะวันออกกับตะวันตก ที่ได้อุบัติขึ้นในยุคราชวงศ์ Han (206-220 ปีก่อนคริสตกาล) ทำให้การแลกเปลี่ยนสินค้า ความรู้ ความคิด และอารยธรรมต่าง ๆ และไหมเป็นวัสดุภัณฑ์ที่สำคัญมากที่สุดที่ได้มีการซื้อขายกันมาก ตลอดเส้นทางนี้ ซึ่งเริ่มต้นจากเมือง Xi-an ในจีน ไปจนถึง Rome ในอิตาลี อันเป็นสถานที่ปลายทางที่เศรษฐี คนมีอำนาจ และบารมี ใช้ไหมเป็นสัญลักษณ์แสดงความร่ำรวย และความเป็นผู้ทรงเกียรติ

ตลอดเวลา 5,000 ปีของอารยธรรมไหมในจีน คำว่า ผ้า (fabric) ตรงกับคำจีนว่า ling, luo, chou และ duan ซึ่งสามารถใช้แทนเทคโนโลยีการทอในแต่ละขั้นตอน โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงหนอนไหม ตลอดจนถึงการใช้หูกทอผ้า ซึ่งมีเทคนิคการทอที่หลากหลาย ทำให้ได้ลวดลายที่สวยงามและเป็นที่ชื่นชม โดยเฉพาะเทคนิคทอแบบ luo นั้น ได้เกิดขึ้นเมื่อ 770-476 ปีก่อนคริสตกาล และได้รับการยอมรับในช่วงปี 475-221 ปีก่อนคริสตกาล อันเป็นเวลาที่จีนกำลังมีการทำสงครามระหว่างอาณาจักรใหญ่น้อยภายในประเทศ


ครั้นถึงในยุคราชวงศ์ Song (960-1279) เครื่องแต่งกายของข้าราชการในราชสำนัก ได้ถูกกำหนดให้ทำด้วยผ้าไหมที่ทอจากเมือง Hangzhou โดยเฉพาะ ดังนั้นผ้าไหมที่ทอจากเมืองนี้ จึงมีชื่อเรียกว่า hangluo

คุณค่าของ hangluo นั้นมีสองประการ ประการแรก คือ การมีสภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมกับการปลูกต้นหม่อนเป็นอาหารให้หนอนไหม และประการที่สอง คือ การมีเทคนิคการทอที่ละเอียดเนียนอย่างแทบไม่น่าเชื่อ โดยเส้นไหมจะถูกนำมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ แช่ ย้อม แยก และทอ จนกระทั่งได้ผ้า hangluo

ในยุคทองของ hangluo มีครอบครัวที่ทำอุตสาหกรรมไหมแบบครบวงจร เป็นจำนานมากร่วม 1,000 บ้าน โดยเฉพาะในบริเวณเมือง Ganshan ใกล้ Hangzhou แม้วันเวลาจะผ่านไปนาน ทำให้เทคนิคการทำผ้าไหม hangluo เปลี่ยนไปบ้าง แต่ปัจจุบันเทคนิคการผลิตก็ยังคงความละเอียดเหมือนเดิมทุกขั้นตอน เช่น ต้องแช่ไหมในน้ำใส แล้วเติมน้ำยาสารเคมีที่เป็นสูตรลับ แล้วแช่ไหมเป็นเวลา 25-28 วัน เพื่อให้เส้นไหมอยู่ในสภาพพร้อมทอ ผลที่ได้จะทำให้ได้ใยที่เบาและผ้าที่ได้จะโปร่ง แม้ในหน้าหนาวน้ำที่แช่จะเย็นเป็นน้ำแข็งก็ตาม คนงานก็ต้องทนผิวแตก หลายคนที่ทนไม่ได้ก็ต้องเลิกงานทอไป

ความซับซ้อนของกระบวนการทอ hangluo ทำให้เทคนิค hangluo ได้รับการยกย่องโดย UNESCO ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในปี 2009 เกียรติยศนี้ได้ทำให้เด็กจีนปัจจุบันได้มีโอกาสสัมผัสการทอแบบ hangluo ในโรงเรียน โดยในปัจจุบันเทคนิคได้รับการปฏิรูปให้ผ้าที่ทอมีสีสันที่สวยและลวดลายหลากหลายขึ้น

