xs
xsm
sm
md
lg

ประวัติการถือกำเนิดของเนบิวลา กับการระเบิดของดาวฤกษ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 1572  ... Tycho Brahe (1546–1601) ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ หนุ่มวัย 26 ปี ชาวเดนมาร์กได้เห็นดาวดวงหนึ่งเปล่งแสงสว่างจ้ามากท่ามกลางดาวดวงอื่นๆ บนท้องฟ้า ณ ตำแหน่งที่ Tycho ไม่เคยเห็นว่ามีดาวใดๆ อยู่ จึงรู้สึกประหลาดใจในความสามารถของตนเองเรื่องการสังเกตดาวมาก จึงขอให้คนใช้ที่บ้านมาช่วยดู ซึ่งคนใช้ก็ยืนยันว่า ตาของ Tycho มิได้ฝาด เพราะสิ่งที่เห็น คือ ดาวจริงๆ




การเห็นเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้ทำให้คนหลายคนในเวลานั้น ตระหนักได้ว่า คำสอนของ Aristotle (384-322 ปีก่อนคริสตกาล) มิได้เป็นความจริงทั้งหมดอีกต่อไป เพราะ Aristotle เคยสอนไว้ว่า สรรพสิ่งบนสวรรค์ อันเป็นสถิตสถานของพระผู้เป็นเจ้า จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง สืบเนื่องจากเหตุผลที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนสวรรค์อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมแล้ว ดังนั้นการที่ Tycho ได้เห็นดาวดวงใหม่อุบัติขึ้นอย่างไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย จึงขัดกับคำสอนของ Aristotle อย่างสิ้นเชิง


ใน หนังสือ De Nova Stella (About the New Star) ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1573 Tycho ได้กล่าวถึงดาวฤกษ์ดวงใหม่ (ซึ่งทุกคนเรียก Tycho star) ว่า อยู่ในกลุ่มดาว Cassiopeia ที่มีดาวฤกษ์เรียงกันเป็นตัวอักษร W

กระนั้นคนส่วนใหญ่ ซึ่งศรัทธาในคำสอนของ Aristotle ก็ยังไม่เชื่อว่ามันเป็นดาวฤกษ์ดวงใหม่ แต่คิดว่ามันเป็นดาวหางที่พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งมาจากสวรรค์ เพื่อเตือนภัยล่วงหน้าที่จะบังเกิดบนโลกมนุษย์ เพราะมนุษย์ได้ทำบาปกรรม และประพฤติชั่วอย่างแพร่หลาย และร้ายแรง

แต่ Tycho ไม่เชื่อว่า สิ่งที่เขาเห็นเป็นดาวหาง เพราะถ้ามันเป็นดาวหางจริง ดาวจะต้องเคลื่อนที่ คือ ต้องไม่อยู่กับที่ และควรจะโคจรอยู่ระหว่างโลกกับดวงจันทร์ตามคำสอนของ Aristotle

จากการติดตามสังเกตดูดาวดวงนี้เป็นเวลานาน 485 วัน และจากการวัดระยะทางโดยใช้กล้องทรงกระบอกยาวที่ไม่มีเลนส์ติดอยู่ที่ปลายกล้อง (เพราะในสมัยนั้น นักดาราศาสตร์ยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์ใช้) ทำให้ Tycho สามารถสรุปได้ว่า มันอยู่ไกลจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 700 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดาวเสาร์ (ตัวเลขจริง เป็นประมาณ 20,000 เท่า) ดาวจึงอยู่ที่ “เพดาน” สวรรค์ จึงอาจจะเป็นดาวฤกษ์ดวงเก่าที่มีแสงในตัวเองน้อยมาก จนใคร ๆ ก็มองไม่เห็น แล้วอยู่มาวันหนึ่งดาวได้ “ระเบิด” ปล่อยแสงออกมาในปริมาณมาก จากนั้นแสงดาวก็ได้วูบหายไป


