การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้ ได้ค้นพบพืชในวงศ์กระดังงา จากจังหวัดนราธิวาส มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Drepananthus khaosoi Damth. & Chaowasku ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Anales del Jardín Botánico de Madrid ปีที่ 81 ฉบับที่ 1 หมายเลขบทความ e144 ได้ค้นพบเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยทีมนักวิจัยที่ค้นพบ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.อานิสรา ดำทองดี นักวิจัยหลังปริญญาเอก พร้อมทั้ง ดร.ฉัตรธิดา วิยา นักวิชาการ สังกัดองค์การสวนพฤกษศาสตร์ นายอับดุลรอแม บากา นักวิจัยอิสระ และคณะนักวิจัย
ในการตั้งชื่อคณะนักวิจัยได้ตั้งคำระบุชนิด “khaosoi” และชื่อไทย “ดอกข้าวซอย” ให้กับพืชชนิดนี้ เนื่องจาก กลีบดอกมีความเรียวยาวและมีสีเหลืองเหมือนเส้นข้าวซอย ที่เป็นอาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งนี้ งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Annocaceae) ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน”
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ดอกข้าวซอย” เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15 เมตร นอกจากมีกลีบดอกที่เรียวยาวและมีสีเหลืองเหมือนเส้นข้าวซอยแล้ว ดอกของพืชชนิดนี้ยังมีกลิ่นหอมแรง เมื่อออกดอกพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามมาก และส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปได้ไกล จากการสำรวจพบ “ดอกข้าวซอย” ไม่ถึง 10 ต้น ซึ่งขึ้นอยู่ริมสวนยางพาราและสวนผลไม้นอกเขตอนุรักษ์ สุ่มเสี่ยงที่จะถูกแผ้วถางในอนาคต จึงจัดเป็นพืชใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ที่ทุกภาคส่วนควรช่วยกันวางแผนอนุรักษ์พืชชนิดนี้ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลก
นอกจากนี้ ยังควรพัฒนาต้นดอกข้าวซอยเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจากมีทรงพุ่มสวย ปลูกเลี้ยงง่าย โตเร็ว ดอกสวยแปลกตาและมีกลิ่นหอมแรง และควรมีการศึกษาสารทุติยภุมิและฤทธิ์ทางชีวภาพจากต้นดอกข้าวซอย เพื่อใช้ประโยชน์เป็นพืชสมุนไพรต่อไป
การศึกษาในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เพื่อดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Annocaceae) ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” โดยกองทุน ววน. มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบาย สาธารณะ และสนับสนุนการนําผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน