xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) งานวิจัยตอบโจทย์พืชหลังนา “ถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML” บำรุงดิน ต้านทานโรค ผลผลิตงาม สร้างรายได้เสริม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




สำหรับการทำ “นาปี” หรือการทำนาในเฉพาะช่วงฤดูฝน เมื่อมีการเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เกษตรกรในบางพื้นที่ก็จะมีการทิ้งนาให้ว่างเปล่าหรือมีการนำพืชหลังนามาปลูก ด้วยเหตุนี้ ทาง สวทช. จึงมีการนำงานวิจัย “ถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML” มาช่วยสนับสนุนเกษตรกรให้เพราะปลูกในช่วงว่างเว้นจากการทำนา เพื่อสร้างรายได้เสริมไปพร้อมๆ กับการบำรุงดิน รอการทำนาข้าวในช่วงฤดูฝนครั้งต่อไป

นางสาวณิฎฐา คุ้มโต นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สท. สวทช. กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวง อว. ได้มีการนำ โครงการการขยายผลเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวคุณภาพ สายพันธุ์ KUML มาลงพื้นที่ทำงานวิจัยร่วมกับชุมชนในพื้นที่ จังหวัดอำนาจเจริญ - ศรีษะเกษ เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยประสบภาวะสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ รัฐบาลส่งเสริมให้ลดการทำนาปรัง โดยให้ปลูกพืชทนแล้งหรือพืชที่ใช้น้ำน้อยทนแทนการทำนาปรัง พืชตระกูลถั่วนับเป็นพืชที่มีความสำคัญ เพราะเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ช่วยตัดวงจนชีวิตโรคแมลงในพื้นที่นาข้าว และช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน


นอกจากนี้ พืชตรกูลถั่วยังเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่ใช้ในการบริโภคและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ แต่ผลผลิตพืชตระกูลถั่วในประเทศมีไม่เพียงพอ ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท เนื่องจากพื้นที่การเพาะปลูกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2566 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง จำนวน 81,190 ไร่ 713,437 ไร่ และ 71,088 ไร่ ปริมาณผลผลิต 22,252 ตัน 108,467 ตัน 25,652 ตัน และปริมาณการนำเข้า 2,684 ตัน 33,472 ตัน และ 9,943 ตัน ตามลำดับ 

ทั้งนี้ ในด้านเศรษฐกิจของประเทศ "ถั่วเขียว" ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งวุ้นเส้น ไส้ขนม ขนมหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหาร Plant-Based ที่ผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้น เพราะถั่วเขียวมีโปรตีนสูง จึงเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญของอาหารแห่งอนาคต


สำหรับ ถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML นั้น ทางสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้ ศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ และ รศ. ดร.ประกิจ สมท่า อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียวจนได้สายพันธุ์ KUML1 - 5 และ 8 ที่มีลักษณะเด่น คือ เมล็ดขนาดใหญ่ สุกแก่เร็ว ให้ผลผลิตได้สูงถึง 300 กิโลกรัม (กก.) /ไร่ ที่สำคัญต้านทานโรคราแป้งและใบจุดได้ดี ซึ่งคุณสมบัติที่โดดเด่นนี้ สามารถตอบโจทย์เกษตรกรในการปลูกพืชหลังนาได้อย่างตรงจุด


นายอดุลย์ โคลนพันธ์ เกษตรกรแกนนำ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง ต.โพนเมืองน้อย อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า การปลูกถั่วเขียว KUML ซึ่งเป็นพืชหลังนามีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าตัว จากเดิมปลูกถั่วเขียวพันธุ์ทั่วไป เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วเหลือขายเล็กน้อยมีรายได้ประมาณต่อไร่เพียง 1,500 บาท เมื่อได้เรียนรู้กระบวนการปลูกถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML จาก สวทช. และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แบบครบ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 บาทต่อไร่


"นอกจากจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว สภาพดินในแปลงนาข้าวก็ดีขึ้น ส่งผลให้การปลูกข้าวในรอบฤดูปลูกถัดไป มีผลผลิตเพิ่มขึ้นและคุณภาพดีขึ้นต่อเนื่อง และลดการใส่ปุ๋ยในนาข้าวและลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการทำนาได้เกินครึ่ง"









กำลังโหลดความคิดเห็น