ในอดีตเมื่อ 112 ปีก่อน คือ ในปี 1912 มีพ่อค้าอาชีพขายหนังสือหายากคนหนึ่ง ชื่อ Wilfrid Michael Voynich (1865-1930) ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน เชื้อชาติโปแลนด์ ที่ได้หลบหนีออกจากค่ายกักกันใน Siberia ของรัสเซีย เพราะถูกตั้งข้อหาว่าเป็นนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการปกครองของจักรพรรดิ Tzar
ขณะพำนักอยู่ในอเมริกา Voynich ได้ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าหนังสือโบราณเดินทางไป-มาระหว่างลอนดอนกับ New York อยู่มาวันหนึ่ง เขาได้เดินทางไปที่เมือง Frascati ในอิตาลี และเห็นหนังสือเก่าเล่มหนึ่งวางขายอยู่ที่ Villa Mondragone ประสบการณ์ที่ช่ำชองของ Voynich ทำให้เขาตระหนักได้ในทันทีว่า นี่คือหนังสือหายากของแทร่ และไม่รู้ตัวแม้แต่น้อยนิด ณ เวลานั้นว่า หนังสือนี้ จะทำให้เขามีชื่อเสียงที่เป็น อมตะนิรันดร์กาล
ครั้นเมื่อได้พลิกเปิดหนังสือออกอ่าน Voynich ก็ได้เห็นว่า หนังสือที่ไม่มีชื่อเล่มนี้ มีทั้งหมด 234 หน้า ไม่มีแม้แต่ชื่อคนเขียน ตลอดจนถึงชื่อสถานที่จัดพิมพ์ และปีที่พิมพ์ ดังนั้น เขาจึงไม่รู้ชื่อคนที่เขียนหนังสือ อีกทั้งไม่รู้ปีที่พิมพ์หนังสือเล่มนั้น และไม่รู้ว่าคนเขียน เขียนขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์อันใด แต่สิ่งที่สะดุดตาเขามากที่สุด ก็คือ ตัวอักษรที่ใช้เขียน เป็นตัวอักษรที่ไม่เคยมีใช้ในภาษาใด ๆ ที่ Voynich รู้จักเลย
เมื่อหนังสือมีประเด็นคำถามที่ตนต้องการคำตอบมากเช่นนั้น Voynich จึงตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนั้นทันที
คำถามประเด็นแรกที่ Voynich ต้องการจะรู้คำตอบ คือ หนังสือมีอายุมากน้อยเพียงใด การเปิดเห็นรูปภาพของสตรีที่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่มีหลากสีและหลายสไตล์ ทำให้เขารู้ว่า มันเป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในเวลาต่อมาการวัดอายุของหนังสัตว์ที่ใช้ทำปกหนังสือ โดยเทคโนโลยีคาร์บอน-14 ก็ได้ให้ข้อมูลว่า หนังสือเล่มนี้ได้ถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1404 ถึง 1438 ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
คำถามประเด็นต่อไป คือ ประวัติความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ การสืบค้นหลักฐานได้ข้อมูลว่า โหรหลวงแห่งราชสำนักของอังกฤษ ผู้มีชื่อว่า John Dee (1527–1608) ได้เคยเป็นเจ้าของหนังสือ Voynich เพราะ Dee ได้อ้างว่า เขาเป็นคนที่เขียนเลขหน้าลงบนทุกหน้าของหนังสือด้วยตนเอง
ต่อจากนั้น หนังสือ Voynich ก็ได้อันตรธานไปจากเกาะอังกฤษ ไปปรากฏอยู่ที่ยุโรป ที่พระราชวังของ จักรพรรดิ Rudolph ที่ 2 (1552-1612) แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะเมื่อพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นภาพวาดในหนังสือ เป็นกลุ่มดาวต่าง ๆ และจักรราศี พระองค์ทรงปรารถนาจะเรียนรู้วิทยาการสาขานี้มาก ประจวบกับในเวลานั้น พระองค์ทรงมีนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก 2 คน มาทำงานถวายด้วย การมีหนังสือดาราศาสตร์อ่าน จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับพระองค์ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงซื้อหนังสือ Voynich ไปในราคา 600 ดูกัท (ducat) อันเป็นราคาของทองคำที่หนัก 3.5 กิโลกรัม ซึ่งมีค่าเทียบเท่าเป็นเงิน 1.6 ล้านบาท
