xs
xsm
sm
md
lg

วีรกรรมและคุณกรรม กับปริศนาที่ฝังพระศพของ Alexander มหาราช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Alexander มหาราช (356-323 ปีก่อนคริสตกาล) ทรงเป็นจอมทัพผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก ผู้ไม่เคยปราชัยใครใดในการทำสงคราม ทรงได้ปกครองอาณาจักรที่เริ่มต้นตั้งแต่กรีซในยุโรป ตลอดไปจนถึงแม่น้ำสินธุ (Indus) ในเอเชีย อีกทั้งทรงครอบครองอียิปต์ในแอฟริกาด้วย ตั้งแต่มีพระชนมายุยังไม่ครบ 30 พรรษา




เมื่อย่างเข้าสู่วัยฉกรรจ์ Alexander ทรงโปรดปรานการเรียนรู้ปรัชญา รัฐศาสตร์ และการสงคราม ฯลฯ เพราะทรงได้รับการฝึกสอนโดย Aristotle (384–322 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งโลกโบราณ ประสบการณ์นี้ทำให้พระบิดา Philip ที่ 2 (382-336 ปีก่อนคริสตกาล) แห่งอาณาจักร Macedonia ทรงยินดีปรีดามากถึงกับทรงตรัสว่า การที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานพระราชบุตรมาให้พระองค์นั้น นับเป็นเรื่องประเสริฐ แต่เรื่องที่นับว่าประเสริฐยิ่งกว่าคือ ราชบุตร Alexander ทรงมีพระอาจารย์นามว่า Aristotle แห่งเมือง Stagira แม้อาจารย์จะพร่ำสอนให้ Alexander เชื่อว่า ศัตรูของกรีกทุกคนสมควรจะต้องตกเป็นทาสของชาวกรีก Alexander ก็มิได้ทรงเชื่อฟังคำสอนที่ให้แบ่งแยกชาติพันธุ์และวรรณะของมนุษย์ แต่กลับนำอารยธรรมกรีกที่รุ่งเรืองไปเผยแพร่ในดินแดนที่พระองค์ทรงยึดครอง แล้วนำอารยธรรมต่างแดน เช่น ของอินเดียและของอาหรับมาผสมผสานกับอารยธรรมกรีก จนทำให้อารยธรรมที่เกี่ยวข้องได้รับการพัฒนาในเวลาต่อมา


Alexander ทรงโปรดการอ่านวรรณกรรมชื่อ “Iliad” ของ Homer (ผู้มีชีวิตอยู่เมื่อ 8 ศตวรรษก่อนคริสตกาล) มาก เพราะทรงเชื่อว่า Achilles คือ บรรพบุรุษของพระองค์ ดังนั้นขณะเสด็จผ่านกรีซ พระองค์ได้ทรงแวะเยี่ยมคารวะหลุมฝังศพของ Achilles ที่เมือง Troy ด้วย

ตลอดพระชนมายุที่สั้นมาก คือ เพียง 33 พรรษา Alexander ทรงโปรดให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นประมาณ 70 เมือง เช่น เมือง Alexandria ในอียิปต์ เมือง Bucephalia ในปากีสถาน เมืองนี้มีชื่อตามชื่อม้าคู่ชีพ Bucephalus ของพระองค์ (ซึ่งเป็นม้าที่กลัวเงาของตัวมันเอง และพยศมาก จนไม่มีใครสามารถจะบังคับมันได้ ยกเว้น Alexander) และเมือง Jerash ใน Jordan เป็นต้น

วีรกรรมและคุณกรรมที่มีผลกระทบกว้างไกลและยั่งยืนนี้ ได้ทำให้พระองค์ทรงได้รับการเทิดทูนเสมือนเป็นเทพเจ้า ตั้งแต่ยังไม่สิ้นพระชนม์ และเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต การไร้รัชทายาทที่จะสืบทอดราชบัลลังก์ (เพราะพระราชบุตรทรงถูกสังหาร) และการแตกสามัคคี แก่งแย่งอำนาจในการปกครองระหว่างบรรดานายทัพ ได้ทำให้อาณาจักรของ Alexander ที่กว้างใหญ่ไพศาลต้องแตกสลายในที่สุด


