เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวหลักสูตร “Commu Max ระยะที่ 2” ภายใต้โครงการต่อยอดแซนด์บ็อกซ์นวัตกรรมการสื่อสารสำหรับนโยบายภาครัฐ โดยได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต้อนรับและกล่าวถึงบทบาทของ วช. ในการสนับสนุนโครงการฯ พร้อมนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการ กล่าวรายงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพการสื่อสารของบุคลากรภาครัฐในยุคดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และตอบสนองต่อความต้องการของสังคมไทย ณ ศูนย์ส่งเสริมการวิจัยเพื่อมรดกทางวัฒนธรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)
แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี กล่าวว่า ในปัจจุบันการพัฒนาการสื่อสารมีความสำคัญเป็นอย่างมากในนามของ กระทรวง อว. การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐสามารถเพิ่มการรับรู้จากประชาชนได้อย่างถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด จึงได้มีการจัดโครงการนี้ขึ้น โดยโครงการ Commu Max ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการสร้างระบบการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ในหน่วยงานรัฐ เพื่อผลักดันนโยบายสำคัญของประเทศให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือจากประชาชน สำหรับกลยุทธ์การสื่อสารบนสื่อสังคมออนไลน์ในหน่วยงานภาครัฐ และการพัฒนาภาคีเครือข่ายเพื่อการสื่อสารนโยบายภาครัฐ โดยการนำเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ ที่จะสามารถเพิ่มขอบเขตการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจากหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนพัฒนาภาคีเครือข่ายในการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานในด้านการประชาสัมพันธ์ ในอนาคต อว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลักสูตร Commu Max จะสามารถนำไปใช้กับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ได้ต่อไปในอนาคต
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต้อนรับและกล่าวถึงบทบาทของ วช. ว่า การสนับสนุนและผลักดันโครงการพัฒนาหลักสูตร Commu Max เป็นหนึ่งในนโยบายของ กระทรวง อว. ในด้านการทำงานของภาครัฐ โดยใช้ความเชี่ยวชาญของ คณาจารย์ และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการพัฒนานวัตกรรมด้านสื่อสาร เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของโครงการ วช. ได้มีการปรึกษาหารือถึงปัญหาในปัจจุบันด้านการสื่อสารของภาครัฐที่จะส่งต่อถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อพัฒนาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถนำไปสู่ผลสำเร็จได้ และการดำเนินการของโครงการฯ ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องสามารถปรับใช้ได้กับยุคปัจจุบัน จึงได้มีการจัดทำหลักสูตรออนไลน์ หรือ e – learning ขึ้น วช. มุ่งมั่นในการส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการสื่อสารภาครัฐและสร้างประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง ด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายขอบเขตของโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมองเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรภาครัฐในด้านการสื่อสารและนวัตกรรม เพื่อให้พร้อมเผชิญกับความท้าทายและสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนางานในหน่วยงานของตนอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการ ได้ขึ้นกล่าวเปิดตัวหลักสูตร Commu Max และกิจกรรมภายในโครงการว่า โครงการต่อยอดแซนด์บ็อกซ์นวัตกรรมการสื่อสารสำหรับนโยบายภาครัฐในครั้งนี้ เป็นโครงการฯ ระยะที่ 2 สืบเนื่องจากความสำเร็จของโครงการฯ ในระยะแรก โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขอบขีดความสามารถด้านการสื่อสารของภาครัฐ ให้สามารถสื่อสารเข้าถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกยุคปัจจุบัน โดย วช. ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นเหล่านี้ จึงสนับสนุนให้จัดตั้งนวัตกรรม Commu Max ขึ้น เพื่อยกระดับการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หลักสูตร Commu Max ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสำคัญที่มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากร ด้านการสื่อสารในภาครัฐโดยในระยะแรกได้ทดลองนำร่องกับบุคลากรภายในกระทรวง อว. และหน่วยงานในสังกัด ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี ในระยะที่ 2 นี้โครงการฯ ได้พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ หรือ e - learning บนเว็บไซต์ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติให้ผู้สนใจสามารถเข้าเรียนได้ด้วยตนเอง ลดข้อจำกัดด้านเวลาให้แก่ผู้สนใจ
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา หัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานในปัจจุบัน” โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ ในวงการสื่อสารมวลชนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการสื่อสารในองค์กรภาครัฐ อาทิ ดร.ประวีณมัย บ่ายคล้อย และคุณกมลวรรณ ตรีพงษ์ ผู้ประกาศข่าวจากช่อง 3 เอชดี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ อัญธิญาน์ อมรอิสริยาชัย อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทั้ง 3 ท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารและมีประสบการณ์ในแวดวงสื่อมวลชนได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้แง่คิดในการพัฒนาการสื่อสารสำหรับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรในปัจจุบันได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ หลังจากการอบรมจะมีการเปิดให้หน่วยงานส่งผลงานเข้าประกวด เริ่มให้ส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม 2568 โดยรางวัลจะแบ่งเป็น 6 หมวด ได้แก่
1. รางวัลการสร้าง Engagement ดีเด่น
2. รางวัลการสร้างการรับรู้ดีเด่น
3. รางวัลความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น
4. รางวัลการสื่อสารดีเด่นของหน่วยงานภาครัฐส่วนภูมิภาค
5. รางวัลนวัดกรรมการสื่อสารผสมผสานการจัดการมรดกวัฒนธรรมไทยดีเด่น
6. รางวัลการสื่อสารผลงานวิจัยดีเด่น
โดยกิจกรรมทั้งหมดนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ทำงานสื่อสารในภาครัฐและเกิดเป็นเครือข่ายการสื่อสารเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพในระยะยาวได้มากขึ้น