หลังจากที่ สถาบัน Academy of Science ได้มอบหมายให้ Francois Arago (1786-1853) กับ Jean-Baptiste Biot (1774-1862) สำรวจและกำหนดระยะทาง 1 เมตรได้แล้ว สถาบันก็ได้สร้างท่อนโลหะที่เป็นเมตรมาตรฐานขึ้นมา เป็นวัสดุผสมที่ประกอบด้วย platinum 90% กับ iridium 10% เพราะพบว่าวัสดุผสมนี้มีสัมประสิทธิ์การขยายตัวน้อยมาก เมตรมาตรฐานแท่งนี้มีขีด 2 ขีดปรากฏอยู่บนแท่ง ซึ่งต้องอยู่ห่างกันเป็นระยะทางที่คงตัวตลอดเวลา เพื่อให้คนทั่วไปและนักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างเมตรมาตรฐานจำลองขึ้นมาเทียบเคียง แล้วนำไปใช้ได้ แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะส่วนผสมของวัสดุที่ใช้ทำเมตรมาตรฐานมักจะไม่เหมือนกัน คือ อาจจะมีสารเจือ หรือใช้ platinum ที่มี 6 isotopes และ iridium ที่มี 2 isotopes ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ทำให้การขยายตัวและการหดตัวของเมตรมาตรฐานแตกต่างกันไปเวลามันขยายตัว
นอกจากประเด็นนี้แล้ว ระยะทางจากขั้วโลกเหนือถึงเส้นศูนย์สูตรที่ใช้ในการกำหนดระยะทาง 1 เมตร ก็มีค่าไม่คงตัวเช่นกัน เพราะเปลือกทวีปมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา
เหตุผลเหล่านี้ ได้ทำให้วงการวิชาการเริ่มสงสัยในความเป็นมาตรฐานของสิ่งที่ Academy of Science แห่งฝรั่งเศสได้กำหนดขึ้น
ในปี 1879 James Clerk Maxwell (1831-1879) ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 และมีบุคลิกภาพที่แตกต่างไปจาก Isaac Newton (1643-1727) มาก คือ เป็นคนไม่เก็บตัว แต่ก็ไม่มั่นใจมากเหมือน Galileo Galilei (1564-1642) และชอบเดินเล่นกับ Michael Faraday (1791-1867) ทั้งที่ทั้งสองคนมีวัยแตกต่างกันมาก และ Faraday กำลังป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม แต่คนทั้งสองก็มีความสนใจร่วมกัน คือ รักวิทยาศาสตร์มากเหมือนกัน ผลงานสำคัญของ Maxwell คือ การสร้างทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า การพบสถิติแบบ Maxwell–Boltzmann และการพบโครงสร้างของวงแหวนรอบดาวเสาร์ว่า ประกอบด้วยก้อนดิน หิน และก้อนหิมะเล็ก ๆ จำนวนมาก มิได้เป็นแผ่นทรงตันราบ เพราะถ้าเป็นแผ่นทรงตันราบจริง เวลาแผ่นหมุนไปรอบดาวเสาร์ แผ่นก็จะแตกสลายในเวลาไม่นาน องค์ความรู้นี้ได้รับการยืนยันในอีก 85 ปีต่อมา เมื่อยานอวกาศ Voyager โคจรผ่านดาวเสาร์
ครั้นเมื่อ Maxwell ได้ยินได้ฟังเรื่องความไม่เป็นมาตรฐานของอุปกรณ์ที่มนุษย์สร้างว่า สมบัติต่างๆ ของอุปกรณ์ขึ้นกับสภาพแวดล้อม Maxwell จึงได้เสนอให้ใช้โมเลกุลเป็นสสารมาตรฐานในการทำมาตรวัด เพราะสมบัติของโมเลกุลไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
ความคิดนี้ไม่ได้รับการตอบสนองในทันทีทันใด เพราะในเวลานั้นไม่มีใครเคยเห็นโมเลกุล