Alexander ทรงประสูติที่เมือง Pella ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักร Macedonia เมื่อเดือนกรกฎาคม 356 ปีก่อนคริสตกาล ทรงเป็นพระโอรสในกษัตริย์ Philip ที่ 2 กับพระนาง Olympias ซึ่งเป็นพระสนม

ขณะยังทรงพระเยาว์ พระบิดาทรงกรีฑาทัพบุกอาณาจักร Persia โดยทรงกำหนดให้บุกโจมตีในเวลากลางคืน เพื่อไม่ให้ข้าศึกทันรู้ตัวและตั้งตัว แต่แสงจันทร์ข้างแรม แม้จะน้อยนิดเพียงใดก็ได้ช่วยให้ทหารเปอร์เซียสามารถเห็นกองทัพ Macedonia ที่กำลังบุกโจมตีได้ การยึดครองจึงมิสำเร็จ

เมื่อเจ้าชาย Alexander ทรงมีพระชนมายุ 20 พรรษา พระบิดา Philip ที่ 2 ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ ขณะพระองค์เสด็จไปในพิธีสยมพรของพระธิดา ในการราชฆาตครั้งนั้น ไม่มีใครรู้ตัวฆาตกร แต่นักประวัติศาสตร์สงสัยว่า พระมารดา Olympias ทรงอยู่เบื้องหลัง เพื่อให้บุตร Alexander ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทน

การเสด็จขึ้นครองราชย์ในวัยที่พระทนต์เพิ่งสิ้นกลิ่นน้ำนมนี้ ได้ทำให้แม่ทัพและขุนนางผู้ใหญ่พากันกระด้างกระเดื่อง กษัตริย์ Alexander ทรงต้องปราบปรามคนเหล่านี้จนราบคาบ เพื่อประกาศศักดาว่า พระองค์ทรงพร้อมจะเป็นผู้นำชาติต่อจากพระราชบิดา

จากนั้นก็ทรงนำกองทัพที่ประกอบด้วยทหาร 35,000 คน บุกอาณาจักร Persia อีก ตามความประสงค์เดิมของพระบิดาที่ได้เคยตั้งไว้ แต่ทรงทำได้ไม่สำเร็จ


กองทัพของ Alexander ได้เผชิญกองทัพ Persia ที่เมือง Chaeronea เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 333 ปีก่อนคริสตกาล การสู้รบ ณ บริเวณทุ่งราบ Issus ที่อยู่ใกล้แม่น้ำ Pinarus ไม่ประสบความสำเร็จ 100% เพราะจักรพรรดิ Darius ที่ 3 แห่งอาณาจักร Persia ทรงหลบหนีไปได้


จากนั้นกองทัพ Alexander ได้บุกลงทางใต้ ถึงเมือง Tyre (ปัจจุบันอยู่ใน Lebanon) ซึ่งเป็นเมืองท่าใหญ่ ของอาณาจักร Persia ที่อยู่ติดทะเล Mediterranean เมื่อเดือนกรกฎาคม 332 ปีก่อนคริสตกาล เพราะชาวเมืองได้สร้างกำแพงเมืองติดชายทะเล การยกพลขึ้นบกของทหาร จึงมิสามารถกระทำได้ หลังจากที่ใช้เวลาต่อสู้นาน 7 เดือน เมือง Tyre ก็แตก ทหารของ Alexander ได้ฆ่าชาวเมืองไป 8,000 คน แล้วจับสตรีกับเด็ก 30,000 คนไปขายเป็นทาส นี่เป็นการแสดงพระอารมณ์ที่โหดร้ายมากของ Alexander เวลาพระองค์ทรงเผชิญการต่อต้าน จากนั้นกองทัพ Alexander ก็ได้บุกยึดครองดินแดนต่างๆ ในบริเวณโดยรอบทะเล Mediterranean ไปจนถึง Egypt การเสด็จบุก Egypt ในครั้งนั้น ได้นำความปลื้มปิติมาสู่ชาวอียิปต์มาก เพราะกองทัพ Alexander ได้ช่วยปลดปล่อยชาวอียิปต์ให้รอดพ้นจากการถูกปกครองอย่างเหี้ยมโหดของทหาร Persia เหตุการณ์นี้ได้ทำให้ชาวอียิปต์ยกย่อง Alexander เป็นองค์ฟาโรห์ที่มาจากต่างแดน


