xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ครั้งแรกของไทย! ฟื้นฟูแนวปะการังด้วยเทคนิค “ทำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็ก” อยู่รอดกว่า 80% เพิ่มความหลากหลายพันธุกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ในปัจจุบันแนวปะการังในท้องทะเลไทยทั้งในพื้นที่อ่าวไทยหรือในทะเลอันดามัน ต่างได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ (Mass Bleaching) ครั้งที่ 4 ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำในพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น ทำให้นักวิจัยไทยที่มีการศึกษาในเรื่องนี้ ต่างพัฒนาวิธีการในการฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบให้กลับมาสวยงามดังเดิม และให้มีความแข็งยิ่งขึ้นกว่าเดิมเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนในอนาคต

หนึ่งในงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้คือ โครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูปะการัง : เทคนิคการทำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กการเชื่อมโคโลนีปะการัง และการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการัง”
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการฟื้นฟูแนวปะการัง อีกทั้งยังช่วย รักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการัง


รศ. ดร. ธรรมศักดิ์ ยีมิน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีความจำเป็นต่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนชายฝั่งทะเล ทั้งในด้านการทำประมง การท่องเที่ยว การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงเป็นแหล่งของสารสกัดธรรมชาติในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง แต่ขณะเดียวกันแนวปะการังก็เป็นระบบนิเวศที่มีความเปราะบางค่อนข้างสูงต่อการถูกคุกคามทั้งจากน้ำมือมนุษย์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่พบว่าทำให้แนวปะการังเกิดความเสื่อมโทรมได้มากที่สุดในปัจจุบัน ก็คือ ปัญหาปะการังฟอกขาว จากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในปี 2541 และปี 2553 ที่ทำให้ประชากรปะการังตายเป็นพื้นที่ในวงกว้าง ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของแนวปะการังที่ต้องการการฟื้นฟูเป็นจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมาแนวปะการังจะมีการฟื้นตัวขึ้นมาตามธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศที่มีทรัพยากรที่เป็นฐานของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน จึงจำเป็นต้องอาศัยมนุษย์เข้าไปช่วยทำให้เกิดการฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในแผนปฏิบัติการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 20 ปี (ปี พ.ศ. 2560 – 2579) ได้กำหนดเป้าหมายในการปลูกเสริมปะการังให้ครบ 5,760,000 กิ่งในปี 2579


ทีมวิจัยได้มีการดำเนินการศึกษาทั้งในโรงเพาะเลี้ยง และแปลงอนุบาลในแนวปะการังตามธรรมชาติ ใน 3 พื้นที่คือ ที่เกาะค้างคาวด้านทิศเหนือ เกาะขามน้อยด้านทิศใต้ และอ่าวนวล เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับการเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ปะการัง การจัดทำแปลงอนุบาลในแนวปะการัง และเป็นพื้นที่ต้นแบบในการสาธิตการฟื้นฟูแนวปะการัง

เบื้องต้นเลือกศึกษาปะการัง 4 ชนิด ซึ่งเป็นปะการังที่มีการเติบโตช้า ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites abdita) ปะการังกาแล็กซี่ (Galaxea fascicularis) แล ปะการัง ดาวช่องเหลี่ยม (Leptastrea purpurea) ซึ่งเป็นปะการังที่มีความเหมาะสมสำหรับการทำเป็นชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็ก โดยมีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่มีความเครียดสูง มีการคัดเลือกปะการังพ่อแม่พันธุ์ที่ไม่มีการตายเป็นบางส่วนของโคโลนี ไม่แสดงการฟอกขาว ไม่มีสิ่งมีชีวิตเจาะไช และไม่เป็นโรคปะการัง


ผลการศึกษาพบว่าอัตราการรอดตายของชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กในโรงเพาะเลี้ยงและแปลงอนุบาลในแนวปะการังมีค่าสูงกว่า ร้อยละ 80 อัตราการเจริญเติบโตของชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กสูงสุดในโรงเพาะเลี้ยง รองลงมาคือแปลงอนุบาลในแนวปะการังอ่าวนวล เกาะล้าน เกาะค้างคาวด้านทิศเหนือ และเกาะขามน้อยด้านทิศใต้ ส่วนชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็ก ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเริ่มต้น 1 เซนติเมตร มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด

การตายเป็นบางส่วนของเนื้อเยื่อชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กในโรงเพาะเลี้ยงและแปลงอนุบาลในแนวปะการังมีค่าน้อยกว่าร้อยละ 5 ของชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กทั้งหมด และพบการเกิดโรคของชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กในโรงเพาะเลี้ยงและแปลงอนุบาลในแนวปะการังน้อย กว่าร้อยละ 5 ของชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กทั้งหมด ทั้งนี้ชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กของปะการังทั้ง 4 ชนิดในโรงเพาะเลี้ยง และแปลงอนุบาลในแนวปะการัง สามารถเชื่อมกันเป็นโคโลนีขนาดใหญ่ได้ภายในระยะเวลา 9 เดือน


“เทคนิคนี้เป็นการขยายพันธุ์ปะการังแบบไม่อาศัยเพศที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญมาก เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในต่างประเทศและนำมาพัฒนาให้เข้ากับการขยายพันธุ์ปะการังของไทย ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาเทคนิคการทำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าเทคนิคดังกล่าวจะทำให้เราสามารถที่จะมีก้อนปะการังสำหรับพื้นฟูในพื้นที่ที่มีปะการังเสื่อมโทรมในพื้นที่กว้างๆ ได้ และสามารถที่จะผลักดันพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงผลักดันให้ก้าวไปสู่แหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้ในอนาคต”


อย่างไรก็ดี การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศดังกล่าวแม้จะมีข้อดีคือขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและราคาถูก แต่ก็มีข้อเสียคืออาจทำให้ขาดความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในแปลงฟื้นฟู ดังนั้นทีมวิจัยจึงให้ความสำคัญกับการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการังในพื้นที่ฟื้นฟู ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการังในธรรมชาติ โดยพยายามที่จะนำพ่อแม่พันธุ์มาจากหลายแหล่งเพื่อที่จะให้มีหลากหลายตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ และมีการตรวจวิเคราะห์หาลำดับนิวคลีโอไทด์เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเปรียบเทียบ พร้อมทั้งประยุกต์วิธีการศึกษาทางพันธุศาสตร์ประชากรปะการังที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นในการดำเนินงานปีที่ 2 ต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น