ครั้นเมื่อความรู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอะตอมและโมเลกุลมีมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ก็ได้กำหนดหน่วยวัดมูลฐานใหม่ โดยให้กำหนดค่าจากค่าคงตัวในธรรมชาติ เช่น
หน่วยวัดมูลฐาน ปริมาณที่วัด หาจากค่าคงตัว
กิโลกรัม มวล ค่าคงตัว Planck, h
เมตร ระยะทาง ค่าความเร็วแสง, c
วินาที เวลา ความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จากอะตอม cesium-133
แอมแปร์ กระแสไฟฟ้า ประจุของอิเล็กตรอน, e
เคลวิน อุณหภูมิ ค่าคงตัว Boltzmann
โมล ปริมาณสสาร ค่าคงตัว Avogadro
แคนเดลา ความเข้มส่องสว่าง ประสิทธิภาพของแสงที่มี ความถี่ 540x10^12 hertz และมีความเข้ม 1/683 วัตต์/ สเตอเรเดียน
สำหรับมวลมาตรฐาน 1 กิโลกรัม จากเดิมที่เคยกำหนดให้น้ำ 1 ลิตร มีปริมาตร 1,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร และน้ำนี้มีมวล 1 กิโลกรัม ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เพราะน้ำประกอบด้วย hydrogen กับ oxygen ที่มี isotope เป็น H-1, H-2, H-3 และ O-16, O-17, O-18 ตามลำดับ การใช้ส่วนผสมของ isotope ไฮโดรเจนและออกซิเจนที่แตกต่างกัน จะทำให้น้ำ 1 กิโลกรัมมีมวลแตกต่างกัน การกำหนดมวลมาตรฐาน 1 กิโลกรัมจึงจำต้องเปลี่ยนแปลงตามความรู้วิทยาศาสตร์ที่เพิ่มพูนอยู่ตลอดเวลาด้วย
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้หน่วยวัดต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ใครๆ ก็สามารถจะใช้หน่วยวัดได้ เช่น คำจำกัดความเดิมได้กำหนดให้หน่วยวัดเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถจะมีได้ ดังกรณีหน่วยวัดกระแสไฟฟ้าที่เป็นแอมแปร์ (ampere) ซึ่งเดิมเคยกำหนดให้เป็นกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านเส้นลวดตรงที่มีความยาวอนันต์ (infinite) และวางขนานกัน โดยให้ลวดมีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยมาก (เท่ากับศูนย์) และให้อยู่ห่างกัน 1 เมตร กระแส 1 แอมแปร์ สองกระแสที่ไหลไปทางเดียวกันนี้ จะทำให้เกิดแรงดึงดูด 2x10^(-7) นิวตัน/เมตร
การกำหนดค่าของกระแส 1 แอมแปร์ในลักษณะนี้ ไม่มีเทวดาใดในเอกภพสามารถจะสร้างกระแส 1 แอมแปร์มาตรฐานได้
ดังนั้นคำจำกัดความของกระแส 1 แอมแปร์ก็จำต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นค่าที่หาได้จากอิเล็กตรอนจำนวน 1/1.6021766208x10^(-19) หรือ 6.241509126x10^18 ในการได้มาซึ่งค่านี้ วงการวิทยาศาสตร์ได้กำหนดให้ประจุของอิเล็กตรอนมีค่า 1.6021766208x10^(-19) ที่แน่นอน และไม่ผิดพลาดเลย (1 coulomb = 1 ampere second)
