ความสามารถของมนุษย์ในการประดิษฐ์อักษรเพื่อใช้เขียนเป็นภาษาสำหรับการสื่อสาร นับเป็นพรสวรรค์ประการหนึ่งที่ได้เกิดขึ้น บนเส้นทางวิวัฒนาการอันแสนยาวนานหลายล้านปี เพราะสิ่งประดิษฐ์นี้ได้ส่อแสดงข้อมูล เรื่องความเป็นอยู่ ความนึกคิด และความก้าวหน้าของอารยธรรม ตลอดจนถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมและทางธรรมชาติในอดีตตลอดเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้บรรพชนได้ส่งต่อประวัติเหล่านี้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้และมองเห็นเส้นทางที่จะพัฒนาสังคมต่อไปในอนาคต
แต่ภาษาที่มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้สรรค์สร้างจารึกนั้น หลายภาษาได้สาบสูญหายจากโลกไปเป็นเวลานานแล้ว ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไปๆ คนที่สามารถอ่านจารึกโบราณออกก็จะยิ่งไม่มี เพราะได้ล้มตายไป ดังนั้นเรื่องราวต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในจารึก ก็จะไม่มีใครจะอ่านออกหรือเข้าใจได้อีกต่อไป และนั่นก็หมายความว่าองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสังคมในอดีตก็ได้สูญหายไปด้วย
นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และนักวิทยาศาสตร์ ได้พบหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ในดินแดนส่วนต่าง ๆ ของโลก ได้สร้างภาษาของชาติตนขึ้นอย่างเป็นอิสระจากกัน คือ ไม่มีอารยธรรมใดลอกเลียนแบบกัน และในเวลาต่อมา แม้อารยธรรมของชาติจะล่มสลาย แต่ภาษาของชนชาตินั้นก็จะยังปรากฎเป็นหลักฐานคงอยู่ต่อไป แม้ไม่มีใครจะใช้มันอีกแล้วก็ตาม
นักประวัติศาสตร์ได้พบว่า แหล่งกำเนิดของภาษาที่สำคัญของโลกโบราณมีหลายแห่ง เช่น ดินแดน Mesopotamia ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศ Iraq และ Syria ในอดีตเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน ผู้คนในแถบนั้น (ชาว Sumerian, Akkadian, Babylonian) เขียนภาษาโดยใช้อักษรรูปลิ่ม (cuneiform) ด้าน ชาวอียิปต์โบราณ ก็ได้พัฒนาอักษรรูปภาพ (hieroglyph) ขึ้น เพื่อใช้บันทึกบทสวดมนต์สรรเสริญเทพเจ้า และพระบรมราชโองการของฟาโรห์ ฯลฯ และใน จีน เมื่อ 3,300 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงปลายของราชวงศ์ Shang (1300-1050 ปีก่อนคริสตกาล) ปราชญ์จีนได้ประดิษฐ์อักษรจีน เพื่อใช้ในการเขียนและอ่านภาษาจีน เพราะได้มีการขุดพบอักษรจีนโบราณที่ถูกจารึกลงบนกระดองเต่าและกระดูกวัว ณ สุสานในเมือง Anyang ที่อยู่ห่างจากปักกิ่งไปทางใต้ประมาณ 500 กิโลเมตร การค้นพบและการอ่านจารึกเมื่อปี 1899 ได้ทำให้โลกรู้ประวัติศาสตร์และอารยธรรมจีนในอดีตเพิ่มขึ้นอีกหลายศตวรรษ กระนั้นจารึกจีนอีกหลายแผ่นก็ยังไม่มีการถอดความ เพราะไม่มีใครอ่านออก
