“ศุภมาส” เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย อว. for AI เรียกประชุมคณะทำงานนัดแรก ดันใช้ AI เป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศทุกมิติ เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย ทั้งยกระดับการศึกษา พัฒนากำลังคนและนวัตกรรม
เมื่อวันที่ 15 พ.ย.น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (อว. for AI) เป็นประธานการประชุมคณะทำงาน อว. for AI ครั้งที่ 1/2567 โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะทำงานฯ พร้อมคณะทำงานฯ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วม ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว. (โยธี)
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย อว. for AI ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางเพื่อผลักดันการใช้ AI เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) AI for Education เพื่อส่งเสริมการใช้ AI ในการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนไทยอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน (2) AI Workforce Development โดยเร่งการผลิตกำลังคนและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้าน AI ทั้งในระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน ผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในทุกระดับ เพื่อสร้างแรงงานคุณภาพที่ตอบสนองต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม AI และ (3) AI Innovation เพื่อสนับสนุนการนำนวัตกรรม AI มาใช้ให้เกิดการใช้งานจริงในทุกภาคส่วน ตั้งแต่การพัฒนามาตรฐาน การทดสอบ ไปจนถึงการส่งเสริมการใช้งานในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมเสนอโครงการนำร่องที่จะดำเนินการร่วมกัน โดยหลังจากนี้จะร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการผลักดันการดำเนินงานในทุกมิติอย่างเต็มที่ เพื่อนำศักยภาพด้าน AI มาเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับภาคการศึกษาและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
“นโยบายด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา เนื่องจาก AI เป็นเทคโนโลยีที่กำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยศักยภาพของ AI ที่สามารถช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ เช่น ในเรื่องการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล (Personalized Learning) ซึ่ง AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เรียนแต่ละคน เช่น ความสามารถ จุดแข็ง จุดอ่อน และรูปแบบการเรียนรู้ เพื่อปรับเนื้อหาและวิธีการสอนให้เหมาะสมกับความสามารถและความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน ขณะเดียวกัน AI ก็สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษาทั้งการวิเคราะห์ผลการเรียนของนักเรียนและการลดภาระงานที่ AI สามารถช่วยดำเนินการได้ นอกจากนี้ AI ยังสามารถเข้าถึงผู้เรียนจำนวนมากได้ ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในด้านการศึกษา และยังสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ดังนั้น AI จึงเป็นเรื่องที่กระทรวง อว. ให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะการเตรียมคนในการปรับตัวให้รู้เท่าทันปัญญาประดิษฐ์ (AI Literacy) และจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Al Ethics) เพื่อสร้างความตระหนักถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม“ น.ส.ศุภมาส กล่าว