การพบดาว Tycho ในครั้งนั้น ได้ทำให้ Tycho เป็นนักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุโรป จนได้รับเชิญให้ไปถวายงานดาราศาสตร์ต่อกษัตริย์ Frederick ที่ 2 แห่งเยอรมนี และพระองค์ทรงประทานเกาะ Hven ซึ่งตั้งอยู่ในช่องแคบ Oresund ที่อยู่ระหว่าง Sweden กับ Denmark ให้เป็นสถานดูดาวส่วนตัวของ Tycho

เมื่อสิ้นรัชกาล Frederick ที่ 2 Tycho ได้ขอย้ายไปถวายงานแด่จักรพรรดิ Rudolf ที่ 2 แห่งอาณาจักร Austria และได้ทำงานร่วมกับ Johannes Kepler (1571-1630) ซึ่งในเวลานั้นมีอายุ 28 ปี ส่วน Tycho มีอายุ 53 ปี แม้จะมีวัยที่แตกต่างกันมาก แต่คนทั้งสองก็ทำงานเสริมกันได้ดีเยี่ยม เพราะ Tycho เก่งด้านการสังเกต และการวัดระยะทางระหว่างดาว ส่วน Kepler เก่งด้านการคำนวณ คนทั้งสองจึงเริ่มเปลี่ยนโลกดาราศาสตร์ เพราะ Kepler ได้ใช้ข้อมูลระยะทางที่ Tycho วัดจากการสังเกตลักษณะการโคจรของดาวอังคาร มาสรุปเป็นกฎการโคจรของดาวเคราะห์ทุกดวงรอบดวงอาทิตย์ และกฎนี้ได้ปูทางให้ Isaac Newton (1643-1727) ได้พบกฎแรงดึงดูดระหว่างมวลในเวลาต่อมา

ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจเปรียบเทียบ การพบกันและทำงานร่วมกันระหว่าง Tycho กับ Kepler ว่า มีความสำคัญมากถึงระดับได้เปลี่ยนโลก เหมือนการพบกันระหว่าง James Dewey Watson (1928-ปัจจุบัน) กับ Francis Crick (1916-2004) ที่พบโครงสร้างของ DNA

ดาว Tycho มิใช่ดาวฤกษ์ดวงแรกที่ระเบิดให้มนุษย์ได้เห็น เพราะในอดีตเมื่อ 1,000 ปีก่อน คือ ในวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 1006 โหรชาวอียิปต์ชื่อ Ali ibn Ridwan (988–1061) ได้เคยบรรยายเหตุการณ์ดาวระเบิดในท้องฟ้า ซึ่งทำให้ความสว่างของแสงจันทร์วันเพ็ญเพิ่มประมาณ 25% และดาวดวงนั้นอยู่ในกลุ่มดาวแมวป่า (Lupus)

เมื่อถึงปี 1054 นักดาราศาสตร์จีน ญี่ปุ่น และอาหรับ ก็ได้รายงานการเห็นดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในกลุ่มดาววัว (Taurus) ระเบิด ปล่อยแสงสีขาวอมชมพู เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ให้ชาวปักกิ่งในจีนได้เห็นการระเบิด ทั้งที่เป็นเวลากลางวันแสก ๆ เป็นเวลานานถึง 23 วัน แล้วแสงดาวก็ได้ลดลง ๆ แต่ในเวลากลางคืน ก็ยังเห็นแสงดาวอีกเป็นเวลานานประมาณ 2 ปี และในที่สุดแสงดาวก็ดับหายไป


ในปี 1181 นักดาราศาสตร์จีนและญี่ปุ่น ได้เห็นดาวฤกษ์ดวงใหม่ปรากฏอยู่ท่ามกลางกลุ่มดาว Cassiopeia ดาวใหม่ดวงนี้ได้ส่องแสงให้คนจีนโบราณเห็นเป็นเวลานาน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคมของปี 1181 แล้วดาวได้ดับแสงไปในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1182


