ในระบบสุริยะของเรานั้น มีดาวเคราะห์ 6 ใน 8 ดวง ที่มีดวงจันทร์บริวาร โดยในปัจจุบันมีการค้นพบดวงจันทร์บริวารในระบบสุริยะมากกว่า 200 ดวง โดยดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุด จนได้รับฉายา “ราชาแห่งดวงจันทร์บริวาร” การที่ดาวเคราะห์ต่างๆ มีดวงจันทร์บริวารนั้น ทำให้เกิดเป็นคำถามว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ จะมีดวงจันทร์บริวารเหมือนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราหรือไม่
ปัจจุบันการศึกษาในเรื่องนี้ นักดาราศาสตร์ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีดวงจันทร์โคจรรอบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะหรือไม่ เนื่องจากดวงจันทร์บริวารนั้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก เมื่อเทีบกับดาวเคราะห์ และเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศบนโลก หรือยานสำรวจที่ส่งออกไปสำรวจอวกาศ ก็ยังไม่ความสามารถที่จะค้นหาและตรวจจับได้
แต่ล่าสุด องค์การ NASA ได้เผยว่า การสำรวจ ดาวเคราะห์ WASP - 49b ที่มีลักษณะเป็นดาวเคราะห์ก๊าซขนาดใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดี อยู่ห่างจากโลกของเราประมาณ 635 ปีแสง พบว่า มีเมฆโซเดียมอยู่บริเวณรายรอบดาวดวงนี้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ ก็มีการเกิดขึ้นในระบบสุริยะของเราด้วยเช่นกัน นั้นคือการปะทุของภูเขาไฟบนดวงจันทร์ไอโอ ของดาวพฤหัสบดี
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดีที่เต็มไปด้วยภูเขาไฟกำลังปะทุและพ่นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมถึงก๊าซต่างๆ ออกมา ทำให้เกิดเป็นหมู่เมฆห้อมล้อมรอบดาวพฤหัสบดี ซึ่งมีความคล้ายกันกับดาว WASP - 49b ข้อมูลนี้จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่อาจเป็นไปได้ว่ากำลังมีดวงจันทร์บริวาร โคจรรอบดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้อยู่
ถึงแม้จะมีข้อมูลในการศึกษา แต่นักดาราศาสตร์ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ข้อมูลนี้เป็นการค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก ซึ่งต้องมีการศึกษาระบบดาวดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น และรอเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยสนับสนุนข้อมูลให้มั่นใจว่ากลุ่มเมฆเหล่านี้มาจากดวงจันทร์จริง และไม่ใช่ปรากฏการณ์จากตัวดาวเคราะห์หรือดาวฤกษ์
ข้อมูล – รูปอ้างอิง : nasa.go (Does Distant Planet Host Volcanic Moon Like Jupiter’s Io?)