ในที่ประชุมของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งอังกฤษ (British Association for the Advancement of Science) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ปี 1883 Lord Kelvin (1824-1907) นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลก ได้กล่าวถึงความหมายของคำว่าวิทยาศาสตร์ว่า “อะไรก็ตาม ถ้าวัดไม่ได้ สิ่งนั้นก็มิใช่วิทยาศาสตร์ (กายภาพ)” “If you cannot measure it, than it is not science.”
คำกล่าวนี้มีความหมายและความสำคัญมากสำหรับทุกคน เพราะมันเป็นผลึกความคิดของบุคคลที่มีบทบาทมากในวงการวิทยาศาสตร์ จากการที่ Kelvin ได้พบกฎข้อที่สองของวิชาอุณหพลศาสตร์ (thermodynamics) เป็นคนกำหนดอุณหภูมิศูนย์องศาสัมบูรณ์ และเป็นคนที่มีบทบาทในการจัดตั้งกฎความถาวรของพลังงาน นอกจากนี้ก็เป็นคนที่พบปรากฏการณ์ Joule -Thomson (ชื่อเดิมของ Kelvin คือ William Thomson (ชื่อเดิมของ Kelvin คือ William Thomson) ที่จะเกิดเวลาของไหล เช่น แก๊ส ขยายตัวไปในสุญญากาศ อุณหภูมิของแก๊สจะลดลง นี่เป็นวิธีหนึ่งที่นักทดลองใช้ในการทำให้แก๊สมีอุณหภูมิต่ำ และ Kelvin ยังมีบทบาทในการนำวิทยาศาสตร์ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในสังคม คือ การเป็นผู้อำนวยการโครงการวางสายโทรเลขข้ามมหาสมุทร Atlantic จากอังกฤษถึงอเมริกาด้วย
ตามปกติมนุษย์ทุกคนมีความต้องการจะเข้าใจธรรมชาติที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งในด้านคุณสมบัติและโทษสมบัติ (เช่น รูป รส กลิ่น เสียง) ทั้งในเชิงคุณภาพ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ประสงค์จะมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นในเชิงปริมาณด้วย ซึ่งก็สามารถจะรับรู้ได้โดยการวัด แต่ถ้าใครยังวัดสมบัติของสิ่งนั้นไม่ได้ นั่นแสดงว่าเรายังมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นไม่สมบูรณ์ จึงมีผลทำให้เรานำความรู้นั้น ไปประยุกต์ใช้ในวงกว้างยังมิได้
ทุกวันนี้ ประชากรโลก 8,200 ล้านคน จะวัดนี่ นั่น โน่น และโน้น วันละหลาย ๆ ครั้ง เป็นจำนวนนับ 10,000 ล้านครั้ง เพราะทุกคนมีความสนใจในเรื่องต่าง ๆ มากมาย และมีความถนัดที่จะวัด โดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ กัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีองค์ความรู้ต่าง ๆ มากมาย เช่น เรารู้ว่า
- ความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่ผิวดวงอาทิตย์ มีค่า 270 เมตร/วินาที^2
- อายุของเอกภพ มีค่าประมาณ 3.3x10^17 วินาที
- พื้นที่ผิวของน้ำในมหาสมุทรทั้งโลก 3.61x10^14 ตารางเมตร
- จุดเดือดของตะกั่ว 2,000 เคลวิน
- รัศมีของอิเล็กตรอน 2.8x10^(-15) เมตร
- มนุษย์เริ่มนำแมวมาเลี้ยงเมื่อ 1.6x10^11 วินาทีก่อนนี้
- ความลึกโดยเฉลี่ยของน้ำในมหาสมุทร 3,794 เมตร
- ความดัน diastolic ขณะหัวใจคนคลายตัว 1.1x10^4 พาสคัล