ไม่เพียงแต่คนเอเชียเท่านั้นที่ได้เห็นเหตุการณ์นั้น ชาวอินเดียนแดง เผ่า Anasazi ที่อาศัยอยู่ในหุบเขา Navajo รัฐ Arizona ของสหรัฐอเมริกา ก็ได้แกะสลักภาพการระเบิดของดาวลงบนซากของต้นไม้ที่ได้กลายเป็นหิน ซึ่งอยู่ที่ Petrified Forest National Park รูปศิลปะที่สกัดลงบนหิน (petroglyph ยังได้มีปรากฏในหุบเขา Chaco ของรัฐ New Mexico ด้วยเช่นกัน

ในปี 1731 แพทย์ชาวอังกฤษชื่อ John Bevis (1695-1771) ซึ่งสนใจดาราศาสตร์ด้วย ได้ทำแผนที่ดาวบนท้องฟ้า ในหนังสือ Uranographia Britannica และได้เห็นกลุ่มแก๊สที่ลอยอยู่ในอวกาศตรงบริเวณที่เป็นตำแหน่งของกลุ่มดาววัว (Taurus) ซึ่งมีดาวที่ได้ระเบิดในปี 1054 เขาจึงตั้งชื่อกลุ่มแก๊สว่า เนบิวลา (nebula) ซึ่งเป็นคำในภาษาละติน ที่แปลว่า หมอก ควัน เพราะแก๊สประกอบด้วยไฮโดรเจน กลุ่มแก๊สที่มีขนาดใหญ่นี้ลอยอยู่ในอวกาศระหว่างดาวฤกษ์ และเป็นแหล่งให้กำเนิดดาวฤกษ์ดวงใหม่ๆ

อีก 27 ปีต่อมา Charles Messier (1730–1817) ซึ่งเป็นนักล่าดาวหางตัวยง ชาวฝรั่งเศส จากการได้พบดาวหางมาแล้ว 13 ดวง และกำลังคอยการมาปรากฏตัวของดาวหาง Halley ในปี 1758-59 เขาได้เห็นก้อนเมฆสลัวที่มีแสงมัว ๆ ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาววัว เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ปี 1758 ก้อนเมฆนี้มี “หาง” เป็นทางยาวเหมือนเปลวเทียนยามถูกลมพัด Messier จึงจัดทำ catalog ของก้อนเมฆในอวกาศ เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างก้อนเมฆกับดาวหาง ใน catalog นี้ มีเนบิวลาที่เขาเห็นในกลุ่มดาววัว เป็นเนบิวลาแรก ซึ่งมีเลขรหัสประจำว่า M1 (M มาจากคำ Messier) แต่ Messier ก็ได้ให้เครดิตแก่ Bevis ว่า เป็นผู้ที่ได้เห็น M1 เป็นคนแรก ผลงานนี้ทำให้ Messier ได้รับเลือกเป็นสมาชิกต่างชาติของสมาคม Royal Society ของอังกฤษ และเป็นสมาชิกของ French Academy of Sciences ด้วย


ลุถึงปี 1644 William Herschel (1738–1822) กับ William Parsons (1800-1867) ได้เห็นก้อนเมฆ M1 ที่ Messier เห็น ว่ามีลักษณะเหมือน “ปู” จึงให้ชื่อเป็น เนบิวลาปู (Crab Nebula)

อีก 48 ปีต่อมา Isaac Roberts (1829-1904) วิศวกรชาวเวลส์ ที่สนใจดาราศาสตร์ด้วย ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 20 นิ้วที่หอดูดาว Lick และ Mount Wilson ถ่ายภาพเนบิวลาปูได้เป็นครั้งแรก