จากห้องสมุดส่วนพระองค์ หนังสือภาพ Voynich ก็ได้ถูกเปลี่ยนผ่านเป็นสมบัติของคนหลายคน เช่น ในปี 1666 ท่านอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัย Prague ในประเทศเชคโกสโลวาเกีย ได้เป็นเจ้าของหนังสือ Voynich และได้จัดส่งหนังสือไปให้บาทหลวง Athanasius Kircher (1602-1680) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านภาษาโบราณ เพื่อให้ถอดความหมายของบทความที่เขียนในหนังสือ แต่บาทหลวงก็ไม่สามารถจะอ่านบทความได้เลย
จากนั้นหนังสือก็ได้สาบสูญไปจากบรรณโลก จนกระทั่งถึงปี 1912 หนังสือก็ได้ตกเป็นสมบัติของ Voynich
สำหรับประเด็นที่ว่าใครเป็นคนเขียนหนังสือเล่มนี้นั้น ในเบื้องต้นมีคนสันนิษฐานว่า Roger Bacon (1214–1292) ซึ่งเป็นพหูสูตชาวอังกฤษเป็นคนเขียน เพราะ Bacon เป็นคนที่ถนัดเรื่องการใช้อักษรลับ เป็นนักปราชญ์ และนักเล่นแร่แปรธาตุ แต่การวัดอายุโดยเทคนิค C-14 ได้ตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกับเวลาที่ Bacon มีชีวิตอยู่ ดังนั้น Bacon จึงมิใช่คนเขียนอย่างแน่นอน
บุคคลที่ต้องสงสัยเป็นคนที่สอง คือ Edward Kelley (1555–1597) ซึ่งเป็นโหรแห่งราชสำนักในจักรพรรดิ Rudolph ที่ 2 ซึ่งเชี่ยวชาญด้านไสยศาสตร์ และถนัดการเล่นแร่แปรธาตุ แต่เมื่อหนังสือ Voynich ได้รับการพิสูจน์ว่าหนังสือถือกำเนิดก่อน Kelley เกิด ประมาณ 100 ปี ดังนั้นชื่อคนเขียนหนังสือ Voynich จึงมิใช่ Kelley อีก
เพราะหนังสือภาพ Voynich มีเพียงเล่มเดียวในโลก และมีรูปแบบการเขียนที่ไม่เหมือนหนังสืออื่นใด ดังนั้นการรู้ชื่อคนเขียน จึงเป็นเรื่องที่ยากระดับเป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่มีใครสามารถจะนำรูปแบบที่เขียนนี้ไปเปรียบเทียบกับหนังสืออื่นได้
การถอดความหมายของภาษาที่ใช้เขียน ก็มีคนพยายามกระทำมากมาย แต่ไม่มีใครประสบความสำเร็จเลย จนคนบางคนคิดว่า เมื่อไม่มีใครอ่านบทความในหนังสือออก ภาษาที่เขียนคงเป็นภาษาขยะ ที่ไม่มีความหมายใด ๆ เพราะผู้เขียนได้นำตัวอักษรต่าง ๆ มาสุมกองรวมกัน บางคนก็คิดว่า ภาษาที่ใช้คงเป็นรหัสลับของชนบางเผ่า ที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว บางคนก็คิดว่า มันมิใช่ภาษาที่มีการใช้คำเป็นพยางค์ และประโยค ตามความหมายของการใช้ภาษาปัจจุบัน
ณ วันนี้หนังสือภาพ Voynich ได้ถูกนำไปเก็บที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย Yale ในสหรัฐอเมริกา โดยให้อยู่ในห้องหนังสือหายากชื่อ Beinecke Rare Book & Manuscript Library ให้คนที่สนใจจะหาความหมายของเนื้อหาในหนังสือมาศึกษา เช่น นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ นักโบราณคดี และคนทั่วไป ซึ่งได้เข้ามาดูภาพวาดของกลุ่มดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ ต้นพืชต่าง ๆ จักรราศีที่ใช้ในโหราศาสตร์ ภาพผู้หญิงเปลือย วิธีออกแบบสร้างมงกุฎ หลักการสร้างกำแพงเมือง ภาพเหล่านี้ล้วนชี้นำว่า คนเขียนภาพ เป็นคนที่อาศัยอยู่ทางใต้ของประเทศเยอรมนี หรืออยู่ทางเหนือของประเทศอิตาลี