- ระยะทางที่กาแล็กซี Andromeda อยู่ห่างจากโลก 2.1x10^26 เมตร
- พลังงานของระเบิดปรมาณูที่ใช้ถล่มเมือง Hiroshima 2.1x10^14 จูล
- ครึ่งชีวิตของอนุภาค pion 2.67x10^(-8) วินาที
- แกนของโลกเอียงทำมุม 23.45 องศากับแนวดิ่ง
- อายุขัยของคนโดยเฉลี่ย 2.2x10^9 วินาที
- มวลของโปรตอน 1.672648x10^(-27) กิโลกรัม
- จำนวนอนุภาค nucleon ที่มีในเอกภพ 10^80
- คาบในการหมุนรอบตัวเองของดวงจันทร์ 2.36055x10^6 วินาที
- กำลังของพายุ hurricane 2x10^13 วัตต์
- กำลังของแสงสว่างและความร้อนที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อย 3.7x10^26 วัตต์
- ความเข้มเสียงที่ทำให้หูมนุษย์รู้สึกเจ็บ 120 เดซิเบล
- แรงที่กระทำต่อโปรตอนในนิวเคลียส 10,000 นิวตัน
- อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของอวกาศ 2.726 เคลวิน
- ความเร็วในการเลื่อนตัวของเปลือกทวีป 10^(-9) เมตร/วินาที
- ความเร็วของคลื่นสึนามิ 200 เมตร/วินาที
- ความยาวคลื่นของแสงสีแดงที่เปล่งออกมาจากอะตอมไฮโดรเจน 6.565x10^(-7) เมตร
การรู้ปริมาณของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น รู้ว่าความยาวคลื่นของแสงที่ตาเห็นมีค่า 656 นาโนเมตร ซึ่งยาวกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของอะตอมที่มีค่า 1 นาโนเมตร ทำให้เรารู้ว่า เราไม่สามารถใช้แสงที่ตาเห็น ส่องที่อะตอม เพื่อจะช่วยให้เราเห็นอะตอมได้
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่ได้จากตารางข้อมูลข้างบน คือ การมีหน่วยวัด ที่มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันมากมาย เช่น วินาที จูล องศา เดซิเบล... เมตร พาสคัล ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องใช้ในการสื่อสาร เพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน ในทำนองเดียวกันกับการบอกความมั่งคั่งของคนว่า เป็นคนร่ำรวย 100 ล้าน ก็จะต้องบอกกว่า 100 ล้านบาท หรือ 100 ล้านกีบ เป็นต้น
ประวัติความเป็นมาในการวัดค่าต่าง ๆ ของมนุษย์นั้นได้มีมานานนับหลายพันปีแล้ว ตั้งแต่สมัยอาณาจักร Babylon, Egypt, Roman และยุค Viking
ตำราที่จดบันทึกลงบนกระดาษ papyrus ของอียิปต์มีรูปหน่วยวัด cubit เป็นภาพที่แสดงความยาวของแขนท่อนปลาย ที่วัดจากข้อศอก ถึงปลายนิ้วกลาง พีระมิด Cheops ของอียิปต์ มีการวัดความยาวของด้านเป็น cubit คัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวถึง ความยาวของเรือที่ Noah สร้าง เมื่อครั้นที่น้ำท่วมโลกว่า ยาว 300 cubit (เมื่อ 1 cubit มีความยาวเท่ากับ 45 เซนติเมตร ดังนั้นเรือ Noah ก็จะยาวเพียง 135 เมตรเท่านั้นเอง!!)
เพราะในสมัยของ Noah โลกยังไม่มีหน่วยวัดที่เป็นมาตรฐาน คือ ไม่มีใครมีความยาวแขนที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้น กษัตริย์ Menes แห่งอียิปต์ จึงทรงประกาศในพระราชกฤษฎีกา ให้ 1 cubit ในพระองค์มีความยาวมากกว่า 1 cubit ของชาวบ้านทั่วไป 14% ดังนั้นหน่วยวัดในอียิปต์สมัยนั้น จึงมีความเหลื่อมล้ำกัน ซึ่งมีผลทำให้พระราชวังมีขนาดใหญ่กว่าบ้านธรรมดา ทั้ง ๆ ที่มี cubit เท่ากัน และ
ในประเด็นของหน่วยวัดน้ำหนักก็เช่นกัน ชาว Babylon ได้ใช้เมล็ดข้าวสาลี ซึ่งแต่ละเม็ดจะหนักประมาณ 0.0648 กรัม เป็นหน่วยวัด และเวลาวัดน้ำหนักของอัญมณี ชาว Babylon ก็มีหน่วยวัดเป็น carat โดยได้ใช้เมล็ดต้น carob (ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วที่ชอบขึ้นในพื้นที่แถบทะเล Mediterranean และเป็นพืชที่มีเมล็ดรสหวาน) จากนั้นคำ carob ก็ได้กลายเป็นคำ carat ในเวลาต่อมา
เมื่อครั้งที่ Julius Caesar (100–44 ก่อนคริสตกาล) ยกทัพโรมันบุกยึดครองอังกฤษ เมื่อ 55 ปีก่อนคริสตกาล หน่วยวัดระยะทางของชาวโรมันในเวลานั้น คือ mille passus ซึ่งเป็นระยะทางที่ได้จากความยาวของเท้า ซึ่งวัดตั้งแต่ส้นเท้าถึงปลายเท้าของทหาร จำนวน 5,000 คน แต่เมื่อถึงยุคของสมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 1 (ค.ศ.1533-1603) แห่งอังกฤษ พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนความยาวระยะทาง 1 ไมล์ โดยเพิ่มความยาวของเท้าเข้าไปอีก 280 ฟุต ดังนั้น 1 ไมล์ จึงมีค่าเท่ากับ 5,280 ฟุต และคิดเป็นความยาว 8 furlong พอดี นั่นคือ 1 furlong มีค่าเท่ากับ 660 ฟุต
ในส่วนของความยาว 1 หลานั้น ประวัติศาสตร์มิได้มีบันทึกว่า ใครคือผู้กำหนดความยาว 1 หลา (yard) ทั้ง ๆ ที่หลาเป็นหน่วยวัดความยาวมาตรฐานในระบบวัดแบบอังกฤษ คำว่า yard มาจากคำในภาษาอังกฤษโบราณ gierd ซึ่งแปลว่า ท่อนไม้ (rod) ครั้นเมื่อถึงยุคของพระเจ้า Henry ที่ 1 (1068-1135) พระองค์ได้ทรงกำหนดให้ระยะทาง 1 หลา คือ ระยะทางที่วัดจากปลายพระนาสิก (จมูก) ถึงปลายพระมัชณิมา (นิ้วกลาง) เวลาพระองค์ทรงยืดพระกร (แขน) ออกตรงในแนวขนานกับพื้น
ส่วนหน่วยย่อยที่วัดความยาวเป็นนิ้ว (inch) นั้น กษัตริย์ Edger (959-975) แห่งอังกฤษ ได้ทรงกำหนดให้เป็นความยาวของพระอังคุฐ (ข้อนิ้วหัวแม่มือ) ส่วนความยาว 1 ฟุต ก็ถูกกำหนดโดย จักรพรรดิ Charlemagne (768-814) ให้เป็นความยาวของพระบาทของพระองค์เอง ซึ่งมีค่าประมาณ 12.7 นิ้วแทน
ในยุคของ Viking ซึ่งเป็นนักเดินเรือ ที่มีความสามารถสูง ชนเผ่านี้มีหน่วยวัดความยาวเป็น fathom ซึ่งเป็นความยาวระหว่างปลายนิ้วกลางของมือทั้ง 2 ข้าง ที่เหยียดตรงขนานกับพื้น และ 1 เอเคอร์ (acre) คือพื้นที่ ๆ วัวคู่หนึ่งสามารถไถได้ ภายในเวลา 1 วัน
เมื่อหน่วยวัดต่าง ๆ ทั้งหมดดังที่กล่าวมานี้ ไม่มีความเป็นมาตรฐาน คือ คนทั่วไปไม่สามารถนำไปใช้ได้ เพราะคำจำกัดความของหน่วยวัด ขึ้นอยู่กับสรีระส่วนบุคคลที่ร่วงโรย และสลายไปตามกาลเวลา ดังนั้น ความสับสนในการวัดจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เมื่อสังคม ณ เวลานั้น ไม่ค่อยจะมีการติดต่อกับโลกภายนอก การค้าขายและการสื่อสารถึงกันจึงมีน้อย ดังนั้นความวุ่นวายและข้อพิพาทระหว่างชาติจึงแทบจะไม่บังเกิด