ในส่วนของชื่อถนนสายไหมนั้น ได้มีนักประวัติศาสตร์หลายคนพยายามเปลี่ยนชื่อไปเป็นถนนเครื่องเทศหรือถนนหยก เพราะในสมัยนั้นสินค้าทั้งสองชนิดนี้เป็นสินค้าสำคัญที่ทำเงินมากเช่นกัน แต่ไม่มีใครนิยมเรียกตาม อาจจะเป็นเพราะเครื่องเทศบอกจุดหมายปลายทางว่าเป็นอินเดีย มิใช่จีน และหยกเป็นอัญมณีที่คนบางกลุ่มนิยมใช้เท่านั้น ไม่ใช่คนทั่วไป


การขุดพบเครื่องประดับทองคำที่ยาว 5.4 เซนติเมตร ซึ่งทำเป็นตัวหนอนไหมในสุสานแห่งหนึ่งของมณฑล Shaanxi ที่มี Xi-an เป็นเมืองหลวงในสมัยราชวงศ์ Han ได้ทำให้ Xi-an เป็นเมืองต้นทางของถนนสายไหม ในยุคของจักรพรรดิ Wudi (141–87 ปีก่อนคริสตกาล) โดยทำให้ผ้าไหมจากจีนเดินทางถึงยุโรปได้เป็นครั้งแรกในยุคของจักรพรรดิ Augustine (27 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ.14) แต่พระองค์ทรงตรัสห้ามผู้ชายโรมันไม่ให้สวมใส่เสื้อผ้าที่ทอด้วยไหม เพราะทรงเกรงว่าจะทำให้ดูคล้ายผู้หญิงมากไป

แต่ไหมก็ยังคงเป็นที่นิยมในสังคมของคนทั่วไป จนทำให้มันกลายเป็นสินค้าส่งออกลำดับต้นของจีน ที่ถูกขนส่งโดยใช้เส้นทางสายไหม การมีน้ำหนักเบา ทำให้สามารถขนไหมได้ในปริมาณมาก การนิยมซื้อของฝูงชน ก็ได้ทำให้พ่อค้าคนกลางชาว Sogdian (บรรพชนของชาวอิหร่านในปัจจุบัน) ได้กำไรมาก จากการนำขายต่อ ทำกำไรได้มากเป็น 100 เท่าของราคาต้นทุน

ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 อาณาจักร Gaochang ซึ่งเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ ของจีนที่อยู่ใกล้ Xinjiang ได้เรียกเก็บภาษีจากประชาชนเป็นไหมแทนเงิน ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ฝูงชนใน Gaochang สามารถผลิตไหมได้ด้วยตนเองแล้ว แม้ว่าศูนย์การผลิตจริง ๆ จะอยู่ไกลออกไปเป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตรก็ตาม นั่นจึงแสดงให้เห็นอีกว่า เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหม ได้เริ่มมีศูนย์ทอไหมเป็นโรงงานในเมืองแล้ว


สำหรับการถ่ายทอดหรือส่งต่ออารยธรรมไหมจากจีนไปต่างชาตินั้น ก็มีตำนานเรื่องเล่ามากมาย เช่น ในบันทึก Records of Xiyu During the Time of Tang ที่เขียนโดยนักบวช (พระ) ชื่อ Xuangzang ซึ่งต้องการจะศึกษาพระไตรปิฎก จึงได้ตัดสินใจเดินทางจาก Xi-an ไปอินเดีย แล้วกลับถึงจีนในช่วงปี 628-645 ตามเส้นทางสายไหม เส้นทางนี้จึงเป็นอะไรที่มากกว่าเส้นทางการค้า เพราะมันเป็นเส้นทางการเผยแพร่ศาสนาพุทธด้วย