ใน ดินแดน Mesoamerica ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนที่เป็นประเทศ Mexico ในปัจจุบัน จนถึงประเทศ Panama และ Costa Rica ก็มีการพบอักษรภาพ Maya, Aztec และ Olmec ที่มีอายุมากถึง 2,900 ปี สำหรับหนังสือภาพที่แสดงภาษา Maya ก็ยังมีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่มีเป็นจำนวนไม่ถึง 20 เล่ม โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมประวัติศาสตร์ ประเพณีการสมรส พิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนถึงความรู้ทางดาราศาสตร์ของชนเผ่าต่างๆ หนังสือภาพเหล่านี้ มักทำด้วยหนังกวาง และเปลือกไม้
ที่ ลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus) ในดินแดนปากีสถานและในพื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียก็มีอารยธรรมโบราณ Harappa ซึ่งเคยรุ่งเรืองมากในช่วง 2,600-1,900 ปีก่อนคริสตกาล แล้วอารยธรรมนี้ก็ได้ล่มสลายไป เหลือไว้แต่จารึกประมาณ 5,000 ชิ้น จารึกเหล่านี้มีสัญลักษณ์ประมาณ 400 สัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจใช้แทนคำหรือพยางค์ในภาษา Harappa แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถถอดความได้เช่นกัน
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ปี 2024 ที่ผ่านมานี้ ในที่ประชุมประจำปีของสมาคมการวิจัยในต่างแดนของอเมริกา Glenn Schwartz แห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ได้ประกาศข่าวการพบทรงกระบอกที่ทำด้วยดินเหนียว และยาวเท่านิ้วมือคน ในสุสานของเมืองโบราณ Umm el-Marra ใน Syria ซึ่งมีริ้วรอยอยู่ที่ผิวทรงกระบอกเป็นตัวอักษรต่างๆ การวัดอายุของทรงกระบอกด้วยเทคโนโลยีคาร์บอน-14 (C-14) แสดงให้เห็นว่า มันถูกสร้างขึ้นเมื่อ 2,400 ปีก่อนคริสตกาล จึงนับเป็นจารึกบนแผ่นดินเหนียวที่มีอายุมากที่สุดในโลก เพราะโบราณยิ่งกว่าสถิติโลกเดิม 500 ปี
ในสุสานที่พบทรงกระบอก 4 ชิ้นนี้ ยังได้พบโครงกระดูกคน 4 โครง อัญมณี เช่น ทองคำ และเงิน อุปกรณ์ครัว เช่น ถ้วยชาม และพบปลายหอกแหลมที่ใช้เป็นอาวุธ สำหรับการป้องกันตัวด้วย รอยจารึกที่ปรากฏอยู่ที่ผิวทรงกระบอกทั้ง 4 ก็ยังไม่มีใครอ่านออก จึงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นภาษาที่ใช้บอกว่าภายในทรงกระบอกมีอะไรบ้าง หรืออาจใช้บอกชื่อคนที่เป็นเจ้าของ หรือใช้บอกแหล่งที่ผลิตทรงกระบอกก็ได้ และเมื่อยังไม่มีใครอ่านจารึกออก โลกจึงยังไม่รู้ที่มาของทรงกระบอกดังกล่าว
ประเด็นที่น่าสนใจต่อไป คือ ถ้าใครสามารถอ่านจารึกออก เขาก็จะรู้ในทันทีได้ว่า แหล่งกำเนิดของภาษานั้น อาจจะให้กำเนิดภาษาใหม่ใด ที่แตกต่างไปจากภาษาเดิมได้บ้าง
ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า การพบจารึกโบราณมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติมาก และการอ่านจารึกให้ออกก็มีความสำคัญยิ่งกว่าไปอีก