หน่วยวัด ampere นี้ มาจากชื่อของ André-Marie Ampère (1775 - 1836) ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส เมื่ออายุ 12 ปี Ampère สามารถเรียนรู้คณิตศาสตร์ในเวลานั้นได้หมดด้วยตนเอง และเมื่อได้ทราบข่าวการทดลองของ Hans Christian Oersted (1777-1851) ก็ได้ทดลองปล่อยกระแสไฟฟ้าไปในเส้นลวดตรงสองเส้นที่วางขนานกัน และพบว่าเกิดแรงดึงดูดเวลากระแสทั้งสองไหลไปในทิศทางเดียวกัน และจะเกิดแรงผลักเวลากระแสทั้งสองไหลสวนทิศกัน ปรากฏการณ์นี้จึงแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างไฟฟ้ากับแม่เหล็ก Ampère ยังได้พบอีกว่า เวลากระแสไฟฟ้าไหลไปในขดลวดที่โค้งเป็นเกลียว (helix) จำนวนขดลวด ถ้ายิ่งมาก ความเข้มของสนามแม่เหล็กก็ยิ่งสูง เมื่อ Ampère อายุ 18 ปี บิดาของเขาถูกศาลประชาชนของคณะปฏิวัติฝรั่งเศสตัดสินประหารชีวิตด้วยกีโยตีน พร้อมกับคนทรยศต่อชาติบ้านเมืองคนอื่น ๆ อีกประมาณ 1,500 คน ที่เมือง Lyon ในฝรั่งเศส
หน่วยวัดต่อไปที่จะต้องปรับเปลี่ยน คือ อุณหภูมิ kelvin (K) ซึ่งเดิมกำหนดให้มีค่าเท่ากับ 1/273.16 ของอุณหภูมิจุดร่วมสาม (triple point) ของน้ำ ซึ่งเป็นอุณหภูมิและความดันที่น้ำสามารถอุบัติได้ในสามสภาวะ คือ สภาวะน้ำแข็ง น้ำเหลว และไอน้ำ ได้พร้อมกัน จึงมีอุณหภูมิ 273.16 kelvins (0.01 องศาเซลเซียส) ที่ความดัน 611.73 pascals
ลอร์ด Kelvin เป็นผู้กำหนดอุณหภูมิร่วมสามนี้ ซึ่งในทางปฏิบัติทำให้การสร้างอุณหภูมิร่วมสามเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้นในปี 2019 วงการวิทยาศาสตร์จึงมีการปรับปรุงหน่วยวัดนี้ใหม่ โดยมีการกำหนดให้อุณหภูมิ 1 kelvin เป็นอุณหภูมิที่ทำให้พลังงานของอะตอมเพิ่มขึ้น 1.380649x10^(-23) จูล
ในการได้มาซึ่งค่านี้ ที่ประชุมได้กำหนดให้ k เป็นค่าคงตัวของ Boltzmann ที่มีค่า 1.380649x10^(-23) จูล/เคลวิน อย่างแน่นอน คือ มีค่าแน่นอนที่เปลี่ยนไม่ได้เลย เหมือนค่าความเร็วแสง และค่าประจุของอิเล็กตรอน
Ludwig Eduard Boltzmann (1844-1906) เป็นนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเป็นอาจารย์ที่มีใจโอบอ้อมเวลาให้คะแนนสอบแก่ศิษย์ บรรดาศิษย์จึงรักมาก และมีศิษย์คนหนึ่ง คือ Lise Meitner (1878-1968) ซึ่งเป็นผู้พบปรากฏการณ์ fission ของ U-235 ที่รักและเคารพ Boltzmann มาก
Boltzmann ได้กำพร้าพ่อตั้งแต่มีอายุ 15 ปี และได้ไปเรียนฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Vienna ขณะเป็นนิสิต เขาสามารถเข้าใจความหมายของสมการ Maxwell ได้ทั้งหมด และได้ประสบความสำเร็จในการสร้างทฤษฎีการแจกแจงความเร็วของโมเลกุลในแก๊สอุดมคติได้
แม้ไม่เคยเห็นโมเลกุลด้วยตาเปล่า แต่ Boltzmann ก็เห็นโมเลกุลได้ในจินตนาการ ตามปกติ Boltzmann ชอบวิชาความร้อนมาก เพราะ ณ เวลานั้นโลกกำลังมีเครื่องจักรกลที่ทำงานได้ โดยใช้พลังงานความร้อน Boltzmann มีความคิดว่า พลังงานความร้อนมาจากพลังงานจลน์ของอนุภาคที่มีอยู่ในระบบ แม้ทฤษฎีจลน์ของ Boltzmann จะสามารถนำไปใช้หาความเร็วของโมเลกุลได้ แต่นักวิทยาศาสตร์อาวุโสหลายคนในเวลานั้น กลับไม่ยอมรับความคิดเรื่องโมเลกุลและอะตอมของ Boltzmann