บันทึกของ Xuangzang ได้กล่าวถึงกษัตริย์แห่งอาณาจักร Xiyu ได้ทรงส่งอุปทูต ไปทูลขอไข่ไหมจากจีน แต่ทรงได้รับการปฏิเสธ ด้วยความไม่ย่อท้อ พระองค์จึงทรงพยายามอีก โดยใช้วิธีใหม่ที่ลุ่มลึก จนใคร ๆ ก็คาดมิถึง คือ เสนอขอพระธิดาในกษัตริย์จีนไปเป็นพระมเหสี และครั้งนี้ทรงได้รับพระกรุณาธิคุณ เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแผน อุปทูตได้แอบทูลพระธิดาเป็นการส่วนพระองค์ว่า อาณาจักร Kotan ที่มีชื่อเสียงในการค้าหยกและกลิ่นชะมดนั้น ไม่มีหนอนไหมเลย ดังนั้นถ้าพระธิดาจะทรงซ่อนหนอนไหมเป็น ๆ ไว้ในมวยผม เมื่อเสด็จถึง Kotan พระองค์ก็จะทรงมีผ้าไหมสวมใส่


ในปี 1900 นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ชื่อ Aurel Stein (1862-1943) ได้พบภาพวาดโบราณบนแผ่นไม้ชิ้นหนึ่ง ซึ่งภาพนั้นเป็นภาพของสุภาพสตรีชั้นสูงนางหนึ่ง ที่เกล้าผมเป็นมวยสูง และที่พื้นเบื้องหน้าของนางมีตะกร้าเลี้ยงไหม ในภาพมีหญิงอีกคนหนึ่งถือหูกทอผ้า และอีกคนหนึ่งชี้ไปที่มวยผมบนศีรษะของสุภาพสตรีสูงศักดิ์คนนั้นด้วย

ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 ผู้คนอาณาจักร Byzantine (หรือโรมันตะวันออก) นิยมผ้าไหมมาก จนรัฐต้องผูกขาดการทำธุรกิจประเภทนี้ ดังนั้นเมื่อชาว Persia นำผ้าไหมมาขายในราคาแพงมาก ชาวโรมันจึงพยายามหาทางกีดกันพ่อค้าชาวเปอร์เซีย เพื่อให้ชาวโรมันด้วยกันได้ใช้ผ้าไหมในราคาพอสมควร

เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6 Theophanes (778-845 ปีก่อนคริสตกาล) นักประวัติศาสตร์กรีก ได้กล่าวถึงการลอบนำไข่ไหมสอดใส่ไปในไม้เท้าของนักเดินทางจากจีนไปกรุง Constantinople การนำไหมเข้าสู่ยุโรป ได้ทำให้วิถีชีวิตของชาวยุโรปเปลี่ยนไปมาก จากที่เคยนุ่งห่มผ้าฝ้าย ผ้าลินิน หรือหนังสัตว์ตลอดเวลา ก็เปลี่ยนมาใช้ผ้าไหมแทนบ้าง

สำหรับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันบนเส้นทางสายไหมนี้ นอกจากเรื่องผ้าไหมแล้ว ก็ยังหมายรวมถึงวัสดุอื่น ๆ เช่น ปะการัง แก้ว กำยาน และผลไม้ เช่น องุ่น แห้ว ทับทิม ฝ้าย ด้วย ตลอดจนถึงการแลกเปลี่ยนสัตว์ เช่น นำสิงโต อูฐ แรด และนกยูง ซึ่งเป็นสัตว์จากอินเดียและเอเชียกลาง เข้าสู่ยุโรป สำหรับองุ่นในจีนก็เป็นผลไม้ที่นำเข้าจาก Afghanistan เมื่อ 125 ปีก่อนคริสตกาล และมีผลทำให้คนจีนรู้จักผลิตเหล้าองุ่น เพื่อใช้ดื่มกันมาก ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง โดยเปลี่ยนไปจากเดิมที่นิยมดื่มเหล้าที่หมักจากข้าว มาเป็นดื่มเหล้าองุ่นแทนในบางโอกาส

สำหรับความลับที่เกี่ยวกับอารยธรรมไหมของจีน ก็เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากในวงการประวัติศาสตร์ว่า เป็นเรื่องลับสุดยอดเพียงใด เพราะนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีหลายคนเชื่อว่า กษัตริย์จีนในสมัยโบราณไม่ได้เข้ามาจัดการเรื่องการลักลอบนำเทคโนโลยีไหมออกนอกประเทศ แต่ทรงต้องการจะให้เทคโนโลยีไหมนี้เป็นสื่อให้โลกภายนอกตระหนักรู้ในความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมจีน โดยการขนส่งไหมผ่านทางเส้นทางสายไหม ดังนั้นการปกปิดความรู้ด้านนี้ จะทำให้โลกภายนอกไม่ได้รู้อะไร ๆ เกี่ยวกับอารยธรรมไหมที่ยิ่งใหญ่ของจีนเลย ว่าสำคัญและดีกว่าอารยธรรมไหมของชาติอื่นอย่างไร

การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านอื่นก็ได้เกิดขึ้นบนเส้นทางสายไหมเช่นกัน เช่น วัฒนธรรมกระดาษ ที่ชาวจีนรู้จักประดิษฐ์กระดาษใช้ตั้งแต่เมื่อ 200 ปีก่อนคริสตกาลและได้นำวิธีทำกระดาษไปเผยแพร่ในที่ต่าง ๆ ตลอดเส้นทางสายไหม ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2 ถึง 5 กระดาษก็ได้เป็นที่รู้จักใช้กันแพร่หลายแล้ว เพราะชาวอาหรับได้จับช่างฝีมือกระดาษชาวจีนหลายคนไปอยู่ที่กรุง Baghdad ทั้งนี้เป็นไปตามบันทึกของ Du Huan ว่า ไม่เพียงแต่เทคนิคการทำกระดาษและการทำประทัด การแกะสลักพิมพ์ไม้ อันเป็นต้นกำเนิดของตัวพิมพ์ Gutenberg ก็ได้แพร่หลายไปจากจีนเช่นกัน ส่วนชาวเปอร์เซียได้รับเทคนิคกระดาษของจีนไปทำธนบัตร และถ่ายทอดให้ชาวยุโรปรู้จักใช้ธนบัตรกระดาษในเวลาต่อมา

ศิลปะการวาดภาพบนผ้าใบ (canvas) ที่ใช้ผ้าไหมและกระดาษกันในจีนก็เริ่มเปลี่ยนแปลง จากการพบภาพวาดบนผ้าพรม (tapestry) ในเมือง Xinjiang ที่มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์ Han เป็นภาพของเทพ Centaur ที่ครึ่งล่างเป็นม้า แต่ครึ่งบนเป็นคน และภาพวาดบนผ้าพรมที่เมือง Xinjiang ในสมัยราชวงศ์ Tang (618-907) เป็นรูปเถาองุ่น ไก่ และแกะ ซึ่งเป็นภาพวาดสไตล์ยุโรป

แต่การผสมผสานศิลปะระหว่างตะวันออกและตะวันตกที่โดดเด่นที่สุด คือ การพบธงไหม ในมณฑล Qinghai ที่มีอายุตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 ถึง 6 เป็นภาพของเทพเจ้า Helios แห่งดวงอาทิตย์ของชาวกรีก ประทับนั่งขัดสมาธิเหมือนพระพุทธเจ้าอยู่บนดอกบัว เทคนิคการทอธงไหม แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เป็นฝีมือช่างทอชาวจีน


ครั้นเมื่อ จักรพรรดิ Julius Caesar (100–44 ปีก่อนคริสต์กาล) ขึ้นมามีอำนาจในโรม จอมทัพท่านนี้กับนายพล Crassus (ที่กองทัพพ่ายแพ้ ผ้าธงขนาดใหญ่สีแดง) ได้แต่งตัว โดยใช้เสื้อคลุมไหมจีนที่แพรวพราว ทำให้ฝูงชนทึ่ง และพยายามลอกเลียนแบบกันมาก จนทำให้รัฐบาลโรมันในเวลานั้นต้องออกกฎหมายห้ามมิให้ใช้ผ้าไหมตัดทำเครื่องแต่งกาย เพราะเกรงว่าการรั่วไหลของเงินออกนอกประเทศในปริมาณมาก จะทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของชาติไม่มั่นคง

นอกจากประเด็นเหล่านี้แล้ว ชายโรมันก็มักไม่พอใจที่เห็นภรรยาแต่งตัวด้วยผ้าไหมที่บางเบา ดังที่นักปรัชญาโรมันชื่อ Seneca ผู้เยาว์ (4 ปีก่อนคริสตกาล - ค.ศ.65) ได้เคยเขียนว่า สตรี ที่แต่งตัวด้วยผ้าไหมใสโปร่ง ได้เปิดโอกาสให้บุคคลอื่น ที่มิใช่สามีของตน ได้คุ้นเคยกับสรีระของเธออย่างจงใจ