ในอดีต เมื่อ 226 ปีก่อน คือ ในปี 1798 ซึ่งเป็นเวลาหลังการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ในฝรั่งเศส Napoleon Bonaparte (1769-1821) รัฐบุรุษฝรั่งเศสได้กรีฑาทัพทหาร 50,000 คน และม้า 800 ตัว จากฝรั่งเศสเพื่อปลดปล่อยอาณาจักรอียิปต์ให้รอดพ้นจากการปกครองของกองทัพ Ottoman จากนั้นก็ได้นำกองทัพนักวิชาการ เช่น นักประวัติศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ ฯลฯ ตลอดจนศิลปินจำนวนมาก เพื่อให้จิตรกรเหล่านั้นได้วาดภาพพีระมิด มัมมี่ สฟิงซ์ และภาษาโบราณที่ปรากฏอยู่บนผนังวิหาร ฯลฯ (เพราะในสมัยนั้น โลกยังไม่มีกล้องถ่ายรูป) ปราชญ์ทั้ง 150 คน มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ศึกษาอารยธรรมอียิปต์ทุกด้านให้มากที่สุดและละเอียดที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ และถ้าเห็นวัตถุโบราณใดมีคุณค่าเพียงพอที่จะวิเคราะห์ต่อ ก็ให้นำสิ่งเหล่านั้นกลับประเทศฝรั่งเศสด้วย
จากบรรดาโบราณวัตถุทั้งหมดที่ปราชญ์ฝรั่งเศสนำกลับไปในครั้งนั้น ไม่มีชิ้นใดมีความสำคัญเท่าศิลา Rosetta ที่นายทหารชื่อ Pierre Francois Bouchard (1843–1848) พบ ขณะขุดสร้างป้อมใกล้เมือง Al-Rashid (ที่ชื่อ Rosetta ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งจารึกนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 196 ปีก่อนคริสตกาล ตัวศิลานี้ทำด้วยหิน basalt ที่สูง 112.3 เซนติเมตร กว้าง 76 เซนติเมตร และหนา 28 เซนติเมตร
จารึกที่ปรากฏบนศิลา Rosetta ได้อ้างถึงพระบรมราชโองการที่ฟาโรห์ Ptolemy ที่ 5 (205-180 ปีก่อนคริสตกาล) ผู้ทรงพระนามว่า Epiphanes ทรงกำหนดให้ชาวอียิปต์จัดงานเฉลิมฉลอง เนื่องในวาระครบรอบปีแห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ อักษรที่ปรากฏอยู่บนจารึกมีสามภาษา โดยผิวหน้าของศิลาได้ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนบนเป็นอักษรรูปภาพ (hieroglyph คำนี้แปลว่า สำหรับนักบวช) ส่วนกลาง คือ ภาษา demotic (ที่ใช้กันโดยชาวอียิปต์ทั่วไปในเวลาต่อมา) และส่วนล่างสุด คือ ภาษากรีก (ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในอียิปต์ เพราะ อียิปต์เคยตกอยู่ในความปกครองของจักรพรรดิ Alexander มหาราช)
เพราะเนื้อหาที่เขียนในภาษาทั้งสามเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นใครก็ตามที่สามารถอ่านภาษาหนึ่งออก ก็จะเข้าใจเนื้อหาที่เขียนในอีกสองภาษาได้
เมื่อครั้งที่ทหารฝรั่งเศสพบศิลา Rosetta ในปี 1799 นั้น กองทัพเรือของฝรั่งเศสได้ขนศิลา Rosetta กลับ Paris แต่เรือได้ถูกกองทัพอังกฤษสกัดกั้น แล้วได้ยึดศิลา Rosetta ไป เพื่อนำกลับอังกฤษ และในที่สุดสมเด็จพระเจ้า George ที่ 3 แห่งอังกฤษได้ทรงโปรดให้นำศิลาไปติดตั้งที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (British Museum) ณ วันนี้ศิลา Rosetta เป็นโบราณวัตถุสำคัญที่นักทัศนาจรทุกคนเวลาไปเยือนพิพิธภัณฑ์นี้จะต้องไปดูอย่างชื่นชม เหมือนกับเวลาใครไปพิพิธภัณฑ์ Louvre ที่ Paris ก็จะต้องแวะไปดู Mona Lisa
ในเวลาต่อมา ได้มีนักวิชาการด้านภาษาโบราณหลายคนพยายามอ่านจารึกนี้ เพราะถ้าใครอ่านออกคือเข้าใจความหมาย และรู้โครงสร้างของภาษาอียิปต์โบราณ เขาก็จะรู้ประวัติศาสตร์อียิปต์ที่ผ่านมาโดยตลอด เพราะภาษาอักษร hieroglyph มีปรากฏอยู่ทั่วทุกหนแห่งในอียิปต์ เช่น ตามผนังของพีระมิด และวิหารอาราม ตลอดจนบนกระดาษ papyrus ที่ถูกเก็บสะสมในห้องสมุด Alexandria เป็นต้น
