xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ฯ พบ จุลินทรีย์มีชีวิตในหินอายุ 2 พันล้านปี อาจช่วยไขความกระจ่างสิ่งมีชีวิตบนโลกในยุคแรกเริ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ค้นพบกลุ่มจุลินทรีย์ดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตในชั้นหินที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุอายุกว่า 2 พันล้านปี จากกลุ่มหินภูเขาไฟในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้อาจช่วยไขคำตอบและช่วยไขความกระจ่างเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในยุคแรกเริ่มบนโลกของเราได้

Suzuki Yohey รองศาสตราจารย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อมดาวเคราะห์ (UG) มหาวิทยาลัยโตเกียว และเพื่อนร่วมงาน ได้วิเคราะห์ตัวอย่างแกนหินทรงกระบอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ที่ถูกค้นพบจากชั้นหินภูเขาไฟ Bushveld Igneous Complex ที่ลึกลงไป 15 เมตร บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกาใต้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อแมกมาค่อยๆ เย็นตัวลงใต้พื้นผิวโลกเมื่อครั้งอดีต


การวิเคราะห์หินเก่าแก่อายุ 2 พันล้านปี ในครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในรอยแตกเล็กๆ ทำให้หินก้อนนี้กลายเป็นหินที่เก่าแก่ที่สุดที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ โดยการค้นพบครั้งนี้อาจให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลก และอาจช่วยนำทางการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกของเราได้ด้วย

เมื่อพวกเขาผ่าแกนหินออก พวกเขาพบเซลล์จุลินทรีย์อาศัยอยู่ในรอยแตกเล็กๆ ของหิน ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ย้อมดีเอ็นเอของจุลินทรีย์และถ่ายภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดและกล้องจุลทรรศน์ฟลูออเรสเซนต์ จากนั้นจึงนำไปเปรียบเทียบกับสารปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นเพื่อยืนยันว่าจุลินทรีย์เหล่านี้มีถิ่นกำเนิดในตัวอย่างหิน นอกจากนี้ พวกเขายังสังเกตด้วยว่าผนังเซลล์ของจุลินทรีย์ยังคงสภาพสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเซลล์ยังมีชีวิตและทำงานอยู่


ในขั้นตอนการวิเคราะห์ หินได้ถูกตัดเป็นแผ่นบางๆ และทำการสำรวจในชั้นหิน ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่ทีมงานค้นพบเซลล์จุลินทรีย์ที่มีชีวิตอัดแน่นอยู่ในรอยแตกของหิน ช่องว่างใดๆ ใกล้รอยแตกเหล่านี้อุดตันด้วยดินเหนียว ทำให้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถออกไปได้ หรือสิ่งอื่นไม่สามารถเข้าไปได้ นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างเทคนิคที่พัฒนาขึ้นก่อนหน้านี้เพื่อยืนยันว่าจุลินทรีย์นั้นมีอยู่ในตัวอย่างหิน และไม่ได้เกิดจากการปนเปื้อนในระหว่างกระบวนการเจาะหรือการตรวจสอบ


“เราไม่ทราบว่าหินที่มีอายุ 2 พันล้านปีนั้น สามารถอยู่อาศัยได้หรือไม่ จนถึงขณะนี้ ชั้นธรณีวิทยาที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งมีการค้นพบจุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่คือชั้นตะกอนใต้ท้องทะเลที่มีอายุ 100 ล้านปี ดังนั้นนี่จึงเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมาก การศึกษา DNA และจีโนมของจุลินทรีย์ประเภทนี้อาจช่วยให้เราเข้าใจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตยุคแรกๆ บนโลกได้”    ...…. Suzuki Yohey รองศาสตราจารย์ จาก มหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าว


“Bushveld Igneous Complex” ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 66,000 ตารางกิโลเมตร มีความหนาแตกต่างกันสูงสุดถึง 9 ตารางกิโลเมตร และประกอบด้วยแหล่งแร่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งรวมถึงแพลตตินัมที่ขุดได้ประมาณร้อยละ 70 ของโลก”


ข้อมูล – รูปอ้างอิง


- www-s-u--tokyo-ac-jp

- www.link-springer-com. (Subsurface Microbial Colonization at Mineral-Filled Veins in 2-Billion-Year-Old Mafic Rock from the Bushveld Igneous Complex, South Africa)


กำลังโหลดความคิดเห็น