โดยเฉพาะ Ernst Mach (1838–1916) ซึ่งได้ศึกษาเรื่องคลื่นกระแทก (shock wave) ก็คิดว่า อะตอมเป็นสิ่งที่มีแต่ในจินตนาการ เพราะไม่มีใครเคยเห็นมันเลย และเมื่อไม่มีใครเห็น สิ่งนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมีใครสนใจ แม้แต่ Lord Kelvin เอง ก็ไม่เชื่อเรื่องอะตอมกับโมเลกุล และเมื่อไม่มีใครยอมรับว่าพลังงานความร้อนในสสารเกี่ยวข้องโดยตรงกับพลังงานของโมเลกุลในสสารนั้น Boltzmann จึงรู้สึกท้อแท้จนล้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ประกอบกับมีสุขภาพไม่ดี เพราะเป็นโรคหอบหืดและ migraine จึงได้เดินทางไปพักผ่อนที่หมู่บ้าน Duino ใกล้เมือง Trieste ในอิตาลี และผูกคอตายที่นั่น เมื่อวันที่ 5 กันยายน 1906 (หนึ่งปีก่อนที่ Einstein จะพิสูจน์ให้เห็นว่าโมเลกุลมีจริงในธรรมชาติ จากการสังเกตดูปรากฏการณ์เคลื่อนที่แบบ Brown)
บนหลุมฝังศพของ Boltzmann มีสูตร S = k log W ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง entropy S กับจำนวนสถานะที่เป็นไปได้ W และ k คือ ค่าคงตัว Boltzmann
หน่วยวัดต่อไปที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง คือ หน่วยวัดโมเลกุล (mole) ที่ใช้บอกจำนวนอนุภาค (อะตอม โมเลกุล หรือไอออน) ที่มีในสสาร โดยเดิมได้กำหนดให้คาร์บอน-12 ที่มีมวล 12 กรัม มีอะตอมอยู่ 6.02214076x10^23 อนุภาค
แต่ในคำจำกัดความใหม่ปริมาณสสาร 1 โมล ต้องหาจากค่าคงตัว Avogadro, NA ซึ่งมีค่า = 6.02214076x10^23 นั่นคือ สสารใดที่มี 6.0221418x10^23 อนุภาค จะคิดเป็นปริมาณ 1 โมล
คำว่า mole ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1900 โดย Wilhelm Ostwald (1853–1932) คำนี้มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินที่แปลว่า มวล (mass) ดังนั้นคำ molecule จึงแปลว่า มวลเล็กๆ
Lorenzo Romano Amedeo Carlo Avogadro (1776-1865) เป็นบุคคลแรกที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างอะตอมกับโมเลกุลว่า โมเลกุลตามปกติประกอบด้วยอะตอม และเขาได้ตั้งกฎของ Avogadro ว่า แก๊สทุกชนิดที่มีปริมาตรเท่ากัน มีอุณหภูมิ และความดันเท่ากัน จะมีจำนวนอนุภาคเท่ากันเสมอ
ในเบื้องต้นไม่มีใครเชื่อกฎนี้ เพราะทุกคนรู้ว่าแก๊สต่าง ๆ มีอะตอมและโมเลกุลที่มีขนาดต่าง ๆ กัน ดังนั้นเวลาเราอัดแก๊สต่าง ๆ ลงในภาชนะขนาดเท่ากัน จำนวนอะตอมและโมเลกุลในภาชนะก็ไม่น่าจะมีเท่ากัน แต่อะตอมและโมเลกุลของแก๊สอยู่ห่างกันมาก ดังนั้นการอัดลงไป โดยให้มีจำนวนอะตอม/โมเลกุลเท่ากัน จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีปัญหาใด ๆ และ Avogadro ก็ได้ใช้สมบัตินี้เขียนสูตรของน้ำว่าเป็น H2O ไม่ใช่ HO ตามที่ John Dalton (1766-1844) คิด
Avogadro เกิดเมื่อปี 1776 เริ่มอาชีพโดยการเป็นทนาย แต่เมื่อเขาได้อ่านตำราเคมี และฟิสิกส์ ก็ได้หลงใหลวิชาวิทยาศาสตร์มาก จนละทิ้งอาชีพทนายไปอย่างไม่ใยดี