ในฤดูใบไม้ผลิ เมื่อ 331 ปีก่อนคริสตกาล Alexander ได้ยกทัพกลับไปที่เมือง Tyre อีก เพื่อตามล่าจักรพรรดิ Darius ที่ 3 และได้เผชิญกองทหาร Persia ที่บริเวณทุ่งกว้าง Arbela การสู้รบที่ดุเดือด ได้ทำให้ทหาร Persia เพลี่ยงพล้ำ และ Darius ทรงฉวยโอกาสหลบหนีการถูกจับกุมไปได้อีก Alexander จึงบุกอาณาจักร Persia โดยเข้ายึดครองเมืองสำคัญ ๆ เช่น Susa และ Persepolis จากนั้นก็ได้เผาเมือง Persepolis จนราบคาบ และได้ฆ่าชาวเมืองที่ขัดขืนทุกคน และทรงโปรดให้อูฐ 5,000 ตัว ขนทรัพย์สมบัติอันมีค่าของอาณาจักร Persia กลับ Macedonia


ในเดือนกรกฎาคม 330 ปีก่อนคริสตกาล Alexander ทรงทราบข่าวว่า นายพล Bessus ซึ่งเป็นชาว Persia ได้สังหารจักรพรรดิ Darius ที่ 3 ข่าวนี้ทำให้ Alexander พิโรธมาก เพราะพระองค์ทรงคิดว่า Bessus กระทำการล่วงเกินพระราชอำนาจของพระองค์ เพราะกษัตริย์จะต้องถูกสำเร็จโทษโดยกษัตริย์ มิใช่โดยบุคคลอื่น จึงทรงลงโทษ Bessus โดยการโบยด้วยหวายในที่สาธารณะ ให้ตัดใบหูทั้งสองข้าง และตัดจมูกด้วย ตามประเพณีการลงโทษขั้นหนักที่สุดของชาว Persia

เพื่อให้การยึดครองอาณาจักร Persia เป็นไปอย่างปราศจากการต่อสู้และขัดขืนใด ๆ Alexander จึงทรงสร้างกำลังทัพให้มีทหารเป็นจำนวนมากถึง 200,000 คน แล้วทรงดำริจะขยายอาณาเขตของอาณาจักรไปทางทิศตะวันออก เพื่อยึดเมือง Samarkand (ในประเทศ Uzbekistan ในปัจจุบัน) และทรงทำได้สำเร็จเมื่อ 329 ปีก่อนคริสตกาล จากนั้นก็เริ่มเดินทัพสู่อินเดียในอีกสองปีต่อมา

การพิชิตสงคราม และได้ครองอาณาจักรที่กว้างใหญ่ค่อนโลกนี้ ได้ทำให้ Alexander ทรงได้รับการเทิดทูนว่าเป็นจักรพรรดิ Alexander มหาราช

ชาวยุโรปในสมัยเมื่อ 327 ปีก่อนคริสตกาลรู้เพียงว่า อินเดียอยู่ห่างไกลจากยุโรปมากที่สุด และเลยอินเดียออกไปทางทิศตะวันออกเป็นทะเลที่โอบล้อมแผ่นดิน ดังนั้นการเดินทางโดยเรือก็สามารถจะนำทหาร Macedonian ทุกคนกลับบ้านเกิดในยุโรปได้


ด้วยเหตุนี้ Alexander จึงยกกองทัพข้ามภูเขา Hindu Kush โดยใช้เส้นทางผ่านหุบเขา Khyber Pass ในปากีสถานเข้าสู่อินเดีย จนถึงแม่น้ำสินธุและทรงรบชนะกองทัพช้างของจักรพรรดิ Pores ที่แม่น้ำ Hydaspes ครั้นเมื่อทรงทราบว่าอินเดียมีแม่น้ำ Ganges (คงคา) ที่กว้างใหญ่กว่า แม่น้ำสินธุ พระองค์จึงทรงคิดว่า แม่น้ำคงคา คือ ทะเลที่ห้อมล้อมแผ่นดินอินเดีย โดยไม่ทรงทราบแม้แต่น้อยว่าประเทศที่อยู่ถัดจากอินเดียไปทางทิศตะวันออก คือ จีน

ขณะประทับอยู่ในอินเดีย ทหารจำนวนมากในกองทัพต่างรู้สึกเหนื่อยอ่อนและท้อแท้ เพราะต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนมาเป็นเวลานาน การขาดแคลนอาหารที่ตนคุ้นเคย และการต้องต่อสู้กับโรคระบาดร้ายต่าง ๆ ทำให้ทหารจำนวนมากปฏิเสธที่จะเดินทัพต่อ