แต่สิ่งที่ Crassus กับ Seneca คาดไม่ถึงก็คือ อารยธรรมไหมของจีนได้มีผลกระทบกว้างไกล และยืนนานยิ่งกว่าความเป็นวัสดุสำหรับสวมใส่ เพราะมันได้หยั่งลึกลงไปถึงจิตวิญญาณของไหม ตั้งแต่เกิดเป็นหนอนแล้วกลายรูปในเวลาต่อมาเป็นดักแด้ อยู่ในรังไหม หลังจากลอกคราบแล้ว ในเวลาไม่นานมันก็จะตัวโตเต็มวัย การเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (metamorphosis) ของหนอนไหมนี้ ทำให้เวลามันถูกนำไปฝังรวมกับหยกหรืออัญมณีอื่น ๆ ในหลุมของบรรพบุรุษ ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผีเสื้อนำดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์แห่งความเป็นอมตะ ด้วยการใช้เส้นไหมนำทาง ดังที่พบในหลุมฝังศพหลุมหนึ่ง ในมณฑล Henan ซึ่งมีอายุ 3,000 ปีว่า มีรูปแกะสลักเป็นหนอนไหมที่มีหัวเป็นมังกร เพราะกวีจีนชื่อ Guan Zhong (723-645 ปีก่อนคริสตกาล) ได้เคยเขียนไว้ว่า เมื่อพญามังกรต้องการจะทำตัวให้ไม่สำคัญ มันจะแปลงตัวเป็นหนอนไหม แต่เวลาต้องการจะแสดงอำนาจเท่าฟ้า มันจะกลับร่างเป็นมังกร

เส้นทางสายไหมยังเป็นเส้นทางที่นำพุทธศาสนาเข้าสู่จีนด้วย ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 มีหลักฐานว่า ในสมัยราชวงศ์ Han จักรพรรดิ Ming (57-75) ทรงพระสุบินถึงเทพยดา และได้ทรงทราบในภายหลังว่าเทพยดานั้น คือพระพุทธเจ้า จึงทรงส่งทูตไปแสวงหาพระองค์ใปทางภาคตะวันตกของจีน เมื่อปี 581 กษัตริย์แห่งราชวงศ์ Sui ได้ยุบรวมจีนให้เป็นเอกรัฐ จนสำเร็จ


ในปี 618 มีพระสงฆ์จีนชื่อ พระถังซัมจั๋ง (Xuanzang) ได้เดินทางไปอินเดีย และท่านได้เขียนบันทึกการเดินทางไปดินแดนทางตะวันตก โดยได้เล่าเรื่องการเดินทางตามเส้นทางสายไหม ขนบธรรมเนียมของชาติพันธุ์ต่าง ๆ และพระพุทธศาสนาในอินเดียด้วย

พระถึงซัมจั๋งได้ไปศึกษาพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัย Nalanda โดยใช้เวลาไป-กลับนาน 16 ปี และกลับถึงจีนในปี 645 จากนั้นได้ใช้เวลา 19 ปี แปลพระไตรปิฎก 75 ชุด ที่นำกลับจากอินเดีย เป็นคัมภีร์จีนได้เป็นจำนวนกว่า 1,300 เล่ม

เส้นทางสายไหมยังได้นำศาสนาอื่นๆ เช่น คริสต์ศาสนา นิกาย Presbyterianism, Islam, Zoroastrianism ฯลฯ เข้าสู่จีนด้วย

การติดต่อระหว่างโลกตะวันตกกับจีน โดยผ่านเส้นทางสายไหม ยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันอย่างกว้างขวาง และทำให้เกิดความเจริญทางวัฒนธรรมของกันและกัน เปรียบเสมือนแอ่งน้ำที่มีการไหลของน้ำถ่ายเทถึงกัน จึงทำให้น้ำไม่เน่าเสีย ด้วยเหตุนี้อารยธรรมไหมของจีน จึงยังมีชื่อเสียงและเป็นที่ชื่นชมของชาวโลกมาโดยตลอด