Avogadro ได้มีจินตนาการว่า แก๊สส่วนใหญ่ประกอบด้วยอนุภาคที่มีอะตอมตั้งแต่ 2 ขึ้นไป จึงเรียกกลุ่มอนุภาคที่ยึดโยงกันนี้ว่า โมเลกุล ธรรมชาติมีแก๊สหลายชนิดที่โมเลกุลมีเพียงอะตอมเดียว เช่น helium, argon, neon ฯลฯ และหลายชนิดที่โมเลกุลมี 2 อนุภาค อันได้แก่ hydrogen, nitrogen และ oxygen ฯลฯ
จินตนาการของ Avogadro ทำให้เรามีค่าคงตัว Avogadro ที่ใช้คำนวณหาจำนวนและมวลของอะตอมกับโมเลกุลในสสาร โดย Johann Josef Loschmidt (1821-1895) ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย ได้พบว่าไฮโดรเจนที่มีมวล 2 กรัม จะมี 602x10^21 โมเลกุล ดังนั้น 1 โมเลกุลของไฮโดรเจน ก็จะมีมวล 2/602x10^21=3.322x10^(-24) กรัม เป็นต้น
หน่วยวัดต่อไปที่จะต้องเปลี่ยนแปลง คือ มวลกิโลกรัม จากกิโลกรัมมาตรฐานมาเป็นค่าที่หาได้จาก ค่าคงตัว Planck (h)
Max Karl Ernst Ludwig Planck (1858-1947) เป็นนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ผู้ให้กำเนิดความคิดเรื่อง quantum เขาเกิดที่เมือง Kiel และได้เข้าเรียนฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Berlin กับ Munich ในเยอรมนี ผลงานที่ทำให้ Planck มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด คือ การค้นพบว่า พลังงานของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีค่าไม่ต่อเนื่อง คือ เป็นหน่วย (quantum) จากสูตร E=nhν เมื่อ n เป็นเลขจำนวนเต็ม ν คือ ความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และ h คือ ค่าคงตัวของ Planck ซึ่งมีค่า 6.6260693x10^(-34) จูลวินาทีพอดิบพอดี
ความคิดที่ว่าพลังงานของรังสีมีค่าไม่ต่อเนื่องนี้ ถือว่าเป็นจุดให้กำเนิดของวิชากลศาสตร์ควอนตัม และมีผลทำให้ Planck ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 1918
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ลูกชายคนโตของ Planck ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในสงคราม และลูกสาวแฝดก็เสียชีวิตหลังคลอดด้วย
ครั้นถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ลูกชายของ Planck คนที่เหลือได้ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต ด้วยข้อกล่าวหาว่า พยายามสังหารผู้นำพรรคนาซี Adolf Hitler (1889-1945) ชีวิตในบั้นปลายของ Planck จึงมีแต่ความเศร้า
ในปี 1889 โลกวิทยาศาสตร์ได้กำหนดมวล 1 กิโลกรัมว่าเป็นมวลของทรงกระบอกโลหะผสมระหว่าง platinum กับ iridium (International Prototype of the Kilogram; IPK) ซึ่งถูกนำไปเก็บในครอบแก้วสามชั้น ที่ภายในเป็นสุญญากาศ ครอบแก้วนี้อยู่ที่เมือง Sevres ใกล้กรุงปารีส เพื่อไม่ให้มวล IPK ได้รับฝุ่นละออง ไอน้ำ หรืออะตอมจากสิ่งแวดล้อมใด ๆ จากนั้นประเทศต่าง ๆ ก็ได้จำลองมวล IPK ขึ้นมาใช้ในประเทศตนเอง หลังจากที่เวลาผ่านไปเป็นปีก็ได้มีการตรวจพบว่ามวล IPK จำลอง ที่ชาติต่าง ๆ มีมวลมาตรฐานที่มีค่าแตกต่างกัน นั่นก็แสดงว่า มวล IPK ตัวดั้งเดิมก็มีค่าไม่คงตัวด้วย มันจึงไม่ใช่มวลมาตรฐานอีกต่อไป
และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ นักวิทยาศาสตร์เกรงว่า ถ้ามวล IPK นี้ถูกขโมยหรือถูกทำลาย โลกก็จะไม่มีมวลมาตรฐานใช้อีกต่อไป ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างมวลมาตรฐานใหม่ที่ไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อม แต่ขึ้นกับค่าคงตัวธรรมชาติ ซึ่งก็ได้แก่ค่าคงตัว Planck
ในปี 1975 Bryan Kibble (1938–2016) แห่งห้องปฏิบัติการ National Physical Laboratory (NPL) ของอังกฤษ ได้เสนอให้ใช้ตาชั่งวัตต์หรือตาชั่ง Kibble (Watt balance หรือ Kibble balance) ในการกำหนดค่ากิโลกรัมมาตรฐาน
ตาชั่ง Kibble ประกอบด้วยขดลวด ซึ่งวางอยู่ที่จานข้างหนึ่งของตาชั่ง และขดลวดนี้อยู่ในสนามแม่เหล็กที่ให้ความหนาแน่น flux แม่เหล็ก = B
เมื่อมีกระแสไฟฟ้า I แอมแปร์ ไหลเข้าไปในขดลวด จะเกิดแรงแม่เหล็กกระทำที่ขดลวดนั้น ซึ่งต่อต้านกับแรงโน้มถ่วงของโลก และเมื่อแขนทั้งสองข้างของตาชั่งอยู่ในสมดุล เราก็จะได้ mg = BIkc (1) ในที่นี้
m คือ มวลของขดลวด
g คือ ความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก
และ kc คือ ค่าคงตัวที่ขึ้นอยู่กับรูปทรงของขดลวด
จากนั้นให้ขดลวดเคลื่อนที่เข้าไปในสนามแม่เหล็ก ด้วยความเร็ว v ซึ่งจะทำให้เกิดแรงเคลื่อนไฟฟ้าในขดลวด E = Bvkc (2)
เมื่อกำจัด kc จากสมการทั้ง 2 เราก็จะได้ EI = mgv (3)
ในสมการ (3) นี้ EI คือ กำลังไฟฟ้า และ mgv คือ กำลังกลศาสตร์ ซึ่งสมดุลกัน
ค่า E นี้ สามารถจะหาได้จากการวัดกระแส Josephson = 2e/h
ส่วนความต้านทาน Hall แบบควอนตัมนั้น = h/e^2
โดยการแทนค่าเหล่านี้ในสมการ (3) เราจะได้ mgv=4/h
ดังนั้นเมื่อเรารู้ค่า g, v และ h เราก็สามารถจะวัดมวล m ได้ โดยไม่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับมวล IPK
นี่จึงเป็นวิธีวัดมวลจากการรู้ค่าคงตัว Planck (h)
ในวันที่ 20-22 พฤษภาคม ปี 2025 นี้ จะเป็นวาระครบ 150 ปี แห่งการประชุมเรื่องเมตรมาตรฐาน ซึ่งเป็นวันที่ให้กำเนิดหน่วย SI องค์กร International Committee for Weights and Measures (CIPM) จะมีการประชุมเรื่อง หน่วยมาตรฐาน ที่เป็นไปได้ในอนาคต ณ กรุง Paris และ Versailles เพื่อให้เป็นไปตามอุดมการณ์ขององค์กรนี้ที่ว่า
“tout le temps, tout le peuples”
ซึ่งแปลว่า
“For all times, for all peoples”
อ่านเพิ่มเติมจาก "The International System of Units (SI), 9th Edition" (PDF). Bureau International des Poids et Mesures. 2019. Archived (PDF) from the original on 30 May 2019.
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์