Alexander จึงทรงบัญชา Nearchus (360-300) ซึ่งเป็นแม่ทัพ ให้สร้างเรือล่องตามแม่น้ำ Hydaspes เพื่อให้ไปถึงต้นกำเนิดของแม่น้ำ Nile และถ้าได้เห็นแม่น้ำ Nile ทุกคนก็จะรู้ในทันทีว่า เรือสามารถจะออกทะเล Mediterranean ได้ Alexander จึงทรงแบ่งทหารออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นทหารที่บาดเจ็บและป่วย ให้เดินทางกลับ Persia โดยใช้เส้นทางบก ส่วนที่สองให้ลงเรือ และอีกส่วนหนึ่งให้เดินทางบกเลียบตามฝั่งทะเล Arabian ไป เพื่อคอยเติมเสบียงอาหารให้แก่บรรดาทหารที่โดยสารอยู่บนเรือ

การเดินทางที่ยาวนานและยากลำบากนี้ ได้ทำให้ทหารจำนวนมากล้มตาย เพราะประสบปัญหาอาหารขาดแคลน และทหารที่ใช้เส้นทางบกก็ต้องต่อสู้กับนักรบท้องถิ่น ตลอดเส้นทางไป-กลับ เป็นระยะทางกว่า 40,000 กิโลเมตร แต่การเดินทางครั้งนั้น ก็ได้สร้างคุณประโยชน์มากมาย เช่น พระองค์ทรงได้สำรวจและสัมผัสพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ได้ทรงเห็นสภาพแวดล้อมที่ผู้คนในต่างแดนมีวัฒนธรรมและประเพณีที่หลากหลาย

ประสบการณ์ที่มีคุณค่านี้ ทำให้ Alexander ทรงเปลี่ยนพระดำริที่ว่า อารยธรรมกรีกเป็นอารยธรรมที่ศิวิไลซ์มากที่สุด และอารยธรรมอื่นล้วนเป็นอารยธรรมถ่อยและเถื่อน แต่เมื่อพระองค์ทรงยึดครองอาณาจักร Persia ได้ ก็ทรงตระหนักได้ว่า อารยธรรม Persia ก็เป็นอารยธรรมที่รุ่งเรืองมากเช่นกัน ดังนั้นพระองค์จึงทรงผสมผสานอารยธรรมทั้งสองเข้าด้วยกัน โดยการรับทหาร Persia เข้ามาเป็นทหารในกองทัพ Macedonia หลายพันคน และยังทรงส่งเสริมให้ทหารกรีกได้แต่งงานกับสตรีชาว Persia ด้วย สำหรับตัวพระองค์เองได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระธิดาในจักรพรรดิ Darius ที่ 3


สำหรับผลงานด้านศิลปกรรมนั้นก็เช่นกัน ในอดีตกษัตริย์หรือนักรบกรีก มักจะไว้เคราและหนวดยาว แต่คนเอเชียไม่นิยมการไว้หนวด และนิยมตัดเครายาวจนสั้น ใบหน้าจึงดูเกลี้ยงเกลา ในการผสมผสานศิลปกรรมของยุโรปกับเอเชียในประเด็นนี้ รูปปั้นของ Alexander จึงมีพระพักตร์ที่เกลี้ยงเกลา โดยปราศจากเคราและหนวดใด ๆ สำหรับเรื่องพระพุทธรูปของชาวเอเชียก็ได้มีการปรับปรุงให้จีวรมีรอยจีบพับที่เรียบร้อยในสไตล์ยุโรป ส่วนเรื่องวัฒนธรรมการบริโภคของชาวยุโรป ก็ได้มีการนำข้าวที่คนอินเดียบริโภคเป็นอาหารหลัก กลับไปปลูกในยุโรป ทำให้ข้าว งา และอินทผาลัม เป็นธัญพืชและผลไม้ที่ทหารกรีกสามารถใช้บริโภคเป็นอาหารได้