ในส่วนของความหมายของคำบรรยายในหนังสือนั้น ก็ยังไม่มีใครเข้าใจ แต่นักประวัติศาสตร์ก็ได้พยายามวิเคราะห์บรรดาภาพวาดที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ และพบว่า มีภาพหลายภาพที่เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา และเรื่องการปฏิสนธิ
ใน วารสาร Social History of Medicine ฉบับเดือนพฤษภาคมของปีนี้ Keagan Brewer กับ Michelle L. Lewis ได้ศึกษาภาพวาดสตรีเปลือยในประเด็นที่เกี่ยวกับความรู้ที่คนในสมัยนั้นมี คือ ในช่วงประมาณปี 1410 ถึง 1468 และพบว่า ด้วยการศึกษาชีวประวัติของแพทย์ ชื่อ Johannes Hartlieb (1400-1468) และพบว่า แพทย์คนนี้มีความรู้เรื่อง สมุนไพร สุขภาพของสตรี เวทมนต์ ดาราศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และเวลาเขียนใบสั่งยา Hartlieb มักใช้ “รหัส” ในการเขียน เพราะไม่ต้องการให้คนไข้ที่เป็นผู้หญิงรู้ความเป็นไปทุกอย่างที่มีในตัวเธอ เพราะคิดว่าถ้าเธอรู้ เธอจะแพร่งพรายความรู้เหล่านั้นไปสู่คนอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้คนประพฤติผิดทางกามบ่อย อันจะเป็นบาปที่พระผู้เป็นเจ้ามิอาจประทานอภัยให้แพทย์ได้ ดังนั้นแพทย์ Hartlieb จึงมิได้กล่าวถึงหรือเขียน เรื่องที่เกี่ยวกับความสุขทางเพศของผู้หญิง หรือได้อ้างถึงการคลอดลูกเป็นสัตว์ ตลอดจนถึงมิได้เขียนเกี่ยวกับลีลาการประกอบกามกิจ ตลอดจนถึงการใช้ยาโป๊ว ยาคุมกำเนิด หรือพืชที่กินเข้าไปแล้วทำให้สตรีแท้งลูก ในที่สุด Hartlieb ก็ยังได้กล่าวถึงความกังวลส่วนตัวของตนที่ว่า ผู้หญิงเริ่มเรียนรู้อะไรต่าง ๆ มากขึ้นทุกวันแล้ว
หนังสือ Voynich ได้มีภาพวาดรูปมดลูกของสตรีว่า มีห้องเล็กๆ 7 ห้อง ซึ่งเป็นไปตามคำสอนของแพทย์ชาวเปอร์เซีย ชื่อ Abu Bakr al-Razi ผู้มีชื่อเสียงและอิทธิพลมากในทางการแพทย์สมัยนั้น
สำหรับภาพกำแพงเมืองและภาพปราสาทที่มีในภาพหนึ่งนั้น ก็มีภาพของดวงอาทิตย์ขึ้นสองดวง ที่มุมบนซ้าย และอีกดวงหนึ่งขึ้นที่มุมล่างขวา ซึ่งก็เป็นไปตามคำสอนของ Aristotle ที่เชื่อว่า ดวงอาทิตย์สามารถให้ความอบอุ่นแก่ทารกที่อยู่ในครรภ์ ขณะทารกเริ่มปฏิสนธิใหม่ๆ
แต่หนังสือ Voynich ก็ยังมีภาพอีกหลายภาพ ที่ยังไม่มีใครเข้าใจความหมาย นี่จึงเป็นโจทย์วิจัยสำหรับคนที่จะศึกษาเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต
ความยากลำบากอีกประการหนึ่งในการอ่านหนังสือ Voynich นอกจากคนอ่านจะไม่เข้าใจความหมายของคำต่าง ๆ แล้ว ความยุ่งยากนั้นก็คือ เหล่าคำที่เขียนไว้ ได้เลือนลางหายไปตามกาลเวลา และมีคำบางคำได้ถูกเติมขึ้นมา โดยคนที่พยายามอ่านหนังสือ ดังนั้น Lisa Fagin Davis แห่งสถาบัน Medieval Academy of America ซึ่งได้ศึกษาหนังสือ Voynich มาเป็นเวลานาน จึงได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการพร่องหายและการเกิดตัวอักษรใหม่ในภาพ เพราะได้พบว่าที่หน้าแรกของหนังสือมีอักษรใหม่ปรากฏเรียงกันเป็น 3 แถว ซึ่งเธอเชื่อว่า เป็นผีมือของ Johannes Marcus Marci (1595-1667) แพทย์ชาว Bohemian ผู้มีหนังสือ Voynich ไว้ในครอบครองตั้งแต่ปี 1662 ถึง 1665