เพราะหลังจากวันที่คนรู้ภาษา hieroglyph คนสุดท้ายได้ตายจากโลกไป ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 แล้ว ก็ไม่มีนักอ่านภาษาโบราณนี้คนใดสามารถอ่านภาษานี้ออกอีก เป็นเวลานานถึง 1,400 ปี และก็มี Thomas Young (1773-1829) ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ผู้ได้ทดลองให้โลกเห็นว่า แสงสามารถแสดงพฤติกรรมการแทรกสอดของคลื่นได้ และการที่ Young รู้ภาษาต่างชาติมากถึง 14 ภาษา เช่น กรีก ละติน ฝรั่งเศส อิตาเลียน อารบิก เปอร์เซีย ตุรกี ซีเรีย Samaritan และภาษา Aramaic (ที่ใช้ในการเขียนคัมภีร์ไบเบิล) เขาจึงได้รับมอบหมายให้อ่านจากรึกบนศิลา Rosetta แต่เมื่อ Young อ่านจารึกไปไม่นาน เขาก็พบคำ Ptolemy, Cleopatra ฯลฯ จึงคิดไปว่า เนื้อหาในจารึกคงมีแต่พระนามองค์ฟาโรห์เท่านั้น จึงตัดสินใจเลิกอ่าน
อีก 8 ปีต่อมา คือ ในปี 1822 Jean-François Champollion (1790-1832) ซึ่งเป็นเด็กที่อ่านหนังสือออกได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่มีอายุ 5 ขวบ และเป็นผู้ที่แต่งตำราเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณได้เมื่ออายุ 16 ขวบ เป็นศาสตราจารย์ตอนอายุ 18 ปี และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกเมื่ออายุ 19 ปี ในที่สุด Champollion ก็ได้ประสบความสำเร็จในการอ่านภาษาอักษรรูปภาพ (hieroglyph) ออก เมื่อตระหนักรู้ว่า ภาพต่าง ๆ แสดงความคิด (ideogram) มิใช่เป็นคำๆ เช่น เวลาเห็นที่ประตูห้องมีภาพผู้ชายยืน ก็รู้ในทันทีว่า นั่นคือ ห้องน้ำผู้ชาย เป็นต้น
การมีความรู้ภาษาโบราณหลายภาษา ได้ทำให้ Champollion สามารถถอดความหมายและรู้หลักการใช้ภาษารูปภาพ hieroglyph ได้ ความสำเร็จในครั้งนั้น ได้ทำให้เขาได้รับฉายาว่าเป็นบิดาของวิทยาการอียิปต์วิทยา (Egyptology)
นอกจากศิลา Rosetta แล้วที่ British Museum ยังมีจารึกอักษรรูปลิ่มอีกเป็นจำนวนมากร่วม 30,000 ชิ้นด้วย จารึกเหล่านี้เคยถูกเก็บอยู่ที่ห้องสมุดในกษัตริย์ Ashurbanipal แห่งอาณาจักร Assyria (ซึ่งอยู่ในอิรักปัจจุบัน) และห้องสมุดนี้อาจจะยิ่งใหญ่กว่าห้องสมุด Alexandria ในอียิปต์ก็ได้
จารึกอักษรรูปลิ่ม (cuneiform) นั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้จากการใช้มีดตัดลำต้นอ้อในแนวเฉียง ทำให้เกิดปลายแหลมที่สามารถใช้เจาะลึกลงไปในแผ่นดินเหนียวที่ยังอ่อนตัวได้ และเมื่อนำแผ่นดินเหนียวนั้นไปตากแดดจนแห้ง ก็จะได้จารึกอักษรรูปลิ่ม
ในปี 1850 Henry Creswicke Rawlinson (1810-1895) นักภาษาโบราณชาวอังกฤษ กับ Edward Hincks (1792–1866) สามารถถอดความในจารึกอักษรรูปลิ่มได้ โดยการอ่านจากบนลงล่าง จากขวาไปซ้าย และได้พบว่าจารึกที่พบ ณ เมือง Behistun ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศ Persia มีสามภาษาปรากฎอยู่บนจารึก นั่นคือ ภาษา Persia โบราณ ภาษาชาว Babylon และภาษาชาว Elamite กระนั้น Rawlinson ก็ต้องใช้เวลานานถึง 20 ปี จึงสามารถถอดความได้สำเร็จ และพบว่า แผ่นจารึกส่วนมากเป็นบันทึกข้อมูลของทางราชการ แต่ก็มีรายงานวิทยาศาสตร์ ศาสนา และวรรณกรรมบ้าง ผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งที่ได้รับการแปล คือ ตำนาน “Epic of Gilgamesh” ที่เขียนเป็นกลอน ซึ่งได้กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมโลก เหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมโลกที่ Noah ในคัมภีร์ไบเบิลได้เผชิญ การอ่านตำนานเรื่องนี้ออก นอกเหนือจากการได้ยินและได้ฟังจากการเทศนาในโบสถ์แล้ว ได้ทำให้โลกรู้เกี่ยวกับศาสนาและประวัติศาสตร์ในดินแดน Mesopotamia ด้วย ดังนั้นเมื่อ George Smith (1840-1876) ซึ่งเป็นภัณฑารักษ์ที่ British Museum สามารถอ่านข้อความทั้งหมดได้ เขาถึงกับกระโดดขึ้นลง และวิ่งพล่านไปรอบห้อง ด้วยความตื่นเต้นเป็นที่สุด
อักษรภาพรูปลิ่มได้ถือกำเนิดในดินแดนที่อยู่ทางใต้ของ Iraq เมื่อประมาณ 2,000 ปี ก่อนที่กษัตริย์ Ashurbanipal จะทรงสร้างห้องสมุดขึ้น โดยทรงมีจุดประสงค์จะให้เจ้าเมืองสามารถใช้จารึกในการบริหารราชการในเมืองได้ และมีบางจารึกที่แสดงบัญชีของทางการที่กำหนดการแจกจ่ายเบียร์ให้แก่ประชาชนในเมือง อักษรที่เป็นรูปภาพแทนที่จะเขียนเป็นคำ ๆ เช่น เบียร์ ก็แสดงเป็นรูปภาชนะรูปถ้วย และมีภาพคนที่กำลังกินอาหาร
ในอินเดีย มีเสาพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ทำด้วยหินทราย และรอบเสามีพระบรมราชโองการในพระองค์ ตั้งแต่เมื่อ 265-238 ปีก่อนคริสตกาล เป็นอักษรจารึกภาษาพราหมณ์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และพระบรมราโชบายที่พระองค์จะทรงปกครองประชากรอินเดียให้มีความสุข
เสาสูงนี้ มีรูปปั้นสัตว์หลายชนิด เช่น มีสิงโต 4 ตัวอยู่บนยอดเสา ทุกตัวหันหน้าออก โดยมีหลังชนกัน สิงโตแสดงความกล้าหาญ การมีพลัง และความมั่นพระทัยขององค์จักรพรรดิ บางเสามีช้างเผือกเป็นสัตว์ที่พระนางสิริมหามายาซึ่งเป็นพระมารดาในพระพุทธเจ้าได้ทรงพระสุบิน เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ มีวัวซึ่งเป็นสัตว์ในจักรราศีพฤษภ (Taurus) อันเป็นเดือนที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ มีม้า ซึ่งเป็นราชพาหนะขณะเสด็จหนีออกบวช
เสาหินนี้เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอินเดียนับถือกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะเสาหินที่เมือง Sarnath ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา นั้นมีรูปจักร (chakra) ที่ได้ถูกนำมาใช้บนธงชาติของอินเดียด้วย