แต่เมื่อโลกก้าวหน้าขึ้น และมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น คนทุกชาติและในชาติจึงต้องการความเป็นมาตรฐานของหน่วยวัด ที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แม้แต่ชาติเดียวกันก็อาจจะมีการใช้หน่วยวัดของตนเอง ที่สร้างความสับสนได้ เช่นในอเมริกา เมื่อก่อนปี 1790 ระยะทางไมล์ที่ใช้ มี 3 รูปแบบ คือ survey mile ที่ใช้วัดระยะทางบนบก nautical mile คือ หน่วยวัดระยะทางในทะเล ซึ่งยาวกว่าไมล์บกเล็กน้อย และ international mile ซึ่งใช้ทั่วไป และมีค่าน้อยกว่าไมล์บก เป็นต้น
ในปี 1790 Thomas Jefferson (1743–1826) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา จึงได้เสนอให้ใช้ระบบทศนิยม (decimal) ที่มี 10 เป็นฐาน เช่น
ให้เรียก 10 feet = 1 decad
10 decads = 1 rood
10 roods = 1 furlong
และ 10 furlongs = 1 mile
แต่รัฐสภาของสหรัฐกลับไม่เห็นด้วย เพราะในเวลานั้น ที่ประเทศฝรั่งเศสก็กำลังมีความไม่สงบ ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ (ปี 1789-1999) และประเทศกำลังมีการล้มล้างระบบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุข แต่ในเวลาเดียวกันความสนใจวิทยาศาสตร์ก็กำลังเกิดขึ้นในประเทศ คณะปฏิวัติจึงมีความคิดให้ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน โดยใช้ระบบวัดแบบเดียวกัน คือ ใช้หน่วยวัดแบบ metric ที่มีเลข 10 เป็นฐาน แล้วใช้คำเสริมหน้า (คำอุปสรรค (prefix) เติมข้างหน้า) เพื่อบอกจำนวนเท่าของหน่วยวัด เช่น คำว่า kilo, deci และ hecto เป็น
โดยมีหลักการใหญ่ คือ การใช้คำเมตร (meter) เป็นหน่วยพื้นฐาน ซึ่งคำนี้มาจากคำในภาษากรีก metron ที่แปลว่า “วัด” ซึ่งไม่ขึ้นกับสรีระหรือรูปโฉมโนมพรรณของใครเลย
เมื่อถึงปี 1795 สภาที่ประชุมแห่งชาติของฝรั่งเศสก็ได้กำหนดให้ระยะทาง 1 เมตร เป็นความยาว 1/10 ล้าน ของระยะทางที่วัดจากขั้วโลกเหนือ ลงมาตามเส้นแวงที่ลากผ่านเมือง Dunkirk ในฝรั่งเศส ผ่านเมือง Barcelona ในสเปน จนถึงเส้นศูนย์สูตร (โดยเมืองทั้งสองอยู่บนเส้นแวงเดียวกัน) และพบว่า 1 เมตรของฝรั่งเศส มีค่าเท่ากับ 39.3 นิ้วของอังกฤษ
จากระยะทาง 1 เมตร ก็สามารถหาหน่วยวัดปริมาตร 1 ลูกบาศก์เมตรได้ และเมื่อรู้ว่า น้ำ 1 ลิตร มีค่า 1 กิโลกรัม โลกก็มีหน่วยวัดมวลเป็นกิโลกรัมทันที
เพราะระยะทาง 1 เมตร เป็นหน่วยวัดสากลที่คนทั้งโลกใช้ในการวัดระยะทาง ตั้งแต่ในอดีต ตราบจนปัจจุบัน และจะใช้ต่อไปในอนาคต การรู้ประวัติความเป็นมาของระยะทางนี้จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ
ในปี 1667 สถาบัน Academy of Sciences แห่งฝรั่งเศส ได้สร้างหอดูดาวแห่งราชสำนักขึ้น ตราบจนวันนี้หอดูดาวแห่งนี้ก็ยังทำงานอยู่ ดังนั้นมันจึงเป็นหอดูดาว ที่มีอายุมากที่สุดในโลก และตลอดเวลาที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์แห่งหอดูดาวก็ได้สร้างผลงานมากมาย เช่น ได้วัดขนาดของโลกในแนวรัศมีต่าง ๆ เพื่อจะพิสูจน์โลกของเรา “กลม” เหมือนผลฟักทอง คือ ป่องตรงกลาง และแฟบตรงขั้ว หรือ “กลม” เหมือนลูกสาลี่ที่มีขั้วแหลม และแฟบตรงกลาง