ครั้นเมื่อ Davis ได้พบว่า มีตัวอักษรหลายตัวได้เลือนหายไปจากหนังสือ Voynich เธอจึงจัดตั้งโครงการ The Lazarus Project and The Chester F. Carlson Center for Imaging ที่สถาบัน Rochester Institute of Technology (Lazarus คือ ศิษย์ของพระเยซู ผู้ได้ฟื้นคืนชีพหลังจากที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว 4 วัน เพราะพระเยซูทรงประทานชีวิตใหม่ให้) โครงการนี้ มีจุดมุ่งหมาย คือ เพื่อถ่ายภาพตัวอักษรบนหน้ากระดาษ 10 หน้าของหนังสือ Voynich โดยใช้แสงที่มีความยาวคลื่นต่าง ๆ เพื่อค้นหาตัวอักษรที่ถูกลบเลือนไปจนเกือบหมด เพราะ Davis ได้เห็นตัวอักษรที่หน้าแรกทางขอบขวาเลือนหายไป 3 แถว ซึ่งเป็นอักรโรมัน 2 แถว และเป็นอักษร Voynich 1 แถว
ในอนาคตเมื่อ Davis รู้ชัดว่า ตัวอักษรที่หายไปนั้นคือตัวอะไร การเปรียบเทียบตัวที่อ่านใหม่ได้ จะทำให้เธอรู้ชื่อของบุคคลที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับหนังสือปริศนาเล่มนี้ได้ เช่น Marcus Marci ซึ่งเป็นแพทย์ชาวเมือง Prague ซึ่งเคยเป็นเจ้าของหนังสือ Voynich โดยได้เขียนอักษรต่าง ๆ เติมลงไปด้วยตนเอง จะด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่มีใครรู้ โดยในปี 1665 นั้น Marcus Marci ได้ส่งต้นฉบับ Voynich ไปให้บาทหลวง Athanasius Kircher (1602-1680) ที่โรมอ่าน เพราะเชื่อว่า Kircher จะสามารถอ่านบทความได้ แต่ก็อ่านไม่ได้
ณ วันนี้ Marcus Marci จึงได้ชื่อว่าเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทมากในการพยายามถอดความหมายของเนื้อหาในหนังสือที่ลึกลับที่สุดในโลก
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่ได้จากการวิจัยหนังสือ Voynich นี้ก็คือ นักวิจัยได้ถ่ายภาพหนังสือ โดยใช้แสงหลายความยาวคลื่น (multispectral image) ซึ่งจะเปิดเผยความลับของตัวอักษรที่ได้เลือนลางไป และโลกก็จะได้รู้ความลึกลับมากขึ้นในอนาคต
ไม่เพียงแต่นักวิทยาศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์เท่านั้นที่ได้เข้ามาสนใจจะถอดความหมายของบทความในหนังสือ Voynich นักคณิตศาสตร์เองก็สนใจเรื่องนี้เช่นกัน โดยใช้หลักการทางสถิติเรื่อง Zipf's law หรือกฎของ Zipf ซึ่งมีใจความว่า อันดับของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ จะแปรผกผันกับโอกาสที่เหตุการณ์นั้นจะปรากฏ
หรือ r x P(r) = ค่าคงตัว
เมื่อ r คือ อันดับของเหตุการณ์ที่เกิดบ่อย
และ P(r) คือ โอกาสที่เหตุการณ์นั้นเกิด
เช่น ในหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และนักภาษาศาสตร์เชิงคณิตศาสตร์ได้พบว่า ในหนังสือนี้มีคำว่า
the, of, to, a, and, for, that ใช้บ่อยมากเป็นลำดับที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7 ตามลำดับ โดยความถี่ในการใช้ คือ
the ใช้ 2,420,778 ครั้ง
of ใช้ 1,045,733 ครั้ง
to ใช้ 968,882 ครั้ง…..