ที่ ลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus) ในปากีสถานและอินเดีย มีอารยธรรม Harappa ที่ได้เกิดขึ้นเมื่อ 5,300 ปีก่อน และได้ล่มสลายไปตั้งแต่เมื่อประมาณ 3,400 ปีก่อน เหลือไว้แต่ซากโบราณวัตถุที่เป็นตราประทับ เครื่องประดับ และตัวอาคารเมือง ฯลฯ โดยเฉพาะตราประทับ (seal) นั้น มีลวดลายเป็นภาพสัตว์และลายเส้นที่ยังไม่มีใครเข้าใจความหมาย สำหรับรูปสัตว์ที่ปรากฏอยู่บนตรานั้น มักเป็นรูป unicorn ที่มีเขาเดียว นักวิชาการสันนิษฐานว่า ตราประทับนี้ เป็นตราที่พ่อค้าในเมือง Harappa และ Mohenjo-daro ใช้ในการค้าขาย
จารึกสุดท้ายที่น่าสนใจ คือ จารึก Phaistos ที่นักโบราณคดีชาวอิตาเลียนชื่อ Luigi Pernier (1874-1937) พบเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ปี 1908 ในห้องใต้ดินของพระราชวังแห่งอารยธรรม Minoan ที่เมือง Phaistos ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะ Crete และขณะนี้ จานจารึก Phaistos อยู่พิพิธภัณฑ์ Heraklion บนเกาะ Crete
หลังจากที่ Pernier ได้พบจานจารึกแล้ว อีกหนึ่งปีต่อมา Arthur Evans (1857-1941) ซึ่งเป็นนักโบราณคดีชาวอังกฤษ ก็ได้พบอารยธรรม Minoan ซึ่งมีการสร้างพระราชวัง Knossos ที่อยู่ทางตอนเหนือของเกาะ Crete และ Evans ก็ได้นำภาพสเก็ตช์ของจาน Phaistos ออกเผยแพร่ในหนังสือชื่อ “The Palace of Minos at Knossos” ที่เขาเขียน เพื่อเผยแพร่ในปี 1921 จากนั้นโลกก็ได้ประจักษ์ว่า จานจารึก Phaistos นี้ ทำด้วยดินเหนียวเนื้อละเอียด และมีลักษณะเป็นจานกลม ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 16 เซนติเมตร หนา 1.9 เซนติเมตร หน้าจานทั้งสองด้านมีภาพเขียนเรียงกันเป็นเกลียวก้นหอย โดยเริ่มจากขอบนอกแล้ววนเวียนเข้าสู่จุดศูนย์กลางของจาน จานด้านหนึ่งมีเกลียวที่ถูกแบ่งออกเป็น 31 ช่อง และอีกด้านหนึ่งมีเกลียวที่ถูกแบ่งออกเป็น 30 ช่อง โดยแต่ละช่องมีรูป 3-4 รูป ทำให้จานมีรูปทั้งหมด 242 รูป และเป็นรูปที่แตกต่างกัน 45 รูป
รูปต่างๆ อาจจะแทนหมู่พยางค์ และเวลาอ่านจารึก คนอ่านจะต้องอ่านจากขอบก่อน และวนเข้าข้างในจาน รอยจารึกที่ปรากฏบนจาน แสดงว่าเกิดจากการกดวัตถุต้นแบบลงบนแผ่นดินเหนียวที่ยังอ่อนตัว รอยมิได้เกิดจากการแกะ เจาะ เหมือนรูปอักษรลิ่มอื่นๆ ภาพบนจานเป็นรูปสัตว์ พืช อาวุธ และอุปกรณ์เครื่องใช้
ปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถอ่านจารึกนี้ออก การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยอ่าน ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะคอมพิวเตอร์ต้องการข้อมูลจำนวนมาก เพื่อนำมาประมวลผลเชิงสถิติ แต่โลกมีจานจารึก Phaistos เพียงจานเดียว
ดังนั้นการจะอ่านจารึกให้ออก นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ก็จะต้องขุดหาแผ่นจารึกรูปแบบเดียวกันเพิ่มเติม และถ้าโชคดีได้พบแผ่นจารึกที่มีภาษาอื่นอยู่ด้วย ก็จะช่วยในการถอดใจความได้ ความสำเร็จจึงขึ้นกับโชคของผู้ขุดและเวลาที่ใช้ในการถอดความด้วย
อ่านเพิ่มเติมจาก “Unsolved!: The History and Mystery of the World's Greatest Ciphers from Ancient Egypt to Online Secret Societies.” โดย Craig P. Bauer จัดพิมพ์โดย Princeton University Press ปี 2017
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์