การวัดที่ใช้เวลานาน 75 ปี ได้ข้อมูลในปี 1744 ว่า โลกกลมเหมือนผลฟักทอง ตรงตามที่ Isaac Newton (1643-1727) ได้คำนวณไว้
แต่ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสถาบันนี้ก็คือ การวัดระยะทาง 1 เมตร ที่ปราชญ์ฝรั่งเศสได้กำหนดให้เป็นระยะทาง 1/40 ล้าน ของเส้นรอบวงกลม ที่ลากผ่านขั้วโลกทั้งสอง
เพราะในเวลานั้น โลกยังไม่มีเส้นแวงที่ศูนย์องศา ซึ่งใช้เป็นเส้นแบ่งโลกออกเป็นสองส่วน คือ ซีกตะวันออก และซีกตะวันตก ปราชญ์ฝรั่งเศส จนได้กำหนดให้เส้นแวงที่ 0 องศา ลากผ่านหอดูดาวที่ปารีส และเรียกเส้นแวงนี้ว่า Paris Prime Meridian ในเวลาเดียวกันทางอังกฤษก็ได้กำหนดให้เส้นแวงที่ 0 องศา ลากผ่านหอดูดาวที่เมือง Greenwich ในที่สุดเมื่อถึงปี 1884 องค์การวิทยาศาสตร์นานาชาติก็ได้ตกลงให้เส้นแวงที่ 0 องศาลากผ่านเมือง Greenwich ซึ่งมีหอดูดาวที่พระเจ้า Charles ที่ 2 สร้างขึ้น และทางฝรั่งเศสก็ได้ต่อรองให้ใช้ความยาว 1 เมตร เป็นระยะทางที่นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสได้กำหนดขึ้น จากปณิธานที่ว่า ทุกคนบนโลกจะต้องใช้หน่วยวัดเดียวกัน เพื่อจะได้มีความเข้าใจตรงกัน อันจะเป็นประโยชน์ในทางการค้า การทูต และการทำงานวิทยาศาสตร์ร่วมกัน และให้ Jean Delambre (1749-1822) และ Pierre Mechain (1744-1804) ทำการวัดเส้นรอบวงของโลกอย่างหยาบๆ จนรู้ค่าระยะทาง 1 เมตร หลังจากนั้น ทางรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้สร้างท่อนโลหะ ที่มีความยาว 1 เมตรให้ทุกคนเห็น เพื่อจะได้นำไปใช้
แต่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรทุกคน มีความประสงค์จะรู้ความยาว 1 เมตรที่ถูกต้องที่สุด และนั่นก็หมายความว่า นักวิทยาศาสตร์จะต้องวัดระยะทางรอบโลกจริงๆ ไม่ใช่วัดแต่เพียงบางส่วน แล้วคาดเดาระยะทาวทั้งหมด
ดังนั้นสถาบัน Academy of Sciences จึงได้มอบหมายให้ Francois Arago (1786-1853) กับ Jean-Baptiste Biot (1774-1862) สองนักฟิสิกส์หนุ่ม เป็นคนวัดระยะทางที่ต้องการนี้ ในปี 1807
Arago และ Biot ได้พบว่า ระยะทางจาก Dunkirk ถึง Barcelona มีค่าประมาณ 1,324 กิโลเมตร และเส้นทางนี้ต้องผ่านบริเวณที่เป็นภูเขา แม่น้ำ และเมืองมากมาย ดังนั้นค่าระยะทางที่ Delambre กับ Mechain วัดได้ จะมีโอกาสผิดพลาดมาก ด้วยเหตุนี้ Arago และ Biot จึงเลือกเส้นทางที่จะวัดระหว่างเกาะ ซึ่งจะทำให้โอกาสความผิดพลาดเกิดน้อยลง โดยจะขึ้นไปยืนบนยอดเขาที่สูง 1,000 เมตร และจุดไฟให้เห็นในเวลากลางคืน จากนั้นก็ใช้ตรีโกณมิติคำนวณระยะทาง