ด้าน Carl Lampland (1873-1951) แห่งหอดูดาว Lowell ที่เมือง Flagstaff รัฐ Arizona ก็ได้ถ่ายภาพเนบิวลาปูติดต่อกันทุกปี และพบว่าเนบิวลามีขนาดใหญ่ขึ้น ๆ John C. Duncan (1882 - 1967) จึงวัดขนาด และพบว่าเนบิวลากำลังขยายตัว ด้วยอัตราเร็วประมาณ 1,500 กิโลเมตร/วินาที

การรู้อัตราเร็วในการขยายตัว ได้ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถเดินทางย้อนเวลากลับไปจนถึงเสี้ยววินาทีแรกที่เนบิวลาถือกำเนิด และได้พบว่าเนบิวลาปูอุบัติขึ้นเมื่อ 900 ปีก่อน ซึ่งก็ตรงกับบันทึกที่นักดาราศาสตร์ญี่ปุ่นชื่อ Iba ได้จดไว้ว่าได้มีการระเบิดของดาวในท้องฟ้า เมื่อปี 1054 จริง


ในปี 1939 Nicholas Ulrich Mayall (1906 –1993) ได้ตั้งชื่อดาวที่ระเบิดว่า supernova จากนั้นนักดาราศาสตร์ทั่วโลกก็ได้ศึกษาธรรมชาติของเนบิวลาปู โดยใช้กล้องโทรทรรศน์รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นต่าง ๆ กัน เช่น รังสีเอกซ์ รังสีอินฟราเรด แสงที่ตาเห็น รังสีแกมมา และคลื่นวิทยุ ด้าน Jan Hendrik Oort (1900 - 1992) ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ ชาวเนเธอร์แลนด์ ก็ได้พบแสงจาก SN 1054 (ซึ่ง SN มาจากคำว่า supernova ส่วนตัวเลขแสดงปีที่นักดาราศาสตร์เห็น) เป็นแสง polarize ซึ่งเกิดจากการแผ่รังสีของอิเล็กตรอนความเร็วสูงที่ถูกเร่งด้วยสนามแม่เหล็กความเข้มสูง ประมาณ 10^12 เท่าของความเข้มสนามแม่เหล็กโลก ดังนั้นเนบิวลา จึงสว่างไสวด้วยแสง synchrotron

ประเด็นที่น่าสนใจต่อไป คือ เหตุใดดาวฤกษ์บางดวงจึงระเบิด


ในปี 1983 รางวัลโนเบลฟิสิกส์ ได้ตกเป็นของ Subrahmanyan Chandrasekhar (1910–1995) จากมหาวิทยาลัย Chicago กับ William Alfred Fowler (1911–1995) จาก Caltech โดย Chandrasekhar ได้ศึกษาโครงสร้างและวิวัฒนาการชีวิตของดาวฤกษ์ ส่วน Fowler ได้ศึกษาปฏิกิริยานิวเคลียร์ ที่เกิดจากธาตุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในดาวฤกษ์ ขณะที่มันยังมีชีวิต คือ ยังส่องแสงได้อยู่

ในขณะที่ใครๆ ก็รู้ว่า ดาวฤกษ์ถือกำเนิดจากเมฆอวกาศที่ลอยอยู่ระหว่างดาวฤกษ์และฝุ่นละอองที่มีอยู่ทั่วไปในกาแล็กซี ดาวฤกษ์ได้เริ่มมีชีวิต เมื่อแก๊สไฮโดรเจนปริมาณมากได้เริ่มจับตัวกันภายใต้แรงดึงดูดแบบโน้มถ่วง แล้วพลังงานศักย์โน้มถ่วงของแก๊สได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อน ทำให้อุณหภูมิของแก๊สที่แก่นกลางของดาวสูงขึ้น ๆ จนไฮโดรเจนได้หลอมรวมกันเป็นฮีเลียม แล้วปล่อยพลังงานนิวเคลียร์แบบ fusion ออกมา ทำให้เกิดแรงดัน ต้านการยุบตัวของเนื้อดาวส่วนที่เป็นเปลือกดาว ดาวจึงอยู่ในสมดุล นี่คือการถือกำเนิดของดาวฤกษ์ที่ตามปกติจะมีชีวิตอยู่ได้เป็นพันล้านปี