ในฤดูใบไม้ผลิเมื่อ 323 ปีก่อนคริสตกาล Alexander ได้ทรงล้มป่วยหนักเป็นเวลา 14 วัน ที่กรุง Babylon และได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 มิถุนายน เมื่อ323 ปีก่อนคริสตกาล นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า พระองค์ทรงเสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรีย แต่จารึกอักษรรูปลิ่ม ได้ระบุว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น กรุง Babylon ไม่มีการระบาดของโรคมาลาเรียแต่อย่างใด ดังนั้นมาลาเรียจึงมิใช่สาเหตุของการสิ้นพระชนม์ แต่แพทย์บางคนได้ตั้งประเด็นว่า Alexander ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน เพราะทรงโปรดปรานการดื่มสุรา แต่อาการป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อน และเสียชีวิตภายในเวลา 14 วันนั้น สั้นเกินไป นักสืบนอกประวัติศาสตร์บางคนจึงคิดว่า พระองค์ทรงถูกวางยาพิษ เหมือนพระสหาย ชื่อ Hephaestion

สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของ Alexander จึงยังเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้ และเราอาจจะรู้สาเหตุได้จากการตรวจพระศพ แต่กลับพบว่า อย่าว่าจะตรวจหาสาเหตุเลย แม้พระศพจะอยู่ ณ ที่ใด ก็ยังไม่มีใครรู้เลย

แม้ว่าเหตุการณ์สิ้นพระชนม์ของ Alexander จะยังเป็นปริศนา แต่กรณีการสิ้นพระชนม์ของ Roxanna ซึ่งเป็นพระมเหสีของ Alexander มหาราชกลับปรากฏชัดว่า พระนางถูกนายพล Cassandra สังหาร หลังจากที่ พระสวามีสวรรคตไม่นาน และพระโอรส Alexander ที่ 4 ก็ถูกสำเร็จโทษเช่นกัน ด้านพระราชมารดา Olympias ผู้ทรงวางแผนทุกเรื่อง ได้ถูกทหารนำตัวไปประหารชีวิต แต่เพชฌฆาตไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่งของนายพล บรรดาศัตรูของ Alexander จึงลงโทษแทน ด้วยการระดมปาก้อนหินใส่ จนพระนางสิ้นพระชนม์

ในวารสาร Greek Reporter ฉบับวันที่ 27 มกราคม ปี 2024 Alexandre Schoedler-Tziamouranis ได้รายงานว่า เหตุการณ์ล้ม Alexander มหาราชได้เกิดขึ้นโดยฝีมือของเหล่าจอมทัพทั้งหลายที่ไม่เห็นด้วยกับพระบรมราโชบาย ที่จะเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักร Arabia ดังนั้นเมื่อ Alexander ทรงล้มป่วย โอกาสทองจึงมาถึงบรรดานายทัพ โดยมิได้คาดหมาย


หลังการสิ้นพระชนม์ พระศพของ Alexander ได้ถูกทหารที่จงรักภักดีลักพาพระศพออกจาก กรุงBabylon ไปยังเมือง Alexandria ในอียิปต์ และไปสถานที่อื่น ๆ อีกไม่น้อยกว่า 9 แห่ง เช่น ฟาโรห์ Ptolemy ที่ 1 แห่ง Syria ได้นำพระศพไปแสดงที่เมือง Memphis ในอียิปต์ จนถึงเมื่อ 230 ปีก่อนคริสตกาล แล้วฟาโรห์ Ptolemy ที่ 2 ทรงย้ายพระศพกลับไปที่วิหาร Isis ในเมือง Alexandria อีก จนถึงยุคของฟาโรห์ Ptolemy ที่ 10 พระองค์ทรงนำพระโลงศพทองคำของ Alexander ไปหลอมเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายมาค้ำจุนอาณาจักรที่เต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง และทรงโปรดให้สร้างโลงใหม่ที่ทำด้วยหิน alabaster สีขาวใส แทน เพื่อให้ประชาชนสามารถเห็นพระโครงกระดูกได้ ด้านราชินี Cleopatra กับแม่ทัพ Octavian ก็เคยเสด็จไปคารวะพระศพของ Alexander มหาราชด้วย เพื่อให้เกิดแรงดลพระทัยในการปกครองอียิปต์

เมื่อปี 269 ก่อนคริสตกาล ได้เกิดสงครามระหว่างอาณาจักร Syria กับ Egypt สุสานฝังพระศพของ Alexander จึงถูกปิดผนึกไม่ให้เกิดความเสียหาย และไม่ให้โจรเข้ามาขโมยทรัพย์สมบัติที่อยู่ในสุสาน