แต่ในเดือนมิถุนายน ปี 1808 ได้เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน Arago ซึ่งในเวลานั้นกำลังอยู่ที่ประเทศสเปน บนเกาะ Mallorca จึงถูกชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่า เป็นสายลับส่งสัญญาณให้กองทัพฝรั่งเศสรู้การเคลื่อนไหวของทหารสเปน เจ้าหน้าที่สเปนจึงส่งทหารขึ้นภูเขา ที่ Arago อยู่ เพื่อจับกุม แต่ทหารไม่รู้จัก Arago และเมื่อเวลาคุยกับ Arago ก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นคนฝรั่งเศส เพราะ Arago พูดภาษาสเปน ด้วยสำเนียงชาวสเปนชัดเจน
ทีมวิจัยจึงเดินทางไปที่หมู่เกาะ Balearic ซึ่งประกอบด้วยเกาะ Mallorca, Ibiza, Menorca เพื่อวัดระยะทางจากขั้วโลกเหนือถึงเส้นศูนย์สูตร หมู่เกาะนี้ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5 ดาว แต่ในเวลานั้นหมู่เกาะนี้มีความสำคัญในประวัติวิทยาศาสตร์มาก เพราะเป็นสถานที่ ๆ ให้กำเนิดระยะทาง 1 เมตร
แต่ในที่สุด Arago ก็ถูกจับกุม เพราะทหารได้เห็น Arago มีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์มากมาย จึงนำตัวไปขังคุก แต่หลังจากที่ Arago ได้บอกเจ้าหน้าที่ว่า ตนไม่ใช่สายลับ เขาก็ได้รับการปล่อยตัว จึงเดินทางกลับฝรั่งเศส แต่ถูกโจรสลัดจับกุมตัว แล้วปล่อยตัว จึงหลบหนีเข้าเมือง Algiers ในแอลจีเรีย และในที่สุดก็ได้เดินทางกลับถึงฝรั่งเศส ในอีก 1 ปีต่อมา และได้รายงานผลการวัดระยะทางต่อสถาบัน Academy ว่า ตนได้ค่าระยะทาง 1 เมตรที่ไม่แตกต่างจากความยาวเดิมมาก คือ แตกต่างกันไม่เกิน 0.02%
จักรพรรดิ Napoleon Bonaparte ที่ 1 ทรงชื่นชมผลงานนี้มาก และได้ตรัสว่า อาณาจักรใด ๆ ในโลกมีโอกาสจะล่มสลายได้ แต่ระยะทาง 1 เมตร ที่ Arago วัดได้นี้ จะอยู่ยั่งยืนยงตลอดไป พระองค์จึงทรงมีบัญชาให้สร้างท่อนโลหะแพลทินัมที่มีความยาว 1 เมตร เพื่อนำไปประดิษฐานในพิพิธภัณฑ์
ชาวฝรั่งเศสทุกคนก็พากันชื่นชมและภูมิใจในตัว Arago จนถึงกับได้สร้างอนุสาวรีย์ให้ที่ปารีส แต่อนุสาวรีย์ก็ถูกโค่นล้ม เพราะเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพเยอรมัน ได้บังคับให้เมืองต่าง ๆ ในฝรั่งเศส ส่งทองแดงไปหลอมทำปืนใหญ่ อนุสาวรีย์ของ Arago ที่ทำด้วยทองแดงจึงถูกทำลายไปด้วย
แต่เมื่อถึงวันนี้ แม้ไม่มีอนุสาวรีย์ให้เห็น แต่นักฟิสิกส์ทุกคนก็รู้จักผลงานของ Arago ในด้านต่างๆ เช่น ในด้านแสง ก็มี Arago’s spot และมี Arago’s disc รู้จักความคลาดแสงของดาวฤกษ์ (stellar aberration) ตลอดจนรู้วิธีที่แสดงให้เห็นว่าแสงเป็นอนุภาตหรือคลื่น โดยดูความแตกต่างของความเร็วแสงในน้ำและในอากาศ หลังจากที่ได้ประสบความสำเร็จในทางวิทยาศาสตร์แล้ว Arago ได้ทุ่มเทชีวิตไปเล่นการเมืองด้วย จนได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และเป็นผู้ล้มเลิกระบบทาสในอาณานิคมของฝรั่งเศส แต่ผลงานที่สำคัญที่สุด คือ ได้มีบทบาทในการกำหนดระยะทาง 1 เมตร ผลงานที่มีคุณภาพเหล่านี้ ทำให้ Arago เป็นอัจฉริยะผู้ได้ใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบ ภายในช่วงเวลาเพียง 67 ปีเท่านั้นเอง
อ่านตอนต่อไปได้ใน .... วันศุกร์หน้า
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์