แต่เมื่อเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่มีในดาวหมดสิ้น ดาวฤกษ์ก็เริ่มต้นตาย และสามารถจะตายได้ในสองรูปแบบที่แตกต่างกันมาก คือ ตายแบบเงียบ ๆ กับตายแบบรุนแรง และจะเป็นรูปแบบใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับมวลของมัน

ดาวที่มีมวลน้อย จะตายแบบเงียบๆ ในสภาพดาวแคระขาว (white dwarf) ที่มีขนาดเล็ก มีอุณหภูมิสูงและเปล่งแสงสีฟ้า อีกทั้งมีความหนาแน่นมากประมาณ 5 ล้านเท่าของน้ำ (เนื้อดาวแคระขาว 1 ช้อนชา จะหนักประมาณ 5 ตัน)


ส่วนดาวที่มีมวลมาก แก่นกลางของดาวจะถูกอัดโดยแรงโน้มถ่วง ทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้น ๆ ปฏิกิริยานิวเคลียร์จึงเกิดขึ้นได้ต่อ ๆ ไป และธาตุหนักก็จะมีในปริมาณมากขึ้น ๆ จากไฮโดรเจน เป็นฮีเลียม เป็นคาร์บอน เป็นออกซิเจน ต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้เหล็ก แล้วปฏิกิริยา fusion ก็จะหยุด เพราะเหล็กไม่สามารถจะหลอมรวมกับธาตุใดได้อีก ทำให้ชีวิตดาวถึงทางตัน แล้วดาวก็จะยุบตัวลงอย่างทันทีทันใด และระเบิดตัวเองอย่างรุนแรง ทำให้เปลือกชั้นนอกของดาวพุ่งตัวหนีออกสู่อวกาศ นี่คือ การระเบิดของ supernova โดยจะทิ้งซากที่เหลือให้อยู่ในสภาพของดาวนิวตรอน หรือ หลุมดำ

ในช่วงปี 1935 Chandrasekhar ได้นำหลักการฟิสิกส์มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เขาจึงเป็นบุคคลแรก ๆ ที่ให้กำเนิดวิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (astrophysics) ครั้นเมื่อ Chandrasekhar ใช้สถิติแบบควอนตัมของ Fermi–Dirac กับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของ Einstein คำนวณหามวลมากที่สุดที่เป็นไปได้ของดาวแคระขาว เขาก็ได้พบว่ามวลของดาวแคระขาวที่มากที่สุดมีค่าประมาณ 1.4 เท่า ของดวงอาทิตย์ นั่นหมายความว่า ดาวที่จะเป็นดาวแคระขาวได้ จะต้องมีมวลน้อยกว่านี้ ขีดจำกัดนี้จึงได้ชื่อว่า Chandrasekhar limit ส่วนดาวที่มวลมากกว่านี้ ก็จะระเบิดเป็น supernova ทุกดวง

ในปี 2013 Dana Patchick ได้เห็นซากที่หลงเหลือจากการระเบิดของ Supernova Remnant (SNR) เป็นครั้งแรก และ Albert Zijlstra แห่งมหาวิทยาลัย Manchester ในอังกฤษ ก็ได้อธิบายที่มาของเนบิวลาว่า เกิดจากการระเบิดของ supernova SN1181 การศึกษาเนบิวลา Pa30 (Pa มาจากชื่อ D. Patchick) ได้แสดงให้เห็นว่า ดาวฤกษ์ ซึ่งเคยอยู่ที่ใจกลางของเนบิวลานี้ ได้ระเบิดเมื่อปี 1181 (คือเมื่อ 843 ปีก่อน) ขณะมีอุณหภูมิ 200,000 องศาเซลเซียส