จากจำนวนทั้งหมด 35,652,106 ครั้ง
ดังนั้น P(1) = 2,420,778/35,652,106 = 0.0679
P(2) = 0.029
และ P(3) = 0.027….
โดยการแทนค่าในสูตรของ Zipf เราจะได้
1x0.0679 = 0.068
2x0.029 = 0.058
3x0.027 = 0.081
ทำให้ได้ค่าเฉลี่ย = 0.069 ที่ใกล้เคียงกับทุกค่า
แต่การวิเคราะห์คำในหนังสือ Voynich ในลักษณะนี้มีปัญหา เพราะตัวอักษรที่เลือนลาง อาจทำให้การนับคำ ไม่ถูกต้อง เช่น อักษร ee เวลาเขียนใกล้กันมาก จะดูเป็นตัว u เป็นต้น และถ้าตัวอักษรไม่เลือนหายเลย คือ ชัดทุกตัว การวิเคราะห์หนังสือ Voynich ว่าเป็นหนังสือที่มีความหมาย โดยใช้กฎของ Zipf ก็สามารถจะทำได้ อย่างไม่มีปัญหาใด ๆ ดังที่วิธีนี้ได้มีการใช้กับหนังสือ “On the Origin of Species” ของ Charles Darwin ซึ่งได้มีการพบว่า คำที่ใช้บ่อยที่สุด คือ (1) species (2) variety (3) hybrid (4) form (5) genes
นักสถิติศาสตร์คนอื่นๆ ก็ได้เข้ามามีบทบาทในการวิเคราะห์ความหมายของคำลึกลับในหนังสือ Voynich เช่นกัน โดยใช้วิธีคำนวณค่า entropy หรือ “ความไม่เป็นระเบียบของระบบ” แต่การวิเคราะห์ entropy ในลักษณะนี้ ต้องการ database ที่มีปริมาณมาก ซึ่งก็ไม่สามารถทำได้อีกกับหนังสือ Voynich ที่มีเพียง 234 หน้าเท่านั้น เพื่อจะได้เข้าใจความหมายของคำทุกคนที่อยู่ในหนังสือนั้นได้หมด
ถึงจะไม่เข้าใจความหมายของคำทุกคำก็ตาม แต่การดูภาพ (ภาพ 1 ภาพ มีค่าเท่ากับคำ 1,000 คำ) ก็มากเพียงพอที่จะทำให้คนทั่วไปตื่นรู้ในความสามารถทางวิชาการของผู้คนเมื่อ 600 ปีก่อนได้ว่า มีความรู้หลายด้าน เช่น (1) ด้านพฤกษศาสตร์ (botany) เพราะมีภาพต้นไม้ที่มีราก ลำต้น ใบ และดอก ที่ไม่เหมือนต้นไม้ชนิดใดในโลกปัจจุบัน จึงเป็นไปได้ว่า ต้นไม้สายพันธุ์นั้น ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว (2) ด้านดาราศาสตร์ (astronomy) เพราะได้มีการเขียนภาพของกลุ่มดาว Pleiades ดาว Aldebaran กาแล็กซี Andromeda และจักรราศีต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำนายทางโหราศาสตร์ (astrology) ด้วย (3) ด้านสรีรวิทยาของสตรี (woman physiology) ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และ (4) ด้านเภสัชวิทยา (pharmacy) ที่แสดงสูตรการปรุงยาและอาหาร
งานการถอดรหัสที่มีในหนังสือ Voynich จึงยังไม่มีการยุติ ในอนาคตนักวิชาการด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์หลายคนกำลังคิดจะใช้ AI ในการถอดความหมายของบทความในหนังสือนี้ และงานขั้นต่อไปก็คงจะมีคนใช้ AI แบบ quantum ในการอ่านบทความอย่างแน่นอน
Bonne chance! ครับ
อ่านเพิ่มเติมจาก “The Voynich manuscript” ที่มีบรรณาธิการ คือ Raymond Clemens จัดพิมพ์โดย Yale University Press; Illustrated edition (November 1, 2016)
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์