แม้วันเวลาจะผ่านไปนานร่วม 2,200 ปีก็ตาม เส้นทางสายไหมก็ยังมีปริศนาที่ยังไม่มีคำตอบ อีกคำถามหนึ่งนั่นคือ บทเส้นทางนี้ มีหอคอยหิน (Stone Tower) ณ ตำแหน่งครึ่งทางของเส้นทาง ตรงตามที่ Ptolemy (100-170) ซึ่งเป็นนักภูมิศาสตร์และดาราศาสตร์ชาวกรีก ได้กล่าวถึงหรือไม่

ในตำราภูมิศาสตร์ (Geography) ที่ Ptolemy เรียบเรียง เมื่อประมาณค.ศ.140 นั้น หอคอยหิน (คำๆ นี้ตรงกับคำในภาษาละตินว่า Turris Lapidea และตรงกับคำกรีก ว่า Lithinos Pyrgos) เป็นปริศนาภูมิศาสตร์ที่ลึกลับมาจนถึงทุกวันนี้ว่า มีอยู่จริง หรือไม่มีจริง แม้ว่า Ptolemy ได้บอกพิกัดแสดงตำแหน่งเส้นรุ้งและเส้นแวงของหอคอยหินก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีใครเคยเห็นหรือพบ


Ptolemy ได้กล่าวถึงหอคอยหินบนเส้นทางสายไหมว่า เป็นจุดสังเกต (landmark) ที่สำคัญ เพราะเป็นสถานที่หยุดพักกลางทางให้นักเดินทาง พ่อค้าที่เดินทางไกล บนเส้นทางที่อันตรายและสุดโหดนี้ ได้แวะพัก เติมเสบียงอาหาร สนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันก่อนจะออกเดินทางอีก

ตำรา Geography ของ Ptolemy แปดเล่ม ได้กล่าวถึงหอคอยหินนี้ 10 ครั้ง แต่ได้กล่าวถึงพิกัดทางภูมิศาสตร์ของหอคอยเพียงครั้งเดียว

เพราะการบอกตำแหน่งของสถานที่ในเวลานั้น อาศัยข้อมูลที่ได้จากนักเดินทาง ดังนั้นความผิดพลาดในการสื่อสาร จึงมีโอกาสเกิดได้มาก จะอย่างไรก็ตาม นักภูมิศาสตร์ปัจจุบันได้เสนอสถานที่ 4 แห่ง ที่อาจจะเป็นตำแหน่งของหอคอยหินตามที่ Ptolemy ได้กล่าวถึง คือ



1. เมือง Tashkent
ซึ่งเป็นเมืองหลวงของ Uzbekistan เพราะชื่อนี้แปลว่า ปราสาทหิน หรือ เมืองหิน


2. ภูเขา Sulaiman-Too ที่เมือง Ash ใน Kyrgyzstan


3. ที่หุบเขา Karategin ในหมู่บ้าน Daraut-Kurgan ใน Kyrgyzstan ตามคำกล่าวของนักสำรวจชาวอังกฤษ โดยให้เหตุผลว่าหมู่บ้านนี้มีสภาพตรงตามคำบรรยายของ Ptolemy คือ มีช่องเขา ซึ่งต้องเดินผ่านขึ้นไปจึงจะเห็นหอคอยหิน



4. ในปี 2014 Irina Tupikova
ได้ใช้วิชาตรีโกณมิติเชิงทรงกลม มาหาตำแหน่งที่แท้จริงจากข้อมูลภูมิศาสตร์ของ Ptolemy แล้วสรุปได้ว่า เมือง Tashkurgan ในมณฑล Xinjiang ของจีน เป็นตำแหน่งที่ตั้งของหอคอยหิน

แม้จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีถ่ายภาพระยะไกลและระบบ GPS ก็ตาม ตำแหน่งของหอคอยหิน ก็ยังเป็นปริศนาที่ยังไม่มีใครตอบได้ตราบจนวันนี้ และถ้าหอคอยปริศนานี้มีจริง ณ วันนี้ มันก็อาจจะเป็นซากกองหินมากกว่าจะเป็นหอคอยหินจริงก็ได้


อ่านเพิ่มเติมจาก The Stone Tower: Ptolemy, The Silk Road, And A 2,000-Year-Old Riddle. โดย Riaz Dean จัดพิมพ์โดย Generic (January 1, 2022)


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น