ในวารสาร The Astrophysical Journal Letters
ฉบับวันที่ 24 ตุลาคมปีนี้ Tim Cunningham แห่ง Harvard and Smithsonian Center for Astrophysics ได้ศึกษา SN1181 อีก และถ่ายภาพของเนบิวลา Pa30 ที่มีขนาดใหญ่กว่าระบบสุริยะของเรา และห้อมล้อม SN1181 โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ Keck Cosmic Web Imager (KCWI) ซึ่งติดตั้งอยู่ ณ ภูเขา Mau Kea บนเกาะ Hawaii


ภาพที่ได้แสดงรายละเอียดของการระเบิดว่า มีวัสดุที่เป็นเส้นจำนวนมาก พุ่งออกจากดาวแคระขาว ทำให้ดูเหมือนกลีบของดอก dandelion

กล้องถ่ายภาพ KCWI ยังแสดงให้เห็นอีกว่า เนบิวลา Pa30 ได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ไปอย่างไร ตลอดเวลา 832 ปีที่ผ่านมา นี่เป็นการถ่ายภาพชีวประวัติของเนบิวลาเป็นครั้งแรก ซึ่งได้จากการศึกษาซากที่หลงเหลือจากการระเบิดของซูเปอร์โนวา

ข้อมูลของเนบิวลาดังกล่าว ณ วันนี้ แสดงให้เห็นว่า เนบิวลาได้ขยายตัวออกด้วยความเร็ว 1,700 กิโลเมตร/วินาที การรู้ความเร็วในการขยายตัว ช่วยให้นักดาราศาสตร์รู้เวลาในอดีตที่เหตุการณ์ดาว supernova ระเบิดว่า ได้เกิดขึ้นในปี 1181


แผนที่แสดงโครงสร้างสามมิติของเนบิวลา Pa30 ยังแสดงให้เห็นอีกว่า มันมีลักษณะไม่สมมาตร เมื่อเปรียบเทียบกับซากที่หลงเหลือจากการระเบิดของ supernova อื่น ๆ และสาเหตุที่ทำให้มันแตกกระจายเหมือนพลุดอกไม้ไฟนั้น ก็ยังไม่มีคำอธิบายว่าดาวปีศาจ (zombie star) นี้ เกิดจากสาเหตุใด

แต่นักดาราศาสตร์หลายคนได้สันนิษฐานว่า คงเกิดจากดาวแคระขาว 2 ดวงได้พุ่งชนกัน และการระเบิดที่เกิดขึ้นมิได้เกิดขึ้นในลักษณะอย่างสมบูรณ์แบบ 100% แต่เป็นการระเบิดเพียงบางส่วน ดาว supernova นี้ จึงมีชื่อพิเศษว่า supernova ชนิด 1ax และเป็นต้นเหตุของการเกิดดาวปีศาจ (zombie star)

กล้องถ่ายภาพ KCWI ยังได้จับภาพของเส้น (filament) ที่พุ่งออกมาจากดาวแต่ละเส้น และพบว่า เส้นที่พุ่งมาสู่โลกจะเปล่งแสงสีน้ำเงิน ส่วนเส้นที่พุ่งหนีโลก จะมีแสงสีแดง ซึ่งก็ตรงตามหลักการของปรากฏการณ์ Doppler
แม้แสงจาก supernova จะเดินทางถึงโลก เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1181 แต่การระเบิดได้เกิดขึ้นก่อนนั้น เมื่อ 7,500 ปีก่อน เพราะดาวอยู่ห่างจากโลก 7,500 ปีแสง

บนโลกมีการเกิดและกาตายฉันใด บนสวรรค์มีจุติและการดับขันธ์ฉันนั้น

อ่านเพิ่มเติมจาก "Hubble Watches Exploding Star Fade Into Oblivion". September 30, 2020. Retrieved May 13, 2021.


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น