ถึงปี 365 เมือง Alexandria ได้ถูกคลื่นสึนามิถล่ม ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเมือง บรรดานักบวชจึงนำพระศพไปซ่อนในที่ ๆ ไม่มีใครรู้ ทำให้พระศพได้หายไปจากประวัติศาสตร์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ในวารสาร Journal of Archaeological Science ฉบับวันที่ 28 มกราคม ปี 2024 นี้ มีรายงานว่าทีมนักโบราณคดีภายในการนำของ Antonis Barsiokas ซึ่งได้เริ่มขุดเนินดินที่เมือง Vergina บนคาบสมุทร Balkan ตั้งแต่ปี 1977 และได้พบว่า สถานที่ที่พระบิดาของ Alexander มหาราชทรงถูกปลงพระชนม์ และได้รับการยกย่องโดย UNESCO ให้เป็นมรดกโลกนั้น เป็นสุสานอายุ 2,300 ปี ที่มีหลุมฝังศพ 3 หลุม ซึ่งภายในหลุมมีโครงกระดูกของพระบิดา พระมารดาเลี้ยง พระเชษฐา และพระอนุชา ตลอดจนถึงพระราชบุตรของ Alexander มหาราช นอกจากนี้ก็ยังได้พบสิ่งของมีค่าและเครื่องใช้ส่วนพระองค์ เช่น เสื้อเกราะ และโล่ป้องกันตัวด้วย


ทีมนักวิจัยจากกรีซ สเปน และสหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์โครงสร้างของกระดูก โดยใช้เทคโนโลยี macrophotography (การถ่ายภาพวัตถุขนาดใหญ่), X-rays และการวิเคราะห์ทางสรีระวิทยาของกระดูก จนได้พบว่า

ในหลุมหมายเลข 1 มีกระดูกเข่าของชายมีอาการบาดเจ็บ และมีกระดูกของสตรีคนหนึ่ง กับทารกเกิดใหม่ ข้อมูลกะโหลกและเข่าสามารถระบุชัดได้ว่า ผู้ชาย คือ กษัตริย์ Philip ที่ 2 แห่ง Macedon ผู้ถูกสังหารเมื่อ 336 ปีก่อนคริสตกาล และผู้หญิง คือ พระมเหสี Cleopatra ในพระองค์ ส่วนทารกเกิดใหม่ คือ พระโอรสของพระนาง Cleopatra ดังนั้นเมื่อพระมารดา Olympias ของรัชทายาท Alexander ทรงทอดพระเนตรเห็นโอรสของพระเหสีที่เกิดใหม่ จึงทรงวางแผนฆ่าทั้งสามพระองค์พร้อมกัน เพื่อให้ Alexander ของพระนางได้เสด็จขึ้นครองราชย์ทันที แต่นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า ทั้งสามพระองค์สิ้นพระชนม์ เพราะทรงถูกฝังทั้งเป็น

หลุมศพหมายเลข 2 เป็นของ Adea Eurydice ซึ่งเป็นพระมเหสีของกษัตริย์ Arrhidaeus ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของ Alexander หลักฐานที่เป็นกระดูกก้นกบที่กร่อนมาก แสดงให้เห็นว่าพระนางโปรดการทรงม้าเป็นเวลานานและบ่อย ตามประเพณีของนักรบสตรีชาว Macedonian ในเวลานั้น การพบเกราะผู้ชายฝังอยู่ในหลุมเดียวกัน แสดงว่าเกราะเป็นของกษัตริย์ Arrhidaeus
ส่วนหลุมฝังศพที่ 3 เป็นของ Alexander ที่ 4 ซึ่งเป็นพระราชบุตรของ Alexander มหาราช

จึงเป็นว่า ยังไม่มีใครพบพระศพของ Alexander มหาราช และการไม่พบพระศพแม้วันเวลาจะผ่านไปนานถึง 2500 ปี ก็อาจจะเป็นไปตามความคิดของชาวกรีกโบราณหลายคนที่เชื่อว่า พระองค์ได้ฟื้นคืนชีพแล้ว “Alexandros Anesti”


อ่านเพิ่มเติมจาก “The identification of the Royal Tombs in the Great Tumulus at Vergina, Macedonia, Greece: A comprehensive review” โดย Antonis Bartsiokas และคณะ ฉบับที่ 52 ประจำเดือนธันวาคม 2023


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น